คำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า “น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่” เป็นประเด็นที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการเสวนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน ภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพฯ 2555 ท่วม/ไม่ท่วม (นักข่าว) เอาอยู่ไหม?” ประเด็นการพูดคุยในครั้งนี้ นอกจากการวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มเรื่องของปริมาณน้ำ ที่อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเมืองหลวงแล้ว วิธีการนำเสนอของสื่อ ยังเป็นเนื้อหาหลักในการพูดคุยที่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นที่ยอมรับการทั่วไปว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมีอิทธิพลสำคัญที่จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวรับสถานการณ์ของประชาชนในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน
‘ศศิน’ชี้สื่อทำให้ตื่นตูมมากกกว่าตื่นตัว
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในเวทีเสวนาว่า ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่อประเด็นเรื่องน้ำท่วม ดูเหมือนจะทำให้เกิดความแตกตื่นมากกว่าการให้ข้อมูล เพื่อการเตรียมตัวที่ดีกับประชาชน โดยจะเห็นได้จากมีการนำภาพข่าวเก่าๆ ออกมาเผยแพร่ โดยไม่มีการระบุว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นเวลาใด เมื่อภาพที่เห็นว่ามีน้ำท่วมหนัก กลายเป็นที่รับรู้ของประชาชน การที่จะสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน ทำให้กลายเป็นเรื่องของความแตกตื่น สร้างความตื่นตระหนกมากขึ้น เพราะการนำเสนอข่าวที่นักข่าวเองไม่ได้ศึกษา หรือมีความรู้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นที่จะนำเสนอ เมื่อเห็นภาพเฉพาะในบางจุด และนำเสนอออกไปเพื่อแข่งขันกัน ข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ถูกนำเสนอออกมา ดังนั้นสิ่งที่สื่อจะต้องปรับตัวก็คือ ควรจะมีข้อมูลที่ถูกต้อง และนำเสนอบนพื้นฐานข้อเท็จจริง
คนให้ข่าวน้ำท่วมก็ทำให้เป็นเรื่องการเมือง
นอกจากนี้ประเด็นที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ 2554 คือ เรื่องของการสื่อสาร ที่ยังไม่มีการรวมจุดศูนย์กลาง ว่านักข่าวควรจะได้รับข้อมูลจากที่ใด ทำให้การนำเสนอข่าวออกมาสะเปะสะปะ ไม่มีหลัก ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีผู้ที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกภาพเพียงจุดเดียว น่าจะทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีทิศทางมากกว่านี้
“สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของการเมือง ที่เข้ามาแทรก นักข่าวเองก็ไม่รู้ว่าจะไปสัมภาษณ์หาข้อมูลจากใคร ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปที่คนสำคัญ ๆ อย่าง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นคนโผงผาง พูดจารุนแรงอยู่แล้ว หรือไม่ก็ไปสัมภาษณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งมีข้อจำกัดในการสื่อสารอยู่แล้ว ประชาชนก็เลยไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง เพราะแทนที่จะได้รับข้อมูลจากนักวิชาการ ก็กลายเป็นประเด็นการเมืองไป” นายศศินกล่าว
แนะสร้างศูนย์ข้อมูลกลางป้องกันความสับสน
ด้าน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความคิดเห็นในประเด็นเดียวกันว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า เหมือนกับหน่วยงานนี้ถูกแขวน ไม่ได้ทำอะไรเพราะตามหน้าที่จะเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถ้าหากเกิดเหตุไม่รุนแรงก็จะไม่มีนักข่าวเข้ามาขอข้อมูลพูดคุยอะไรมากนัก
อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องของการสื่อสารเรื่องน้ำท่วม ออกไปให้กับสาธารณชนรับทราบนั้น ตนเห็นด้วยกับสิ่งที่นายศศินกล่าว เพราะจากเหตุการณ์ปีที่แล้ว ทำให้เห็นชัดเจนว่าข้อมูลสับสนวุ่นวาย จนทำให้เกิดความแตกตื่นเสียหาย เพราะนักข่าวไม่มีแหล่งข้อมูลที่รวมเป็นศูนย์เดียว ไม่มีหลักในการรับข้อมูล หรืออ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ สำหรับตนมีโอกาสพูดคุยให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว ในฐานะของนักวิชาการคนหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้การให้ข้อมูลของตน กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลจะต้องมีหน่วยงานกลาง ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่สื่อมวลชนหรือประชาชน ให้ความเชื่อถือได้ การให้ข้อมูลข่าวสาร จะเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดความแตกตื่นมากเกินไป แต่ประชาชนจะมีหลักในการวิเคราะห์และเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง
‘ดร.เสรี’ติงนักการเมืองพูดผิด-ทำคนเข้าใจผิด
ดร.เสรีกล่าวต่อว่า นอกจากการรับข้อมูลจากสื่อแล้ว สิ่งที่เป็นจริงคือ ประชาชนจะต้องช่วยตัวเองก่อนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถึงแม้ประชาชนจะเตรียมพร้อม ต่อการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นแล้ว แต่หากรัฐบาลไม่มีอะไรให้กับประชาชนเลย ก็เป็นเรื่องลำบากที่ประชาชนจะเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลควรจะให้กับประชาชนก็คือข้อมูลที่ถูกต้อง มีการอ้างอิงจากหลักฐานวิชาการ ไม่ใช่การพูดผิด ๆ ถูก ๆ แบบที่นักการเมืองมักจะนำไปพูดผ่านสื่อ เพราะตัวนักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่มีความเข้าใจ
“ผมเคยเห็นนักการเมืองพูดผิด ประชาชนก็เข้าใจผิด ทำให้ผมต้องออกมาแก้ไขผ่านสื่อออกไป ทำให้นักการเมืองไม่ค่อยชอบหน้านักวิชาการ ทั้งนี้เรื่องของภัยพิบัติ เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีการคาดการณ์กันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ 100 เปอร์เซนต์ ดังนั้นจึงไม่ควรสื่อสารออกไปแบบสุดโต่ง เพราะแม้ประชาชนอยากจะทราบเพียงว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม แต่ในความเป็นจริงมีรายละเอียดมากกว่านั้น ดังนั้นการให้ข้อมูลแบบฟันธงจึงไม่มีทางเชื่อถือได้” ดร.เสรีกล่าว
กสทช.ออกข้อกำหนดทำข่าวไม่ให้คนกลัว
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้กสทช. ในฐานะของหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์ ได้ออกประกาศข้อกำหนดเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในเหตุการณ์เกิดเหตุภัยพิบัติ โดยมีรายละเอียดในการปฏิบัติงานด้านการให้ข้อมูลด้านสื่อสารมวลชนที่มุ่งให้เกิดการให้ข้อ ข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม ป้องกัน แก้ไข และบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดความสับสนและตื่นตระหนกต่อประชาชน จากการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนอีกทางหนึ่ง
ชี้กรุงเทพฯยังเสี่ยงท่วมเพราะพายุถล่ม
ต่อประเด็นคำถามที่ทุกคนสนใจคือ “น้ำจะท่วมกรุงเทพหรือไม่” นักวิชาการทั้ง 3 คน ต่างมีข้อคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า จากข้อมูลต่าง ๆ ในขณะนี้ เชื่อว่าน้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่อาจจะท่วมเพราะเกิดจากน้ำฝน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะจากสถิติที่ติดตามจะพบว่า หากสภาพภูมิอากาศเป็นเช่นที่เกิดในขณะนี้ มีโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีพายุลูกใหญ่ๆ เข้ามาติดต่อกัน และอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้
ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในประเด็นนี้ว่า แม้ว่าประเด็นนี้จะไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แต่จากสิ่งที่ตนพยายามเก็บสถิติมาโดยตลอดพบว่า ขณะนี้มีความผิดปกติในเรื่องของสภาพอากาศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยขณะนี้มีร่องฝนค้างอยู่ยาวนาน ไม่ยอมเคลื่อนไปไหน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นเหมือนกับสภาพอากาศในปี 2533, 2538 และ 2549 ซึ่งในปีต่างๆ เหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพอากาศเช่นนี้ ต่อมาก็ทำให้เกิดเหตุพายุลูกใหญ่ๆ เข้ามาถล่มประเทศไทยโดยตรง และทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก ซึ่งปีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน จึงถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และน่าเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดพายุใหญ่เช่นเดียวกัน และจากข้อมูลทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ว่า ในวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคมนี้ อาจจะมีฝนตกในกรุงเทพฯ จึงสรุปได้ว่า ขณะนี้น่าจะยังมีความเสี่ยงอยู่
“ปัจจุบันเราไม่มีข้อมูลอะไรที่จะนำมาใช้เลย นอกจากการติดตามจากสถิติ เพื่อนำมาใช้ในการเทียบเคียงกัน ก็ได้ข้อมูลที่นำมาใช้คาดการณ์ในปีนี้ ที่ถือว่าอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ไม่น่าไว้วางใจและต้องติดตามต่อไป” ดร.ธนวัฒน์กล่าว
เร่งกทม.ประเมินสถานการณ์แทนที่จะดูแต่อุโมงค์
สอดคล้องกับ ดร.เสรี ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่า การพยากรณ์ที่แม่นยำนั้นไม่มีใครทำได้ โดยเฉพาะการพยากรณ์ในระดับ 10 วัน ซึ่งล่าสุดจากการที่ติดตามจากกรมอุตุนิยมวิทยาเห็นว่า ขณะนี้มีพายุที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นหย่อมความกดอากาศ ที่อาจจะกลายเป็นพายุโซนร้อน แต่จะเข้ามาประเทศไทยหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับ ศ.ธนวัฒน์ที่กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงอยู่
“ประเด็นสำคัญที่ผมคิดว่า เราจะต้องรีบทำคือการรับมือ เพราะตอนนี้เราไม่มีหน่วยงานที่จะประเมินเลยว่า หากพายุเข้ามาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น น้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ที่ไหนบ้าง ตอนนี้ไม่มีใครพูด กทม.ก็พูดแต่เพียงว่า อุโมงค์รับน้ำได้เท่านั้นเท่านี้ ถ้าตกมามากกว่า 300 มิลลิเมตร จะรับน้ำไม่ได้ แต่เมื่อพายุเข้ามาปริมาณน้ำฝน ต้องมากกว่า 300 มิลลิเมตร อยู่แล้ว จะทำอย่างไร ไม่มีใครประเมิน ซึ่งทางที่ดีแล้ว ควรจะมีหน่วยงานคอยบอกเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดการเตรียมตัว เช่น หากฝนตกลงมาหนักขนาดนี้ น้ำจะท่วม และระบายได้กี่ชั่วโมง ประชาชนจะได้เตรียมเรื่องการเดินทาง เตรียมอาหาร เตรียมให้พร้อม เพื่อรอให้ระบายน้ำเสร็จก่อนกลับบ้าน อะไรแบบนี้ ตอนนี้มาพูดแต่เรื่องอุโมงค์ ผมไม่สนใจเพราะมันเป็นอุโมงค์การเมืองไปแล้ว” ดร.เสรีกล่าว
ศศินให้ดูธรรมชาติส่วนตัวนักวิชาการก่อนเชื่อ
ด้านนายศศินกล่าวในประเด็นนี้ว่า ส่วนตัวของตนซึ่งไม่ได้มีข้อมูลเช่นเดียวกับนักวิชาการทั้งสองท่าน ทำให้การเข้าหาข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยหาดูจากอินเตอร์เน็ต จากของหน่วยงานต่าง ๆ แล้วนำมาประเมินวิเคราะห์ดูเอง และจากค้นหาข้อมูลค่อนข้างเชื่อว่า ปีนี้จะไม่มีน้ำท่วมอย่างปีที่แล้วอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปติดตามสำรวจเส้นทางน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในต่างจังหวัด จุดเส้นทางน้ำต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นจุดต้นเหตุ ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ก็พบว่า ยังมีปริมาณน้ำปกติ แต่บางครั้งการสื่อสารของสื่อไม่ได้ส่งทีมไปสำรวจพื้นที่อื่น ไปเพียงจุดที่มีน้ำท่วมเท่านั้น กระโจนลงน้ำแล้วรายงานมาก็กลายเป็นเรื่องตื่นตระหนก ซึ่งจากข้อมูลที่หามาได้นี้จึงคิดว่า ปีนี้น้ำจะไม่ที่ท่วมจากสาเหตุของน้ำเหนือแน่ ๆ
นายศศินกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้ข้อมูลเหมือนกับของดร.ธนวัฒน์ และสังเกตดูร่องอากาศแล้วเชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะมีพายุเข้า และอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำฝน จึงต้องเตรียมการ และคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ยังติดใจอยู่และอยากให้สื่อไปติดตามต่อก็คือ เรื่องของโมเดล Floodway ของรัฐบาล ที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เคยออกมาพูดว่า ต่อไปนี้จะไม่มีน้ำท่วมแล้ว โดยใช้โมเดลนี้ กลับไม่มีการนำมาพูดถึงอีกเลย เพราะโมเดลนี้ถ้าทำแล้ว พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เช่น อยุธยา นครปฐม อาจจะได้รับผลกระทบ แล้วจะทำอย่างไร ไม่มีใครพูดต่อ อยากฝากให้สื่อตามต่อด้วย
“ผมเป็นคนที่สับสนกับหน่วยงานด้านน้ำของรัฐบาลมาก มีหลายตัวย่อทำให้งงไปหมด ทั้ง กยน.,กบอ.สบอช. และอื่นๆ จำไม่ได้เลย แต่ก็ได้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานเหล่านี้ บางหน่วยงานต้องชื่นชมที่พยายามทำข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำออกมาให้ประชาชนดูชัดดูง่ายขึ้น ก็เป็นการดี ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ รวมทั้งสื่อด้วยที่ทำกราฟฟิกออกมาเข้าใจง่าย ประชาชนก็ติดตามง่าย เพื่อจะที่นำไปประเมินได้ด้วยตัวเองว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ เพราะตอนนี้เวลาฟัง ผู้บริหาร หรือ นักวิชาการพูดคงจะต้องดูจากธรรมชาติของผู้นั้นด้วยว่า เราควรจะเชื่อหรือไม่อย่างไร” นายศศินกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ