ปตท.โต้สวนปาล์มอินโดฯไม่กระทบสวล. ต้องอยู่กับชุมชน30ปี-ตั้งเป้าผลิตปิโตรฯ ชาวบ้านยัน'รุกป่าจริง-สารเคมีเต็มแม่น้ำ'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2213 ครั้ง

 

จากกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท ตั้งบริษัท ปตท.กรีน จำกัด ในสิงคโปร์ ก่อนเข้าถือหุ้นใหญ่บริษัท PT.MAR ดำเนินกิจการปลูกปาล์มในอินโดนีเซีย มีเป้าหมายให้ได้ 1 ล้านไร่ ท่ามกลางผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ปอนติอานัก จ.กาลิมันตันตะวันตก อย่างมหาศาล ทั้งการบุกรุกทำลายป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการบำรุงรักษา และเกิดการชะล้างหน้าดินลงในแม่น้ำ ทำให้ปลาตามธรรมชาติหายไป ขณะที่ชาวบ้านแฉถูกนายทุนไล้ฮุบที่ดินทำกิน จนต้องมารับจ้างเป็นคนงานแทน โดยผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ เดินทางลงไปยังพื้นที่ พร้อมนำรายงานมาเสนอไปแล้ว 2 ตอนก่อนหน้านี้นั้น

 

 

ชาวบ้านบุกร้องรัฐบาลกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สนใจ

 

 

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ รายงานว่า เมื่อเดินทางออกจากพื้นที่ของ PT.MAR ได้พบกับ Syarif อดีตผู้ใหญ่บ้าน Kampung Baru ก่อนหน้านี้ Syarif คือคนหนึ่งที่สนับสนุน PT.MAR แต่ภายหลังที่บริษัทแย่งยึดที่ดินของเขาและชาวบ้านคนอื่นๆ ไป เขากลายเป็นคนหนึ่งที่คัดค้าน PT.MAR อย่างแข็งขัน วันที่พบกับ Syarif เขาเพิ่งกลับจากการไปร้องเรียนต่อกรมที่ดิน ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย หลังจาก PT.MAR และรัฐบาลท้องถิ่นเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเขา โชคร้าย เขาเกิดล้มป่วยจากความอ่อนล้าและความเจ็บแค้น ขณะอยู่ที่กรุงจาการ์ตา จนต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน เงิน 15 ล้านรูเปี๊ยะห์เป็นเงินที่เจ้าของร้านขายของชำเล็กๆ ในหมู่บ้านอย่างเขาต้องจ่ายไป เพื่อแลกกับเอกสารหนึ่งเล่ม ที่ระบุพื้นที่ครอบครองของ PT.MAR กับคำปลอบใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่บอกให้เขาใจเย็น ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “ผลกระทบที่เห็นชัดคือ ป่าไม้ถูกทำลาย แต่ก่อนน้ำไม่ท่วม ตอนนี้ท่วม เมื่อก่อนตัดไม้ขาย เก็บของป่า ล่าสัตว์ป่า ผลไม้ หวาย เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว รายได้ลดลงมาก เพราะพื้นที่ป่าชุมชน  2 แห่ง ขนาด 1,500 กับ 2,000 เฮกตาร์ ถูก PT.MAR เอาไปแล้ว ซึ่งเมื่อก่อน ถ้าคนที่ทำงานให้กับบริษัทป่วย บริษัทจะจ่ายให้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว คนหมู่บ้านอื่นก็เหมือนกัน”

 

Marihot Tambunan เจ้าหน้าที่ของ PTPN XIII รัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นเพื่อปลูกปาล์มและพืชสวนอื่น ๆ บอกว่า PT.MAR ถูกกล่าวหาว่า ตัดไม้ในพื้นที่ป่า แต่ที่ไม่ถูกดำเนินการใด ๆ เพราะเป็นการกระทำก่อนที่จะมีกฎระเบียบเรื่องนี้ออกมา ส่วนเรื่องอาการคันจากการใช้น้ำในลำคลองของหมู่บ้าน Syarif ยืนยันและให้เหตุผลตรงกันกับ Hefni ว่า บริษัทใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย เมื่อฝนชะดินลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำในคลองของหมู่บ้านอาบน้ำมีอาการคันและอักเสบ

 

 

เชื่อว่าถ้าบริษัทไทยมาทำจะดีกว่านี้

 

 

เมื่อคนไทยเข้ามาทำธุรกิจ ตักตวงผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินอินโดนีเซีย ทิ้งความบอบช้ำแก่ผืนดิน แม่น้ำ และผู้คนอย่าง Syarif ให้เป็นผู้แบกรับ จึงถามด้วยความรู้สึกผิดว่า เขาโกรธคนไทยหรือเปล่า Syarif ตอบว่า เขาโกรธคนอินโดนีเซียของ PT.MAR แต่ไม่โกรธคนไทย เขาเชื่อด้วยว่า ถ้าคนไทยลงมาบริหารจัดการเองน่าจะดีกว่าให้คนในพื้นที่ทำ

 

การพูดคุยกับ Syarif ทำให้นึกถึงคนเฒ่าคนแก่ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนหรือรัฐ ผู้เฒ่าเหล่านั้นมักบอกเช่นเดียวกับที่ Syarif พูดไม่ผิดเพี้ยน

 

“อีกไม่นานผมก็ตายแล้ว ที่ทำนี่ผมทำเพื่อลูกหลาน”

 

 

ปตท.ยันต้องทำงานกับคนท้องถิ่นเพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้

 

 

ก่อนเดินทางไปอินโดนีเซีย ได้พูดคุยกับภาสกร ศรีศาสตรา ผู้จัดการฝ่ายบริหารกลยุทธ์และงบประมาณ บริษัท ปตท.กรีน จำกัด ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภายหลัง ปตท.กรีน เข้าซื้อ PT.MAR ว่า จะเป็นไปในทิศทางใด

 

                 “เราคิดไว้อยู่แล้วว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับพื้นที่ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของชาวบ้าน คุณไปทำธุรกิจเกี่ยวกับพื้นที่เยอะๆ ใกล้ชาวบ้าน เราจำเป็นต้องดูแลคนในชุมชนใกล้เคียงอยู่แล้ว เพราะเราต้องการแรงงานจากคนในพื้นที่ เราก็ตั้งใจว่าคนที่จะดูแลเราได้ดีก็ต้องเป็นคนในพื้นที่ที่เขารู้เรื่องแถวนั้นดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจเราเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่นั้น”

 

ภาสกรยืนยันว่า ปตท. ไม่มีนโยบายที่จะไปสร้างปัญหาและไม่ต้องการไปเอาผลประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะ ปตท. ก็ต้องการความร่วมมือจากชาวบ้าน เพื่อเติบโตไปด้วยกัน

 

“จุดนี้เราคิดเสมอว่า ความต้องการแรงงานต้องมาจากคนในพื้นที่ การดูแลบริหารสวนปาล์ม 30 ปี ซึ่งยาวมาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ เราจึงจำเป็นต้องใส่ใจสิ่งเหล่านี้”

 

แต่ Uurlaila Nurlaila บอกว่า คนงานส่วนใหญ่ที่ทำงานใน PT.MAR เดินทางมาจากเกาะอื่นอย่างชวาและสุมาตรา

 

ภาสกรยังบอกว่า ปตท.กรีน นำแนวคิด Zero Waste Management หรือการจัดการขยะให้เหลือศูนย์มาใช้กับสวนปาล์ม ซึ่งรวมถึงน้ำเสียจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ที่จะต้องผ่านการบำบัด ทะลายปาล์มก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยใช้ภายในสวน

 

“เรามีแนวคิดว่าจะไม่ทิ้งอะไรออกไปที่จะก่อให้เกิดมลภาวะ”

 

 

 

 

 

ระบุเพิ่มผลผลิตเต็มที่คาดเกิดผลกระทบตามมาแน่นอน

 

 

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดเรื่องร้องเรียนต่อทางบริษัทหรือไม่

 

“ถ้าบอกว่าไม่มีคงไม่ได้ ก็คงมี เช่น การใช้ถนนหนทาง เพราะเวลาเราขนส่ง นอกจากพื้นที่ของเราเองแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องผ่านพื้นที่ของชาวบ้าน ก็เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน แต่เราพยายามแก้ไขให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะเราต้องอยู่ร่วมกัน ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนยังไม่เคยเกิดขึ้น” คือคำตอบจากภาสกร

 

ไตรมาส 3 ของปี 2011 ปตท.กรีนเพิ่งสร้างโรงสกัดน้ำมันปาล์มเสร็จ มีกำลังการผลิต 45 ตันต่อชั่วโมง มีผลิตผลปาล์มดิบประมาณ 65,000 ตันในปีเดียวกัน และเริ่มนำผลปาล์มดิบ มาสกัดน้ำมันเองได้ประมาณ 10,000 ตัน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นกว่าผลปาล์มดิบ และสามารถเก็บได้นานกว่า มีรายได้ 11.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และในอนาคตอันใกล้ ปตท.กรีนมีแผนต่อยอดน้ำมันปาล์มดิบเข้าสู่สายพานการผลิตเชื้อเพลิงและปิโตรเคมีที่ ปตท. มีฐานรองรับพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผลปาล์มดิบปริมาณมาก เพื่อให้เกิดการคุ้มค่าต่อการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่า การเพิ่มผลผลิตอาจเพิ่มแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในพื้นที่ หากระบบการจัดการไม่ดีพอ

 

 

ไม่มีคำตอบจากปตท.กรีน

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเท็จจริงจากปากชาวบ้านในพื้นที่หลายประเด็น สวนทางกับสิ่งที่ภาสกรอธิบาย ก่อนเดินทาง ผมติดต่อไปยัง ปตท.กรีนเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารคนไทยในอินโดนีเซีย แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยปตท.กรีนอ้างว่า มีภารกิจมาก ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ และน่าเสียดายว่า ขณะที่เราผ่านบริเวณสำนักงาน PT.MAR ขณะอยู่ที่ Kampung Baru ในช่วงบ่าย ชาวบ้านบอกว่า คนในสำนักงาน PT.MAR เลิกงานแล้ว จึงไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ภายหลังการพูดคุยกับชาวบ้าน ผมส่งอีเมล์กลับไปที่ปตท.กรีนอีกครั้ง เพื่อฟังคำชี้แจงจากภาสกรแต่ได้รับการปฏิเสธ

 

ถ้ามองโลกในแง่ดีว่า ชาวบ้านและปตท.กรีนพูดจริงทั้งคู่ กลไกที่เป็นปัญหาก็คงอยู่ที่ตัวกลางอย่าง PT.MAR และคนของ PT.MAR ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อสมมติฐานนี้ถูกต้องก็ใช่ว่า ปตท.กรีนจะสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยอ้างอุปสรรคด้านระยะทางได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้คน ชุมชน และสังคมอ่อนแรงเกินกว่าจะคัดง้าง

 

 

คงไม่เป็นธรรมที่จะกล่าวว่า สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่เป็นความรับผิดชอบของ PT.MAR ทั้งหมด เนื่องจาก PT.MAR ไม่ใช่สวนปาล์มแห่งเดียวในพื้นที่ ทั้งแม่น้ำคาปูอัสเองก็ได้รับความบอบช้ำจากสวนปาล์มนับล้านเฮกตาร์ทางตอนบนและกลางของแม่น้ำอยู่ก่อนแล้ว ที่พอจะพูดได้ว่า เป็นความรับผิดชอบของ PT.MAR โดยเฉพาะ คือประเด็นการแย่งยึดที่ดิน ปัญหาน้ำท่วมและตะกอนดิน จากสวนที่ทำให้ลำคลองในหมู่บ้านตื้นเขินอย่างรวดเร็วผิดปกติ และอาการคันจากการใช้น้ำในคลอง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มที่เรื้อรังอยู่ในอินโดนีเซีย PT.MAR ก็คือตัวต่อชิ้นเล็กๆ ที่เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่ดำรงอยู่ แน่นอนว่าคนไกลอย่างพวกเรา ไม่สามารถเข้าไปแกะดูโครงสร้างและกลไกต่างๆ ที่กำกับดูแล ตรวจสอบ ควบคุม ธุรกิจปาล์มน้ำมันได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาประเทศ ที่ผูกติดกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือตัวเร่งสำคัญที่คอยกำกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ปัญหาการคอร์รัปชั่น และอิทธิพลของธุรกิจที่จับมือกับนักการเมืองเข้าแทรกแซงกลไก หรือเพิกเฉยที่จะสร้างเครื่องมือควบคุม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สถานการณ์เหล่านี้ไม่แตกต่างกับเมืองไทย

 

แต่มีปัจจัยหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจ ในไทย ประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สิ้นยุคซูฮาร์โต ถึงกระนั้นก็กล่าวได้ว่า ภาคประชาสังคมไทยและเอ็นจีโอมีความเข้มแข็ง และเสียงดังพอตัวจะคัดง้างรัฐและทุน แต่ไม่รู้ว่าภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอของอินโดนีเซีย มีพลังมากน้อยเพียงใดในสังคมอินโดนีเซียที่มีบริบทต่างออกไป

 

 

แนะใช้ปุ๋ย-สารเคมีในสวนปาล์มให้น้อยลง

 

 

เมื่อถาม Sumantri จาก Walhi ถึงหนทางเยียวยาและแก้ไข เขาเสนอหนทางที่น่าจะเป็นรูปธรรมที่สุดและดำเนินการได้เร็วที่สุด เร็วกว่าการเรียกร้องกฎหมาย 3 ข้อที่เขาเห็นว่า ถ้าทำได้อย่างน้อยจะช่วยลดการปนเปื้อนในแม่น้ำได้คือ สวนปาล์มจะต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรให้น้อยลง ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน สอง-ยกเลิกการใช้ Paraquat สารเคมีการเกษตรที่มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสาม-รัฐบาลต้องลงมากำกับดูแลอย่างจริงจัง

 

 

 

 

 

 

 

ข้อเสนอทั้ง 3 ประการไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติได้ง่ายดาย ยกตัวอย่างข้อ 2 อุตสาหกรรมสารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในประเทศตะวันตก คงไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้ง่าย ๆ

 

หากพิจารณาแรงกดดันจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีแต่จะสูงขึ้น และการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) ในปี 2008 ซึ่งจะเปิดช่องทางให้กลุ่มทุนต่าง ๆ สามารถลงทุนได้อย่างเสรี ก็น่าสนใจว่าอินโดนีเซียจะรับมืออย่างไร

 

 

ราคาที่คนไทยไม่ต้องจ่ายกับความรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

ระหว่างล่องลอยกลางแม่น้ำคาปูอัสท่ามกลางความมืดของราตรี เชื่อว่าความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำคาปูอัสคงช่วยให้มันยื้อยุดชีวิตของมันออกไปได้อีกยาวนานพอสมควร ขณะที่ลูกแม่น้ำและลำคลองบางแห่ง เริ่มแห้งตาย แต่จะยาวนานแค่ไหน คำตอบไม่ใช่หน้าที่ของเรา มีก็แต่คำถามที่ทัศนียภาพยามค่ำคืนของแม่น้ำคาปูอัสหยิบยื่นให้ 2 ข้อ

 

ข้อแรก-การแก้ไขปัญหาโลกร้อนบนกระบวนทัศน์เดิมๆ ว่า จะแก้ไขยังไงก็ตาม เศรษฐกิจต้องโตต่อเนื่องห้ามสะดุด อัตราการบริโภคต้องอยู่ในระดับสูงต่อไป และใช้ผลกำไรทางธุรกิจนำหน้า บ่อยครั้ง ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่กลับซ้ำเติมและเพิ่มพูน แล้วคนที่ต้องแบกรับจนไหล่ลู่ก็คือคนเล็กคนน้อยกลุ่มเดิมๆ ตลอดมา

 

 

 

 

 

 

ข้อสอง-วันที่คนไทยได้ใช้น้ำมันไบโอดีเซลราคาถูกจากผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยเอง มีความมั่นคงด้านพลังงานอย่างล้นเหลือ และสามารถเชิดอกยกหน้าเต็มภาคภูมิว่า เราช่วยลดโลกร้อน เราจะรู้บ้างหรือไม่ว่า คนที่เป็นฐานให้เราเหยียบยืน แต่ต้องจ่ายแพงที่สุด อยู่ห่างจากเรานับพันกิโลเมตร คือคนใน 6 หมู่บ้านริมฝั่งน้ำคาปูอัส คือผู้คนที่เราไม่เคยมองเห็น และคงจะไม่มีวันมองเห็น

 

และสิ่งหนึ่งที่สังคมเรียกถามกันอยู่ตลอดเวลาจากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่คือ การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ควรมีธรรมาภิบาลหรือไม่ กรณีของบริษัท ปตท. จำกัด บริษัท ปตท.กรีน จำกัด ที่เดินหน้าทำธุรกิจในอินโดนีเซีย น่าจะเป็นคำตอบที่ดี และคำว่า “ความจำเป็น” หรือ “หน้าที่” ในฐานะผู้แสวงหาพลังงานของประเทศ คงไม่ใช่ข้ออ้างเช่นกัน

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: