แม่ทัพภาค4คาด2ปี3จังหวัดภาคใต้เย็นลง ยันไม่มีซ้อมทรมาน'ผู้ต้องสงสัย-แนวร่วม' สู้ทุกทางกับ ‘องค์กรลับ’ชิงประชาชนคืน วอนเข้าใจทหาร-ดูแลทุกคนแต่กลับถูกฆ่า

สุพจ จริงจิตร มูฮำหมัด ดือราแม และนวลน้อย ธรรมเสถียร 26 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4611 ครั้ง

หลังจากเกิดกรณีทหารพรานถล่มยิงชาวบ้านอำเภอหนองจิกเสียชีวิต 4 ศพไม่กี่วัน โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ณ เวลานั้น พล.ท.อุดมชัยมองทหารพราน มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ในภาพรวมอย่างไร ทำไมถึงมั่นใจว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเย็นลงภายใน 1-2 ปี ต่อไปนี้คือคำตอบ

ประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาอย่างไร

พล.ท.อุดมชัย : ผมประเมินสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยกรอบที่ผมทำคือ 1.ยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา การสร้างความเข้าใจคือ การที่รัฐใช้ความพยายามในการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน สร้างความเข้าใจกับผู้ก่อเหตุ สร้างความเข้าใจต่อรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง จากการทำอย่างต่อเนื่อง ผมว่าทุกส่วนทุกฝ่ายมีความเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นมากกว่าเดิม

ที่ผมเห็นว่าน่าจะดีกว่าเดิม เป็นผลจาการประเมินของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คือ 1.การสร้างเสริมศักยภาพแก่พี่น้องประชาชน เรื่องการศึกษา เรื่องอาชีพทางเศรษฐกิจ และการเมือง ผมว่ามีสภาพก้าวหน้าขึ้นมาก

2.ผมประเมินด้วยสายตา ช่วง 7–8 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นป้ายประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอบเข้าได้มากขึ้น นั่นหมายความว่ารัฐสามารถเสริมศักยภาพให้กับเด็กได้มากขึ้น

3.เรื่องของการจัดการกับภัยแทรกซ้อนทั้งหลาย ว่าจะเป็นยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี อิทธิพลเถื่อนอำนาจมืดทั้งหลาย มีการแก้ไขกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะยาเสพติด ที่เราได้ดำเนินการมากันมา

4.เมื่อไม่นานมานี้วันมานี้ มีการร้องเรียกว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2-3 กรณี แต่โดยภาพรวมแล้ว ตั้งแต่ผมเป็นแม่ทัพ ผมสามารถจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชน การไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปฏิบัติการภายใต้กฎหมาย อั้นนี้ผมว่าประสบความสำเร็จ บางเรื่องมันจะเกิดเรื่องขึ้นมา รัฐไม่เคยเข้าไปปกป้องบุคคลกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ผมตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ที่บ้านกาหยี ต.ปูโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เราไม่เคยพูดว่าฝ่ายใดผิด แต่ใช้กระบวนการทำให้เห็น มีคณะกรรมการอิสระชุดหนึ่งชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านตำบลปูโละปุโย ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผมไม่เคยระบุว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเหตุ กรณีการซ้อมทรมานในจังหวัดนราธิวาส เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็พร้อมให้แจ้งความ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

กรณีคลิปเด็กหญิงกับทหารเกณฑ์ ลงโทษทางวินัยกับทหารที่ไปก่อเหตุ พร้อมกับดำเนินมาตรการต่างๆ เพราะกองทัพมีนโยบายห้ามมีเรื่องชู้สาว ส่วนความผิดทางอาญาและแพ่ง ถ้าทางผู้เสียหายต้องการฟ้องร้อง เรายินดี ผมจะไม่ช่วยเหลือทหารที่กระทำผิด ต้องปล่อยให้ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม คนที่ถ่ายคลิปวีดีโอนี้ ต้องได้รับโทษอย่างหนัก ถ้าคนของรัฐต้องถูกลงโทษ จะไม่มีการช่วยเหลือกัน กระบวนการเยียวยาที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดูแลอยู่ จะเข้าไปช่วยเหลือ

เรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ดูตัวเลขสถิติก็ดี การบังคับใช้กฎหมายก็ดี มีความก้าวหน้าพอสมควร อาจมีบางอย่างยังไม่สามารถทำให้ยุติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้มีคดีความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่มีคดีประเภทอื่นรวมอยู่ด้วย จึงมองว่าการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เราทำได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน

ประเด็นที่เห็นว่ามีความก้าวหน้ามากคือ ประเด็นที่ทุกภาคส่วนมีเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนสามารถพูดได้ เขียนได้ แสดงความคิดเห็นได้ ผมว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความก้าวหน้า เพราะทุกคนมีส่วนร่วมอย่างมาก

สาเหตุที่เหตุการณ์ยังไม่หมด หรือยังไม่ยุติ เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายของเรา ยังไม่มีประสิทธิภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เรายังถอนรากถอนโคนไม่หมด การป้องกันปัญหาแทรกซ้อน การทำความเข้าใจกับฝ่ายที่ใช้อาวุธ ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่ดีพอ

 

ปัจจัยสำคัญที่ผมเห็นว่ายังไม่ดีพอคือ ปัจจัยจากยุทธศาสตร์ของขบวนการ ยุทธศาสตร์ป้องกันมวลชนของขบวนการ จะเห็นว่ายุทธศาสตร์การป้องกันมวลชนของเขา ได้แบบอย่างมาจากการต่อสู้ในที่ต่างๆ ของโลกปัจจุบัน การใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่ออกมาเปิดเผยความลับของขบวนการ หรือเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐ อันนี้เป็นปัจจัยที่ผมพยายามแก้อยู่ เพราะพวกขบวนการไม่ถือกฎหมาย ขบวนการไม่ยึดถือเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

โดยรวมแล้วพี่น้องประชาชนร้อยละเก้าสิบกว่าเห็นใจรัฐ เพราะรัฐก็เป็นของเขา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นของเขา สภาผู้แทนราษฎรก็พยายามออกกฎหมาย หรือนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ฉะนั้นโดยสรุปการแก้ปัญหาตามแนวทางเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จึงประสบความสำเร็จ ผมยังมีนโยบายย่อยๆที่ทำคือ พาคนกลับบ้าน ผมให้ความสำคัญกับพี่น้อง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าผู้ที่ลงมือปฏิบัติเอง หรือผู้เป็นแนวร่วม ผมพร้อมพาเขามาใช้ชีวิตตามปกติสุข ตามกระบวนการยุติธรรม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมทำอยู่

อีกประเด็นที่เรากำลังดำเนินการอย่างจริงจังคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชน โครงการต่างๆ เช่น ญาลันนันบารู มัสยิดสานใจ การบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยอำเภอเป็นศูนย์กลาง เราถือว่าผู้ติดยาเสพติด เป็นเสมือนผู้ป่วยติดสารเคมีในสมอง ต้องบำบัดรักษา ส่วนการปราบปรามก็การดำเนินกันไป มีการยึดทรัพย์ แต่ในบางพื้นที่การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ยาเสพติด อาจจะไม่ทันใจประชาชน เพราะการค้ายาเสพติดมีแรงจูงใจค่อนข้างมาก แต่ถ้าหากโครงการมัสยิดสานใจ วัดสานใจ หรือโครงการอื่นๆ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ผมว่าจะทำให้การปราบปรามยาเสพติดทำได้รวดเร็วขึ้น

ผมทราบดีว่า ครอบครัวที่ลูกหลานติดยาเสพติดบางทีอาจจะอาย ไม่อยากเปิดเผย ถ้าเราไม่กล้าเปิดเผย เราจะสูญเสียลูกหลานตลอดไป การนำเข้ามาบำบัดรักษาก็ดี หรือนำเข้าไปค้นหาผู้เกี่ยวข้อง วิธีนี้น่าจะแก้ไขปัญหาได้ สำหรับโครงการการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผมทำ ตอนนี้มีความก้าวหน้ามากพอสมควร

ขณะนี้ผมคิดว่า คนในขบวนการบางส่วน เห็นใจพวกเราที่กำลังแก้ปัญหาต่างๆ อยู่ แต่เขาอาจจะติดขัดบางประการ ติดขัดข้อกฎหมายบ้าง หรือความสัมพันธ์ภายในกลุ่มบ้าง ตอนนี้พื้นที่ทางการเมืองเปิดทางให้ทุกฝ่ายออกมาต่อสู้ ผมพูดหลายครั้งแล้วว่า ผมสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในเวทีทางการเมือง หรือเวทีอื่นๆ ผมไม่สนับสนุนอย่างเดียวคือ การต่อสู้ด้วยอาวุธ จะเห็นได้ว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจ

 

กรณีนำทหารพรานมาทดแทนทหารหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แน่ใจไม่หรือว่ามาถูกทาง เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มาจากทหารพรานเยอะมาก

 

พล.ท.อุดมชัย : ปัญหาที่เกิดจากทหารพราน มีเพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้นคือ กรณีทหารพรานยิงชาวบ้านกาหยี ต.ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และที่ จ.ยะลาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมคำนึงถึงเรื่องนี้มาก ทำไมเราต้องนำทหารพรานมาใช้ เราดูพื้นฐานข้อจากเรียกร้องสมัยโบราณ ที่ต้องการให้พี่น้องในพื้นที่ดูแลกันเอง รัฐกำลังปรับเรื่องนี้ ด้วยการเอาคนในท้องถิ่นมาดูแลคนท้องถิ่นกันเอง อันนี้เป็นแนวความคิด

 

ผมจับเรื่องทหารพรานมา 7–8 ปี เห็นว่าควรจะเอาคนในท้องถิ่นมา มีการกำหนดหลักสูตรอย่างชัดเจนว่า ผู้บังคับการกรม ตัว ผบ.ร้อย หัวหน้าชุด ต้องผ่านการอบรมทางการเมือง ผมจัดตั้งชุดครูทางการเมือง เปิดให้อบรมกันถึง 10 สัปดาห์เป็นการเฉพาะ เราทำอย่างเข้มข้น

ผมย้ำว่า เราใช้คนท้องถิ่น เพราะคนท้องถิ่นเขารู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดี ผมไม่แปลกใจ ที่มีปฏิกิริยาตอบโต้จากคนบางส่วนที่ไม่ต้องการทหารพราน คิดว่าทหารพรานสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ เราคำนึงถึงและพิจารณาเรื่องนี้มานานแล้ว

อาสาสมัครทหารพรานส่วนใหญ่จบระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาสาสมัครทหารพรานหญิงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการแย่งกันสมัครเป็นอาสาสมัครทหารพราน เพราะรายได้ของอาสาสมัครทหารพรานรวมแล้ว 15,000 บาท เป็นรายได้ที่ดีคนจึงมาสมัครกันเยอะ

กรณีที่อาสาสมัครทหารพรานกระทำความผิด กองทัพบกมอบอำนาจให้ผมปลดหรือลดชั้นได้ทันทีโดยตรง มีกระบวนการชัดเจนในการคัดเลือก ฉะนั้นปัญหาของผู้สื่อข่าวหรือใครก็ดี ที่มองว่าทหารพรานทำให้เสียหายบ่อยๆ นั้น ผมพร้อมจะจัดการกับคนเหล่านี้

 

 

หลักเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครทหารพรานมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติ วุฒิภาวะ เรื่องการตัดสินใจในสภาวะที่คับขัน

 

พล.ท.อุดมชัย : ทหารพรานไม่ได้ทำงานอิสระ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทหารหลักคือ เจ้ากรม ผู้บังคับการกรม จบจากโรงเรียนนายร้อยจปร. ผู้บังคับบัญชาบางส่วนก็จบจากโรงเรียนนายร้อยจปร. มีทหารหลักดูแลแต่ละส่วนอยู่ จึงย้อนกลับไปว่า มีกรณีอื่นอีกหรือเปล่า นอกจากกรณีบ้านกาหยี ต.ปูโละปูโย

ทหารเกณฑ์ที่สมัครเข้าไปก็เหมือนกัน มีทหารหลักจบมาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายสิบ ฝึกเหมือนกัน อาสาสมัครทหารพรานสมัครเข้ามาก็มีการฝึก ฉะนั้นกฎเกณฑ์มันเข้มข้น เพราะมาด้วยความสมัครใจ ที่เข้ามาด้วยความแค้นไม่มี ถ้าเข้าแก้แค้นมีแต่จะติดคุก เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีใครละเมิดกฎหมายได้ ผมยืนยัน

 

“หากเราทำงานไม่ชนะจิตใจประชาชนเราก็แพ้ ประชาชนไม่เอาด้วยมันแพ้อยู่แล้ว กองทัพยิ่งใหญ่ขนาดไหน หากมวลชนไม่เอาด้วย แพ้แน่นอน เรื่องนี้เราตระหนัก เราเคยผ่านศึกสงครามมา ผมรู้ดี

 

ในภาวะที่ต้องตัดสินใจกะทันหันภายใต้ความเครียด ความพร้อมและความสามารถในการตัดสินใจของทหารพรานไว้วางใจได้แค่ไหน

พล.ท.อุดมชัย : น่าจะมีความพร้อม แต่การตัดสินใจจะถูกหรือไม่ อย่าเพิ่งวินิจฉัยทันที ถ้าทุกคนถามแล้วบอกว่าผิดเลย ผมไม่เห็นด้วย ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กรณีบ้านกาหยี จะสรุปว่าทหารพรานผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือกล่าวหาประชาชนเป็นผู้ก่อเหตุร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เราต้องกลับมาตั้งสติกันใหม่ ทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา ค่อยไล่เรียงเหตุการณ์ขึ้นมา ถ้าหากไม่ได้ไล่เรียงเรื่องราวให้ชัดเจน สังคมของเราจะเป็นอยู่กันอย่างนี้

 

“ผมกำลังปรับการทำงานของทหารพรานใหม่ ทำอะไรลงไปแล้ว เราต้องไม่เสียหายทางการเมือง เราอาจต้องยอมให้โดนยิงตายเสียก่อน หรือโดนยิงให้ถูกเสียก่อน ถึงจะปฏิบัติการตอบโต้ได้ เราอาจจำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น ใครไม่อยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้น คนที่อยู่กับการเขียนหรืออยู่กับทฤษฎี มันไม่เห็นภาพการกดดัน ขณะเดียวกัน ทั้งความมืด ทั้งโดนยิงฐานมาใหม่ๆ ผมเองไม่แน่ใจว่าหากอยู่ในสภาวะอย่างนั้น จะตัดสินใจได้ดีขนาดไหน ทั้งที่ผมผ่านศึกสงครามมาขนาดนี้ แต่ผมก็พยายามปรับปรุง พยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง”

 

การใช้คนท้องถิ่นเข้ามาดูแลผ่านกระบวนการพิจารณา จนเห็นว่าคนๆ นี้ เข้ามาทำงานแล้วเราต้องได้การเมือง ไม่ใช่เสียมวลชน การได้มาซึ่งทหารพราน จึงมีรายละเอียดในกระบวนการคัดเลือกอยู่มาก มีการพิจารณากันตั้งแต่กายภาพไปจนถึงสภาพจิตใจ มีการตรวจสอบประวัติ มีการฝึก เอาครูทางการเมืองมาอบรม เพราะทุกคนไม่อยากเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาวะอย่างนี้

 

“อันที่จริงภาพโดยรวมแล้ว เหตุการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างหลายคนที่อยู่ไกลๆ พื้นที่คิด ทุกคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็รู้ว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด ไม่ใช่ทหารพรานจะเลวร้ายทั้งหมด รัฐพยายามปรับปรุง พยายามปรับตัวอย่างมาก ไม่มีเรื่องใดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการร้องเรียนแล้ว ไม่ได้รับการตอบรับ”

 

ในช่วงหลังการตรวจค้น ตรวจจับ ทำได้ตรงเป้ามากขึ้น ดูแล้วเหตุร้ายน่าจะลดลง แต่ทำไมถึงไม่ลดลง

 

พล.ท.อุดมชัย : เรายังสามารถเปิดองค์กรลับได้ทั้งหมด การจัดตั้งองค์กรลับใช้เวลายาวนานในการปลูกฝัง งานข่าวของเราอาจจะครอบคลุมได้ เรารู้ว่าคนนี้ แต่เขายังอาศัยความเกื้อกูลในสังคม ภูมิประเทศสังคมหลบเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ได้ เรามีรายชื่อ มีผลพิสูจน์ดีเอ็นเอบุคคลที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางทีไล่จับจนต้องหลบหนี ลักษณะสภาพพื้นที่มันเกื้อกูลให้หลบหนีได้ง่าย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ยังทำได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

พวกเราทราบก็ดี คนที่ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐ ผมว่าน้อยลงแล้ว เราจะทำให้ไม่มีคนพวกนี้เหลืออยู่เลย อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราพยายามปลูกฝังคนของเราให้เป็นผู้รับใช้ประชาชน ผมว่าตอนนี้คนที่ทำให้ชาวบ้านเคียดแค้นรัฐน้อยลงแล้ว เราพยายามทำให้ไม่มีเลย เพราะถ้าเรายังมีคนทำให้พี่น้องประชาชนโกรธแค้นรัฐ สงครามมันก็ไม่ยุติ

 

“ภาระหน้าที่ของเรายังไม่สิ้นสุด เพราะภาระหน้าที่ของเราคือทำให้สงครามที่นี่จบสิ้นลง สงครามที่เกิดจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งองค์กรลับขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ เราพยายามที่สร้างความเข้าใจ ใช้หลักการบังคับใช้กฎหมาย นำหลักอีก 5–6 ด้านมาใช้ด้วยความอดทน จะเห็นว่าพวกเขาพยายามโทษพวกผม ทั้งที่ผมพยายามทำตามหลักการ ไม่ไปยิงคนนี้คนโน้นเด็ดขาด เพราะมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้”

 

มีแนวทางลดความรุนแรงอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : สร้างความเข้ากับพี่น้องประชาชน มีความอดทนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยแทรกซ้อนต่างๆ ต้องขจัดให้หมดไป ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ใช้มาตรการทหารควบคุมพื้นที่บังคับใช้กฎหมาย นี่คือแนวทางที่เราทำอยู่

ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีหน้าที่เพิ่มศักยภาพให้กับพี่น้องประชาชนด้านเศรษฐกิจและการศึกษา นี่คือแนวทางการสร้างความเป็นธรรม ขจัดปัญหายาเสพติด หากมีแนวทางอื่นบอกผมมาได้เลย ผมพร้อมที่รับฟังและนำไปปฏิบัติ

 

สิ่งที่เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งก็คือ ขณะนี้ผู้คนจำนวนมากในพื้นที่กล้าแสดงออกทางการเมือง ในส่วนนี้ท่านคิดว่าทหารจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนการแสดงออกของประชาชนอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : หากเขาไม่ต่อสู้ด้วยอาวุธ เขาก็มีเสรีภาพเต็มที่ เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะทหารเป็นประชาชน สมมุติมีกลุ่มต่างๆ เชิญมา เราพร้อมที่จะไปเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เชิญเราไปเป็นวิทยากร ถ้าเราพร้อมเราก็ไป จะจัดกิจกรรมทางการเมืองเราก็พร้อมสนับสนุน เพราะหากไปจำกัดเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ ถ้าไม่มีทางออกมันจะปะทุไปเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ทางการเมือง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

นโยบายของทหารข้อหนึ่งคือ นโยบายสานใจสู่สันติ ที่ผมทำอยู่คือการปฏิบัติการทางทหาร ทำเพื่อป้องกันเท่านั้น ไม่ได้คิดทำร้ายใคร ถ้าหากปิดล้อมตรวจค้น ต้องเอาผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะครู อิหม่ามมาอยู่ด้วย ถ้าหากไม่มีการต่อสู้ ทหารจะไม่ยิงเด็ดขาด เมื่อเร็วๆ นี้ มีการปะทะกันตาย 2 อีก 2 คนมอบตัว สองคนนี้ก็ต่อสู้ทางกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีหลักฐานทางคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 คนนี้จะหลุดคดี

 

“การควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึก หากไม่มีหลักฐาน ผมต้องปล่อยตัว ปกติหากมีการปะทะจะถูกวิสามัญฆาตกรรมหมด แต่กรณีเมื่อเร็วๆ นี้ 2 คนนี้ออกมามอบตัว เราก็ไม่ยิงเขา การวิสามัญฆาตกรรมไม่มีประโยชน์ ความแค้นไม่มีวันสิ้นสุด ทำร้ายคนในครอบครัวเขาก็เกิดความแค้นตามมาอีกมากมาย”

ทหารระดับล่างมีความเข้าใจแนวทางนี้หรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : เหมา เจ๋อตง ใช้เวลา 20 ปี ในการเคลื่อนแนวคิดยุทธศาสตร์ เดินพูดคุยยุทธศาสตร์กับคนแนวหน้า เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่งผ่านมา 10 ปี ยุทธศาสตร์ที่เราใช้ เมื่อเรานำไปอธิบายกับทุกคน เราพบว่าบางคนเข้าไปถึง บางคนเข้าไปไม่ลึก เหมา เจ๋อตง มีกองทัพเป็นจำนวนหลายแสน ส่วนเรามีไม่มากหรอก เราพยายามสร้างความเข้าใจ ถ้าเขาไม่เข้าใจปานนี้ คดีที่ร้องเรียนมันน่าจะเยอะ การวิสามัญมันน่าจะเยอะ

 

ระยะหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ 2 ชุดแล้ว ชุดแรกกรณีบ้านกาหยี ชุดสองกรณีนายซูกิฟลี ซิกะ ร้องถูกซ้อมทรมาน การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแบบนี้ จะยึดเป็นแนวทางต่อไปหรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : หากไม่ใช้แนวทางนี้แล้วจะใช้แนวทางไหน ที่ผมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านกาหยี ต.ปูโละปูโย เพราะชาวบ้านเขาร้องขอให้ตั้ง ในส่วนกระบวนการยุติธรรมปกติ ก็ต้องผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ผ่านการตรวจสอบสำนวนจากอัยการ และผ่านการพิจารณาคดีในชั้นศาล ก็ดำเนินไปตามกฎหมาย

สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านกาหยี ชาวบ้านขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง โดยให้มีตัวแทนจากศูนย์ทนายความมุสลิม ตัวแทนชาวบ้านบ้านกาหยี ต.ปูโละปูโย ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นมอบหมายให้ผมหางบประมาณและออกคำสั่งให้ เพื่อจะตรวจข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดเป็นอย่างไร

 

หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีผลสรุปออกมาไม่ตรงกับพนักงานสอบสวน

 

พล.ท.อุดมชัย : บอกเลยว่าการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านกาหยี ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นการหาข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้

 

การตั้งคณะกรรมการอย่างนี้ ในแง่หนึ่งเหมือนกับเปิดทางให้พลเรือนคนภายนอกเข้ามาตัดสินความถูกผิดของทหาร

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมพูดตรงๆ ผมแก้ผ้าให้ดูแล้ว เขาอยากจะดูอะไรก็ดู ผมมีความจริงใจในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่กลัวกระบวนการตรวจสอบ

 

การแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดแตกต่างกันอย่างไร เพราะดูองค์ประกอบการแต่งตั้งคณะกรรมสองชุดนี้ มีความแตกต่างกันอยู่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านกาหยี มีพลเรือนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ส่วนคณะกรรมการตรวจข้อเท็จจริงกรณีการซ้อมทรมานของนายซูกิฟลี ซิกะ เป็นทหารทั้งหมด

 

พล.ท.อุดมชัย : เราประกาศเป็นนโยบาย เรามีแบบธรรมเนียมปฏิบัติ หากเราไม่ทำอย่างจริงจัง วันนี้กองทัพเราสู้ไม่ชนะหรอกครับ เราต้องเชื่อสิ่งเหล่านี้ด้วย ไม่เช่นนั้นกองทัพอยู่ไม่ได้ ในเมื่อแม่ทัพประกาศเป็นนโยบายให้เคารพสิทธิมนุษยชน ตามแบบธรรมเนียมทหารถือเป็นเรื่องสำคัญ การซ้อมทรมาน การละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่อย่างนั้นองค์กรทหารอยู่ไม่ได้มาเป็นพันๆ ปี

การที่องค์กรทหารอยู่ได้ เพราะเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง เรายึดระเบียบวินัย เราถือปฏิบัติตามนโยบาย หากใครขัดขืนต้องได้รับการลงโทษ แต่คนข้างนอกอาจจะรู้สึกไปอีกแบบ

เมื่อชาวบ้านปูโละปูโยขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผมจึงยินดีแต่งตั้งให้ ที่ใดก็แล้วแต่ เรื่องใดก็แล้วแต่ขอมาได้เลย ถ้าต้องการสอบผม ผมก็ยินดี ขอให้ว่ากันไปตามความเป็นจริง

 

ที่บอกว่าทหารตรวจสอบตัวเองอยู่ ขณะเดียวกันความรู้สึกของคนข้างนอกที่มองเข้ามา เขาไม่เชื่อว่าทหารตรวจสอบตัวเอง จะทำอย่างไรให้คนข้างนอกเชื่อ

 

พล.ท.อุดมชัย : ต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่น ต้องใช้ความอดทน ใช้การให้อภัย ทุกคนตรวจสอบประวัติพวกผมได้ เข้ามาตรวจสอบกฎข้อบังคับที่ทหารมี ไม่ใช่เพียงเรื่องซ้อมนายซูกิฟลี ซิกะ ยังมีการร้องเรียนเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ผมพูดตามสภาพความเป็นจริง

คนหลายหมื่นคนอยู่ร่วมองค์กรเดียวกัน ต้องมีกฎเหล็กกำกับ เป็นคนหนุ่มถืออาวุธ อยู่ดีๆ เพื่อนโดนระเบิดตาย เข้าไปปิดล้อมหมู่บ้านยิงชาวบ้านตาย ระเบิดกันยิงกันโดยไม่มีการสอบถามกันก่อน เราเข้าใจสงคราม เราโดนกระทำเราต้องอดทนและให้อภัย คิดว่าที่เขาทำเรา เพราะเขาไม่เข้าใจ ในสงครามแบบนี้เราต้องใช้ความอดทน อดกลั้น ทุกครั้งที่ผมนำศพทหารกลับบ้าน พบญาติพี่น้อง บรรยากาศเต็มไปด้วยความเศร้าโศก ผมเสียใจที่เขาถูกกระทำ

 

“เรามาในภารกิจรักษาความปลอดภัยครูที่สอนลูกหลานของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราโดนกระทำ เรามาในภารกิจรักษาเป้าหมายผู้อ่อนแอ พี่น้องทั้งชาวพุทธ มุสลิม พระสงฆ์ ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา กลับโดนคนร้ายยิงตายอย่างโหดเหี้ยม เรามาดูแลอิหม่าม ดูแลมัสยิด ดูแลสัปบุรุษ กลับโดนยิงตาย เราโดนกระทำ มีใครบ้างที่ตรวจสอบผู้กระทำ ผมต้องถามกลับ มีใครกล้าหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน หากพวกเราไม่ช่วยกันตรวจสอบ สภาพสังคมจะเบี่ยงเบน คนที่พยายามมาทำหน้าที่ดูแลผู้อ่อนแอ กลายเป็นผู้ผิดไปหมดเลย เราโทษทหารที่ไม่สามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ แต่ไม่มีใครตรวจสอบคนที่ลอบยิงทหาร พูดถึงปฏิบัติการของคนกลุ่มนั้น ด้วยความจริงจังและตั้งใจ เหมือนที่รัฐโดนการตรวจสอบ”

 

ผมมั่นใจว่าเรื่องที่พวกเราร้องเรียนมามันน้อยมาก หากเหตุการณ์ลักษณะเหมือนกรณีบ้านกาหยี ต.ปูโละปุโย ผมก็เสียใจและผมก็นอนไม่หลับ แล้วอยากจะเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนผิดถูกก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม

 

ในเมื่อมีกฎระเบียบวินัยเข้มงวด การร้องเรียนน่าจะน้อยลง ทำไมจึงยังมีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานอยู่

 

พล.ท.อุดมชัย : ไม่เคยคิดเลยหรือว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นเทคนิคการต่อสู้ของฝ่ายตรงข้าม เพราะเมื่อเราทำงานได้ผลมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับไปจำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวฝ่ายเขาไปโดยปริยาย

 

กองทัพภาคที่ 4 มีแนวทางขยายผลการทำงานอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมจึงบอกว่า คนที่ต่อสู้ด้วยอาวุธทุกกลุ่ม ผมยินดีพาพวกเขากลับบ้าน นี่คือมาตรการใหญ่ ผมยินดีที่จะพาคนที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกกลุ่มกลับบ้าน ผมพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องคดีอาญา แต่คนที่อยู่ในองค์กรลับเขาอาจจะรู้ไม่หมดว่า เรากำลังทำอะไร ก็ต้องอาศัยสื่อสารกันหลายทาง

องค์กรลับในแต่ละประเทศ กว่าจะสลายตัวได้ต้องใช้เวลา แต่หากผู้สื่อข่าวบอกว่ามีแนวทางอื่น ผมก็ยินดีรับฟังนำไปปฏิบัติ การเอาบุคคลกลับบ้านก็ดี การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน การบังคับเจ้าหน้าที่ไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นแนวทางที่ชัดเจน ในการดำเนินการกับบุคคลที่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์มาเป็นเวลานับสิบปี

ข้อมูลของฝ่ายทหาร สมาชิกองค์กรลับมีจำนวนเท่าไหร่

 

พล.ท.อุดมชัย : มีไม่มาก ตัวที่เป็นกองกำลังจริงมีน้อย บางส่วนมาอยู่กับเจ้าหน้าที่แล้วก็มี เข้ามาให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะตัดสายของขบวนการได้ บางคนให้ข้อคิด บางคนเคยประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วว่า จะยืนหยัดต่อสู้ ตอนนี้ถ้าเขาออกมาประกาศว่า มาอยู่กับเราเขาอาจจะเสียหน้า ฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องหาทางออกให้เขาด้วย

ผมเป็นนักรบอาชีพ ผมเห็นใจที่พวกเขาพร้อมสู้ตาย เมื่อเขาได้รับข้อเท็จจริงว่า การต่อสู้นี้ไม่ใช่หนทางของพระเจ้า ไม่ใช่หนทางการต่อสู้ที่ต้องใช้อาวุธใช้ความรุนแรง แต่เมื่อประกาศตัวไปแล้ว ก็ต้องหาทางลงให้เขาให้ได้ ลักษณะอย่างนี้มีจำนวนมากพอสมควร เป็นบุคคลระดับสูงในองค์กรลับ ผมเห็นใจพวกเขา เพราะพวกเขามีอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อคนอื่น

 

อะไรคือข้อผิดพลาดของขบวนการ ที่ทำให้กองทัพสามารถรุกทางการเมือง จนกุมสภาพได้ระดับหนึ่ง

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมว่าเขาผิดที่งานการเมือง เขาพลาดที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ มันกินเนื้อตัวเอง เท่าที่ผมเห็น เงื่อนไขที่เขาใช้ปลุกระดม การใช้ศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามถือว่าการฆ่าคนเป็นบาป มีการเชื่อมโยงในลักษณะประชาชาติ การใช้เงื่อนไขในประวัติศาสตร์ มันไม่มีเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ญิฮาด เพราะบ้านเราให้อิสระในการปฏิบัติศาสนกิจ ถึงแม้คนมลายูปัตตานีจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ปัตตานีก็ไม่ใช่รัฐอิสลาม ตรงนี้เขาไม่ค่อยเข้าใจ ผมว่าสังคมเราน่าจะประนีประนอม ให้พวกเขาออกมาต่อสู้ทางการเมือง

 

สภาพความรุนแรงจะยังอยู่อีกหลายปีหรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมว่าไม่หลายปี ที่ดูรุนแรงเพราะมันมีเหตุระเบิด เพื่อให้ประชาชนกลัว พื้นที่ปฏิบัติเขาน้อยลงแล้ว สภาพความรุนแรงที่เห็นอยู่นี้ มันถูกสร้างขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ป้องกันไม่ให้มวลชนของเขาตีตัวออกห่าง ผมบอกเลยว่า เราร่วมกับตำรวจติดตามจับอยู่ทุกคดี แล้วจะตามจับไปเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านเขาทนไม่ไหวแล้ว พวกผมถือปืนเข้าไปในชุมชน ชาวบ้านไม่กลัวพวกผมฆ่านะ ชาวบ้านเขากลัวคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถืออาวุธเข้าไปในชุมชน ชาวบ้านกลัว เพราะคนพวกนี้ไม่มีกฎหมายบังคับ สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ

 

การกระจายอำนาจ จะเป็นทางออกจากความรุนแรงให้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : ชาวบ้านเรียกร้อง หรือขบวนการเรียกร้อง ผมเองยังไม่รู้เลย หรือนักวิชาการเรียกร้อง ผมไม่ทราบ ผมไม่วิจารณ์ หากขบวนการออกมาเรียกร้องว่าต้องการเขตปกครองพิเศษ ป่านนี้เรื่องคงจบลงแล้ว ถ้าขบวนการออกเรียกร้อง รัฐไทยให้อยู่แล้ว

 

แสดงว่าที่ออกมาเรียกร้องตอนนี้ยังไม่ใช่ตัวจริง

 

พล.ท.อุดมชัย : ก็ไม่รู้

ตอนนี้เรายังไม่ใช่รู้ว่าขบวนการต้องการอะไรใช่หรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : ยังเป็นเรื่องเดิมอยู่คือ ต้องการเอกราช เขารู้ว่ามันไปไม่ถึงอยู่แล้ว ขณะนี้ขบวนการบางส่วนมันโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด คนที่มีอุดมการณ์จริงๆ เขาจึงอยากถอนตัวออกมาจากขบวนการ เราก็ต้องหาวิธีการที่จะให้เขาออกมาอย่างมีศักดิ์ศรี

 

ถ้าหากสภาพการต่อสู้ยังเป็นอยู่อย่างนี้ สภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมว่าให้ดูสภาพการก่อสร้าง การค้าขาย การไปมาหาสู่กัน สักประเดี๋ยวก็สงบมันจะรบกันไปได้นานขนาดไหน ลอบวางระเบิดผมก็ตามจับจนได้

 

เหตุการณ์วางระเบิดห้างสรรพสินค้า 2–3 แห่ง ที่เพิ่งผ่านมาคิดว่าตั้งใจจะก่อกวนสถานภาพทางเศรษฐกิจหรือเปล่า

 

พล.ท.อุดมชัย : ต้องรอผลจากการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ต้องรอดูผล

 

ลักษณะและการใช้ระเบิดเปลี่ยนไปจากเดิม

 

พล.ท.อุดมชัย : ธรรมดา เดี๋ยวนี้ระบบการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ ทำให้สามารถเรียนกันได้ทั่วโลก เขาสามารถเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ แต่เขาก็ต้องรู้ด้วยว่า รัฐก็มีเครื่องมือ มีเจ้าหน้าที่ มีวิธีการ มีประชาชนที่เข้ามาอยู่กับรัฐมากขึ้น ขณะที่พวกเขาโดนจำกัดเคลื่อนไหวโดยวงประชาชน เขาจะมีความสามารถอย่างไรก็แล้วแต่ หากโดนจำกัดด้วยวงของประชาชนแล้ว มันไปไม่รอด การที่รัฐเอาประชาชนพื้นฐานมาเป็นทหารพราน มาเป็นตำรวจ หรือมาเป็นข้าราชการในพื้นที่ จะทำให้พื้นที่ค่อยๆ เย็นลง เพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นคนท้องถิ่น

 

 อีก 4–5 ปี จะเย็นลงหรือเปล่า

 

พล.ท.อุดมชัย : ไม่น่าจะถึง ประมาณ 1–2 ปี ก็เย็นลงแล้ว พวกเขาจะไปไหน ในเมื่อเรายินดีต้อนรับเขากลับบ้าน

“ผมพยายามเร่งรัดให้เหตุการณ์สงบลงภายใน 1–2 ปีนี้ ไม่ใช่ผมจะเก่ง แต่ผมมองเห็นแนวโน้มที่จะทำให้เหตุการณ์สงบลง จากการทำงานของผม"

 

 

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่

 

พล.ท.อุดมชัย : ผมว่าไม่น่าจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามา เพราะวันนี้ประชาชนที่นี่เขาเบื่อความรุนแรงที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่ เพียงแต่ขณะเขาถูกอำนาจปลายกระบอกปืนจี้หลังอยู่

 

บุคคลที่จะเข้ามาใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มีตัวตนชัดเจนบ้างหรือยัง

 

พล.ท.อุดมชัย : ขณะนี้มีการทดลองใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ชุดแรกมีผู้สมัครเข้ามาตรา 21 จำนวน 4 คน แต่ต่อมาขอถอนตัว ได้ยินข่าวว่า จะกลับเข้ามาใช้มาตรา 21 อีกครั้ง อีก 2 คน ที่จะเข้ามาอยู่ในมาตรา 21 เป็นชุดใหม่

เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีการจับกุมบุคคลที่ควบคุมคนกลุ่มนี้ได้ที่อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ผมบอกได้เลยว่า ถ้าหากเขาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอ จ.สงขลา เขาหนีไม่พ้น เพราะขณะนี้งานการข่าวกระชับวงเข้ามามากแล้ว จับกุมทุกวัน ไม่มีทางหนีรอดไปได้ รัฐก็ไม่มีการทำร้ายประชาชน ผมคิดไม่ออกว่า จะเกิดรุนแรงมากขึ้นได้อย่างไร เพราะผมไม่ทำร้ายใคร ผมบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น หากมอบตัวก็เอาเข้ามาตรา 21 เป็นเรื่องที่ดีที่เวทีทางเมืองเปิดให้มีการต่อสู้อย่างเสรี

 

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า มาตรา 21 จะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน รัฐจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือหลัก ทดแทนกฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้

 

พล.ท.อุดมชัย : เราใช้นโยบาย ใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือหลัก ส่วนมาตรา 21 ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ในการเปิดโอกาสให้คนกลับออกมาได้ บางคนมองว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ สำหรับผมแล้วประชาชนมีวิจารณญาณ เขาย่อมรู้เองว่า หาก 4 คนชุดแรกปฏิเสธไม่ใช้มาตรา 21 ก็ต้องสู่กระบวนการประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากติดคุกแล้วใครละติดคุก แต่ตามกระบวนการมาตรา 21 อย่างมากก็แค่อบรมก็เลือกเอา ตอนนี้ 4 คนชุดแรก เลือกที่จะสู้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในเมื่อเขาเลือกทางที่จะสู้คดีก็เป็นสิทธิของเขา ผมไม่ได้เสียหน้าอะไร

 

ชาวบ้านที่ถูก 4 คนกระทำ จะไม่ยินยอมให้พวกนี้ใช้มาตรา 21 ได้หรือเปล่า

 

พล.ท.อุดมชัย : เขามีกระบวนการเยียวยา เข้าไปดูแล เข้าไปชดใช้ความสูญเสียจากกระทำของ 4 คนนี้ คณะกรรมการฯ เข้าไปพูดคุยกับญาติผู้เสียหายหลายครั้ง จนญาติของผู้เสียหายยินยอม เมื่อยินยอมแล้ว ปรากฏว่าเจ้าตัวกลับไม่ยอมเข้ากระบวนการมาตรา 21 สังคมก็ได้เห็นว่า รัฐได้พยายามให้ทางออกกับพวกเขาอยู่ เป็นการหาทางออกให้กับสังคม เป็นการปรองดอง

ส่วนคนที่ถูกจับตามหมายจับ หากเขาให้การเป็นประโยชน์ ก็มีเหตุอันควรที่จะพิจารณา ถ้าหากเขาร้องขอ แต่เราต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่าจะให้หรือไม่ ถ้าหากเข้ามาตรา 21 แล้ว ทำให้สังคมสงบ ก็จะพิจารณาให้เข้ามาตรา 21 ได้

การเข้าอบรมตามมาตรา 21 ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน ครอบครัวสามารถเยี่ยมได้ มีที่พักที่กินฟรี ง่ายขนาดนี้ 4 คนแรกยังไม่เอาเลย ผมว่าบ้านเราอยู่แบบประนีประนอม ไม่ใช่สังคมสุดโต่ง

 

ทหารมีวินัยเข้มงวด มีนโยบายชัดเจน แต่ที่ผ่านมามีการร้องเรียนหลายกรณี บางคดีถูกนำขึ้นศาลทหาร

 

พล.ท.อุดมชัย : คดีของทหารก็จะขึ้นศาลทหาร แต่หากคู่กรณีทหารเป็นพลเรือน ต้องไปขึ้นศาลพลเรือน สำหรับคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ผมรู้ว่ามันจะจบแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจ ผมไม่ได้ดูรายละเอียด แต่ผมว่ามีการเยียวยากันไปแล้วพอสมควร ส่วนกรณีบ้านบานา อ.เมืองปัตตานี ไม่รู้ว่าขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน แต่ผมมั่นใจว่าหากคู่กรณีของทหารเป็นพลเรือน จะไม่ขึ้นศาลทหาร คดีจะไปขึ้นศาลอาญา ศาลทหารจะพิจารณาคดีคู่กรณีเป็นทหารกับทหาร ศาลทหารจะลงโทษหนัก บางทีถึงประหารชีวิต ไม่อย่างนั้นองค์กรทหารอยู่ไม่ได้เป็นร้อยปี หากไม่ได้ยึดข้อบังคับ กฎระเบียบอย่างเข้มงวด ขัดคำสั่งต่อหน้าศัตรูทหารสามารถยิงทิ้งได้เลย ไม่อย่างนั้นกองทัพจะอ่อนแอ

 

พื้นที่ทดลองยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นอย่างไรบ้าง

 

พล.ท.อุดมชัย : ความจริงพื้นที่ที่มีการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.254 เป็นพื้นที่ดีอยู่แล้ว อย่าง 4 อำเภอของ จ.สงขลา อย่าง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ไม่ได้มีเหตุอะไรมากมาย ใช้กระบวนการยุติธรรมอำเภอและตำรวจ มีทหารเข้าไปเสริมแค่นิดหน่อย

ผมอยากยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่บางพื้นที่เรายังต้องให้กองกำลังเข้าไปปฏิบัติการอยู่ ฉะนั้นก็ต้องอาศัยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สำหรับบางพื้นที่

สำหรับองค์กรลับ เราไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั้งหมด พอเราจับตัวมาสอบสวน เขาก็ข่มขู่พยาน หรือยิงพยานทิ้ง ทำให้พวกเขาหลุดกันเป็นแถว ผมไปตรวจสอบบุคคลที่หลุดคดี ส่วนมากแล้วเกี่ยวข้องกับขบวนการทั้งนั้น มีแต่คนซัดทอด แต่หาคนมาเป็นพยานไม่ได้ โครงสร้างสังคมมันเป็นอย่างนี้

กระบวนการของตำรวจ ฝ่ายปกครอง ยุติธรรม มันถูกออกแบบมาสำหรับจัดการผู้ร้ายธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นองค์กรจัดตั้ง มีอุดมการณ์ มียุทธศาสตร์ มีอาวุธ มีกองกำลังชัดเจน พื้นที่นี้จึงต้องเอากองกำลังทหารมาช่วย

 

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังต้องใช้ต่อไปเรื่อยๆ

 

พล.ท.อุดมชัย : ใช้บางพื้นที่เท่านั้น ผมพยายามยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ อ.เบตง จ.ยะลา แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ยกเลิก

 

ในเวทีระหว่างประเทศ มีการพูดถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของไทย มีมาตราที่ระบุเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางคดี ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดวัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบ

 

พล.ท.อุดมชัย : ระหว่างประเทศเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ISA (กฎหมายความมั่นคง) ของประเทศมาเลเชียจับขังเป็นปีหรือสองปีได้เลย ของเราแค่เชิญตัวมาวันเดียว เราต้องรับผิดชอบถ้ามีการซ้อมทรมาน อย่างอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าเสียเวลาจากควบคุมตัว เป็นต้น แต่การซ้อมทรมาน เจ้าหน้าที่โดนลงโทษแน่นอน ความรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้เลย

 

การร้องเรียนส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่หยุดชะงักหรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : อาจจะทำให้แรงที่จะรุกไปข้างหน้าชะลอลง ผมเห็นภาพว่าเขารุกอย่างไร มันเป็นการชิงไหวชิงพริบกัน

 

กรณีที่มีการพูดกันมาก ตั้งแต่มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คือยุทธการปิดเขาบูโด มีข่าวว่ายึดอาวุธได้จำนวนมาก จะมียุทธการลักษณะอย่างนี้อีกหรือไม่

 

พล.ท.อุดมชัย : ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางการข่าว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ปิดล้อมหรือเข้าไปยึด หากมีคนรวมตัวเพื่อเตรียมก่อเหตุอยู่บนภูเขา ถ้าเรามีข้อมูลเราจำเป็นต้องดำเนินการ เรามั่นใจว่าขบวนการใช้หลักทิ้งภูผาเข้าหามวลชน ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ ใช้หมู่บ้านเป็นตัวตั้งฐานอยู่กับประชาชน เป็นงานค่อนข้างยากและละเอียดอ่อน ในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ผู้ปฏิบัติทำค่อนข้างยาก เพราะความคิดความเชื่อต่างกันเหมือนคนละพวก

ผมว่าด้วยความจริงใจ และใช้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหารพรานก็ดีมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์ 5–6 ด้านที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ใครแพ้ ไม่มีใครเสีย พื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของพี่น้องมลายูต่อไป มุสลิมอยู่ได้ทั่วโลก

 

“ผมอ่านอัลกรุอ่านมากกว่าอ่านพระไตรปิฎก เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต พวกผมที่นี่มีความใส่ใจ เพราะมันเป็นสงครามแย่งชิงประชาชน เราต้องเข้าใจ ต้องพูดคุยให้รู้เรื่อง จะเห็นได้ว่าเรื่องการใส่รองเท้าเข้ามัสยิด การไปขุดสุสาน (กุร์โบ) ของพี่น้องมุสลิมก็หายไป เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาจากคนพื้นเมือง”

 

กรณีการซ้อมทรมาน มีการลงโทษทางวินัยทหารอย่างไรบ้าง

 

พล.ท.อุดมชัย : ผิดนโยบาย ขัดนโยบาย ผิดกฎหมายก็ต้องลงโทษ การลงโทษนั้นกำหนดเลยว่า กรณีขัดคำสั่ง ขัดนโยบาย มีโทษตั้งแต่กักขัง จำขังในคุก แล้วมีงดเลื่อนยศ งดเลื่อนตำแหน่ง งดพิจารณาขั้นเงินเดือน ตามแบบธรรมเนียมทหาร ถ้าเกี่ยวข้องกฎหมายอาญาก็ส่งตัวขึ้นศาล

 

กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง มีการดำเนินการทางวินัยอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : ในทางทหาร มีการลงโทษแน่นอนตามที่กล่าวข้างต้น ผมจำรายละเอียดไม่ได้ งดเลื่อนขั้น เมื่อโดนคดีอาญาต้องถูกพักราชการ หรืออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ได้รับเงินเดือน รอจนศาลตัดสิน ส่วนคดีแพ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ตามกระบวนการยุติธรรม

 

มีการจับยึดอาวุธอะไรได้บ้าง ศักยภาพอาวุธของขบวนการเป็นอย่างไร

 

พล.ท.อุดมชัย : ที่ผ่านมาเรายึดอาวุธได้มากพอสมควร เฉพาะอาวุธที่เขาได้ไปจากค่ายกองพลพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เรายึดกลับมาได้กว่า 100 กระบอก อาวุธที่ได้กลับมาเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา หากไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดี มันน่าจะมีข้อบกพร่อง อาวุธปืนน่าจะแย่ลง จำนวนกระสุนก็น้อยลง ตอนปล้นฝ่ายขบวนการได้กระสุนไปไม่เยอะ ตอนปล้นค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เขาได้ปืนไปกว่า 400 กระบอก ล่าสุดปล้นฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ สังกัด ร้อย ร.15121 ฉก.นราธิวาส หมู่ 1 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2554 ก็ได้ปืนไป 50 กว่ากระบอก

ผมเชื่อว่าประชาชนร้อยละเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ อยากให้ชายแดนภาคใต้มีความสงบ อยากใช้ชีวิตปกติ ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยากที่จะแก้ปัญหา เพราะขบวนการจัดตั้งฐานอยู่ในชุมชน ประชาชนในชุมชนอยู่กับเขา

 

ตอนนี้ทหารพรานที่เป็นคนในพื้นที่มีจำนวนเท่าไหร่

 

พล.ท.อุดมชัย : คนในพื้นที่มีประมาณ 70–80 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียว มีคนไทยพุทธด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: