จับตาพม่าโฉมใหม่-ทุนนิยมทั่วโลกรุมทึ้ง เปิดช่องทหารล่าชนกลุ่มน้อย-ทำลายสวล. ชี้กฎหมายล้าสมัย-ชาวบ้านปรับตัวไม่ทัน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 27 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2445 ครั้ง

ภายหลังพม่าจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ห้วงเวลาเพียงปีกว่าๆ ทั่วโลกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปรับตัวที่เรียกได้ว่าค่อนข้างรวดเร็วเกินกว่าจะคาดคิดถึง พลวัตรในพม่าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา เพราะยังหมายถึงกระแสทุนจากภายนอกประเทศที่จ้องถาโถมเข้าไขว่คว้าหาโอกาสจากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของพม่า

 

ไม่ต้องมองอื่นไกล นักธุรกิจในประเทศไทยต่างกระตือรือร้นมองหาลู่ทางการเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งอาจวัดได้จากปริมาณงานสัมมนาว่าด้วยวิธีการเข้าไปลงทุนในพม่าที่จัดถี่ขึ้น

อดีต-ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ความรุนแรง การปราบปราม และกระบอกปืน คือเครื่องมือกดขี่ชาวพม่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แรงบีบจากกำปั้นเหล็กของทหารเริ่มผ่อนคลาย แต่มิได้หมายความว่าชีวิตของประชาชนชาวพม่าจะปลอดพ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะภายใต้ความไม่พร้อมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกทางกฎหมาย และความรู้ความใจในสิทธิของตนเองของคนพม่า ย่อมเป็นช่องโหว่ให้เกิดการละเมิดกดขี่ได้เช่นกัน เพราะเพียงแค่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทยที่ผ่านมา

สิ่งที่ต่างไปจากเดิมเป็นเพียงตัวละครผู้ละเมิดเท่านั้น จากกระบอกปืนเป็น ‘ทุน’

 

พม่าเปิดรับนักลงทุนตะวันตกถ่วงดุลจีน

 

แม้ที่ผ่านมาพม่าจะปิดตัวเองในทางการเมือง แต่หากกล่าวในเชิงเศรษฐกิจ พม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศค่อยๆ เลือนหายไป

 

ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พม่าเคยเปิดประเทศรับการลงทุนครั้งหนึ่ง โดยการลงทุนส่วนใหญ่มาจากนักธุรกิจฝั่งไทย ส่วนทุนขนาดใหญ่มาจากประเทศตะวันตก เช่น บริษัท โททาล ออยล์ จำกัด การลงทุนในระยะนั้นเป็นการลงทุนในฐานทรัพยากรเป็นหลัก เช่น ป่าไม้ อัญมณี ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และเนื่องด้วยมีรูปแบบการปกครองเป็นเผด็จการ ผลประโยชน์จากการสัมปทานต่างๆ จึงวิ่งเข้ากระเป๋ารัฐบาลเผด็จการทหาร แทบไม่กระเส็นกระสายไปสู่ประชาชนชาวพม่าเลย

“คนพม่าค่อนข้างได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนยุคแรกๆ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า ก็มีเรื่องถึงขั้นบังคับใช้แรงงานชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ถูกไล่ที่เฉยๆ” นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสเนชั่น กล่าว

 

ครั้นเมื่อทั่วโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ฤาษีแห่งเอเชียอย่างพม่า ก็ไม่อาจหลีกหนีผลกระทบได้ การลงทุนจากต่างประเทศหดหาย แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองก่อตัวเป็นความตึงเครียด ปะทุออกมาเป็นความไม่พอใจของประชาชน แน่นอนว่าวิธีการเดียวที่รัฐบาลพม่าคุ้นเคย คือการปราบปรามอย่างรุนแรง ประเทศตะวันตกรวมหัวกันตอบโต้พม่า ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยหารู้ไม่ว่าคือการเปิดช่องให้จีนเข้าไปลงทุนในพม่าอย่างใหญ่โต

 

นายสุภลักษณ์อธิบายว่า ประเทศตะวันตกกริ่งเกรงว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ ท้ายที่สุด พม่าอาจมีสภาพไม่ต่างจากมณฑลหนึ่งของจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปจึงเกิดมุมมองและวิธีการใหม่ ที่จะปฏิสัมพันธ์กับพม่า มีการเอ่ยถึงการปฏิรูป และเงื่อนไขที่นำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตร ประจวบเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปเองก็อยู่ในช่วงขาลง จึงต้องการสร้างพื้นที่การลงทุนใหม่ๆ

 

พม่าใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างปราบชนกลุ่มน้อย

 

หากสำรวจผลกระทบจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ก่อนที่พม่าจะเปิดประเทศ ตัวอย่างใกล้ตัวและเป็นข่าวคราวอยู่บ้างบนสื่อกระแสหลักของไทย คือการร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจของไทย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัทจีน สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ เขื่อนท่าซางและเขื่อนฮัทจี บนแม่น้ำสาละวิน กรณีนี้อาจไม่สามารถกล่าวอย่างชัดเจนว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นผลพวงจากการสร้างเขื่อนโดยตรง เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าและบริษัทเอกชน ต่างก็อาศัยกันและกันเป็นเครื่องมือ

 

ด้านรัฐบาลทหารพม่าใช้เหตุผลการสร้างเขื่อน เพื่อส่งกองกำลังเข้าไปในรัฐฉาน พื้นที่สร้างเขื่อนท่าซาง และรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่สร้างเขื่อนฮัทจี จนเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง ขณะที่กลุ่มทุนก็ได้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งภาคประชาชนและเอ็นจีโอของไทยบางกลุ่ม พยายามเรียกร้องไปยังรัฐบาลและกฟผ. ให้หยุดการลงทุนไว้ก่อน เพื่อช่วยยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า

ห่วงชาวบ้านปรับตัวไม่ทันหลังทวายกลายเป็นอุตสาหกรรม

 

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากพม่าเปิดประเทศ นายสุภลักษณ์มองว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์จากโลกภายนอก เช่น คนพม่าที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีทุนและทรัพยากรในระดับหนึ่งอาจจะพอรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ แต่กลุ่มที่ไม่เคยออกนอกประเทศเลย ชาวบ้านทั่วไป และชนกลุ่มน้อย คนกลุ่มนี้ เลี่ยงไม่พ้นผลกระทบจากโครงการพัฒนาใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“ที่ผ่านมาประชาชนพม่าขาดสิทธิเสรีภาพอย่างมาก แล้วจู่ๆ ก็เปิดประเทศ เป้าหมายหลักเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตร เปิดรับการลงทุน มองโดยผิวเผินแล้ว เมื่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้น คนพม่าก็น่าจะได้รับผลประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่ง คนพม่ายังไม่ได้รับการเตรียมความพร้อม ในแง่การปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ดินทำกิน การปกป้องทรัพยากร ซึ่งเราเริ่มเห็นปัญหาแล้วตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะเปิดประเทศ” น.ส.วันดี สันติวุฒิเมธี อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์ กล่าว

 

น.ส.วันดียกตัวอย่างการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ถูกไล่ที่และยึดครองที่ดินทำกิน เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งน.ส.วันดีกล่าวว่า เป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง เพราะคนพม่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทจำนวนมาก ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียที่ดินทำกิน ให้แก่การลงทุนต่างๆ ในอนาคต ซึ่งในระยะสั้น วันดีมองว่าผลกระทบจากการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศจะยังไม่เห็นชัดเจนนัก แต่ระยะยาวเป็นสิ่งที่น่ากังวล

 

ไม่มีกฎหมายรับการลงทุน-รัฐบาลกับกองทัพไม่เป็นเอกภาพ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้พม่ามีกฎหมายต่างๆ เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจหรือไม่ นายสุภลักษณ์กล่าวว่า ไม่มี แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

 

ยังไม่นับว่า จะมีเครื่องรับประกันใดๆ ว่า กฎหมายที่ออกมาจะเป็นกลไกปกป้องและกระจายประโยชน์จากการลงทุนไปสู่คนพม่าได้จริงแท้แค่ไหน

นอกจากความไม่พร้อมข้างต้นแล้ว กรณีเขื่อนมิตโซนที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ออกมาประกาศชะลอการก่อสร้างนั้น ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากประชาคมโลก ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความไม่เป็นเนื้อเดียวกันระหว่างรัฐบาลและกองทัพ

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานรณรงค์ เครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มสิ่งแวดล้อมคะฉิ่น ออกแถลงการณ์ว่า มีจดหมายลับจากบริษัทจีนส่งถึงกองทัพพม่า เพื่อขอนำคนงาน 500 คนกลับเข้าพื้นที่ก่อสร้าง

 

“ทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลสั่งชะลอแต่บริษัทก็เข้าทางกองทัพ เพื่อกลับมาก่อสร้างเหมือนเดิม ยังมีกลุ่มต่างๆ ที่งัดข้อกันอยู่”

 

แน่นอนว่า ความไม่เป็นเอกภาพและอำนาจกองทัพที่ยังมีอิทธิพลสูง มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดการละเมิดไม่ผิดแผกกับช่วงที่ผ่านมา

 

และจากกรณีตัวอย่างจำนวนมากที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่สม่ำเสมอ ทำให้ทั้งน.ส.วันดีและน.ส.เพียรพรเห็นตรงกันว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าโดยทุน จะมีความแนบเนียนและซับซ้อนมากกว่าการละเมิดโดยกำลังทหาร

 

ชนกลุ่มน้อยเชื้อปะทุความขัดแย้ง

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.เพียรพรเตือนว่าจะมองเพียงคนพม่าไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่าประเทศพม่าประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม ซึ่งรัฐบาลพม่ายังไม่มีแนวทางชัดเจนในการสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิ

 

ประเด็นการลงทุนกับกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นี้เองที่นายสุภลักษณ์มองว่า อาจจะสร้างแรงกดดันให้เกิดความรุนแรงในอนาคต หากรัฐบาลพม่าไม่สามารถกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนได้ดีพอ แม้ความขัดแย้งในพม่าเศรษฐกิจจะไม่ใช่ตัวกำหนดหลัก แต่ก็อาจพูดได้ว่า การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2531และปี 2550 มีปัญหาเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน ทั้งเรื่องค่าเงินตกต่ำและภาวะน้ำมันแพง

 

นายสุภลักษณ์อธิบายว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่สามารถหาสูตรแบ่งปันอำนาจกับชนกลุ่มน้อยได้อย่างลงตัว ปัจจุบันเป็นเพียงการสงบศึกเท่านั้น ตัวอย่างปัญหาพื้นที่ที่ยังไม่มีคำตอบ เช่น หากนักลงทุนต้องการลงทุนในพื้นที่ยึดครองของชนกลุ่มน้อยจะมีรูปแบบการจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไร ต้องคุยกับใคร ซึ่งแน่นอนว่าชนกลุ่มน้อยเองย่อมต้องการผลประโยชน์จากพื้นที่ของตนเอง

“ผมคิดว่าโครงสร้างความขัดแย้งเดิมในพม่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้น ความขัดแย้งเดิมคือการไม่ลงอำนาจกันระหว่างสองสามกลุ่มใหญ่ๆ คือกองทัพ พรรคการเมือง เอ็นแอลดี และชนกลุ่มน้อย ดังนั้นความขัดแย้งเดิมจะถูกเติมเชื้อจากเศรษฐกิจ จึงมีโอกาสจะเกิดความรุนแรง หากยังหารูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนไม่ได้ การแบ่งปันอำนาจทางการเมืองนั่นส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยคิดจะพูดเรื่องนี้ และคิดว่าตนเองควบคุมสถานการณ์ได้ตลอดเวลา แต่จริงๆ คือไม่ได้”

 

โอกาสเติบโตของภาคประชาชนพม่า

 

อีกด้านหนึ่ง การขาดแคลนกลไกดังกล่าวก็นับเป็นโอกาสของภาคประชาชนของพม่า ให้เกิดการรวมตัวและผลักดันกฎหมาย นโยบายต่างๆ นายสุภลักษณ์กล่าวว่า

 

“ที่น่าสนใจคือสถานการณ์แบบนี้ ถ้ามีภาคประชาชนรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจริง ก็จะอาศัยจังหวะและโอกาสนี้สร้างกลไกที่เชื่อมั่นได้ว่า ประชาชนและสิ่งแวดล้อมของพม่าจะได้รับการดูแล เพราะตอนนี้ยังไม่มีกลไกนอกภาครัฐที่แข็งแรงพอ ต้องอาศัยแรงวิพากษ์วิจารณ์ เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ค่อยมี ตอนนี้คนก็มีความหวังว่าพรรคเอ็นแอลดีจะเข้าไปทำหน้าที่นี้ ซึ่งยังไม่แน่”

 

ด้านน.ส.วันดีมองว่า กลุ่มคนที่น่าจะเป็นความหวังและเข้ามามีบทบาท ป้องกันการละเมิดคือบรรดานักกิจกรรมที่หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศ ขณะนี้หลายคนเดินทางกลับสู่พม่าแล้ว ถึงกระนั้นก็อาจมีปัญหาเรื่องช่องว่างทางความคิดและวิถีชีวิตระหว่างนักกิจกรรมกลุ่มนี้กับคนพม่าในประเทศที่มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ต่างกัน

 

หวังรัฐบาลตรวจสอบการลงทุนของไทย

 

ทั้งหมดนี้ช่วยฉายภาพอนาคตอันเปราะบางของพม่า จากความไม่พร้อมรับมือกับกระแสทุนและโลกาภิวัตน์ที่กำลังหลั่งไหลเข้าไป รัฐบาลและภาคประชาสังคมไทยจะช่วยอะไรได้บ้าง ต้องตอบว่าเป็นไปได้ยากมาก ทว่า สิ่งนี้ที่อยู่ในขอบเขตที่ประเทศไทยพอจะทำได้คือการตรวจสอบการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจไทย

 

“เราต้องเป็นประชาชนที่ตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลา คอยตรวจสอบว่า ทุนของประเทศหรือรัฐบาลเราไปใช้ประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้านมากน้อยแค่ไหน ส่งออกอุตสาหกรรมสกปรกหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบทางสังคมและระบบนิเวศ ไม่ได้หยุดอยู่แค่เส้นพรมแดน มันจะกลับเข้าหาประเทศเราไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง” น.ส.เพียรพรกล่าว

 

แต่ปัญหาก็คือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายสำหรับตรวจสอบการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ซึ่งนายสุภลักษณ์กล่าวว่า สังคมไทยมีสิทธิที่จะคาดหวังว่ารัฐไทยจะก้าวหน้าในประเด็นนี้ และภาคเอกชนไทยเองก็ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการให้คำมั่น หรือกำหนดข้อปฏิบัติร่วมกันในการไปลงทุนในประเทศพม่าว่าจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ซึ่งยังเป็นได้เพียงความคาดหวัง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: