นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอสัมปทานแหล่งแร่โปแตชในภาคอีสาน ว่า รัฐบาลชุดนี้โดยกระทรวงอุตสาหกรรมยื่นเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ของพ.ร.บ.แร่ 2510 ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช ได้ในหลายพื้นที่
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ไปแล้ว ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 120,000 ไร่, พื้นที่ อ.เรณูนคร และ อ.พระธาตุพนม 200,000 ไร่ และในส่วน จ.หนองคาย คือ อ.สระใคร อ.ท่าบ่อ อ.สังคม และ อ.ศรีเชียงใหม่ จำนวน 100,000 ไร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังดำเนินการยื่นเรื่อง
“ล่าสุดคือที่อ.เมือง และอ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร มีเอกชน คือบริษัทไทยอินเตอร์ โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด กำลังยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่โปแตช พื้นที่ 190,000 ไร่ นอกจากนี้พบว่า มีนายทุนไปหากว้านซื้อที่ดินในบริเวณนั้นหลายพันไร่ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านอ้างว่าจะปลูกยางพารา” นายสุวิทย์กล่าว
ด้านนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคอีสาน เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่จะให้อุตสาหกรรมร้ายแรง และไม่เป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นมาเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งคนอีสานจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องผืนแผ่นดิน โดยตนและเครือข่ายชาวบ้านก็จะติดตามให้ถึงที่สุด
“พื้นที่จ.ยโสธร ถือว่าเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ และมีการทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในประเทศ หากมีเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้ให้ข้อมูลกับแกนนำในพื้นที่แล้วระดับหนึ่ง และมีแผนจะไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่น้องที่อุดรฯ และสกลนครด้วย” นายอุบลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จ.สกลนคร มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก เมื่อประธานบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ จากประเทศจีน กำลังเดินสายพบปะข้าราชการและผู้นำชุมชน และมีแผนจะพาไปดูเหมืองที่ประเทศจีน ในเร็วๆ นี้ ส่วนที่จ.อุดรธานี อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ทำเหมือง ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) แต่ติดอยู่ที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย คือ ฝ่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อศึกษาร่วมกันทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามขั้นตอนประทานบัตร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ