จี้รัฐ-เอกชนแก้คอร์รัปชั่น แนะเปิดงบโครงการยักษ์

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 27 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1326 ครั้ง

ในการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556 กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยธุรกิจโลก” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจของไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งในเวทีการเสวนาเรื่อง “สกัดภัยคอร์รัปชั่นเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจไทย” ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

 

 

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า โดยปกติแล้วภาคเอกชนจะพยายามพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ด้วยการหาข้อได้เปรียบจากการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง แต่ในประเทศไทยการได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด สามารถหาซื้อได้ผ่านกระบวนการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะธุรกิจที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการสัมปทาน มีการล็อกเสปค ทำให้ให้ไม่เกิดการแข่งขันเสรี กลายเป็นการผูกขาด ในขณะที่ประเทศที่ต้องการก้าวเป็นประเทศพัฒนา กลับพยายามลดบทบาทภาครัฐลง เพื่อให้เอกชนมีอิสระในการดำเนินธุรกิจและแข่งขัน ไม่เช่นนั้นจะถูกผูกขาดโดยรัฐ และนำมาสู่การคอร์รัปชั่น เพราะจากข้อมูลภาคธุรกิจยอมรับว่า 70 เปอร์เซนต์ ยอมจ่ายเงินให้ภาครัฐ และ 80 เปอร์เซนต์ บอกว่าเป็นความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะจ่าย

 

 

            “ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยมีบทบาทใหญ่ขึ้นในด้านธุรกิจและการลงทุน มีการเพิ่มงบประมาณภาครัฐ จาก 18 เปอร์เซนต์ เป็น 21 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี การลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มจาก 13 เปอร์เซ็นต์ เป็น 38 เปอร์เซ็นต์ หรือรายได้รัฐวิสาหกิจรวม 4 ล้านล้านบาท และการลงทุนในธนาคารเฉพาะกิจ เพิ่มจาก 9 เปอร์เซนต์ เป็น 13 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ทำให้มูลค่าตลาดรวมจากการลงทุนของรัฐบาลวันนี้  เพิ่มจาก 43 เปอร์เซนต์ เป็น 91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในมูลค่าตลาดรวมนี้  25 เปอร์เซ็นต์ อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมโดยรัฐมนตรีที่สามารถสั่งการได้” นายบรรยงระบุ

 

 

จี้รัฐเปิดตัวเลขทีโออาร์โครงการยักษ์ใหญ่

 

 

ขณะที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าว ว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางธุรกิจ ซึ่งจากตัวเลขการทุจริตรั่วไหลที่ร้อยละ 20-30 จะทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น กระทบต่อการแข่งขัน และจะเป็นปัญหาในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพราะไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลจริงจังกับการปราบปรามต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในโครงการลงทุนของรัฐบาล ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสเกิดการทุจริตได้ง่าย  เช่น งบประมาณฉุกเฉินการจัดการน้ำ ที่จะเห็นได้ว่ามีการทุ่มงบประมาณมากกว่า 100,000 ล้านบาท งบฯ จัดการน้ำในระยะยาวอีกกว่า 200,000 ล้านบาท และงบฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท หากรั่วไหลเพียง 10 เปอร์เซนต์ มูลค่าจะสูงมหาศาล และทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น รัฐบาลควรมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน ทั้งข้อมูลของมูลค่าโครงการพื้นที่ตั้ง การทำร่าง TOR ซึ่งหากมีการประกาศราคากลาง จะเป็นผลดีต่อการเข้าไปตรวจสอบที่ง่ายขึ้น ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเสนอของภาคเอกชน และเปิดให้เข้าไปตรวจสอบการทุจริต

 

 

              “สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้อง เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการเปิดตัวเลขการทำทีโออาร์ ถ้าเปิดมา สังคมจะตรวจเช็คได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้เริ่มป้องกันปัญหา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส”  นายประมนต์กล่าว

 

 

หลักสูตรผู้บริหาร ต้นเหตุหลักคอร์รัปชั่นรุนแรง

 

 

นอกจากนี้นายประมนต์ ยังมองว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งในสังคมไทย ก็คือการพยายามให้เกิดการสร้างคอนเน็กชั่น (Conection) ระหว่างกลุ่มจากภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างหลักสูตรระดับสูงต่าง ๆ ทุกคนที่เข้าไปเรียนในหลักสูตรพวกนี้ จุดประสงค์สำคัญคือ การต้องการมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสาเหตุสำคัญของการเริ่มต้นคอร์รัปชั่น โดยอาศัยสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนหลักสูตรพวกนี้ กลายเป็นปัญหาที่จะต้องให้ความสำคัญว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างหลักสูตรเหล่านี้ขึ้นมาเพื่ออะไร และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศจริงหรือ

 

 

               “ไทยควรจะเอาความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชั่นของประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง มาเป็นตัวอย่าง โดยรัฐบาลจะต้องจริงจัง  เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ประเทศจะไม่เจริญ ผู้ที่จะจริงจังกับเรื่องนี้ได้ต้องเป็นรัฐบาล เพราะรัฐสามารถเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้ เป็นเรื่องน่ากังวลว่าขณะนี้อันดับการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยเลวลงเรื่อย ๆ  นอกจากนี้ภาคเอกชนเองก็จะต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านดูแลกันเอง ถ้าใครคอรัปชั่นก็จะต้องต่อต้าน แต่ถามว่าตอนนี้เราทำอะไรกันอยู่ไม่ลุกขึ้นมาทำก็จะเป็นไปแบบนี้” นายประมนต์กล่าว

 

 

‘จำนำข้าว-ไร่ส้ม’ ตัวอย่างคอร์รัปชั่นต้องรีบแก้

 

 

 

ขณะที่ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้น่าห่วงว่าข้าราชการรุ่นเก่าที่ยึดรูปแบบการทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยไม่ต้องสั่ง เพราะรู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ชาติ ทำเพื่อผู้เสียภาษี หรือสิ่งที่ทำสามารถอธิบายต่อผู้บริหารระดับสูงได้ เริ่มไม่มีแล้ว แต่เป็นการทำงานให้นักการเมือง ฉะนั้นแรงกดดันทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะที่ฝั่งการเมืองก็ขาดความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นปราบปรามคอร์รัปชั่น

 

ประเด็นสำคัญขณะนี้ที่จะต้องพิจารณาคือ การรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มองว่าจะทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นตามมามากมาย ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเองควรจะเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันในตลาด และประเด็นกรณีบริษัทไร่ส้ม จำกัด ซึ่งภาคเอกชนเองต้องมีจุดยืนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการถอนโฆษณาออกมาโดยไม่จำเป็นต้องรอหมดสัญญา เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้สนับสนุนการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: