ผมเป็นคนหนึ่งที่นั่งรถแท็กซี่เป็นประจำด้วยสองสาเหตุครับ หนึ่ง ผมเป็นคนทำงานหนักและมักนอนดึกตื่นเช้าดังนั้นจึงเพลียมากเวลาขับรถ ทำให้มีโอกาสหลับในหรือประสบอุบัติเหตุสูงหากขับรถด้วยตนเอง สอง การซื้อรถเป็นหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมและค่าน้ำมันโดยรวมแล้วการนั่งแท็กซี่จึงดูสมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์สำหรับผมอย่างยิ่ง ทว่า เรื่องการซื้อรถหรือนั่งแท็กซี่ดีกว่ากันนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะถกเถียงกันในบทความชิ้นนี้ หากเป็นเรื่องปัญหาที่คนนั่งแท็กซี่ประสบเสมอนั่นคือการ “ปฏิเสธผู้เรียก”
อันที่จริงแล้วการปฏิเสธผู้ที่เรียกใช้บริการนั้นผิดกฎหมาย (พี่แท็กซี่เล่าให้ฟังว่าโดนปรับถึง 2,000 บาท และหากเป็นรถอู่ ตัวอู่เองก็จะต้องโดนปรับไปด้วย) การปรับอู่รถด้วยนั้นก็เป็นไปตามหลัก Principle-Agent คือเพื่อกดดันให้อู่บังคับหรือกำกับดูแลผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งในที่นี้ก็ถือการรับผู้โดยสารโดยไม่ปฏิเสธหากไม่มีเหตุสุดวิสัยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้แทบจะไม่มีผลบังคับใช้เลยในทางปฏิบัติ, เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
สาเหตุก็เพราะ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาลไม่สามารถจะตรวจตราหรือเข้าไปบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกได้เลย เนื่องจากต้นทุนในการแสวงหาข้อมูลว่าแท็กซี่รับหรือปฏิเสธผู้โดยสารนั้นสูงมากเกินไป เช่น สมมติว่าผมโบกรถที่ตลาดจตุจักรแล้วถูกปฏิเสธ รัฐไม่สามารถทราบและติดตามแท็กซี่ที่ปฏิเสธผมได้ด้วยกลไกของรัฐเอง รัฐจะทราบได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นคนโทรแจ้งเข้าไปศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ โทร. 1584 ว่า แท็กซี่ทะเบียน XX – XXXX ละเลยไม่รับผู้โดยสาร ทว่า ผลในทางปฏิบัติคือผู้โดยสารที่ถูกปฏิเสธส่วนใหญ่ไม่ได้โทรไปที่ 1584 และเมื่อเป็นเช่นนั้นความเสี่ยงที่จะถูกปรับจึงต่ำมาก เมื่อความเสี่ยงถูกปรับนั้นต่ำมากการตัดสินใจที่จะไม่รับผู้โดยสารเมื่อผู้โดยสารต้องการไปจุดหมายที่ผู้ขับแท็กซี่ไม่ต้องการนั้นมีสูง
เราสามารถลองยกกรณีศึกษามาเพื่ออธิบายเรื่องราวโดยละเอียดได้ดังนี้ สมมติให้ผู้โดยสารโบกรถไปสถานที่ซึ่งอยู่ในซอยลึกทำให้มีโอกาสมากที่จะวิ่งรถเปล่ากลับออกจากซอยเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร (บางซอยลึกถึง 15-20 กม.) กรณีเช่นนี้จะก่อต้นทุนค่าเสียโอกาสของแท็กซี่ราว 100 บาทโดยประมาณเพราะวิ่งรถเปล่าเป็นมูลค่า 100 บาทโดยไม่มีลูกค้าเลย แน่นอนว่าแท็กซี่ย่อมไม่อยากที่จะรับผู้โดยสารที่โบกรถเข้าซอยลึกดังกล่าว แต่หากไม่รับก็จะผิดกฎหมายและหากผู้โดยสารโทรแจ้ง 1584 ก็จะทำให้ถูกปรับ 2,000 บาท เราอาจจะกล่าวว่า 2,000 บาทเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ 100 บาทแท็กซี่ก็น่าที่จะเลือกรับผู้โดยสารเพราะถ้าไม่รับต้นทุนจะสูงกว่าการรับผู้โดยสาร
ทว่าการกล่าวเช่นนั้นไม่ถูกต้อง แท็กซี่ไม่ได้เปรียบเทียบต้นทุนจากการถูกปรับ 2,000 บาทต่อต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการรับผู้โดยสาร เพราะแท็กซี่ทราบว่าตนเองจะถูกปรับก็ต่อเมื่อผู้โดยสารโทรหา 1584 เท่านั้น ดังนั้นต้นทุนที่แท็กซี่สนใจจะต้องคิดคำนวณความไม่แน่นอนที่ผู้โดยสารจะโทรหรือไม่โทรแจ้ง 1584 เข้าไปด้วย เราเรียกต้นทุนลักษณะนี้ว่า ต้นทุนคาดการณ์ (Expected cost) ซึ่งมีค่าเท่ากับ ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการถูกปรับคูณด้วยความน่าจะเป็นที่ผู้โดยสารจะแจ้งแก่ 1584
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่หนึ่ง ถ้าผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะโทรแจ้ง 1584 เพียงร้อยละ 1 ของการปฏิเสธรับผู้โดยสารทั้งหมดที่เกิดขึ้นในท้องถนน ต้นทุนคาดการณ์จากการปฏิเสธรับผู้โดยสารสำหรับแท็กซี่จุงมค่า 2,000X0.01 = 20 บาท ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนคาเสียโอกาสที่แท็กซี่ต้องเผชิญเมื่อรับผู้โดยสารทำให้แท็กซี่เลือกที่จะปฏิเสธผู้โดยสารดังกล่าว เราเรียกการตัดสินใจเช่นนี้ว่าเป็นการปฏิเสธอย่างมีเหตุผล (reasonable ignorance)
ในกรณีที่สอง ผู้โดยสารมีโอกาสฟ้องร้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 ของเหตุการณ์ปฏิเสธรับผู้โดยสารทั้งหมดต้นทุนคาดการณ์จากการถูกปรับเพราะปฏิเสธผู้โดยสารมีค่า 2,000X0.05 = 100 บาท ดังนั้นกรณีนี้จึงทำให้แท็กซี่รู้สึกไม่แตกต่างกันระหว่างการรับหรือปฏิเสธลูกค้าเพราะไม่ว่ารับ (Indifference) หรือไม่รับต้นทุนที่เกิดแก่ผู้ขับแท็กซี่มีค่า 100 เท่ากันทั้งคู่
ในกรณีสุดท้าย หากผู้โดยสารฟ้องร้องถึงร้อยละ 10 ของเหตุการณ์ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ต้นทุนจากการปฏิเสธผู้โดยสารที่จะตกแก่ผู้ขับจะมีค่าเท่ากับ 2,000X0.1 = 200 บาท หรือมากกว่าต้นทุนจากการรับผู้โดยสารเข้าซอยลึก ดังนั้นในกรณีนี้แท็กซี่ที่มีเหตุผลก็จะรับผู้โดยสารดังกล่าว (สามารถสรุปตารางการตัดสินใจรับหรือไม่รับผู้โดยสารได้ดังตาราง 1)
ตารางที่ 1 แสดงการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทางเศรษฐศาสตร์จากผู้ขับแท็กซี่
จากความสัมพันธ์ตามทฤษฎีการตัดสินใจอย่างสมเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ การที่ผู้ขับแท็กซี่รับรู้ถึงความเสี่ยงจากการปฏิเสธลูกค้าเพิ่มขึ้นจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิเสธลูกค้าให้ลดลง และเพิ่มสภาพบังคับทางกฎหมายให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่าผู้โดยสารจำนวนมากเพียงบ่นกระปอดกระแปดแล้วก็ยุติเรื่องราวไปโดยไม่ได้โทรแจ้ง 1584 ทำให้แท็กซี่จำนวนมากคิดว่าการปฏิเสธผู้โดยสารมีความเสี่ยงต่ำ ที่จะถูกฟ้องไปที่ 1584 และเลือกที่จะปฏิเสธผู้โดยสารตลอดเวลานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะเรียนว่าปัญหาการที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั้นไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาจากทางฝั่งผู้ขับแท็กซี่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากฝั่งผู้โดยสารเองด้วยที่ไม่เคยได้ทำให้กฎหมายมีสภาพบังคับ (ด้วยการโทรแจ้ง 1584 อย่างจริงๆ จังๆ) เมื่อกล่าวถึงลำดับนี้ต้องปิดท้ายสั้นๆ สองเรื่องคือ
หนึ่ง การที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั้นแท้ที่จริงแล้วผมเองก็มีความขุ่นเคืองใจอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่รับผู้โดยสารต่างชาติมากกว่าที่จะรับผม (ไม่ใช่เพราะประเด็นเชื่อชาติ แต่นั่นหมายความว่าแท็กซี่คันดังกล่าวกำลังเรียกเก็บค่าโดยสารโดยไม่กดมิเตอร์แก่ชาวต่างชาติซึ่งดูจะเป็นการไม่ยุติธรรมด้วย) หรือกรณีที่โดนปฏิเสธหลายๆ คันติดกัน ทว่า หลายๆ กรณีก็เป็นการปฏิเสธที่เข้าใจได้อย่างยิ่งและคิดว่าการปรับโดยไม่มีข้อแม้หรือไม่มีการสืบสวนที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายดังกล่าวก็อาจจะทำร้ายแท็กซี่ดีดีก็เป็นได้ เช่น บุคคลที่เรียกแท็กซี่ไม่น่าไว้วางใจและเรียกไปสถานที่เปลี่ยวยามวิกาล กรณีเช่นนี้นับว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะปฏิเสธและชีวิตก็มีค่ามากกว่าเงินค่าปรับใดๆ นัยนี้ต้นทุนจากการรับโดยสารจึงไม่ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสจากการวิ่งรถเปล่าหรือรถติดเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะมีค่าความเสี่ยงจากการเกิดอาชญากรรมด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีน้อยไม่ใช่กรณีทั่วไป และเพราะในทางปฏิบัติไม่อาจจะพิสูจน์ทราบได้ว่าแท็กซี่ถูกเรียกไปในพื้นที่เสี่ยงจริงหรือไม่ กฎหมายจึงไม่ได้ยกเว้นโทษเอาไว้
สอง เราอาจจะต้องถามต่อไปว่าปัจจัยอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะไม่โทรหา 1584 ผมยังไม่สามารถหาคำตอบที่รัดกุมให้แก่คำถามนี้ได้ในตอนนี้ แต่มีสมมติฐานอยู่หลายประการครับ อย่างแรกที่เรียบง่ายที่สุดก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าโทรร้องเรียนได้ที่ไหนซึ่งคงไม่ต้องอภิปรายอะไรมากครับ แม้กระทั่งผมเองก็ยังต้อค้นหาในกูเกิลตอนเขียนบทความว่าต้องติดต่อเบอร์โทรศัพท์อะไรในการร้องเรียน อย่างสอง ผมว่าเป็นเรื่องของน้ำหนักของการทำโทษ คือในคนจำนวนหนึ่งที่ทราบเบอร์โทรศัพท์อาจมองว่า การถูกปฏิเสธนั้นก่อความทุกข์หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการสูญเสียอรรถประโยชน์ (disutility) แต่ทุกข์ดังกล่าวน้อยกว่าโทษที่ผู้ขับจะได้รับมากๆ (โดนปรับ 2,000 บาท) เมื่อรู้สึกว่าโทษรุนแรงมากเกินไปเลยไม่อยากลงโทษต่อผู้ขับแท็กซี่ และอย่างสุดท้ายที่ผมพอจะจินตนาการได้เร็วๆ ก็คือ ผู้โดยสารอาจจะมีลักษณะหลีกเลี่ยงความไม่เท่าเทียม (inequality avoidance) เมื่อไม่ชอบความไม่เท่าเทียมก็ไม่อยากที่จะทำโทษผู้ขับแท็กซี่คันใดคันหนึ่ง ทั้งๆ ที่แท็กซี่ปฏิเสธลูกค้ามีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
…แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม การไม่ยกหูโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการนั้นทำให้กฎหมายสูญเปล่าและไร้สภาพบังคับโดยสิ้นเชิงครับ, นี่แลคือสิ่งซึ่งต้องพิสูจน์ ซึ่งบัดนี้ได้พิสูจน์แล้ว (Q.E.D.)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ