ชี้'เขื่อนแม่น้ำโขง'แย่งชิงอาหาร ส่งผลกระทบกับคนหลายล้านคน

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1898 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม WWF เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดของ WWF และมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ระบุว่า แผนการสร้างเขื่อนพลังน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อาจทำลายประชากรปลา ซึ่งเป็นแหล่ง โปรตีนหลักสำหรับประชากร 60 ล้านคน นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังส่งผลให้ประชาชนต้อง หันไปทำเกษตรกรรมเพื่อทดแทนพลังงานแคลอรี่ โปรตีน และสารอาหารรองที่สูญเสียไป

ขณะนี้มีการวางแผนสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขง 11 โครงการ และยังมีแผนก่อสร้างอีก 77 เขื่อนบริเวณลุ่มน้ำโขงภายในปี 2573

 

ในการศึกษา “เขื่อนในลุ่มน้ำโขง : การสูญเสียโปรตีนจากปลาและนัยยะต่อผืนดินและแหล่งน้ำ” ได้ศึกษา สภาวะการณ์ใน 2 ลักษณะ นั่นคือ การสูญเสียโปรตีนจากปลาอันเนื่องมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อน 11 แห่งที่จะเกิดขึ้น และการทดแทนการสูญเสียโปรตีนจากปลาในขั้นสุดท้าย อันเนื่องมาจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนทั้งหมด 88 แห่งที่จะเกิดขึ้น

 

จากการศึกษาพบว่า หากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 11 แห่งเกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้ จำนวนปลาที่มีอยู่จะลดลงไปร้อยละ 16 และมีการประเมินว่าจะสร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจปีละกว่า 14,000 ล้านบาท (476 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 88 แห่งจริง จำนวนปลาจะลดลงไปถึงร้อยละ 37.8

 

สจวร์ต ออร์ ผู้จัดการน้ำจืด WWF International ผู้ร่วมศึกษาเปิดเผยว่า ผู้กำหนดนโยบาย มักจะไม่ให้ความสำคัญกับบทบาท ของการประมงน้ำจืด ที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร

 

                     “ประเทศลุ่มน้ำโขงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุดหน้า และพวกเขามองว่าเขื่อนพลังน้ำเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อันดับแรกแล้ว พวกเขาควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และควรนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง ในการปล่อยให้แม่น้ำโขงไหลอย่างเสรีมาพิจารณาด้วย”

 

แม่น้ำโขงตอนล่าง ที่ไหลผ่านกัมพูชา ลาวไทย และเวียดนาม นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ในแม่น้ำมี ปลาน้ำจืดมากกว่า 850 สายพันธุ์ ปลาเหล่านี้เป็นอาหารพื้นฐานและรากฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ประชากรราวร้อยละ 80 ของประชากร 60 ล้านคนที่อาศัยในแถบนั้น พึ่งพาน้ำโขงโดยตรงในการหาอาหารและดำรงชีวิต

 

 

 

รายงานยังศึกษาถึงผลกระทบต่อผืนดินและน้ำ ในกรณีที่คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลี้ยงวัว หมู สัตว์ปีก และแหล่งอาหารอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการโปรตีน ซึ่งนอกจากพื้นที่ 1,350 ตารางกิโลเมตร ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อใช้เป็นเขื่อนกั้นน้ำแล้ว ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนี้ยังต้องหาพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แห่งใหม่อย่างน้อย 4,863 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้โปรตีนจากปศุสัตว์ทดแทนปลา และการประเมินขั้นสูงสุดหากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจริง พบว่าต้องหาพื้นที่ถึง 24,188 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับต้องหาพื้นที่ทำปศุสัตว์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63

 

ความต้องการใช้น้ำก็จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 6 ถึง 17 แต่สำหรับกัมพูชาและลาวแล้ว ภายใต้สภาวะการณ์ที่หนึ่ง ที่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง 11 แห่ง ตัวเลขประมาณการณ์ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ในกัมพูชา จะเพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 29-64 ขณะที่รอยเท้าทางนิเวศน์ในการใช้น้ำของลาวจะเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 12-24 และหากเป็นไปตาม สภาวะ การณ์ที่สอง ซึ่งมีการสร้างเขื่อน 88แห่ง ตัวเลขเหล่านี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือ กัมพูชาจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 42-150 ส่วนลาวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18-56

 

                    “ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาค จะต้องถามตัวเองว่าพวกเขาจะไปหาที่ดินและแหล่งน้ำเพิ่มจากไหนแม่น้ำโขงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ อาหารและพลังงาน หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงาน ก็จะเกิดผลกระทบอย่าง รุนแรงต่ออาหารและน้ำ และที่สำคัญคือประชาชน” ออร์กล่าว

 

รายงานฉบับนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Global Environmental Change และได้นำเสนอระหว่างสัปดาห์น้ำโลกที่กรุงสต็อกโฮล์ม รายงานยังเผยแพร่ในช่วงเวลาสำคัญที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนพลังน้ำในภูมิภาค และเริ่มมีการเดินหน้าก่อสร้าง เขื่อนไซยะบุรีในลาว ที่เป็นที่พิพาทแล้ว แม้ว่าจะมีการตัดสินใจจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยแม่น้ำโขง ให้ชะลอโครงการก่อสร้างเพื่อรอการศึกษาเพิ่ม ซึ่งเขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนแรกในแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง

 

                  “เราหวังว่าการศึกษานี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนที่จะสร้างขึ้น” ด็อกเตอร์เจมี พิตท็อก ผู้ร่วมศึกษาจากสำนักศึกษาด้านนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว

 

WWF เรียกร้องให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยืดเวลาในการตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มั่นใจว่า ได้มีการรวบรวมข้อมูลสำคัญๆ และตัดสินใจบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ

 

WWF ขอแนะนำเพิ่มเติมให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง พิจารณาโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำโขงก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากจะสามารถประเมินผลได้ง่ายกว่า และคาดว่าจะมีผลกระทบและความเสี่ยงน้อยกว่าอีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: