วอนรัฐหนุนธุรกิจ3จังหวัดภาคใต้ ผู้ค้าเชื่อมั่นขยับได้-ต้องช่วยกัน

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 26 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1535 ครั้ง

วันที่ 25 กันยายน 2555 ที่วิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หอการค้าจังหวัดปัตตานี จัดโครงการ “เชื่อมั่นเศรษฐกิจชายแดนใต้” ภายใต้ชื่องาน “เปิดบ้านปัตตานี”

 

นายมานะ สัตกุลพิบูลย์ เจ้าของธุรกิจจัดส่งเสื้อผ้าและของใช้ภายในบ้าน กล่าวในการเสวนา หัวข้อ“ผู้ประกอบการอยู่กันอย่างไรภายใต้ภาวะความไม่สงบ” ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนร้ายยิงปืนเข้ามาในร้านของตน ซึ่งตนคิดว่าคนร้ายกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นมากกว่า เพราะทำการค้าอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสและไม่เคยข้องแวะหรือเป็นศัตรูกับใคร นับจากนั้นจึงต้องปรับมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยติดตั้งวงจรปิดและให้ลูกจ้างระวังภัยมากขึ้น

 

            “การทำการค้าในพื้นที่มีข้อดีคือมีคู่แข่งน้อย และก็ต้องการให้รัฐมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น ด้วยการลดภาษีและลดดอกเบี้ยให้เหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยควรจะให้มีระยะเวลาการกู้ที่ยาวขึ้น เช่น 6 – 7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะทำให้ธุรกิจคืนทุน”

 

 

ด้านนายสุวิทย์ มาตยานุมัติ เจ้าของร้านอาหารไทปัน กล่าวว่า ร้านอาหารปัตตานีเบย์ ซึ่งเป็นร้านอาหารอีกร้านของตนได้ปิดกิจการไปเมื่อประมาณ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เพราะเคยถูกยิงเข้าไปในร้านเช่นกัน

 

 

“เราต้องทำใจ เพราะอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์ใน 2 - 3 ปีแรก ลำบากมาก เพราะคนตื่นกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ปัจจุบันประชาชนเริ่มชินชากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าประชาชนไม่ค่อยตื่นกลัวมากเท่าไหร่แล้ว ซึ่งการที่ประชาชนชินแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะหมายถึงประชาชนในพื้นที่เริ่มปรับตัวได้แล้ว” นายสุวิทย์กล่าว

 

 

นอกจากนี้ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยว และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ค่อยได้นอนพักค้างคืนกันมากนัก

 

 

               “ต้องใช้ความอดทน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการปลดคนออก เพราะแรงงานหายาก คนนอกไม่เข้ามาทำงาน แต่ก็ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้าง เพราะถือว่าช่วยๆ กัน” สุวิทย์กล่าวและว่า ตนจะไม่ขยายร้านแต่จะทำให้ดีขึ้น พัฒนาศักยภาพคนทำงานในร้านให้ดีขึ้น โดยเขาเชื่อว่าสงครามอย่างไรก็ต้องมีวันยุติ

 

ขณะที่ นางกัญญาภัทร ศรวียวิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจประมงและผลไม้กวน ตราก๊วน กวน เชฟ กล่าวว่า ตนต้องการให้ความช่วยเหลือของรัฐมีความต่อเนื่อง ธนาคารที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ต้องช่วยเหลือจริง ไม่ใช่ช่วย 1 ก้าว ถอยหลัง 1 ก้าว ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจของตนเลย ซึ่งผู้ประกอบการอยากเดินงานต่อ แต่ขอให้มีทุนเข้ามาสนับสนุน เพราะหากภาครัฐยังไม่เชื่อมั่นตัวเอง แล้วเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร

 

 

นางกัญญาภัทรกล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันยอดการส่งออกปลาทูน่าน้อยลง จึงหันมาทำผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน หากชาวบ้านปลูกผลไม้ แล้วผลไม้ชนิดใดสามารถทำมาแปรรูปได้ก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรามีแนวคิดว่า หากผู้ทำมีความสุข ผู้บริโภคก็มีความสุข และไอเดียการทำผลไม้แปรรูปนี้อยากให้เป็นไอเดียสำหรับคนรุ่นใหม่ในการทำสินค้าส่งออก และอยากให้ราชการมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกด้วย

 

 

“ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือข่มขู่ว่า ห้ามทำงานวันศุกร์ มิฉะนั้นจะโดนตัดหู สำหรับธุรกิจของตนก่อนหน้านี้มีวันหยุดเพียงวันเดียวคือวันอาทิตย์ แต่เมื่อเกิดข่าวลือเช่นนี้ก็ต้องหยุดวันศุกร์แทน ซึ่งก็เห็นด้วยในการให้หยุดวันศุกร์ เนื่องจากที่ผ่านมา วันหยุดที่เป็นวันอาทิตย์นั้นลูกจ้างไม่สามารถไปติดต่อหน่วยงานราชการ ไปทำธุรกรรมอื่นๆ พาคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องไปทำธุระได้เลย” นางกัญญาภัทรกล่าว

 

 

นายกิตติ สมบัติ เจ้าของห้างหุ้นส่วน ซูซูกิปัตตานี จำกัด กล่าวว่า ตนทำธุรกิจเป็นดีลเลอร์ในการจัดสินเชื่อบ้าน แต่ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเอง โดยช่วงปี 2552 เป็นช่วงที่เหตุการณ์มีความรุนแรง ผู้ปล่อยสินเชื่อก็ตั้งข้อจำกัดว่าบริษัทจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับหมู่บ้านในบริเวณนั้นบริเวณนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถที่จะไปตามทวงค่างวด เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน

 

วันหนึ่งมีลูกค้ามาถามว่าว่า ร้านของตนจะให้สินเชื่อคนนาเกตุหรือไม่ เนื่องจากช่วงนั้นผู้ใหญ่บ้านถูกยิง ถูกระเบิด หมู่บ้านดังกล่าวจึงกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ลูกค้าบอกกับตนว่า ไปถามมาหลายร้านแล้วไม่มีใครยอมจัดไฟแนนซ์ให้ และบอกว่าหมู่บ้านของตนอยู่ในพื้นที่ห้ามขายแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             “ผมจึงบอกกับลูกค้าไปว่า ผมจะขายให้และขายให้จริงๆ หลังจากนั้นไปประชุมกับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์ก็ถามว่าทำไมจึงขาย ผมจึงให้เหตุผลไปว่า คนในพื้นที่ตรงนั้น คนในหมู่บ้านนั้น เป็นคนชั่วทั้งหมดหรือ ทำไมไม่ให้ผมมีสิทธิ์ในการเลือกลูกค้า ผมเป็นคนปัตตานี เกิดที่ปัตตานี อยู่ที่ปัตตานีมาตลอด ผมพูดภาษามลายู มีเพื่อนเป็นคนอิสลาม จึงขอให้ไฟแนนซ์ให้สิทธิ์ผมบ้าง และผมขายได้ ซึ่งในช่วงนั้นร้านผมขายดีกว่าร้านอื่น เพราะคนไปบอกต่อกันว่า ร้านของผมขายให้ ช่วงหลังร้านอื่น ๆ จึงขายตามด้วย ซึ่งความจริงเราต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ให้รัฐทำอย่างเดียว” นายกิตติกล่าว

 

 

             “ลูกค้าของเราเสียเปรียบที่อื่นเยอะเลย ผมเคยไปดูที่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ออกรถ 1 บาท เปิดร้านกันจนถึง 2 - 3 ทุ่ม ของผมเนี่ย 5 โมงต้องปิดแล้ว เปิดต่อไม่ได้แล้ว ออกรถ 4,900 บาท ซึ่งเหตุที่ออกราคาดังกล่าว บริษัทรถบอกว่าจะต้องจ่ายค่าประกันรถหาย 2 ปี ประกันอุบัติเหตุให้กับผู้ซื้อ 1 ปี คิดค่าประกันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,500 บาท แต่จ.สงขลาซึ่งอยู่ติดกับเรา คิดเพียง 1,500 บาท ต่างกัน 1,000 บาท เวลาออกรถ คนสงขลาออกรถในราคา 3,900 บาท ขณะที่ชาวปัตตานีต้องออกรถต่ำสุดในราคา 4,900 บาท ผมพยายามเอาสถิติรถหายมาดู ปรากฏว่าสถิติรถหายในพื้นที่ก็ไม่ได้ต่างจากนอกพื้นที่เลย แต่ทำไมจึงมาคิดในสามจังหวัดแพงขึ้น” นายกิตติกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: