เหยื่อ‘แคลิฟอร์เนีย’ร้องสภาทนาย ช่วยคดีปิดฟิตเนส-ค่าสมาชิกสูญ จ่อฟ้อง'กรรมการบริษัท-ผู้ถือหุ้น'

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 27 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2487 ครั้ง

 

 

 

เหยื่อแคลิฟอร์เนียร้องสภาทนายช่วยฟ้องค่าเสียหาย

 

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีสถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนียว้าวฟิตเนส ของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนท์ จำกัด (มหาชน) ปิดบริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และมีการเปิดรับสมาชิกแบบตลอดชีพ ทั้งที่บริษัทไม่สามารถให้บริการได้ จากการรับเรื่องร้องเรียนแบบกลุ่ม ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำนวน 639 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท เข้ายื่นหนังสือต่อนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ และนายวีระศักดิ์ โชติวานิช กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการฟ้องคดี เรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน

โดยก่อนหน้านี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับผู้ได้รับความเดือดร้อนในกรณีดังกล่าว ได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค อาทิ ยื่นจดหมายถึงบริษัทเพื่อให้แก้ไขปัญหา จัดเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2555 พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมธนาคารไทย สภาทนายความ นักวิชาการ ฯลฯ โดยมีผู้เสียหายเข้าร่วมกว่า 200 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุร้องมาหลายแห่งแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า

 

ต่อมา วันที่ 25 กันยายน 2555 ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ให้ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาแทนผู้บริโภค 532 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 25 ล้านบาท วันที่ 2 ตุลาคม 2555 ยื่นหนังสือถึงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกง ล่าสุดวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ดำเนินคดีอาญา ที่น่าจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับการเข้ายื่นหนังสือต่อสภาทนายความครั้งนี้ น.ส.สารีกล่าวว่า การที่มาขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความครั้งนี้มีความสำคัญมาก คดีนี้มีความซับซ้อน เนื่องจากบริษัทถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย หลังจากเกิดเรื่องก็มีผู้ร้องจำนวนมากถึง 639 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมาแล้วหลายเรื่อง และหลังจากได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของบริษัทนี้ พบว่าบริษัทมีปัญหาทางด้านการเงินตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาปี 2553 และ 2554 ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาต ไม่รับรองบัญชี และเราได้ร้องเรียนมาแล้วหลายแห่ง จนถึงขณะนี้เราคิดว่าจะต้องมีกระบวนการสอบสวนมากมาย ยังไม่มีความคืบหน้าในส่วนนั้น สภาทนายความน่าจะช่วยเหลือ ดำเนินเรื่องคดีได้ในเบื้องต้น พวกเราคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ และผู้เสียหายได้ดำเนินการไปแล้วไม่น้อย จึงต้องการให้สภาทนายความช่วยดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สภาทนายฯชี้อาจเกิดอีกเพราะธุรกิจฟิตเนสกำลังเฟื่อง

 

ด้านนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า เบื้องต้นมีความเห็นว่า ธุรกิจของสถานบริการด้านฟิตเนส การออกกำลังกาย โดยการหาสมาชิกก็มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพราะว่าธุรกิจบริการด้านนี้มีการประกาศเป็นบริการที่จะต้องควบคุมการประกอบการ การดำเนินการ และควบคุมสัญญาด้วย ขั้นตอนต่าง ๆ จะสามารถคุ้มครองทั้งสองด้าน คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของผู้บริโภคที่เข้าไปเป็นสมาชิก 1.ได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริง ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร 2.มีการหลอกลวง ฉ้อฉล ในการให้เป็นสมาชิกหรือไม่ อย่างไร 3.การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งสองด้าน จะต้องมองถึงความถูกต้อง เป็นธรรม ของสัญญาที่กำหนดไว้ทั้งหลาย

 

การสร้างเครือข่ายหรือการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกก็จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายด้านสินค้าและบริการ กฎหมายด้านการขายตรง ฯลฯ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เห็นว่าขณะนี้ในด้านกระบวนการยุติธรรมภาครัฐ ประกอบด้วยพนักงานสอบสวน หรือขยายไปถึงพนักงานอัยการ หรือศาลก็ดี คิดว่าในภาคของผู้ที่ได้รับความเสียหายในการเข้าไปใช้บริการ ในฐานะขององค์กรและสภาวิชาชีพของทนายความ หรือสภาทนายความ เรามีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายคือ ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับกฎหมาย ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้รับความเป็นธรรม และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยความถูกต้อง รวดเร็วตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นในบริบทนี้คิดว่า สภาทนายความยินดีที่จะให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งประสานงานกับฝ่ายอื่นในกระบวนการยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้คดีกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ ได้รับการดูแล และจะเป็นมาตรฐาน อาจจะถือว่าเป็นกรณีศึกษาของธุรกิจด้านนี้โดยตรง จะให้ความรู้กับผู้ประกอบการว่า ผู้ประกอบการจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรบ้าง

 

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่จะเข้าไปรับข้อมูลข่าวสารและเข้าไปเป็นสมาชิก จะต้องมีข้อควรระวังอะไรบ้าง คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกด้าน เพื่อประโยชน์ของสังคม เพราะขณะนี้เรามีบุคคลที่ต้องการใช้บริการธุรกิจประเภทนี้จำนวนมาก และธุรกิจประเภทนี้ก็มีสาขา มีสถานประกอบการอยู่ในอาคารหรือตึกต่าง ๆ จำนวนมาก ฉะนั้นคิดว่า การให้ความรู้อย่างถูกต้องครบถ้วนจะลดปัญหา ลดข้อพิพาทในอนาคตด้วย

 

             “ขั้นตอนต่อไปคือฝ่ายช่วยเหลือประชาชน จะเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมฝ่ายอื่นได้มีข้อมูลข้อเท็จจริงครบถ้วน การตรวจสอบข้อเท็จจริง การสอบปากคำ การให้ปากคำล่าช้า อาจจะต้องเลือก โดยใช้วิธีให้แต่ละคนเสนอข้อเท็จจริง ทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้พนักงานสอบสวน เพื่อเป็นการประหยัดเวลา จากนั้นทนายความอาสาของสภาทนายความ จะรวบรวมข้อเท็จจริงของแต่ละคน รวมทั้งความเสียหายของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นข้อเรียกร้องต่อไปด้วย คดีกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งคดีแพ่ง ซึ่งเป็นคดีผู้บริโภค คดีอาญา และคดีล้มละลายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และในคดีผู้บริโภคก็มีช่องทางที่จะไปได้ทั้ง 2 ศาล คือ ศาลยุติธรรม กับศาลปกครอง” นายกสภาทนายความกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฝ่ายช่วยเหลือเตรียมแนวทางฟ้อง-สู้คดี

 

ทางด้านนายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชน สภาทนายความ กล่าวว่า คดีดังกล่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประสานมาตั้งแต่เดือนกันยายน หลังจากนั้นตนได้เข้าไปร่วมประชุม 2-3 ครั้ง เพื่อหาแนวทาง ขณะเดียวกันเรื่องนี้ มีผู้เดือดร้อนบางส่วนไปร้องต่อคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ขอให้สภาทนายความไปชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วย ส่วนของดีเอสไอหลังจากมีการร้องเรียนไปแล้ว ได้มีการตั้งชุดสืบสวนเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ ขณะที่การแจ้งความดำเนินคดีที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ก็อยู่ระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน

 

แต่ที่มีปัญหาสำคัญที่สุดคือ การที่เราต้องการให้ได้รับการเยียวยาในทางแพ่ง เนื่องจากสถานะของคดีของบริษัท แคลิฟอร์เนียฯ นั้น ณ ปัจจุบันทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อให้ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลาย ตัวบริษัทและพนักงานบางส่วนได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนในกระบวนการของศาลล้มละลาย ทำให้ติดขัดในการที่จะฟ้องบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ โดยตรง เพราะคดีผู้บริโภคเป็นคดีทางแพ่ง การที่จะไปฟ้องจึงไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ ติดขัดในคดีล้มละลายอยู่ ซึ่งถ้าฟ้องไปศาลก็ต้องจำหน่ายคดี และจะต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่งฟื้นฟู หรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และไปขอรับชำระหนี้ในกระบวนการล้มละลาย
 

 

 

คล้ายคดี ‘ซานติก้าผับ’ ที่เคยชนะมาแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้หารือกับสภาทนายความก่อนแล้ว และตนได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมาเพื่อรับคดีนี้ เราได้มีการศึกษาข้อกฎหมาย คิดว่าพอจะมีแนวทางที่จะดำเนินคดีในการที่จะเรียกร้องค่าเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีดังกล่าวได้ แม้ว่าเราจะฟ้องบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ โดยตรงไม่ได้ แต่เรามีแนวทางว่า เราจะฟ้องกรรมการของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้ว เราก็จะใช้วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เรียกผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมรับผิด ซึ่งการเรียกผู้ถือหุ้นมารับผิดนั้น ทางสภาทนายความเคยประสบความสำเร็จ ในการดำเนินคดีซานติกาผับ หลังจากผู้ได้รับความเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ แล้วเรารับเป็นคดีผู้บริโภค เราได้ช่วยเหลือ โดยฟ้องบริษัทเนื่องจากบริษัทผู้ประกอบการไม่อยู่ในกระบวนการล้มละลาย แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่สุจริต เนื่องจากนำพนักงานรับรถมาเป็นกรรมการบริษัท มาเป็นตัวแทน เราจึงใช้ช่องทางนี้ฟ้องกรรมการ แล้วเรียกผู้ถือหุ้มเข้ามารับผิด ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว เราจึงยังมีความหวังที่จะเรียกร้องตรงนี้ ในส่วนของบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ เราต้องเตรียมเรื่องการขอรับชำระหนี้ไว้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลักดันแก้กฎหมายให้ผู้บริโภคมีสิทธิเท่าเจ้าหนี้

 

               “อย่างไรก็ตามทางสภาทนายความเราพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคที่ถือคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นมีศักดิ์มีศรี เพราะเวลานี้หนี้ที่เกิดขึ้น และหากท่านคดีถึงที่สุดแล้วผู้บริโภคชนะผู้ประกอบการ ซึ่งท่านมีคำพิพากษาแต่การบังคับคดีอาจจะมีปัญหา ผู้ประกอบการอาจติดค้างหนี้ภาษีของสรรพากรหรือว่า มีเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หรือมีเจ้าหน้านี้จำนองอย่างเช่น กรณีของบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ มีธนาคารเป็นเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย การรับชำระหนี้ซึ่งท่านจะไปร่วมรับชำระหนี้ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่าเป็นหนี้บุริมสิทธิ และท่านเป็นเจ้าหนี้สามัญ ภาษาชาวบ้านเรียกว่ากินน้ำใต้ศอก ต้องรอให้เขากินอิ่มก่อน แล้วจึงมีเศษมีเหลือมาถึงท่าน ท่านถึงจะได้ ถ้าไม่มีเศษไม่มีเหลือท่านจะไม่ได้เลย เพราะท่านไม่มีศักดิ์ศรีไปเทียบกับเขาในการเฉลี่ย ฉะนั้นตรงนี้ที่สภาทนายความมองไปถึงปัญหาในอนาคต จะต้องมีการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายรองรับสิทธิของท่านเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้มีศักดิ์ศรีเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ถ้าเป็นไปได้ควรยกฐานะให้เท่ากับหนี้ค้างค่าภาษีอากร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ในเรื่องของลูกจ้างนายจ้าง ลูกจ้างที่เป็นเจ้าหนี้เหนือนายจ้างตามคำพิพากษาเมื่อถึงที่สุดแล้วนั้น เขาเป็นเจ้าหนี้ปุริมสิทธิ์มีศักดิ์ศรีเท่ากับหนี้ค้างค่าภาษีอากร เพราะฉะนั้นของผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน แต่คงไม่สำเร็จในเร็ววัน เพราะว่าจะต้องไปแก้กฎหมาย เพิ่มกฎหมาย จะต้องผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่เราก็จะพยายามผลักดัน เพราะฉะนั้นที่เราลงทุนลงแรงไปในวันนี้จะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะพอถึงที่สุดแล้วท่านได้แต่คำพิพากษามา” นายวีรศักดิ์กล่าว

 

 

ระบุพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคช่วยไม่ให้ยุ่งยาก

 

 

นายวีรศักดิ์กล่าวต่อถึงการฟ้องร้องคดีผู้บริโภคในปัจจุบันว่า นับว่าเป็นโชคดีของผู้บริโภค เนื่องจากในอดีตเรามีเพียงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เราไม่มีวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพราะฉะนั้นแล้วจากกฎหมายเดิมนั้น ผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีสู่ศาลได้ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 คือไปร้องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับเรื่องสอบสวนดำเนินการไปตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว บอร์ดมีมติให้ดำเนินคดี จึงจะส่งเรื่องไปให้พนักงานอัยการฟ้อง ซึ่งจะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ถ้าผู้บริโภคฟ้องคดีด้วยตนเอง ก็คือ ไปยื่นฟ้องเอง หาทนายความฟ้องเอง หรือมาใช้บริการที่สภาทนายความ กฎหมาย ณ เวลานั้นไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม เว้นเสียแต่ว่าจะไปร้องขอต่อศาล โดยอ้างเหตุว่าตนเองนั้นยากไร้หรืออนาถา ถ้าศาลเห็นใจก็จะยกเว้นให้ แต่หลังจากมีวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าท่านจะไปร้องสคบ.หรือฟ้องเอง หรือมาใช้บริการสภาทนายความ ค่าบริการตรงนี้จะได้รับการยกเว้น แต่ค่าเสียหายในคดีที่ฟ้องร้องจะต้องสมเหตุสมผล เช่น ค่าเสียหายจริง ๆ ประมาณ 500,000 บาท แต่ท่านเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท เพราะท่านเห็นว่าได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล กฎหมายมองเห็นตรงนี้ จึงระบุว่า หากเห็นว่าการใช้สิทธิของท่านเกินกว่าเหตุ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้ท่านเสียค่าธรรมเนียมได้ เพื่อป้องกันการใช้สิทธิเกินเหตุ ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มูลนิธิฯเร่งให้ตั้งองค์การอิสระฯ หวังเป็นที่พึ่งประชาชน

 

อย่างไรก็ตามการพยายามแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค น.ส.สารีกล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองฉบับ แต่ว่าจุดที่แก้ไขกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้สมาคม หรือมูลนิธิ สามารถฟ้องคดีแทนได้ แต่ขณะเดียวกันการจะฟ้องร้องได้ ต้องขออนุญาตสคบ.ก่อน ซึ่งเดิมไม่ได้มีเนื้อหาสาระแบบนั้น ซึ่งการแก้ไขแทนที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เราพบว่าขณะนี้การแก้ไขล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อผู้บริโภค

ส่วนอีกประเด็นคือ องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จะเห็นว่าเรื่องนี้จริง ๆ ปัญหา ผู้ร้องบริษัทแคลิฟอร์เนียฯ เกิดขึ้นมานาน กระทั่งสคบ.มีมาตรการเรื่องสัญญา พร้อมทั้งประกาศว่า ห้ามทำสัญญาเกิน 1 ปี แต่ว่าคนส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบ และกลไกยังตามไม่ทันกับปัญหา องค์กรผู้บริโภคหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ผลักดันให้มีกลไกที่เป็นอิสระ และหวังว่าน่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราได้ผลักดันองค์กรเพื่อผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ หวังว่ากลไกใหม่นี้จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบแคลิฟอร์เนียฯ น่าจะมีการดำเนินการที่รวดเร็วมากกว่าในปัจจุบัน

 

ข้อมูลในตารางจาก www.californiawowx.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: