ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เชื่อมประสานกับกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และส่งสัญญาณตรงไปที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมกับการข่าวของคนเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการ “ล้มรัฐบาล” ได้ ไม่ใช่กระบวนการในรัฐสภา แต่เป็นเกมการเมืองนอกระบบ
แม้ว่าม็อบที่คุมเกมโดย ‘เสธ.อ้าย’ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จะยุติบทบาทลงชั่วคราว แต่ก็ถือว่าได้ฟักเชื้อให้คนไม่ชอบ “พ.ต.ท.ทักษิณและพวก” ได้รอวันเติบโต
ซึ่งเป็นไปตามข้อวิเคราะห์ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่คาดการณ์ทำนายผลไว้ว่า เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ 2 ครั้ง ที่ผ่านมา ไม่ใช่จุดจบของการชุมนุมของเครือข่ายต้านรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ในช่วงต้นปีหน้า 2556 และตลอดทั้งปี จะมีชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น วาระที่นักการเมืองอาชีพ ให้ความสำคัญและเดินหน้าอย่างเอาการเอางาน คือวาระหลังจากผ่านเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2555 และการลงมติวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ไปแล้ว พิจารณาได้จาก การปิดเทอมสมัยประชุมสภาผู้แทนเพียง 20 วัน แล้วเปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติทันที ในชั่วไม่ถึง 1 เดือน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ ในรอบหลายปี ที่มีการวางแผนการปิดสมัยประชุมสภาเพียง 20 วัน
เป็นการปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 และเปิดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติทันที ในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 หลังมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึง 28 พฤศจิกายน 2555 รวม 120 วัน ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ จะมีการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม ถึง 18 เมษายน 2556 รวม 119 วัน
หากจะนับผลงานฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลเพื่อไทย ในสมัยที่แล้ว มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสิ้น 39 ครั้ง สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ทั้งสิ้นเพียง 7 ฉบับ
มีร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเสร็จ 8 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร 20 ฉบับ
นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกบรรจุระเบียบวาระการประชุม เพื่อรอการพิจารณาในวาระที่ 1 จำนวน 28 ฉบับ ร่างพ.ร.บ. รอการบรรจุระเบียบวาระ 8 ฉบับ
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี 79 ฉบับ แบ่งเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวด้วยการเงิน 68 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวด้วยการเงิน จำนวน 11 ฉบับ
ส่วนฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 มีผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี 64 ครั้ง 15 เดือน มีวาระผ่านการพิจารณาไปทั้งหมด 1,472 เรื่อง
ดังนั้นทันทีที่เปิดสภาสมัยนิติบัญญัติ จึงต้องเร่งพิจารณากฎหมาย ทั้งที่เป็นนโยบายหลัก และออกกฎหมายที่อำนวยความสะดวก ในการบริหารจัดการสไตล์ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” อีกหลายฉบับ
ในช่วง 119 วัน ของสมัยประชุมนิติบัญญัติ จึงมีกฎหมายสำคัญ ที่ค้างวาระการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ทั้งกฎหมายที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศที่ค้างคามาจากสมัยที่แล้ว ที่ผ่านเพียงวาระแรก เช่น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้คณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ (FATF) ถอนชื่อไทยออกจากแบล็กลิสต์เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการฟอกเงิน นำไปใช้ในการก่อการร้าย
หรือพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ที่มีสาระเกี่ยวข้องกับการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายการเมือง มีส่วนร่วมแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลได้ เพราะหลังจากการรัฐประหาร 2549 ทหารได้ผูกขาดการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลมาตลอด จนฝ่ายการเมืองไม่มีสิทธิเข้าไปล้วงลูกในกองทัพ
ดังนั้นหลังเปิดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ พรรคเพื่อไทยจึงต้องจะเร่งผลักดันให้กฎหมายสำคัญให้มีผลบังคับใช้ก่อน
ความสำคัญรองลงมา คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ... และกฎหมายที่หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถึงพรรคเพื่อไทยรวม 4 คน พยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อบรรลุเป้าหมาย นำพ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน คือ ร่าง พ.ร.บ.บัญญัติปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมี 4 ร่าง จากผู้เสนอ 4 กลุ่ม
ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่เคยมีประสบการณ์ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย ได้รับอุบัติเหตุทางการเมือง ต้องยุติการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเกือบเพลี่ยงพล้ำถึงขนาดถูกยุบพรรคมาแล้ว จึงต้องถูกเว้นวรรค แล้วกลับมาขึ้นบรรทัดใหม่ ในสมัยนิติบัญญัตินี้อย่างแยบยลอีกหน
วิธีการคือ รัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ไปจัดเวทีประชาเสวนาทั่วประเทศ 108 แห่ง
เป็นเวทีในต่างจังหวัด 100 แห่ง ส่วน 8 เวที เป็นเวทีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้ประมาณ 300-1,000 คน มีวิทยากร จำนวน 400 คน แบ่งเป็นทีมละ 20-25 คน ทำหน้าที่หมุนเวียนกันขึ้นเวที จะเปิดเวทีเสวนาครั้งแรกกลางเดือนมกราคม 2556 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 168 ล้านบาท
โดยมีนักวิชาการสายรัฐศาสตร์เพื่อไทย ร่วมวงเดินสาย คือ นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร สายรามคำแหง และนายสุขุม เฉลยทรัพย์ แห่งสวนดุสิตโพล
ผสมโรงควบคู่การจัดเวที ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะ รมว.มหาดไทย ยืมปากหัวหน้ามวลชนอย่างสุธรรม แสงประทุม และอดิศร เพียงเกษ ร่วมเป็นพิธีกรหลัก ร่วมทำประชาพิจารณ์แบบหลวม ๆ ด้วยการถามความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย
นอกจากวาระ โหวตผ่านกฎหมายสำคัญ-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมายปรองดอง ฝ่ายนิติบัญญัติของเพื่อไทย ยังหวังใช้เวทีรัฐสภา เดินหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 98 ศพ เพื่อตัดกำลัง 2 หัวหอกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
พร้อม ๆ กับการขยายผล เรื่องการหนีทหารของ 2 นักการเมืองสำคัญ ในประชาธิปัตย์ คือ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง และ นายศิริโชค โสภา มือค้นหาเอกสารลับประจำพรรค
ทั้งหมดคือวาระในฝ่ายนิติบัญญัติ ที่พรรคเพื่อไทยจัดลำดับความสำคัญไว้ในช่วงสมัยนิติบัญญัติ 119 วัน
ซึ่งต่างจากวาระของฝ่ายประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมใช้เวลา 119 วันเพื่อปฏิบัติการ ตรวจสอบการออกกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล พร้อมๆ กับการเดินสาย ยื่นคำร้องให้องค์กรอิสระ พิจารณาจุดอ่อน ของการบริหารพรรคเพื่อไทย โดยมีวาระที่ค้างอยู่ตั้งแต่ต้นปี 2555 ทั้งคดีเก่า คดีใหม่ ดังนี้
1.คดีที่ประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยมีความผิดใน 2 กรณี กรณีแรกสโลแกนหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เข้าข่ายการยินยอมให้บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่ถือเป็นบุคคลที่เป็นภัยในระบอบประชาธิปไตย เข้ามาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
กรณีที่สอง พรรคเพื่อไทยร่วมมือ ช่วยเหลือ ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดง เข้าข่ายขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 94 (1) (3) และ (4) ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.ประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เร่งรัดดำเนินคดีอาญา กรณี “ภาษีหุ้นชินคอร์ป” ซึ่งมีผู้ถูกร้อง 4 คน ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ข้อหามีความผิดฐานร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจงในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนในสาระสำคัญตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 มาตรา 278
3.การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184
4.การถอดถอนนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.คลัง กรณีการคืนพาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,189 ขัดต่อระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง และขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง
หลังผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผ่านด่านม็อบเสธ.อ้ายไปได้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ยังต้องทำสงครามกฎหมาย และค้าคดีความกันอีกหลายยก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ