เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 พ.ค.ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองขึ้น “บันทึก 112 วัน แก้ม.112” โดยมีบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง นักวิชาการอิสระ ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมอย่างคึกคักแและมีการตั้งโต๊ะเปิดให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย
โดยมีนายยุกติ มุกดาวิจิตร และ วาด รวี เป็นผู้เริ่มการอ่านแถลงการณ์ของครก.112 ว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ระหว่างวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจำนวนมาก จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยการตีความกฎหมายบนอุดมการณ์ที่ผิดหลักการประชาธิปไตย และตีความการกระทำผิดอย่างกว้าง จนแม้แต่การแปลหนังสือก็กลายเป็นการกระทำความผิด ในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่างๆ ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาและนักโทษคดีการเมือง 112 ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่ได้รับการสืบพยานอย่างเพียงพอ ไม่ได้รับสิทธิ์ในการปล่อยตัวชั่วคราว ไต่สวนคดีโดยปิดลับ เป็นต้น
การกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาและนักโทษการเมืองคดี 112 สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้รักความเป็นธรรม และผู้ที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยจำนวนมาก มีผู้เรียกร้องให้มีการยุติการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2553 เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกลุ่ม 24 มิถุนายน และกลุ่มแดงสยาม กระทั่งต้นปี 2554 คณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นมา และเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายโดยกลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ และนักเขียน
แถลงการณ์ระบุต่อว่า หลังจากได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ประชาชนต่างคาดหวังว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่เหตุการณ์ก็กลับไม่เป็นไปดังหวัง กรณีตัดสินนายอำพล หรืออากง อย่างไม่เป็นธรรม สร้างความรู้สึกสิ้นหวังให้กับประชาชนจำนวนมาก ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ จึงรวมตัวกับนักวิชาการและนักเขียน นักกิจกรรม ขึ้นเป็น คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามร่างกฎหมายของคณะนิติราษฎร์ ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยื่นกฎหมายเข้าสู่สภา แต่หลังจากครบการรณรงค์ 112 วันไปเพียง 3 วัน ก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้น นายอำพลเสียชีวิตในเรือนจำด้วยอาการป่วย
บัดนี้ได้เวลาที่ ครก.112 จะแถลงจำนวนผู้ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย และกำหนดวันเพื่อยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว นับแต่วันที่ 15 มกราคม เป็นต้นมา ครก.112 ได้รณรงค์อภิปรายปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ในทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก อีสาน ครก.112 ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมาก ประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมืองเสื้อแดงทุกภาคส่วน ซึ่งขออภัยที่ไม่อาจกล่าวชื่อออกมาได้หมดในที่นี้ จนกระทั่งบัดนี้ มีผู้ลงชื่อแก้กฎหมายทั้งสิ้น 38,281 คน โดยมีผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง 2,632 คน ตะวันออก 208 คน เหนือ 2,605 คน อีสาน 22,357 คน ใต้ 118 คน ในจำนวนนี้มีแบบฟอร์มที่เสียจำนวน 10,360 ชุด และมีรายชื่อที่พร้อมส่งสภาเป็นจำนวน 27,291 คน
การรณรงค์ของครก.112 ไม่ได้เป็นเพียงการรณรงค์รวบรวมรายชื่อและการลงนามขอแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่คณะรณรงค์เอง กลับได้ความรู้ความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างขนานใหญ่ ปรากฏการณ์ที่เราอาจเรียกได้ว่า “ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์” นั้นสั่นสะเทือนสังคมไทยหลายประการด้วยกัน ดังจะขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้
ประการแรกกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่การเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แผ่ซ่าน ลงลึกไปถึงผู้คนรากหญ้า คนรากหญ้าเข้าใจถึงปัญหาของม.112 เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวบทกฏหมาย นั่นคือปัญหาของการดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาของการแทรกแซงการเมืองระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจนอกระบบ และปัญหาของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองของการรัฐประหาร ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นจากดินถึงฟ้า
ประการที่สอง เหตุที่การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ได้รับการตอบรับอย่างดี เป็นเพราะประชาชนรากหญ้าเข้าใจว่าการคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในร่างกาย และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตความเป็นอยู่อันปกติสุขของพวกเขาเองและประชาชนทั่วไป การที่ผู้ต้องหาที่ไม่มีสถานะทางสังคมจำนวนมากไม่ได้รับการประกันตน กรณีการบิดเบือนหลักการของการให้ความยุติธรรมในกระบวนการกฎหมาย กรณีผังล้มเจ้าที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประหัตประหารประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพในชีวิตประจำวันของผู้คน ยังไม่นับว่ามีผู้อาศัยมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์ จนถึงการที่มาตรา 112 ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ทำให้ประชาชนคนรากหญ้าไม่สามารถพูดถึงปัญหาที่ใหญ่คับฟ้าเมืองไทยได้
ประการต่อมา การต่อต้านปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงเป็นการขัดขืนความเป็นจริงทางสังคมที่ว่า ประชาชนไม่สามารถยอมรับสถานะไพร่ฟ้าผงธุลีได้อีกต่อไป การต่อต้านปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จึงแสดงออกอย่างไร้เหตุผล เช่น การแสดงความรักแบบไร้เหตุผล การปิดกั้นการใช้เหตุผลด้วยการไม่นำเสนอข่าวสารอย่างครบถ้วนของสื่อมวลชน และการปิดพื้นที่ของเหตุผล ดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ และในหลายๆพื้นที่ที่ครก.112 สัญจรไป
นอกจากนั้นรัฐบาลและพรรคการเมืองยังปิดพื้นที่ของการใช้เหตุผล ในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ด้วยการปฏิเสธ ตั้งธงไว้แต่แรกว่า จะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการถกเถียงกันในสภา ทั้งๆที่สังคมยังไม่ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ความไร้เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกันกับการใช้กำลังทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แต่ความไร้เหตุผลเหล่านี้ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย
ประการสุดท้าย แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากชนชั้นนำ และปราศจากการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ประชาชนคนรากหญ้าจำนวนมากก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าร่วมกับครก.112 เพื่อรวบรวมชื่อเสนอให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมาย นี่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้การชี้นำของพรรคการเมือง แม้ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนก็ตาม ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ จึงแสดงให้เห็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่อุดมการณ์สิทธิเสรีภาพได้หยั่งรากลึกลงยิ่งขึ้น ดังนั้นนักการเมืองจึงควรเข้าใจด้วยว่า ประชาชนไม่ได้เพียงต้องการนโยบายประชานิยม แต่ยังต้องการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอีกด้วย
เราจะยื่นร่างกฎหมายให้กับรัฐสภาถัดจากนี้อีกสองวัน คือในวันอังคารที่ 29 พ.ค. ขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการเห็นรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของผู้แทนปวงชนชาวไทยได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้มารวมตัวกันที่หมุดคณะราษฎร์เวลาเก้าโมงเช้า เราจะตั้งขบวนเดินนำรายชื่อทั้งหมดใส่กล่องสีดำไปยังรัฐสภาเพื่อมอบเอกสารให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ครก.112 จะยังไม่สลายตัว แต่จะติดตามและต่อสู้ จนกว่าปัญหาอันเนื่องจากกฎหมายอาญามาตรา 112 และกรณีที่เกี่ยวข้องจะได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงไปจนไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนอีกต่อไป
ด้านนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์ ว่า แม้ครก.112 จะยื่นรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขม.112 เข้าสภาในวันที่29 พ.ค.นี้ ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับฝ่ายการเมืองที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว เพราะต้องผ่านข้อวินิจฉัยของประธานสภาก่อนว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิที่เราจะขอแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ และถ้าผ่านก็ต้องไปเข้าคิวรอ และมีสิทิถูกแซงได้เสมอ เพราะมีกฎหมายที่ที่ประชุมสภาอาจเห็นความสำคัญมากกว่า นอกจากนี้เหลือเวลาอีก 3 ปีก็จะหมดวาระของสภาชุดนี้ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวเรื่องม.112 ไม่ใช่หวังว่าจะปลุกให้มีการแก้ไขทันที แต่เราหวังจะปลุกให้สังคมตื่นตัว และเข้าใจปัญหาว่าเราจะปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นตลอดไปอย่างนี้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศชัดว่า จะไม่สนับสนุนให้มีการแก้ม.112 นายนิธิกล่าวว่า พรรคเพื่อไทย หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่แตะต้องมาตรานี้ เพราะการเป็นนักการเมืองก็ต้องการที่อยากจะอยู่ในตำแหน่งและอำนาจมากกว่าเสี่ยงที่จะทำอะไร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อตำแหน่งตัวเอง ดังนั้นทุกพรรคการเมืองจึงเหมือนกันหมด
เมื่อถามว่าอนาคตจะได้เห็นการแก้ไขม.112หรือไม่ นายนิธิกล่าวว่า ถ้าเมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยตื่นตัวและเห็นอันตรายของม.112 และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักการเมืองอยู่ในฐานะในตำแหน่งส.ส. หรือตำแหน่งใดก็แล้วแต่ ไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกของสังคม ดังนั้นถ้านักการเมืองยังเพิกเฉยต่อปัญหานี้ ก็จะย่อมกระทบต่อฐานเสียงทางการเมืองในที่สุด
ส่วน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่าการแก้ไขม.112 จะยากเย็นพอสมควร เพราะมีแรงต้านทานจากพลังเดิม อำนาจเดิมสูง และส่วนที่เราหวังว่าจะเป็นอำนาจใหม่ พลังใหม่ มีทั้งที่เฉื่อยชา เมินเฉย ได้ดีแล้วทำเป็นลืม บางคนก็เกี๊ยะเซี้ยะกันไปแล้ว หรือไม่ก็บางคนมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ดังนั้นตนคิดว่า ถ้าไม่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขม.112 ได้ สังคมไทยก็อาจจะขาดโอกาสในการที่จะปรองดองกัน เพราะตนไม่เชื่อว่าลักษณะของการปรองดอง อย่างที่ปรากฎอยู่ในการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นการปรองดองที่แท้จริง มันจะมีลักษณะคล้ายกับที่ผ่านมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ตนคิดว่าการปรองดองที่เขาพยายามทำ จะนิรโทษกรรมกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี 2551-2553 อาจจะจบลงคล้ายแบบเดิมด้วยการเจ๊ากันไป ผู้กระทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ และหากมีการลงโทษกัน แต่จะมาตัดสินที่จะนิรโทษกรรม หรือให้มีการอภัยโทษอะไรก็ตามจะดีกว่า จะได้รูู้ผิดรู้ถูกไม่ใช่เจ๊ากันไป หรือบอกให้ลืมๆกันไป แล้วมานับหนึ่งใหม่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง
ต่อมาเวลา15.30 น. ได้เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ปรากฏการณ์112 ริกเตอร์ โดยมี นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติราษฎร์ เข้าร่วม
นายชาญวิทย์กล่าวว่า ปัญหาสังคมไทยและประชาชนในรัชกาลปัจจุบัน จะสามารถปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯจะได้ช้าหรือเร็ว หรือทันทีกับสถานการณ์การเมืองไทยและต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักระหว่างด้านหัวและก้อยของกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมกับอำนาจใหม่ ทั้งนี้ระยะหลังคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นฯนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และในปัจจุบันคดีหมิ่นฯมีมากเป็นประวัติกาล ดังนั้นตนได้ไตร่ตรองโดยพิจารณาทั้งด้านวิชาการ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จึงได้เห็นพ้องกับครก.112 จึงลงชื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไข และถ้าสามารถผลักดันเข้าสู่สภาได้ โดยมีส.ส. , ส.ว. รับลูกดำเนินการต่อ ในกรอบกฎหมายก็จะทำให้สังคมไทยเกิดสันติสุข และสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดูอย่างประเทศอังกฤษซึ่งเราได้เรียนรู้และลอกแบบ อาทิ เพลงสรรเสริญพระบารมี การถวายคำนับ เครื่องแบบและเครื่องราชฯ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล ที่มีประชาธิปไตยซึ่งไม่มีความขัดแย้งกับสถาบัน
ด้านนายวรเจตน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากมีการโหมโจมตีคณะนิติราษฎร์อย่างรุนแรงจากการที่เรานำเสนอความคิดเห็นออกไป ทำให้กระแสมาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น จากนี้ทางเดินแม้จะยาวแต่ต้องเดินต่อไป ตนรู้สึกดีใจที่มาถึงวันนื้ได้ คือมีรายชื่อพอสำหรับยื่นต่อรัฐสภาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงและจำเป็นต้องเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 29 พ.ค. นี้แน่นอน ส่วนคำถามว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรากำลังพยายามที่จะพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย ซึ่งมาตรา 112 เป็นประเด็นที่สังคมไทยยังต้องพูดคุยต่อไป ทั้งนี้พรรคการเมืองยังปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็ปฏิเสธโดยเด็ดขาด แต่ตนเห็นว่าความสำเร็จเป็นคนละเรื่องกับความพยายาม ความสำเร็จเป็นเรื่องของอนาคต ที่หลายคนบอกเร็วเกินไปนั้น ตนกลับคิดว่าอาจจะช้าเกินไปแล้วหรือไม่ ฝ่ายชนชั้นนำต้องรู้ว่าความรู้สึกของผู้คนได้เปลี่ยนไปมากและ การปรับตัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือการยกเลิกไปนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
นายวรเจตน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 112 วัน ตนเฝ้ารอคอยการโต้ถียงอย่างเป็นอารยะจากฝ่ายที่เห็นว่ากฎหมายมาตรานี้ควรดำรงอยู่ต่อไป แต่ยังไม่พบว่ามีความเห็นที่เป็นเหตุเป็นผลทั้งในที่สาธารณะและที่ส่งความเห็นมายังตนเป็นการส่วนตัวว่าทำไมการแก้ไขมาตรา 112 จึงไม่สามารถทำได้ วันนี้ปรากฏการณ์มาตรา 112 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปภายในอนาคต ความพยายามและใจอันบริสุทธิ์ซื่อตรงของพวกเราอาจสร้างความขุ่นเคืองไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย แต่เชื่อว่าจะทำให้สังคมไปสู่การยืนที่ตรงขึ้น
“อยากบอกฝ่ายการเมืองว่าไม่ควรประเมินเรื่องดังกล่าวต่ำเกินไป และจะละเลยเรื่อง 112 ไม่ได้ อำนาจการชี้ขาดในอนาคตไม่ได้อยู่ในมือชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว แม้กระทั่งคนเสื้อแดงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่เพียงพอต่อการชี้ขาดประเด็น 112 เพราะความคิดของคนไปไกลเกินไปกว่านี้แล้ว เรื่องนี้จะแยกคนว่าใครจะเดินต่อไปในเส้นทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือใครจะเดินอีกเส้นทางอื่นก็ว่าไป เป็นทางแยกที่ต้องตัดสินใจ จำนวนคนที่เดินไปทางแยกนี้อาจจะไม่มากนัก แต่อนาคตเชื่อว่าจะมากขึ้นตามลำดับ เชื่อว่าความคิดดังกล่าวอยู่ในสังคมแล้ว นักวิชาการเพียงทำหน้าที่อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม พลังทางสังคมได้ถูกปลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็จะไม่หลับใหลอีกต่อไป ผมไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับผมในวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว ก็เชื่อว่าจะต้องเดินต่อไป และเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องทำให้ทุกสถาบันในสังคมอยูร่วมกันได้” นายวรเจตน์กล่าว
นอกจากนี้ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสมาชิกลุ่มนิติราษฎร์ ได้เล่าประสบการณ์ “อ้อมกอดและกำปั้น 112 วัน ของการรณรงค์’ ตอนหนึ่งว่า จากการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ในพื้นที่ภาคเหนือ หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องแก้มาตรา 112 และจะกระทบกระเทือนกับรัฐบาลที่เขาเลือกตั้งมาหรือไม่ ซึ่งตนก็ยืนยันว่ามาตรา 112 จะไม่ทำให้เกิดรัฐประหารหรือล้มรัฐบาลได้เลย เพราะชนชั้นนำทั้ง 2 ข้างไม่พร้อมให้เกิดรัฐประหารได้ในเวลานี้ เพราะต้นทุนของการรัฐประหารสูงมาก นอกจากนั้นหลายท่านยังกังวลใจเกรงมีการกลั่นแกล้งกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นข้าราชการ กลัวจะกระทบกับหน้าที่การงาน สามารถรับประกันให้ได้หรือไม่ ซึ่งตนก็อธิบายในเชิงกฎหมาย แต่ก็บอกไปว่ารับประกันเรื่องนี้ให้ไม่ได้เพราะแม้ชีวิตของตนยังรับประกันไม่ได้เลย แต่อธิบายไปว่าเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ความกล้า ตอนเราเกิดมาเราก็เดินไม่ได้ต้องคลานสี่ขา วันหนึ่งอยากเดินก็ต้องหัด อาจจะหกล้มเจ็บบ้าง เราจะก้าวข้ามจุดนี้ไปได้เมื่อไรถ้ายังกลัว บางคนกลัวความสูง แต่เมื่อลองกล้านั่งชิงช้าสวรรค์ก็จะพบว่ามองอะไรจากมุมสูงแล้วมันก็สวยดี
นายปิยะบุตรกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ยังมีแกนนำหรือนักการเมืองห้ามไม่ให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อ แต่ทั้งภาคเหนือและอีสานก็มีผู้ร่วมลงชื่อมากที่สุด ส่วนเรื่องกำปั้นที่ตนได้รับนั้นก็มีจดหมายข่มขู่เข้ามามาก โดยตัดภาพเฉพาะศีรษะตนและ อ.วรเจตน์ส่งมา เป็นต้น ตนอยากบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องแก้มาตรานี้ ถ้าไม่มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างพิสดาร ตั้งแต่หลัง 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมาดังนั้นจึงต้องเดินหน้าต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ