คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ทำให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบลง ด้วยข้อหาว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2549 ตามมาด้วยการวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง กรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ด้วยมติ 6 ต่อ 3 ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทย 111 คน ต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคในทันที และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทุกรูปแบบเป็นเวลา 5 ปี และในวันที่ 31 พ.ค.นี้ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ที่เรียกตัวเองว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะพ้นจากคำพิพากษานั้น
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไม่ได้ห่างหายไปจากแวดวงการเมือง เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากการอยู่เบื้องหน้าขยับไปอยู่หลังฉาก ในขณะที่บางส่วนยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา สิ่งที่ปรากฏชัดเจนที่สุดนั่นคือ การส่งสมาชิกในครอบครัว ทั้งภรรยา ลูกหลาน พี่น้อง ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนในพื้นที่ที่สมาชิกเหล่านั้นเคยครอบครองอยู่
การกลับมาของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ในสิ้นเดือนนี้ย่อมส่งผลต่อรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคเพื่อไทยจะจัดสรรคนเหล่านี้อย่างไร และคนเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในฐานะอะไร ผู้เข้าอบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่น 3 จัดเสวนา “พลวัตทางการเมืองหลัง 111 คืนชีพ” ขึ้น เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ นายวิชิต ปลั่งศรีกุล นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตส.ว.
สมาชิก 111 ยันพ้นสิ้นเดือนพ.ค.ปรับครม.แน่
นายวิชิต ปลั่งศรีกุล เลขาธิการมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย กล่าวในเวทีเสวนาว่า การกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มีผลกับการเมืองของประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนการต่อรองตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่มีแน่นอน แต่จะเป็นไปในรูปแบบของการช่วยงานพรรค เติมเต็มในส่วนที่พรรคยังขาดมากกว่า และการปรับคณะรัฐมนตรีคงจะมีแน่นอน แต่คงจะไม่ได้เป็นการแย่งตำแหน่งทางการเมือง และยืนยันว่าไม่มีการต่อรองทางการเมือง นอกจากนี้สิ่งที่นับเป็นภารกิจหลักที่ชัดเจนและต้องขับเคลื่อนต่อไปคือ การต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งการถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นสิ่งที่สมาชิก 111 คนถูกกระทำ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีการขจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีนี้ อำนาจจากการรัฐประหาร คือการทำลายพรรคการเมือง ดังนั้นภารกิจหลักของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ต้องต่อต้านรัฐประหาร ในอนาคตการทำรัฐประหารจะมีโอกาสน้อยลง
การเมืองปรับรูปแบบเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
หากมองย้อนหลังกลับไป 90 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475-2515 การเมืองเป็นของชนชั้นนำและทหาร บางครั้งทหารยึดอำนาจของทหารด้วยกันเอง แต่หลังจากปี 2516 หลังเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 รวมถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่ทหารกลับมายึดอำนาจอีก จนถึงปี 2554 ประชาชนเริ่มมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่สถานการณ์ทหารอยู่เบื้องหลัง โดยมีพรรคการเมืองเป็นนอมินี ยังเกิดขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตามการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนมีมากขึ้น เห็นได้ถึงพลวัตทางการเมือง ดังนั้นในอนาคตพรรคการเมือง จะมีการปรับตัวมากขึ้น เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น
ในส่วนของมวลชนยอมรับว่า ต่อไปจะมีบทบาทสูงในการชี้นำรัฐบาล อีกไม่เกิน 2 ทศวรรษ ประชาธิปไตยจะเป็นแบบก้าวกระโดด มวลชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดงจะมีอิทธิพลกับรัฐบาล บริบททางการเมืองไทยจะเปลี่ยนไป แม้ว่าแนวคิดของพรรคเพื่อไทยและมวลชนเสื้อแดงจะเหมือนกัน แต่มวลชนเสื้อแดงจะไม่มีบทบาทในพรรคเพื่อไทย ซึ่งเรื่องนี้จะอยู่ที่การบริหารจัดการพรรคด้วย
‘สุวัจน์’ ชี้นอมินีทำการเมืองอ่อนแอ
ด้าน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวถึงเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาว่า จากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลกระทบกับ 3 ส่วน คือ พรรคการเมือง รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงอนาคต คือจะไม่มีใครอยากเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด เพราะกลัวถูกตัดสิทธิทางการเมือง จึงมีนอมินีเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนในครอบครัวของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ คนพวกนี้เข้ามาบริหารประเทศ และทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เพราะนักการเมืองขาดประสิทธิภาพ เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้การเมืองอ่อนแอตามไปด้วย เช่นเดียวกันเมื่อนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แน่นอนว่ารัฐบาลต้องอ่อนแอตามไปด้วย
“ในอดีตส.ส.กว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี ต้องเริ่มตั้งแต่การเป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นโฆษก กว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าจะได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ และสร้างความไว้วางใจให้กับข้าราชการ ประชาชน ซึ่งกรณีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ทำให้เกิดการข้ามชั้นทางการเมือง เนื่องจากสถานการณ์บังคับให้เป็นเช่นนั้น นักการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี พรรษาทางการเมืองยังไม่ถึง ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเกรดเอ เพราะในขณะที่บ้านเมืองเกิดปัญหาวิกฤต รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
สมาชิก 111 กลับมารัฐบาลจะเข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้นายสุวัจน์ยังวิเคราะห์ถึงภาพรวมของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่า ความอ่อนแอของ พรรคการเมืองและรัฐบาลจะนำมาสู่ความอ่อนแอของสภาผู้แทนราษฎร เพราะบทบาทของรัฐสภาสำคัญมากในการแก้ปัญหาต่างๆ ในขณะที่ส.ส.มีประสบการณ์น้อย ทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ดีเท่าที่ควร รัฐมนตรีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา น่าเห็นใจที่สุด เพราะเจอวิกฤตเกือบทุกอย่าง ที่ไม่มีตำราที่ไหนสอนคิดว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ไม่ใช่อยากกลับมาเล่นการเมืองทุกคน เพราะรู้สึกว่าอยู่ในจุดที่ปลอดภัยแล้ว อาจจะเปลี่ยนบทบาทตัวเองก็ได้
อย่างไรก็ตามนายสุวัจน์เชื่อว่า หลังวันที่ 30 พ.ค.นี้ การกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111จะทำให้บ้านเมืองจะดีขึ้น เพราะนักการเมืองแต่ละคนมีประสบการณ์ เป็นส.ส.มาอย่างน้อย 5-6 สมัย เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถจะช่วยบ้านเมืองได้ เล่นสร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศ การลงทุนจะกลับมา เพราะที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยฟูมฟักนักการเมืองเหล่านี้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
ส่วนการปฏิวัติรัฐประหารเป็นการสวนกระแสโลก ในระยะยาวจะเสียหายมาก ประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้งทุก 4 ปี เป็นคำตอบที่ดีที่สุด ประเทศเราต้องพยายามรักษากรอบนี้ไว้ให้ได้ อะไรที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับก็ไม่ควรทำ ควรจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ เพราะเมื่อรัฐบาลเข้มแข็ง การเมืองเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งด้วย
ปชป.ชี้เพื่อไทยไม่มีที่ยืนให้111-แนะปรับครม.ง่ายกว่า
ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กลับมองในมุมตรงกันข้ามถึงการกลับมาของสมาชกบ้านเลขที่ 111 ว่า การกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 รัฐบาลอาจจะดีขึ้น เพราะมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถมาช่วยเสริมการทำงาน และจากการเล่นการเมืองมาเกือบ 20 ปี เห็นด้วยว่าสถานการณ์การเมืองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ต่างจากเมื่อ 15 ปีที่แล้วมาก แต่เดิมมีการประนีประนอม ทุกพรรคจะสามารถคุยกันได้ ไม่ว่าจะขัดแย้งขนาดไหนก็ตาม แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งสูงมาก ส.ส.แต่ละพรรคไม่สามารถคุยกันได้
“เมื่อก่อนนี้ในสภาไม่ว่าจะเถียงกันรุนแรงขนาดไหน เมื่อออกมาข้างนอก เรายังสามารถคุยกันได้ แต่วันนี้ความขัดแย้งสูงมาก แต่ละพรรคคุยกันไม่ได้เลย ขนาดคนบ้านเดียวกับผม ทั้งคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) ทั้งคุณจตุพร (พรหมพันธ์) คุยกันไมได้เลย”
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้ที่คุมมวลชนเสื้อแดง แต่มวลชนเสื้อแดงเป็นคนที่คุมพรรคเพื่อไทย หากส.ส.เพื่อไทยคนใดพูดในภาคอีสานว่า ไม่เอาคนเสื้อแดง คนนั้นจะต้องสอบตก อย่างไรก็ตาม เป็นสัญญาณที่ดีที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ต้องดูข้อมูลต่างๆที่ให้กับประชาชนด้วย มีประชาชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ที่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมดและเข้าใจรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเข้าใจทางการเมืองของประชาชนอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด สัญญาณที่ดีวันนี้คือ ทั้งภาคอีสาน ภาคใต้ ใช้เงินซื้อเสียงไมได้แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่คุณให้กับประชาชน
“ผมเห็นด้วยว่าเมื่อสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลับมา รัฐบาลจะดีขึ้น ประเทศชาติจะดีขึ้นด้วย แต่ปัญหาคือ จะหาที่อยู่ที่ยืนตรงไหนให้กับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งจะมีปัญหาในการเป็นส.ส. วันนี้ไม่มีพื้นที่ให้แล้วเพราะ 400 เขต เต็มหมดแล้ว ซึ่งสถานะของสมาชิก 111 เป็นรัฐมนตรีง่ายกว่าเป็น ส.ส. ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้การปรับครม.ง่ายที่สุด เพราะการเปลี่ยนรัฐมนตรีออกง่ายมาก พรรคไม่แตก แต่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะสร้างปัญหาให้พรรคเพื่อไทยตอนที่จะมีการเลือกตั้ง” นายนิพิฏฐ์กล่าว
แก้ปัญหารัฐประหารต้องแก้ที่ต้นตอ
ทางด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา มองถึงปัญหาการตัดสิทธิทางการเมือง กับนักการเมืองที่เป็นกรรมการบริหารพรรคว่า ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เริ่มมาตั้งแต่การตัดสินของศาลฎีกา เมื่อปี 2495 ที่วินิจฉัยรับรองให้การรัฐประหารเป็นรัฐาธิปัตย์ วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองของไทยที่ผ่านมาคือ เมื่อเห็นว่าเกิดสิ่งที่ไม่เหมาะสมขึ้น จะยึดอำนาจแล้วให้ตัวเองเข้ามาแทน ซึ่งการต่อต้านรัฐประหาร ต้องแก้ที่ต้นตอคือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาปี 2495 เพราะไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกี่ฉบับ ก็ไม่สามารถแก้ได้ถ้าไม่แก้ที่ต้นตอ และควรจะต้องมีบทลงโทษกับผู้ที่ทำการปฏิวัติ เช่น ทำให้มีผลย้อนหลัง และพวกที่ทำความผิดต้องถูกลงโทษด้วย
“ส่วนการกลับมาของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะทำให้การเมืองไทยย้อนหลังกลับไปก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นไปตามอารมณ์ ความรู้สึก สื่อมวลชนมีส่วนอย่างมาก ในการสร้างอารมณ์ให้กับประชาชนบางส่วน ที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมดีใจที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ตาม แต่ยังไม่แน่ใจว่าประชาชนตื่นตัวกับประชาธิปไตยจริงหรือไม่” นายพนัสกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ