แฉกลางวงอภิปราย‘ต้านการซ้อมทรมาน’ ‘ร้อยโท’สั่งซ้อมโหดพลทหารนราธิวาสดับ ญาติเหยื่อร้องทุกหน่วยไร้ผลแถมเจอขู่ซ้ำ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 27 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1914 ครั้ง

 

คปก.ถกสิทธิเหยื่อซ้อมทรมาน-การเยียวยา

 

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน เนื่องในวันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล วันที่ 26 มิถุนายน โดยมีการอภิปรายหัวข้อ “สิทธิเหยื่อซ้อมทรมาน การเข้าถึงความยุติธรรม และการเยียวยา” มีผู้ร่วมอภิปรายคือ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ น.ส.ซุกกรียะห์ บาเหะ ผู้แทนกลุ่มดวงใจ น.ส.นริศราวรรณ แก้วนพรัตน์ นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ญาติของพลทหารวิเชียร เผือกสม เหยื่อการซ้อมทรมาน น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พ.ญ.ดร.ปานใจ โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มี น.ส.พรเพ็ญ คงเจริญเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ดำเนินรายการ

น.ส.พรเพ็ญกล่าวนำการอภิปรายว่า ต้องขอนิยามของคำว่าทรมานก่อนว่า ปัจจุบันเราเป็นภาคอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งในอนุสัญญาฉบับนี้ให้นิยามไว้ ซึ่งความเข้าใจทุกคนในพื้นฐานความเป็นมนุษย์ว่า การทรมานคือทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นเจตนาจะต้องหมายถึงการมุ่งหมายต่อข้อสนเทศ คือ หมายถึงการรับสารภาพ ข้อมูลข่าวสาร ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่หากนายก. นายข. ที่ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการทรมาน ข่มขู่ เพื่อเรียกเงิน ไม่ใช่การทรมานตามความหมายนี้ จะต้องเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นการลงโทษ และรวมถึงการข่มขู่บังคับบุคคลที่สาม ซึ่งหลักนี้อาจจะเป็นพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ สุดท้ายการทรมานมีข้อยกเว้นว่า กระทำได้ ถ้าเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศในเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิต หรือบางประเทศยังมีการเฆี่ยนตี ในหลายกรณีมีการพูดกันในวงการสิทธิมนุษยชนว่า การประหารชีวิต การใส่โซ่ตรวน หรือการเฆี่ยนตี ก็อาจจะเข้าข่ายการทรมาน หรือเป็นการปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรมด้วย

 

 

ญาติพลทหารเจาะไอร้องแฉน้าชายถูกทรมานโหด

 

 

จากนั้นวงอภิปรายเริ่มต้นด้วย การเล่าเหตุการณ์ซ้อมทรมานซึ่งเกิดขึ้นในค่ายพล.ร.151 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้พลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน โดย น.ส.นริศราวรรณ หลานสาวของพลทหารวิเชียร ซึ่งเป็นตัวแทนของครอบครัวดำเนินการเรียกร้องหาความเป็นธรรมกับให้น้าชายมาตลอดระยะเวลา 1 ปี

 

น.ส.นริศราวรรณเล่าเหตุการณ์ที่น้าชายของตนถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหารว่า กรณีการเสียชีวิตของน้าชายซึ่งไปเป็นทหารเกณฑ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกครูฝึกกระทำการโหดร้าย ไร้ซึ่งความเมตตาธรรม มีการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง เรื่องนี้ได้มีร้องเรียนมาตั้งแต่หลังจากผู้ตาย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2554 ปัจจุบันนี้ถือว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ทั้งที่เราได้ต่อสู้มาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งน้าชายสำเร็จการศึกษาปริญญาโท ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ท่านเป็นพระมาตลอด 8 ปี และไม่ได้แจ้งทางบ้านว่า จะไปเกณฑ์ทหาร เพียงแต่บอกทางบ้านว่า ขอสึกออกไปทำงาน 6 เดือน ไม่มีการแจ้งครอบครัว และหายไป  ทางครอบครัวได้ติดตามแต่ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหน

 

กระทั่งได้รับโทรศัพท์จากค่ายของพล.ร.151 ว่า พลทหารวิเชียรหลบหนีออกค่ายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ทำให้ทางบ้านทราบว่า ท่านไปเป็นทหารเกณฑ์ จึงไปสอบถามสัสดีที่จ.สงขลา ทราบว่า พลทหารวิเชียรได้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ และเลือกที่จะลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนแรกสัสดีคัดค้านแล้วว่า ให้ลงไปประจำการที่สงขลา เนื่องจากเห็นว่า ท่านมีวุฒิปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งสามารถลดหย่อนได้ แต่ท่านบอกว่า กำลังพลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขาดอยู่อยากจะเข้าไปช่วยพ่อแม่พี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อมีการสอบถามทราบว่า ท่านได้หลบหนีทหารและกลับมาสู่ค่ายแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ทราบข่าวของท่านอีกเลย

 

ผู้ตายให้ข้อมูลสำคัญก่อนวันสิ้นใจ

 

 

น.ส.นริศราวรรณกล่าวต่อว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พลทหารวิเชียรนอนอยู่ห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ทางบ้านก็ยังไม่เชื่อ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ทหารว่า พลทหารวิเชียรอยู่ไหน เขาบอกว่าอยู่ในค่าย เราก็บอกไปว่าพลทหารวิเชียรอยู่ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาส ทางทหารก็ให้การว่า คนละวิเชียรกัน วิเชียร เผือกสม ยังอยู่ในค่าย ครอบครัวจึงเดินทางไปดูเพื่อให้เห็นกับตา

 

แต่ด้วยความที่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ไม่สามารถเดินทางเข้าไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในตอนเย็น ต้องไปในวันที่ 5 มิถุนายน ถึงที่นั่นประมาณ 10.00 น. ก็พบพลทหารวิเชียร อยู่ในห้องไอซียู ตอนนั้นไม่สามารถตอบสนองใดๆ ได้แล้ว และหลังจากเวลา 23.05 น. ก็ได้เสียชีวิตลง

 

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ก่อนหน้าที่พลทหารวิเชียรจะเสียชีวิต ได้แจ้งคุณหมอไว้ว่า ผู้ที่ทำร้ายตนมีทั้งหมด 10 นาย มีร้อยโทเป็นคนสั่ง โดยบอกชื่อมารดา ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ที่พอจะจำได้อีก 3-4 เบอร์ และทราบต่อมาว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน มีทหารนำตัวพลทหารวิเชียรไปส่งที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง ทางโรงพยาบาลระบุว่า อาหารหนักควรเร่งส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัด เมื่อส่งตัวไปแล้วก็ไม่มีการติดต่อมาทางบ้าน แต่คนที่ติดต่อมากลับเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และหลังจากพลทหารวิเชียรเสียชีวิตแล้วก็ติดต่อมาบอกว่า จะทำเอกสารเรื่องใบมรณบัตรให้ แต่คุณหมอและพยาบาลบอกมาว่า ให้ญาติเป็นคนทำเองจะดีกว่า

 

 

ทหารมาเจรจาขอจ่ายเงิน 3-5 ล้าน

 

 

น.ส.นริศราวรรณเล่าเหตุการณ์หลังจากน้าชายเสียชีวิตต่อไปว่า เหตุการณ์หลักๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสก็คือ ในงานศพมีร้อยโทเข้ามาช่วยเหลืองานศพ ตั้งแต่วันแรกที่นำศพกลับมา และมีการขอเจรจาคลุมธงชาติ พร้อมพระราชทานเพลิงศพ และเมื่อทราบว่าที่บ้านจะเอาเรื่อง ทหารคนดังกล่าวชี้แจงว่า ปีที่แล้ว มีคนเสียชีวิตแล้ว 1 นาย จ่ายไป 3 ล้าน ถ้าทางบ้านจะเอาอย่างนั้นก็ได้ ตนจึงบอกว่า คงจะเรียกร้องความเป็นธรรม แต่เมื่อทหารคนดังกล่าวทราบว่า ผู้ตายเรียนจบอะไรมา ก็ขอเพิ่มมาเป็น 5 ล้านบาท ทางบ้านจึงยื่นหนังสือถึงพล.ร.151 ต้นสังกัด เพื่อขอความเป็นธรรม ก็มีการเจรจาขอจ่ายเงิน 5 ล้านบาท

 

หลังจากนั้นมีการยื่นหนังสือถึงพล.ร.15 ซึ่งคุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บังคับหน่วยได้มาในงานศพเอง รับปากว่า จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการ และขอให้เรามีการฌาปนกิจอย่างถูกต้องตามกำหนดวัน ซึ่งตอนแรกกำหนดไว้ 7 วัน แต่เมื่อสอบถามไปถึงตัวผู้กระทำความผิดหรือคนที่เกี่ยวข้อง กลับตอบคำถามครอบครัวไม่ได้ ครอบครัวก็เลือกที่จะเก็บศพไว้ และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป พร้อมยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ไม่มีการตอบกลับมา ยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ไม่มีการตอบกลับมาอีก จนทางบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร บังเอิญพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมามอบทุนการศึกษาที่จ.สงขลา จึงเข้าไปขอความเมตตาถึงเรื่องนี้

 

 

พบคนทำผิด แต่โดนคดีอาญา 9 คน ‘ร้อยโท’ถูกขังแค่ 15 วัน

 

 

หลังจากนั้นจึงมีการสอบสวนออกมา พบว่ามีผู้กระทำความผิด 9 นาย ที่โดนคดีอาญา ส่วนอีก 1 นาย ยศร้อยโท ถูกคุมขังแค่ 15 วัน ตอนนั้นทางบ้านจึงเลือกที่จะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันไม่ได้รับความเป็นธรรมจนถึงที่สุด เพราะเราทราบมาว่า ร้อยโทคนนั้นมีพ่อเป็นพลตรี และมีการช่วยเหลือโดยเสนอเงิน 10 ล้าน เพื่อแลกกับการที่ร้อยโทไม่โดนคดีอาญา ส่วนอีก 9 คน โดนคดีอาญาปกติ แต่ตนได้ตอบไปแล้วว่า

 

                    “แม้ว่าเขาเป็นแค่พลทหาร และไม่มีพ่อเป็นพลตรี แต่เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งทางญาติผู้ต้องหาคนหนึ่งที่มียศร้อยตรี หนูมีโอกาสได้คุยกับแม่ของร้อยตรี เขายอมรับว่าลูกชายทำจริง แต่ตรงนี้ลูกชายก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะโดนใส่ร้ายว่า ตัวเองเป็นคนทำ ทั้งที่ความจริงร้อยโทเป็นคนสั่ง” น.ส.นริศราวรรณกล่าว

 

 

ทรมานโหด-มัดตราสังข์ห่อผ้าแห่รอบโรงอาหาร

 

น.ส.นริศราวรรณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันตนมีเอกสารยืนยันชัดเจนว่า ร้อยโทเป็นคนสั่ง ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ทางศาลทหารแจ้งกับตนว่า ได้ส่งมาให้กับคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ซึ่งตนไปติดตามเรื่องที่ป.ป.ช.แล้ว และป.ป.ช.บอกว่าเป็นกฎหมายใหม่ ยศที่ต่ำกว่าพลตรีต้องโอนเรื่องมาให้ป.ป.ท.เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อโอนแล้วจึงเข้าไปตรวจสอบกลับมาพบเอกสารที่ว่าร้อยโทมีความผิดด้วย มีเพียง

 

                 “สำนวนที่ว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คนบอกว่า ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ระบุชัดเจนว่า ร้อยโทเป็นคนสั่ง ไม่ว่าให้ลากผู้ตายไปกับพื้น หรือว่าถอดกางเกงผู้ตาย ซึ่งจากสำนวนคดี การทรมานครั้งนี้ก็ถือว่า เป็นการทรมานอย่างโหดร้ายทารุณ เป็นการใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร ตีเข้าที่ลำตัวของผู้ตาย ไม้ไผ่แตกไป 3 อัน ถ้าหากไม่มีทหารยศร้อยตรีอีกคนเข้ามาห้ามอาจจะแตกมากกว่านี้ และบริเวณลำตัวของพลทหารวิเชียร ก็เต็มไปด้วยบาดแผลรอยฟกช้ำ บริเวณขาเหมือนถูกเจาะลงไป และให้นั่งบนก้อนน้ำแข็ง ให้รับประทานข้างกับพริกกับเกลือ จากนั้นนำน้ำเกลือมาราดแผล บอกว่าแอลกอฮอล์ไม่พอ อ้างว่าการใช้น้ำเกลือสดช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น และที่สำคัญคือพลทหารวิเชียรไม่ได้เสียชีวิตในค่าย แต่ถูกจับมัดตราสังข์ ห่อผ้าขาว สวดไว้อาลัย และแบกรอบโรงอาหารเพื่อให้ทหารคนอื่นดู”

 

 

ก้มกราบขอโทษยังถูกเตะเข้าปลายคาง

 

 

นอกจากนี้น.ส.นริศราวรรณยังเล่าต่อถึงพฤติกรรมของทหารยศร้อยโทคนดังกล่าว โดยอ้างถึงเอกสารการสอบสวนของกองทัพภาคที่ 4 ว่า “สิ่งที่หนูทนไม่ได้ที่สุดคือ ผู้ตายได้ก้มลงกราบเท้าของครูฝึกและบอกว่าผมขอโทษ ก็เตะเข้าที่ปลายคางพร้อมกับบอกว่า แน่จริงให้ไปฟ้องผบ.ทบ. หลังจากพลทหารวิเชียรเสียชีวิตแล้วก็พูดอีกว่า ผมยอมเสียเงิน แต่ไม่ยอมถูกปลด”

 

ตอนนี้ตนยังไม่มั่นใจว่า แม้แต่ค่ายทหารที่ว่า ควรจะปกป้องประชาชนยังให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้หรือไม่ เพราะตั้งแต่มีเหตุการณ์มา มีหลักฐาน มีพยานบุคคล ยืนยันชัดเจนว่ามีผู้กระทำความผิดทั้งหมด แต่พบว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 นาย ยังคงเป็นครูฝึกอยู่ในค่ายทหารตามปกติ

 

 

ร้องทุกหนทางแต่ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี

อย่างไรก็ตามปัจจุบันน.ส.นริศราวรรณ ได้เรียกร้องและทวงถามถึงการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ของหน่วยงานที่มองว่าเกี่ยวข้อง แต่ทุกหน่วยงานที่เคยรับรู้และรับเอกสารการร้องเรียนหรือ เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวกลับโยนความรับผิดชอบกันไปมา

                 

 

              “ถามไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจก็บอกว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้อัยการศาลทหารแล้ว และอัยการศาลทหารบอกว่าได้ส่งให้ป.ป.ช.แล้ว เพราะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับข้อหาฆ่าคนตายอะไรมันหนักกว่ากัน แต่ทางศาลทหารยังตัดสินคดีฆ่าคนตายไม่ได้ เพราะว่าทางป.ป.ช.ยังไม่สามารถชี้มูลมาได้ หนูไปตามที่ป.ป.ท.แล้ว ได้รับคำตอบว่า ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาช้า จึงยังดำเนินการไม่ได้ จึงอยากถามว่าต้องรอให้ผู้ตาย เสียชีวิตไปอีกนานเท่าไหร่จึงจะได้รับความเป็นธรรม ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ได้ร้องเรียนตั้งแต่สมัยพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. จนถึงถึงพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ให้ส่งตำรวจจากส่วนกลางไปช่วยตำรวจที่เจาะไอร้อง ในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ส่งหนังสือไปทางกองทัพบกเป็นฉบับที่ 3 ขอความเป็นธรรมกรณีร้อยโท และทำไปถึงรมว.กลาโหม ขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ เนื่องจากทางทหารบอกว่าคดีนี้ตำรวจเป็นคนรับผิดชอบโดยตรง ถ้าจะโทษก็ต้องโทษตำรวจ เพราะผู้ต้องหามี 10 นาย แต่ตำรวจได้ตัวมาเพียง 9 นาย ถ้าจะโทษก็ต้องโทษตำรวจอย่างเดียว ก็กลายเป็นว่าโยนกันไปมา จนไม่รู้ว่าจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากที่ไหนได้”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: