รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้สำรวจความเห็นของเจ้าของและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 63 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 15 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 พบว่า
1.กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุกพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ที่ออกระเบียบขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ทำให้พล.อ.ธีรเดชธีรเดช พ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา แต่ยังสามารถเป็น ส.ว. ต่อไป โดยอ้างว่าการสิ้นสภาพ ส.ว. ต้องถูกจำคุกเท่านั้น ในประเด็นนี้จากมุมมองทางด้านจริยธรรมนักศึกษา ร้อยละ 84 เห็นว่า พล.อ.ธีรเดชไม่สมควรเป็น ส.ว. ต่อไป มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ที่เห็นว่าพล.อ.ธีรเดชสมควรเป็น ส.ว.
2.ในกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า ร่วมทุจริตกับเจ้าหน้าที่อสมท. จน อสมท. เสียหายเป็นมูลค่ากว่า 138 ล้านบาท นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 58 เห็นว่าคุณสรยุทธ ควรหยุดทำรายการข่าว จนกว่าศาลจะตัดสิน ร้อยละ 40 เห็นว่า คุณสรยุทธยังสามารถทำรายการข่าวต่อไปจนกว่าศาลอาญาจะตัดสิน
3.ถามว่าหากนักศึกษาเป็นเจ้าของทีวีช่อง 3 ท่านจะมีจุดยืนต่อกรณีนี้อย่างไร นักศึกษาร้อยละ 60 ตอบว่าจะให้นายสรยุทธหยุดทำรายการข่าว จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล มีเพียงร้อยละ 33 เท่านั้นที่จะให้นายสรยุทธทำรายการต่อไป
4.ถามว่าหากบริษัทของท่านเป็นสปอนเซอร์รายการของนายสรยุทธอยู่ในขณะนี้ท่านจะทำอย่างไร นักศึกษาร้อยละ 67 ตอบว่าจะถอนการเป็นสปอนเซอร์ มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่จะให้การสนับสนุนนี้ต่อไป
5.ถามว่าในฐานะผู้ชมรายการของนายสรยุทธ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ท่านเห็นว่าผู้ชมรายการควรมีท่าทีอย่างไร นักศึกษาร้อยละ 54 เห็นว่า ควรงดดูรายการนี้ และหันไปดูรายการข่าวช่องอื่นแทน ร้อยละ 27 ยังต้องการดูรายการนี้ต่อไป อีกร้อยละ 19 ยังลังเลใจ
6.จากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ที่ว่านักการเมืองสามารถทุจริตได้ หากทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น มีนักศึกษาจำนวนสูงถึงร้อยละ 83 ไม่เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เห็นด้วย
7.ถามว่าหากนักการเมืองทุจริต จะทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นในระยะยาวได้หรือไม่ นักศึกษาร้อยละ 66 ตอบว่าไม่ได้ เพราะบ้านเมืองจะเกิดวิกฤติ มีร้อยละ 32 ที่ตอบว่าได้บ้าง แต่ไม่ดีเท่าที่ควร อีกร้อยละ 2 ตอบว่าไม่แน่ใจ
8.ถามว่าท่านเห็นด้วยกับคำถามของเอแบคโพลล์ หรือไม่ที่ว่านักการเมืองสามารถทุจริตได้ หากท่านได้รับผลประโยชน์ด้วย นักศึกษาร้อยละ 80 ตอบว่าไม่เห็นด้วยและจะคัดค้าน ร้อยละ 15 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย แต่จะไม่คัดค้าน และร้อยละ 5 เท่านั้นที่ตอบว่าเห็นด้วย สรุปก็คือนักศึกษาร้อยละ 95 ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามแบบนี้ของเอแบคโพลล์
9.ถามว่าท่านคิดว่าคำถามเรื่องการทุจริตของเอแบคโพลล์ ข้างต้นที่มีการสำรวจอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างไร ร้อยละ 55 เห็นว่า เป็นการตอกย้ำค่านิยมที่ผิดให้แก่สังคมไทยมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 25 มองว่า คนจะรู้สึกว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 2 เห็นว่าเป็นความไม่รับผิดชอบของสถาบันการศึกษา และร้อยละ 18 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีผลอะไร เพราะเป็นการสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทย โดยสรุปก็คือผู้ตอบร้อยละ 82 เห็นว่าเอแบคโพลล์ ควรเลิกคำถามในลักษณะเหล่านี้เสีย เพราะเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อที่ผิด ๆ ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่นักการเมืองที่ทุจริต
โดยสรุปพบว่า กลุ่มนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงมีแนวความคิดเรื่องจริยธรรมและการคอร์รัปชั่นแตกต่างจากนักการเมือง และ ส.ว. ในกรณีของพล.อ.ธีรเดช มีเพียร นอกจากนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจริยธรรมทางวิชาชีพ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจในกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และท้ายที่สุด พวกเขามองว่า การทุจริตของนักการเมืองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการทำโพลล์มากยิ่งขึ้น และไม่ควรสร้างความชอบธรรมให้แก่นักการเมืองที่ทุจริตด้วยความสุจริตใจ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ