ที่ดินใต้ร้อง‘กก.สิทธิฯ-สภาทนาย’ อุทยานไล่ชาวบ้านพ้นที่ทับซ้อน

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) 27 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2985 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จาก จ.ตรัง จ.พัทลุง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ราว 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ละเมิดสิทธิชุมชนและหามาตรการคุ้มครองพื้นที่การดำเนินการโฉนดชุมชนต่อน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ

 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้ฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพยายามจับกุมดำเนินคดีแก่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดในเขตพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน ดังนี้

 

1.วันที่ 25 มี.ค.2555 หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดจับกุมหมากแห้งของสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ส่งสภ.หนองเอื้อง อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง แต่สภ.หนองเอื้องพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน จึงดำเนินการเจรจากับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดขอให้ผ่อนผัน

 

2.วันที่ 30 มี.ค.2555 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 50 นาย บุกฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรอื่นๆ ของสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู จำนวน 2 แปลง 7 ไร่ เป็นสวนยางของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3 ไร่ สวนยางของนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ 4 ไร่

 

3.วันที่ 6 เม.ย.2555 นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และตำรวจตระเวณชายแดน รวมทั้งนายเจิม เส้งเอียด หรือ ไข่หมูก อดีตจอมโจรชื่อดังภาคใต้ ประมาณ 35 นาย พร้อมอาวุธปืนและเลื่อยยนต์ 2 เครื่อง เข้ารื้อถอนสะพานเข้าชุมชนบ้านหาดสูง รอยต่อระหว่าง ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด กับ ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 2 สะพาน

 

4.วันที่ 16 เม.ย.2555 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด พยายามจับกุมชาวบ้านที่หาหน่อไม้ เห็ดแครง องค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

 

หนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า จากลำดับเหตุการณ์การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังกล่าวได้ทำความเดือดร้อนกับประชาชนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ในเขตที่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานฯ กับพี่น้องชาวบ้านทั้งๆ รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนเป็นแนวทางในการใช้สิทธิชุมชนในขณะนี้ เพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน โดยให้เป็นไปตามวิถีชีวิตของชุมชน พร้อมกับการปฏิบัติตามกฎ กติกา และแผนการจัดการขององค์กรชุมชนนั้นด้วยดีตลอดมา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

“ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และหามาตรการคุ้มครองพื้นที่ที่ดำเนินการปฏิบัติการตามแนวทางโฉนดชุมชนภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ว่าด้วยสิทธิชุมชนโดยเร่งด่วน”

 

นอกจากนี้ น.ส.วัชรี ทองพิทักษ์ เลขานุการเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี  ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ประกาศทับซ้อนที่ดินทำกินราษฎรต่อน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ

 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2534 เป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนที่อาศัย ที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่มาก่อนปี 2500 สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน อ.กาญจนดิฐ อ.นาสาร อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งราษฎรได้รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2546 มีมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเห็นชอบให้เพิกถอนพื้นที่เพิ่มเติม 28,770 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา แต่จนบัดนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ ซ้ำยังมีการจับกุมปรับราษฎรหลายรายในหลายพื้นที่ อันเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากให้แก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่ง

 

“ขอให้อนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหารือกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น และผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ขอให้อุทยานฯ ชะลอการดำเนินการใดๆ ต่อราษฎร ในพื้นที่อุทยานทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัย และขอให้เร่งรัดการเพิกถอนพื้นที่ประกาศทับซ้อน 28,770 ไร่ ให้แก่ราษฎรที่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศของอุทยานฯ” หนังสือดังกล่าวระบุ

 

ต่อมาเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ สำนักงานสภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินจาก จ.ราชบุรี ประมาณ 60 คน เดินทางไปพบนายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

 

โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ละเมิดสิทธิชุมชนและหามาตรการคุ้มครองพื้นที่การดำเนินการโฉนดชุมชน ต่อนายวสันต์ พานิช ขณะที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี ได้ยื่นร้องเรียนเรื่องขอร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นประกาศทับซ้อนที่ดินทำกินราษฎรต่อนายวสันต์ โดยหนังสือร้องเรียนมีเนื้อหาเดียวกันกับที่ยื่นต่อน.พ.นิรันดร์

 

นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 25 เม.ย. ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินจาก จ.ราชบุรี จะเดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบถึงกรณีที่เกิดขึ้น

 

“กรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือเลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มี.ค.55 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงลายมือชื่อโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่าอยู่ในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ทำไมถึงไม่สามารถใช้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ ทำเป็นไม่ใส่ใจหรือไม่มีอำนาจสั่งการ ทั้งที่เคยประกาศนโยบายโฉนดชุมชนเอาไว้ด้วย” นายบุญกล่าว

 

สำหรับหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มี.ค.2555 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ส่งถึงนายวิลาส สังข์ช่วย ประธานกรรมการชุมชนบ้านหาดสูง ลงลายมือชื่อโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่ชุมชนบ้านหาดสูง ได้ยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนและขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสะพานข้ามคลองและพืชผลอาสิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 19 ม.ค.2555

 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานโฉนดชุมชน ได้ตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอในเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1.เอกสารหลักฐานการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ใช้บังคับ 2.เอกสารแผนที่ที่มีขอบเขตชัดเจน โดยแสดงค่าพิกัดระวางแผนที่ด้วย 3.แนวทางการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.เอกสารรับรองคุณสมบัติของคณะกรรมการชุมชน พร้อมให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าวให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 10 เม.ย.2555

 

ส่วนกรณีขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อ.ห้วยยอด จ.ตรัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่และตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีบันทึกข้อความของสำนักอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เลขที่ ทส 0910503/5211 ลงวันที่ 26 มี.ค.2555 ลงนามโดยนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม

 

บันทึกข้อความดังกล่าว ส่งถึงรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทุกท่าน ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ผู้อำนวยการกองทุกกอง ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

 

“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอส่งสำเนาคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 562/2555 ลงวันที่ 26 มี.ค.2555 เรื่องให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม มาเพื่อทราบ และให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและให้ความร่วมมือตามสมควร สำหรับสำนักอุทยานแห่งชาติให้แจ้งผู้มีรายชื่อในคำสั่งทราบและปฏิบัติต่อไป”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: