ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เอ่ยถึงงานศึกษาของสถาบันวิจัยในประเทศสิงคโปร์ ต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 พบว่า สังคมและประชาชนไทยเป็นประเทศที่ผู้คนตื่นตัวและสนใจเออีซีมากที่สุด แต่ ดร.สมเกียรติ ก็กล่าวด้วยว่า ความสนใจต่อเออีซีของคนไทยยังเต็มไปด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหลายประการ แม้แต่รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของทีดีอาร์ไอ เรื่อง ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ในหัวข้อที่ 1 ‘ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย’ (Thailand in the AEC: Myths, Reality, Potentials and Challenges) ดร.สมเกียรติ กล่าวว่าในสังคมไทยยังมีมายาคติหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเออีซีอย่างน้อย 4 ประการ
มายาคติ 4 ข้อทำคนไทยเข้าใจผิดเออีซี
มายาคติประการแรกคือ เมื่อเปิดเออีซีในปี 2558 แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อประเทศไทยหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่เป็นความจริงเพราะจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ต่อประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าการเปิดเสรีการค้าสินค้านั้น เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2536 และเสร็จสิ้นเกือบสมบูรณ์แล้ว ขณะที่การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนกลับยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก อีกทั้งปัญหาสำคัญของเออีซียังมีปัญหาของระดับความผูกพันของข้อตกลงและขาดความมุ่งมั่นต่อการเปิดเสรีของประเทศสมาชิก
มายาคติประการที่ 2 จะเกิดการเคลื่อนย้านแรงงานทุกประเภทโดยเสรี ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผู้คนวิตกกันมาก เนื่องจากเกรงว่าจะคนไทยจะถูกแย่งอาชีพ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานจะเกิดขึ้นเฉพาะวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วมเท่านั้น อาชีพทั้ง 8 คือแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก บัญชี นักสำรวจ และนักวิชาชีพท่องเที่ยว และหากกลุ่มอาชีพเหล่านี้จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ยังต้องผ่านการสอบใบอนุญาตของไทยเสียก่อนซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งองค์กรวิชาชีพเหล่านี้ของไทยยังมีท่าทีปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มวิชาชีพอยู่มาก การแย่งอาชีพที่จะกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่จึงไม่เป็นความจริง
มายาคติประการที่ 3 คือ นักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจบริการในอาเซียนได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด ประเด็นนี้คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรก-เออีซีจะเปิดให้นักลงทุนถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ข้อ 2 อุปสรรค์อีกประการหนึ่งคือกฎเกณฑ์ภายในประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้เปิดให้นักลงทุนถือหุ้นได้ตามที่เออีซีกำหนด เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจบริการ เป็นต้น และเออีซีก็ไม่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวแต่อย่างใด
มายาคติประการที่ 4 การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนคล้ายคลึงกับสหภาพยุโรปหรืออียู (Europe Union: EU) ข้อเท็จจริงคืออียูและเออีซีมีความแตกต่างกันมากทั้งในแง่ระดับการรวมกลุ่มและการจัดสรรอำนาจอธิปไตย อียูมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือรัฐ (Supra-National Authority) ขณะที่สมาชิกของอาเซียนยังคงมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง ไม่มีการตั้งหน่วยงานเหนือรัฐขึ้น การตกลงใดๆ ในหมู่สมาชิกจึงต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกทั้งหมดทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบาย ส่วนด้านระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เออีซีเพียงแต่ยกเลิกภาษีนำเข้าและโควต้าระหว่างกันเท่านั้น ส่วนอียูนอกจากจะยกเลิกภาษีการค้าแล้ว ยังมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มอียูและเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานอย่างเสรีซึ่งต่างจากเออีซี ที่สำคัญ อียูมีการใช้สกุลเงินอียูร่วมกันในหมู่ประเทศสมาชิก
“ปัญหาของมายาคติเหล่านี้ทำให้คนไทยได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ตื่นตระหนก มีโลกทัศน์ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ดร.สมเกียรติกล่าว
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทยกับอาเซียนมีมานานก่อนเออีซี
ในแง่ของความจริงพบว่า การรวมกลุ่มของประเทศอาเซียนได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน แม้ว่าเออีซีจะยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในปี 2558 ก็ตาม ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเด็นการเปิดเสรีการค้าในอาเซียนนั้น ความจริงมีการลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างประเทศในอาเซียนเดิมเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์มานานแล้ว ขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่หรือซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ก็ได้ลดอัตราภาษี 0-5 เปอร์เซ็นต์ในสินค้า 93 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว และจากการลดภาษีดังกล่าว แม้จะทำให้มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศอาเซียนมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สัดส่วนเมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นสัดส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับในมิติการลงทุน นักลงทุนไทยก็ได้ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่าที่ประเทศอาเซียนมาลงทุนในไทย จากข้อมูลการลงทุนโดยตรงระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า มูลค่าการลงทุนไทยของไทยอาเซียนสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จึงกล่าวได้ว่าอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสาขาพลังงาน สาธารณูปโภค วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศอาเซียนก็เป็นผู้ลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเป็นลำดับต้น ๆ รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยในช่วงปี 2548-2554 สูงถึง 82 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ในแง่การเคลื่อนย้ายแรงงานจากอาเซียนมาประเทศไทย จากสถิติของหน่วยงานราชการ ปี 2553 ระบว่า มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย 1.35 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนพม่า ลาว และกัมพูชา สูงถึง 1.14 ล้านคน ซึ่งเข้ามาทำงานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้าน
“แม้ว่าความเป็นเออีซียังห่างไกลจากเป้าหมายในปี 2558 แต่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจของไทยได้ผนวกเข้ากับเศรษฐกิจของอาเซียนแล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนโดยตรง และการเคลื่อนย้านแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์มากและไทยยังมีโอกาสอีกมากในอนาคต” ดร.เสาวรัจกล่าว
โอกาส 3 ข้อ ช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัว
ด้านโอกาสของไทยที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน 3 ประการ ประการแรกคือ ด้านฐานการผลิต ที่ไทยจะสามารถใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไทย ดร.เสาวรัจ ยกตัวอย่างด้านแรงงานที่ปัจจุบันประเทศไทยประสบภาวะแรงงานตึงตัวและแรงงานสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น และในอนาคตปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นอันเป็นผลพวงจากการที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น การใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตจึงเป็นโอกาสของไทย เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในประเทศอาเซียนหลายแห่งถูกกว่าในประเทศไทยมาก เช่น อินโดนีเซีย พม่า หรือเวียดนาม เป็นเพราะในประเทศเหล่านี้มีประชากรวัยทำงานจำนวนมากและอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศไทย
อีกด้านที่ ดร.เสาวรัจกล่าวว่า เป็นโอกาสของไทยคือด้านพลังงาน เนื่องจากกลุ่มประเทศในอาเซียนมีศักยภาพด้านพลังงานค่อนข้างสูงและมีความหลากหลาย ในกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนคือ พม่าและลาวก็เป็นแหล่งพลังงานน้ำที่สำคัญ ขณะที่ตอนกลางและตอนล่างเป็นแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานของไทยได้ในอนาคต
ประการที่ 2 การรวมเป็นตลาดเดียวทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในแง่ขนาดเศรษฐกิจที่ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 345 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากนับรวมทั้งอาเซียนตัวเลขดังกล่าวจะขยายตัวเป็น 1,851 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ประชากรอาเซียนประมาณ 600 ล้านคน ที่คาดว่าในปี 2573 จะมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเป็นสัดส่วนถึง 65 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าด้วยตัวเลขเหล่านี้จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู่อาเซียนอย่างมหาศาล
และประการสุดท้ายคือการใช้อาเซียนเป็นฐานในการรวมกลุ่มทางภูมิภาคที่ใหญ่ขึ้นต่อไปในอนาคต เช่น อาเซียนบวกสามหรืออาเซียนบวกหก เป็นต้น โดยเฉพาะอาเซียนบวกหกที่รวมจีนและอินเดียด้วย หากเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 16,761 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
หากกล่าวถึงโอกาสของไทยโดยเฉพาะ ดร.เสาวรัจกล่าวว่า ประเทศไทยจะได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สูงมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อในภูมิภาค เป็นจุดผ่านของ Economic Corridor ต่างๆ ทั้ง East-West Corridor, North-South Corridor และ Southern Corridor นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะมีความสะดวกในการย้ายหรือขยายฐานการผลิตสินค้า ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มไม่สูงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่ไปกับการยกระดับการผลิตในประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แล้วเชื่อมโยงการผลิตด้วยโครงข่ายคมนาคม ซึ่งไทยสามารถพัฒนาบริการต่าง ๆ ขึ้นมารองรับ เช่น ขนส่งและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล
อีกประการคือเงินบาทของไทยจะกลายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในอนุภูมิภาคควบคู่กับเงินสกุลหลัก หากไม่ทำใก้เกิดความเสี่ยงจากการเก็งกำไรค่าเงินหรือสร้างปัญหาต่อการกำหนดนโยบายการเงิน
แนะไทยเร่งปฏิรูปโครงสร้าง-กฎระเบียบ ให้พร้อมรับโอกาสจากเออีซี
อย่างไรก็ตาม โอกาสต่าง ๆ ก็มาพร้อมความท้าทายที่ไทยจะต้องเผชิญ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า หากไทยจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโอกาสข้างต้นได้เต็มที่ ประเทศไทยจะต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบเพื่อรองรับการรวมกลุ่มทางภูมิภาคใน 4 ประเด็นคือ การปฏิรูปการเปิดเสรีการค้าอย่างต่อเนื่อง, การอำนวยความสะดวกทางการค้า, การอำนวยความสะดวกทางการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคในการพัฒนาในภูมิภาคและกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคม ทั้งความช่วยเหลืองทางการเงินและเทคนิค ให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยในด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาขั้นพื้นฐานของลูกหลานแรงงานต่างด้าว อีกทั้งต้องสิ่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศเพื่อบ้านและร่วมมือกันในการแก้ปัญหาข้ามพรมแดน เช่น อาชญากรรม การค้ามนุษย์ ปัญหามลภาวะ เป็นต้น
ประการสุดท้าย รัฐบาลไทยจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยและคนไทยให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ละเลิกทัศนคติที่มองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูและคิดว่าคนไทยเหนือกว่า และส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียน เช่น การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การจัดทำโครงการเมืองพี่เมืองน้อง โดยใช้หัวเมืองใหญ่ๆ ตามภูมิภาคของไทยแทนที่จะใช้กรุงเทพฯ เป็นหลัก หรือการใช้สื่อบันเทิงเชื่อมความสัมพันธ์อันดี เป็นต้น
ดร.สมเกียรติ สรุปในช่วงท้ายว่า ความท้าทายที่แท้จริง 3 ประการของไทยคือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างสมดุลระหว่างภาคส่งออกและภาคบริการ และเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต สอง-การปฏิรูปกฎระเบียบและการดำเนินการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้าย-การปรับทัศนคติของธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ