แฉ3เขื่อนใหญ่ชายป่าแม่วงก์-ห้วยขาแข้ง น้ำแห้งขอด-เป็นที่ตกปลา-ทำไร่ข้าวโพด จวกกรมชลฯรู้ไม่มีน้ำแต่ยังดันทุรังจะสร้าง

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 26 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3623 ครั้ง

 

หากนับโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เข้าไปด้วย ก็จะกลายเป็นเขื่อนแห่งที่ 4 ในบริเวณชายป่าด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะปัจจุบันในบริเวณดังกล่าวมีเขื่อนอยู่แล้ว 3 เขื่อนคือ เขื่อนคลองโพธิ์ อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เขื่อนทับเสลา อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และเขื่อนห้วยขุนแก้ว อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี

 

3 เขื่อนใหญ่ชายป่าห้วยขาแข้ง-แม่วงก์ยังล้มเหลว

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ เดินทางไปสำรวจสภาพเขื่อนทั้ง 3 แห่งพบว่า เขื่อนทับเสลา ซึ่งมีสันเขื่อนยาวถึง 3,380 เมตร สภาพน้ำในเขื่อนมีต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประชาชนบุกรุกทำการเกษตรนับพันไร่ เช่น ปลูกข้างโพด จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่า ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำจากเขื่อนดังกล่าวเลย แต่น้ำถูกส่งไป

                                                                                      สภาพความแห้งแล้งของเขื่อนทับเสลา

 

ยังด้านล่างจำนวนมาก ประกอบกับมีประชาชนบุกรุกลงไปในพื้นที่อ่างจำนวนมาก เนื่องจากระดับน้ำไม่เคยเต็ม และมีการไถพรวนพื้นที่การเกษตร เมื่อฝนตกลงมาน้ำชะล้างหน้าดินลงไป ทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นขึ้นมาก และมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนลงในน้ำจำนวนมากด้วย

ขณะที่เขื่อนคลองโพธิ์ ในเขื่อนยาว 2,800 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 359 ล้านบาท ระบุว่า ให้ประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร แต่ปัจจุบันพบว่าระดับน้ำต่ำลงมาก และมีสภาพที่มีน้ำไม่เต็มระดับเก็บกัก ชาวบ้านระบุว่า แม้เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2554 แต่ระดับน้ำไม่เคยเต็มเขื่อนเลย

เขื่อนห้วยขุนแก้ว สันเขื่อนยาว 891 เมตร มูลค่าก่อสร้าง 463 ล้านบาท ระว่าใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร แก้ปัญหาอุทกภัยในจ.อุทัยธานี และชัยนาท เพิ่มการประมงน้ำจืด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันพบว่า น้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำมาก มีเกาะแก่งโผล่ขึ้นมามากมาย และมีต้นไม้ขึ้นรกร้างเต็มไปหมด มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือมีนักท่องเที่ยวใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตกปลา

ซึ่งสภาพเขื่อนทั้ง 3 แห่ง นับว่ายังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้ง และป้องกันน้ำท่วมเหมือนที่กล่าวอ้าง และยังสร้างปัญหาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากสภาพป่าถูกบุกรุกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแนวเขตป่าอนุรักษ์ นอกจากจะถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรแล้ว ยังเป็นช่องทางที่ทำให้พรานเข้าไปล่าสัตว์ป่าได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาอีกแห่ง จะมีสภาพที่แตกต่างจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วอย่างไร เพราะหากเขื่อนที่มีอยู่กรมชลประทานยังไม่สามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ ประเทศไทยยังคงต้่องเสียพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 ไร่ สัตว์ป่าอีกจำนวนมาก ความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่ปัญหาที่กล่าวอ้างก็ยังคงเหมือนเดิมต่อไป สภาพความแห้งแล้งก็ยังคงเดิม และน้ำก็ยังท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือนเดิม โดยที่ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ

สงสัยทำไมกรมชลฯยังดันทุรังสร้างเพิ่ม

 

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังของกรมชลประทานนั้นที่ผ่านมาพบว่ายังคงมีการบริหารจัดการน้ำที่แปลกประหลาด และในแวดวงผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเองก็ทราบกันดีว่า เขื่อนในบริเวณนั้นไม่ได้เคยถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เช่น เขื่อนทับเสลา ที่กรมชลประทานอ้างว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแม่วงก์ที่คิดจะสร้างนั้น ก่อนที่ผ่านมาก็พบว่าไม่

                                        เขื่อนคลองโพธิ์

 

เคยมีน้ำเต็มเขื่อนเลย จะมีอยู่ปีเดียวเท่านั้นที่มีน้ำเต็มเขื่อน คือใน ปี พ.ศ.2542 แต่หลังจากปล่อยน้ำออกมาก็ไม่พบว่าในเขื่อนมีน้ำ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปตามจุดประสงค์ที่บอกว่าจะใช้เพื่อการชลประทานดังที่ถูกกล่าวอ้าง เพราะบริเวณที่สร้างเขื่อนทับเสลานั้นเป็นการสร้างในพื้นที่อับฝน

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันมาว่าเขื่อนแม่วงก์ ที่เคยคิดจะสร้างกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังติดขัดอยู่ที่การทำอีไอเอ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้เชื่อว่ากลุ่มนักการเมืองที่พยายามจะทำให้เกิดเขื่อนนี้ได้เรียกร้องและผลักดันจนในที่สุดก็นสามารถที่จะทำให้ผ่าน ครม.ไปจนได้ ทั้งนี้หากไปดูในพื้นที่และศึกษารายละเอียดจะพบว่า ในพื้นที่ก็มีเขื่อนอื่นๆ อยู่แล้วแต่กรมชลประทาน ไม่สามารถบริหารจัดการให้ได้ดี เช่นเขื่อนห้วยขุนแก้ว ที่กักน้ำได้ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลฯ ลงทุนงบประมาณไปทั้งสิ้น 100 กว่าล้านบาท แต่พอทำแล้วก็พบว่าไม่สามารถที่จะส่งน้ำออกไปได้ เมื่อมีปัญหา กรมชลประทานก็พยายามที่จะบอกว่าที่น้ำส่งออกไม่ได้เพราะคลองส่งน้ำแคบ จึงใช้วิธีขุดลอกคลองให้กว้างขึ้น จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลิ่งพัง เมื่อเกิดการปล่อยน้ำที่มาจากคลองโพธิ์จำนวนมากน้ำล้นตลิ่ง น้ำจึงท่วมพื้นที่ชาวบ้านในช่วงที่ก่อนจะถึง จ.อุทัยธานี และอีกหลายๆ อย่างที่ กรมชลประทานพยายามจะทำแต่ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้เลย คราวนี้ก็กลับมาคิดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นอีก จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าจะเกิดปัญหาขึ้นอีกอย่างแน่นอน

 

ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนไม่มีน้ำแต่ไม่เชื่อ

 

นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่า หากมองดูให้ดีจะพบว่า วิธีการคิดของกรมชลประทาน เป็นวิธีคิดที่สัมพันธ์กับแนวคิดของนักการเมือง ที่อยู่ในพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ซึ่งดูแลกรมชลประทานมาเป็นเวลานาน ที่พยายามผลักดันเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดเขื่อนนี้อย่างมาก ถึงขนาดมีการทำหนังสือเพื่อถวายฎีกาเพื่อขอให้เป็นโครงการพระราชดำริ

                                                                                             

                                                                                                   เขื่อนห้วยขุนแก้ว

 

ซึ่งเขื่อนที่ผ่านๆ มาที่สร้างไว้ ผู้เชี่ยวชาญก็เคยบอกไว้แล้วว่า จะไม่มีน้ำ แต่ก็มีการสร้างกันขึ้นมาและต่อมาพบว่าไม่มีน้ำจริงๆ

และสำหรับเขื่อนแม่วงก์นี้ก่อนหน้านั้น มีการให้เหตุผลว่า การสร้างเขื่อนนี้มีเป้าหมายไปในเรื่องของการชลประทาน แต่เมื่อมาเกิดเหตุน้ำท่วม อุทกภัย ก็มาเปลี่ยนว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์จะช่วยเรื่องน้ำท่วมได้ ทั้งนี้หากไปดูจริงๆ มีอีกหลายๆ วิธีการที่คนที่รู้เรื่องน้ำจริงๆ เสนอไว้ว่าสามารถที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แต่กรมชลประทานกลับไปคิดที่จะทำโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณสูงๆ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น

 

นักการเมืองดัน-ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลจริง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมชลประทานอ้างว่าชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยและต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ นายหาญณรงค์กล่าวว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างกระแสของข้าราชการในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมือง ที่เข้าไปพยายามบอกกับประชาชน และสร้างความเชื่อว่าการสร้างเขื่อนขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงๆ ใดๆ เลย เป็นการใช้วิธีง่ายๆ อาศัยความใกล้ชิดเข้าไปให้ข้อมูลพูดคุย แต่ไม่เคยจัดเวทีการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ควรนำคนที่ติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำมาดู ไม่ใช่เอาคนไม่รู้เรื่องมาพูด สรุปว่าข้อมูลที่ได้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาเมื่อสร้างแล้วไม่เคยกลับมารับผิดชอบ ไม่มีใครมาคอยดูแลตรวจสอบอีกเลยว่า ได้ไปตามจริงหรือไม่

เมื่อถามว่าหากพิจารณาจากการดำเนินการตามขั้นตอนขณะนี้ หมายถึงว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่างที่ไม่น่าจะมีอะไรติดขัดใช่หรือไม่ นายหาญณรงค์กล่าวว่า ไม่มีทางที่โครงการนี้จะทำแบบไปอย่างฉลุยได้ เพราะแม้ผ่านมติครม.แต่ก็ต้องมีขั้นตอนพิจารณาอื่นๆ อีก ซึ่งโครงการเขื่อนแม่วงก์ถือว่าเป็นโครงการประเภทที่สร้างผลกระทบรุนแรง ที่จะต้องทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่มีขั้นตอนกระบวนการที่ใช้เวลาได้ถึง 8 ปี แต่ทำไมจะต้องเร่งรีบอนุมัติ ตัดสินใจ

“โครงการนี้ที่จะทำได้อย่างเดียวก็คือการยื่นฟ้องศาลปกครอง ซึ่งตอนนี้เราก็ได้ยื่นเรื่องไปตามกระบวนการแล้ว และพยายามจะนัดยื่นหนังสือทักท้วงไปยังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังไม่สามารถประสานงานได้ ซึ่งตามขั้นตอนคงจะต้องรอเวลา 90 วันก่อนที่จะยื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป” นายหาญณรงค์กล่าว

 

 

 

 

 

 

ชี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มียังใช้ไม่คุ้มค่า

 

ด้านนายตะวันฉาย หงษ์วิไล หัวหน้าภาคสนามจังหวัดนครสวรรค์-กำแพงเพชร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ลุ่มน้ำคลองโพธิ์ ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เหมือนกัน แต่มาลงที่อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เป็นรอยต่อระหว่างห้วยขาแข้งกับแม่วงก์ มีต้นน้ำมาจากแม่วงก์เหมือนกัน ปีที่แล้วมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ก่อนที่จะไม่มีอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ เราก็เห็นว่าน้ำท่วมอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ แต่ไม่ได้ท่วมทุกปี คือถ้าบอกว่าน้ำท่วมลาดยาว สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท อยุธยา คืออะไรก็ไม่รู้ เพราะที่นั่นน้ำท่วม 2-3 เดือน แต่ที่นี่น้ำท่วมไม่เกิน 2 สัปดาห์ และท่วมเป็นหย่อมๆ ไม่กระจายเต็มทั้งหมด แต่ปี 2549 ท่วมหมดเลยตั้งแต่ตลาดลาดยาว ไปจนถึงนครสวรรค์ แต่หลังจากปี 2549 ยังไม่มีน้ำท่วม มีเพียงน้ำหลากในพื้นที่ของลาดยาว แต่ปีที่แล้วน้ำหลากก็มีเพียงเล็กน้อย จึงคิดว่าทำไมทุกคนมามองแม่วงก์เป็นจำเลยว่า น้ำจากแม่วงก์ไปท่วมภาคกลาง แล้วการเก็บกักน้ำจากแม่วงก์จะทำให้น้ำไม่ท่วมภาคกลาง อันนี้คิดว่าไม่น่าเกี่ยว ต้องไปดูที่ลำน้ำใหญ่ๆ เช่นแม่น้ำปิง เขื่อนภูมิพลที่มีความยาวความใหญ่ ไปดูปิงวังยมน่านที่ใหญ่กว่าลึกกว่า ส่วนแม่วงก์นิดเดียว ลึกสุดประมาณ 3 เมตร

การสร้างเขื่อนที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คือ โครงการกักเก็บน้ำไม่มีระบบส่ง คลองชลประทานเอาน้ำไปทำการเกษตรให้ได้จริงๆ คนที่อยู่ใกล้เขื่อนไม่มีโอกาสใช้น้ำ เท่าที่เราเห็นคือ น้ำคลองโพธิ์ไม่มีปริมาณมากขนาดที่เราจะไปกักเก็บ ถ้าดูจริงๆ ไปดูได้เลยมีปริมาณน้ำเหลือน้อยเต็มที คือให้มีระดับน้ำเพื่อรักษาตัวเขื่อนก็น้อยเต็มที ฉะนั้นเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่น่าจะใช่คำตอบกับการป้องกันน้ำท่วมหรือแก้ปัญหาภัยแล้ง เหมือนกับที่กรมชลประทานบอก เพราะพื้นที่เขื่อนไม่สามารถป้องกันได้ เพราะมีสายน้ำเล็กๆอีกมากมายด้านนอกโน่น ต่อให้สร้างเขื่อนที่นี่หน้าฝน น้ำจากด้านนอกอุทยานฯ ก็มาสมทบอยู่ดี ถ้าจะป้องกันน้ำท่วม ก็เอาไม่อยู่แน่นอน

 

แนะพัฒนาคลองธรรมชาติ-หยุดเขื่อน

 

คิดว่าหลังจากชาวบ้านขยายพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ไปจนถึงริมลำคลองที่เป็นลำคลองลำห้วยธรรมชาติ หรือแม้แต่ในบริเวณริมอ่างเก็บน้ำ และมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดมีการไถทุกปี มันสำปะหลังก็ไถทุกปี เมื่อฝนตกลงมาก็ชะล้างหน้าดิน ไหลลงไปถมคลองธรรมชาติตื้นเขินหมด เมื่อน้ำไหลลงมามันก็กระจายออกด้านข้าง เพราะไม่สามารถรับน้ำได้ ถ้าเป็นทางเลือกอื่นโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน เราน่าจะมาสร้างระบบชลประทาน โดยเอาน้ำมาจากแม่วงก์นี่แหละ ถ้าคิดว่าน้ำจากแม่วงก์เพียงพอต่อการทำการเกษตรจริงๆ ก็มาร่วมกันบริหารจัดการโดยการทำคลองส่งน้ำ หรือหาวิธีอะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่านี้ก็ได้ เช่น การขุดลอกคลองธรรมชาติที่มีอยู่ ให้สามารถรองรับน้ำจากที่นี่ได้ ซึ่งหากน้ำลงมาจากแม่วงก์ก็สามารถเข้าไปคลองธรรมชาติ เข้าไปยังพื้นที่การเกษตรได้ อันนี้จะทำอย่างไร ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะไม่ต้องสร้างเขื่อน

 

“ที่สำคัญที่สุดคือชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่าการสร้างเขื่อน ผลประโยชน์จะตกไปสู่เกษตรกรจริงๆ ถ้าระบบชลประทานไปถึงจริงๆ ผมว่ามันเป็นวาทกรรมมากกว่าที่บอกว่า สร้างเขื่อนเพื่อเอาน้ำไปให้เกษตรกรประกอบอาชีพ เพราะหลังจากการสร้างเขื่อนที่เราเห็น อย่างเขื่อนคลองโพธิ์ระบบชลประทานก็ไม่เกิด เพราะหลังจากที่เขาสร้างเขื่อนคลองโพธิ์ น้ำก็ถูกปล่อยทิ้งเหมือนเดิม ไม่มีระบบชลประทานมันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งถ้าจะให้มีประโยชน์กับเกษตรกรจริงๆ ต้องมาพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยซ้ำ ซึ่งหากงบประมาณสูสีกันก็ยังน่าทำ เพราะเราไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าด้วย ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย” นายตะวันฉายกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: