จี้อสมท.ถอดโฆษณาวิทยุแร่ใยหิน อ้างไม่เป็นอันตราย-สวนมติครม. ชี้ให้ข้อมูลเท็จทั้งที่ก่อมะเร็งปอด

26 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1679 ครั้ง

 

แม้จะมีความพยายามให้ประเทศไทย โดยรัฐบาลออกกฎหมายบังคับยกเลิกการใช้วัสดุแร่ใยหิน เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า การรณรงค์ของกลุ่มสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และ ผู้แทนเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทย (ทีแบน) จะยังดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร แม้จะเคยมีการออกมติ ครม.ให้ยกเลิกใช้วัสดุแร่ใยหินไปแล้ว

 

ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมมีความพยายาม ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไป พร้อมทั้งปล่อยโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ ให้ข้อมูลตอบโต้เผยแพร่ในรายการวิทยุขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ด้วย ทำให้ในที่สุดกลุ่มทีแบน จึงส่งหนังสือเรียกร้องความรับผิดชอบจากอสมท. โดยขอให้ถอนโฆษณาที่สร้างความเข้าใจผิดกับประชาชนชิ้นนี้ออกทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่งหนังสือให้รัฐบาลยกเลิกแร่ใยหิน

 

 

ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า จากการที่สป.โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้ศึกษาและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการจัดการอันตรายจากแร่ใยหิน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงส่งหนังสือแก่คณะรัฐมนตรี โดยมีข้อสรุปเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมีข้อเสนอ ให้เร่งรัดให้ยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินและมีวัตถุดิบทดแทน ภายในปี 2556 ซึ่งให้เริ่มจากการยกเลิกผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท คือ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ผ้าเบรก และคลัทซ์ ท่อซิเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา การทำให้สังคมไทยปลอดแร่ใยหิน การประชาสัมพันธ์อันตราย

 

 

            “สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การกำหนดวิธีรื้อถอนวัสดุ การทำลาย เพื่อไม่ให้แร่ใยหินฟุ้งกระจาย ให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้รื้อถอน และผู้อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งรัฐบาลควรจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ขับเคลื่อนการทำงาน ออกเป็นกฎหมาย ประกาศหรือแนวปฏิบัติโดยทั่วกัน โดยที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ทำเพียงสั่งให้ศึกษาซ้ำแม้ว่าจะมีการศึกษาแล้วว่า แร่ใยหินทำให้เกิดอันตราย ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการระงับการใช้แร่ใยหิน” ดร.สุปรีดิ์กล่าว

 

 

จี้อสทม.รับผิดชอบถอดโฆษณาสร้างความสับสน

 

 

ด้านน.พ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และผู้แทนเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทย (ทีแบน) กล่าวว่า จากการติดตามเพื่อให้เกิดการยุติการใช้แร่ใยหิน กลับพบว่า ขณะนี้มีการออกโฆษณาผ่านวิทยุในเครือ อสมท.เช่น FM 95 MHz FM 100.5MHz โดยเป็นการโฆษณาในลักษณะค้านกับมติครม. และทำให้เกิดความสับสนของสังคม เนื่องจากมีการใช้ข้อความว่า “แพทย์ได้ออกมารับรองว่า การใช้แร่ใยหินไม่เป็นอันตราย และทนทาน” ซึ่งไม่เป็นความจริง และละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

 

ขณะที่ รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษาจนพบว่าแร่ใยหิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งยืนยันได้จากงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก และมีประเทศที่หยุดนำเข้าแร่ใยหินแล้วเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก และพบผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินในประเทศไทยแล้ว 3 ราย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องระบุในฉลากว่า “ระวังอันตราย สินค้านี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด” การออกโฆษณาว่าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จแก่ผู้บริโภค และจำเป็นต้องยุติการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวรวมทั้งต้องโฆษณาแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องด้วย

 

 

             “ศาลปกครองเคยยกฟ้องกรณีที่บริษัทบางแห่งที่ยื่นคัดค้านการออกคำสั่งให้ติดฉลากของ สคบ.เนื่องจากการทำฉลากดังกล่าว มีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน จากทั้งองค์การอนามัยโลก และรายงานทางการแพทย์ในประเทศต่าง ๆ และประเทศไทย ซึ่งโฆษณาแร่ใยหินดังกล่าว ยังมีความผิดปกติ คือไม่มีชื่อผู้โฆษณา และโน้มน้าวให้ประชาชนหลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตนได้ยื่นหนังสือ ถึง อสมท.ในฐานะสื่อของรัฐ จำเป็นต้องระงับโฆษณาดังกล่าวทันทีและรับผิดชอบต่อสังคม” นายวิทยากล่าว

 

 

หลายประเทศเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว แม้แต่แคนาดาผู้ผลิต

 

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ในเวทีประชุมกลุ่มรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแห่งเอเชีย (A-BAN) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีกลุ่มสมาชิกซึ่งให้ความสำคัญในการรณรงค์ในการต่อต้านการใช้ใยหิน จากหลายประเทศ ได้ร่วมกันบอกเล่าถึงประสบการณ์เลวร้าย อันได้รับจากพิษภัยของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด  ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับใยหินโดยตรง จากการผลิตกระเบื้อง ซิเมนต์ คลัตช์ ท่อน้ำ เป็นต้น ทำให้ที่ผ่านมามีความพยายามจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ พยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับ ให้ภาคอุตสาหกรรมยกเลิกการใช้วัตถุที่มีแร่ใยหิน โดยประเทศที่สามารถออกกฎหมายบังคับ ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้สำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และแคนาดา ในขณะที่ฮ่องกงกำลังจะมีการประกาศให้ยกเลิกการวัสดุที่มีแร่ใยหินในไม่ช้านี้

 

สำหรับประเทศไทย มีมติครม. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินภายในปี 2555  โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำแผนการแบนแร่ใยหิน แต่ต่อมาได้มีข้อทักท้วงจากผู้ประกอบการ โดยระบุว่า การออกมติครม.ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังคงมีการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาลเองก็ไม่ได้จริงจังที่จะผลักดันให้เกิดการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ซึ่งแท้จริงแล้วกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่กลับไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้แต่อย่างใด มีเพียงความหวังว่า หากประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการใช้วัสดุแร่ใยหิน ก็อาจะทำให้สินค้าของไทยจะไม่สามารถขายได้ ในที่สุดการบังคับให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินจะสำเร็จในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รณรงค์หลายปีแต่ยังไม่คืบหน้า

 

 

นอกจากนี้ ในบทความเรื่อง “ปีใหม่ ขอสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” เขียนโดย น.พ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในปี 2553 พยายามชี้ให้เห็นอันตรายของแร่ใยหินตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องอันตรายจาก แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส (Asbestos)  มากนัก ทำให้ไม่เกิดความตระหนักในอันตรายนี้ ทั้งที่มีผู้ที่จะสามารถรับอันตรายจากแร่ใยหินมีอยู่มาก ทั้งในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมแร่ใยหิน แรงงานทั้งก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง รวมถึงผู้บริโภคอื่น ๆ ด้วย ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอนุญาตให้มีการใช้แร่ใยหินชนิดต่าง ๆ  ปัจจุบันประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้แร่ใยหินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ แร่ใยหินชนิด ไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือ แอสเบสตอสสีขาว อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพื่อขจัดอันตรายของผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ

 

บทความระบุด้วยว่า แร่ใยหินเป็นวัสดุที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการความทนทานและทนความร้อน เช่น ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินเป็นจำนวนมาก จึงมีภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนกังวลว่า ถ้ามีการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว และมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

 

 

อันตรายสำคัญเป็นสาเหตุมะเร็งเยื่อหุ้มปอด

 

 

สำหรับอันตรายที่สำคัญที่เกิดจากแร่ใยหิน น.พ.วิทยาระบุว่า คือการที่อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอด ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส หรือ แอสเบสโตซิส โรคมะเร็งปอด และ โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น การวินิจฉัยและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสจากแร่ใยหิน และการเกิดอันตรายจากแร่ใยหินมีความยากลำบาก เนื่องจากมีการพัฒนาการของโรคใช้เวลานาน และ ขึ้นกับจำนวนอนุภาคที่สัมผัสและระยะเวลาของการสัมผัส การได้รับการวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการว่า มาจากแอสเบสตอสจึงเป็นเรื่องยาก เนื่องด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ และอาจถูกกล่าวอ้างว่ามาจากสาเหตุอื่น

 

จากอันตรายของแร่ใยหินที่พบในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการยกเลิกในหลายประเทศจำนวนมาก เช่น ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจำกัดการใช้ในหลายประเทศ บางประเทศออกกฎหมายการรื้อถอนอาคารเก่าที่มีการใช้วัสดุแร่ใยหิน ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การรณรงค์ให้มีการยกเลิกแร่ใยหิน มีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับสากล จัดประชุมวิชาการนานาชาติในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แคนาดาส่งออกค้านเต็มที่แต่ตัวเองไม่ใช้

 

 

มีความพยายามจากนักวิชาการระดับสากล ที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจแร่ใยหิน ในประเทศแคนาดา ที่จะหาข้อโต้แย้งหักล้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือ แอสเบสตอสสีขาว เป็นแร่ใยหินที่ไม่เป็นอันตราย มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศแคนาดาส่งออกแร่ใยหินแต่ประเทศตนไม่ใช้ ทั้งนี้เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของประเทศแคนาดา แพท มาร์ติน นำเสนอรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อปี 2549 ที่จะเสนอให้ห้ามการส่งออกสินค้าที่มี  White asbestos ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ไม่สำเร็จ

 

ก่อนหน้านี้ ในปี 2549 ในการประชุมนานาชาติในประเทศไทย มีการจัดทำคำประกาศกรุงเทพฯ เพื่อการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสและขจัดโรคจากแอสเบสตอส จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก และ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมถึง 300 คน จาก 26 ประเทศ มีการทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอันตรายและการจัดการแร่ใยหินทั่วโลก และมีมติที่สำคัญคือ ให้มีการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสในทุกประเทศทั่วโลก

 

 

ก.วิทย์มีทางเลือกสร้างวัสดุทดแทน

 

 

ในบทความของ น.พ.วิทยายังกล่าวถึงการส่งเสริมวัสดุทดแทน วัสดุใยหินด้วย โดยระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ส่งเสริมการค้นคว้าและการใช้วัสดุทดแทนเร่ใยหินในภาคธุรกิจ  มีการการส่งเสริมการใช้กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยเพื่อการทดแทน และเสนอผลทดสอบที่ชี้ให้เห็นว่า กระเบื้องซีเมนต์เส้นใย ไม่ได้ด้อยกว่ากระเบื้องแร่ใยหิน ทั้งการต้านทานการรั่วซึม การทนแรงกระแทก การทนร้อนทนฝน แต่กระเบื้องแร่ใยหินจะทนทานกว่าเล็กน้อย

 

 

               “การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากแร่ใยหินในประเทศไทย ถือว่าสำคัญมาก หากรัฐบาลต้องการดำเนินการให้สังคมไทยเข้มแข็ง โดยแท้จริงแล้วต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไทยทั้งมวลปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากแร่ใยหิน การรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภคและพิจารณาปัญหานี้ โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบจึงเป็นเรื่องพึงกระทำโดยเร่งด่วน” น.พ.วิทยาระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: