นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง คณะทำงานเครือข่ายฯ ได้ประชุมประเมินสถานการณ์เบื้องต้น มีความคิดหลายแนวทาง อาทิ จะมีการเคลื่อนไหวกดดันคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล หรือศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อให้มีมติคณะรัฐมนตรีหยุด หรือชะลอการตัดฟันสวนยางพาราในภาคใต้ ในวันที่ 28 สิงหาคม
นายบุญกล่าวว่า เบื้องต้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด มีแนวคิดจะยื่นหนังสือถึงกองทัพบก เพื่อขอกำลังทหารคุ้มกัน โดยในวันที่ 27 สิงหาคม ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายฯ จะมีการประชุมหารือเพื่อเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร โดยวางรูปแบบเคลื่อนใหญ่กันทั่วประเทศร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรืออาจร่วมกันกดดันชุมนุมยืดเยื้อที่ทำเนียบรัฐบาลเลย
สำหรับในระดับองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ ให้ชาวบ้านเฝ้าระวังแปลงยางพาราที่เป็นเป้าหมายอย่างเคร่งครัดที่สุด เนื่องจากมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดหน่วยปฏิบัติการรื้อถอน 1,500 นาย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกปฏิบัติการในพื้นที่โน้นพื้นที่นี้ จนชาวบ้านหวาดผวา และวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เวลาเห็นรถยนต์ผ่านไปผ่านมาก็นึกว่าเป็นหน่วยปฏิบัติการดังกล่าว คณะทำงานเครือข่ายฯ จึงคอยแนะนำชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายฯ หากทีเหตุการณ์เร่งด่วนที่ไหน ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายฯ พร้อมเข้าไปสมทบกับพื้นที่เกิดเหตุทันที เพื่อยื้อ เจรจา ต่อรอง
“รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านบาท ให้กรมอุทยานฯ เพื่อปราบปรามผู้บุกรุกทำลายป่าในภาคใต้ แต่ไม่ได้แยกแยะระหว่างผู้บุกรุกทำลายป่า กับพื้นที่ป่าทับซ้อนที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาความมั่นคงได้ ชาวบ้านจำเป็นต้องขอกองกำลังทหารมาคุ้มกันชาวบ้าน เพราะการสนธิกำลังแบบนี้เหมือนกับการทำสงครามกับชาวบ้าน ประหนึ่งการทำสงครามกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในอดีต” นายบุญกล่าว
ด้าน นายอานนท์ สีเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด สมาชิกสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 สิงหาคม เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะกรรมการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชาคนจน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 181/2555 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ลงนามโดยของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการตัดฟันยางพาราของชาวบ้าน ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
อีกทั้งจะมีการเปิดโต๊ะแถลงข่าวที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน พร้อมกับให้องค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ กลับไปเฝ้าระวัง ตรวจตราพื้นที่ของตัวเองอย่างเข้มงวด หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ไหน เครือข่ายฯ พร้อมลงไปสมทบเพื่อยื้อ เจรจา ต่อรอง
นายอานนท์กล่าวว่า วันที่ 27 สิงหาคม เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด จะมีการจัดเวทีที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด พร้อมระดมชาวบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยประสานกับแนวร่วมชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการตัดฟันยางพารา ตามนโยบายปราบปรามผู้บุกรุกทำลายป่าในภาคใต้ ของกรมอุทยานฯ ส่วนรูปแบบกิจกรรมต้องรอมติที่ประชุมเครือข่ายฯ ว่าจะเคลื่อนไหวในรูปแบบไหน อย่างไร พร้อมทั้งประมวล และประเมินสถานการณ์องค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ร่วมกัน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านที่อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จัดเวทีเกี่ยวกับเรื่องการบุกฟันยางพาราของกรมอุทยานฯ โดยชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 400 คน ซึ่งตนจะเดินทางไปประสาน เพื่อมาเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวในวันที่ 27 สิงหาคม 2555 นี้ด้วย
นายอานนท์กล่าวว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ประสานงานมายังเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด ซึ่งทางเครือข่ายก็พร้อมจะร่วมกดดันให้มีวาระการหยุดหรือชะลอการตัดฟันยางพารา ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 สิงหาคม
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายชาวบ้านในครั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด พร้อมตำรวจตระเวนชายแดน ได้สนธิกำลังเข้าตัดฟันสวนยางพาราและอาสิน ของชาวบ้านคอกเสือ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง 5 แปลง เป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เขาบรรทัด และสมัชชาคนจน จำนวน 4 แปลง ชาวบ้านบ้านตะแพน ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง 2 แปลง และชาวบ้านที่อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง อีก 9 แปลง รวม 17 แปลง ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะมีการบุกตัดฟันยางพารา ตามนโยบายปราบปรามผู้บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพิ่มเติมอีก
ต่อมาเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด จากจังหวัดตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากจ.สุราษฎร์ธานี สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชาวบ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมประกาศทับที่ ประมาณ 300 คน ชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแก้ไขปัญหา และมีการประชุมร่วมกับ นายสาธร นราวิสุทธิ์ รองผู้ว่าฯตรัง โดยมีนายมนภัทร วังศานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง
นายสาธร ชี้แจงต่อชาวบ้านหลังจากประสานงานกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า บอกว่าถ้าต้องการให้มีการชะลอการตัดฟันยางพารานั้นต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 สิงหาคม ตนจึงขอความร่วมมือไปว่าจนกว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้เจ้าหน้าที่ฯ อย่าตัดฟันสวนยางพาราของชาวบ้านได้หรือไม่ แต่ได้รับคำตอบว่าต้องฟังคำสั่งของอธิบดีกรมอุทยานฯ เท่านั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ