แฉผุดแน่‘ปากบารา’รัฐทุ่มสู้'ทวาย' หวังเป็นศูนย์กลางศก.ของอาเซียน แนะหนีตะวันตกค้าขายใน'เอเชีย'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2115 ครั้ง

 

 

ในการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556 กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยธุรกิจโลก” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีประเด็นเสวนาที่น่าสนใจเกี่ยวทิศทางของการพัฒนาธุรกิจของประเทศไทยในช่วงที่หลายฝากฝั่งของโลก กำลังประสบกับวิกฤติด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก

 

ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ได้แก่ การสัมมนา “กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมี ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ

 

 

ไทยรับผลกระทบแน่ หลังเศรษฐกิจ อเมริกา-ยุโรป ล่ม

 

 

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ให้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจการเงินของโลกว่า หาพิจารณาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พบว่ามีปัญหาอย่างหนัก ตั้งแต่เจอวิกฤติซับไพรม์ในปี 2007-2008 รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การการเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจ แต่ก็พบว่าหลายมาตรการไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังประกาศจะใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี พร้อมกันนี้ยังมีความพยายามที่จะอัดเม็ดเงินเข้ามาในระบบ ด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์เข้าสู่ตลาด อย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินบาทแข็งขึ้น รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ที่แข็งขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีตัวเลขเศรษฐกิจติดลบมาแล้ว 3 ไตรมาสติด ๆ กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร.วิชิตกล่าวว่า หากหันกลับมามองตลาดการเงินของยุโรป ก็พบว่า ไม่ได้แตกต่างจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ในตลาดยุโรปการอัดเงินเข้าระบบ ยังทำไม่ได้มากนัก เพราะหลายประเทศในสหภาพยุโรปด้วยกันเองไม่เห็นด้วย เช่น อิตาลีที่พบว่ามีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อน นอกจากนี้ด้วยปัญหาต่าง ๆ ทำให้รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด จนกลายเป็นการประท้วงในหลายประเทศ ซึ่งผลของความพยายามในการลดเข็มขัดนี่เอง ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะทำให้สินค้าของไทยขายไม่ออก มีตัวเลขว่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปลดลงไปแล้ว 15 เปอร์เซนต์ ส่วนตลาดจีนนั้นต้องจับตาดู เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาไปทั่วโลก ถึงแม้ตลาดจีนจะดูเป็นความหวัง แต่ไทยเองก็ต้องจับตาเพื่อระมัดระวังความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

 

            “จากเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ตอนนี้ผมคิดว่า เป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่ต้องการจะกู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ เพราะตอนนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็สามารถกู้เงินมาได้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยกู้เงินมา” ดร.วิชิตกล่าว

 

 

 

 

 

เชื่อไทยยังอยู่ได้ เพราะเงินสำรองยังมี

 

 

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งพบว่าการแก้กัญหายังเป็นไปในแบบประคองไปก่อน ทำให้สถานการณ์ดูจะยังไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรรุนแรงขึ้น เมื่อใด และหากเกิดขึ้นในเวลานั้น จะกระทบต่อตลาดการเงิน และตลาดทุนยุโรป ที่จะต้องส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เพราะจะมีการดึงทุนที่ในตลาดเอเชียกลับไปใช้ในประเทศของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบ ย่อมเกิดขึ้นแน่ในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

อย่างไรก็ตามยังพอวางใจส่วนหนึ่ง เมื่อดูจากเงินสำรองของประเทศไทยเราเอง ซึ่งขณะนี้พบว่า มีอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่น่าจะพอรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้จะถูกต่างชาติถอนหุ้น ดึงเงินกลับประเทศไป ก็น่าจะพอรับได้ เพราะเศรษฐกิจไทยความยืดหยุ่น (resilience)

 

สำหรับปัญหาการแข็งตัวของเงินบาท นับว่าต้องยกความดีความชอบให้กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ดีพอสมควร  โดยจะเห็นได้ว่าจากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งของนายประสาร ไตรรัตน์วรคุณ ค่าเงินบาทไทยแข็งมาก เคลื่อนไหวอยู่ที่ ประมาณ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ตอนนี้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ และเชื่อว่าน่าจะทำได้ดีต่อไป และเงินบาทไม่น่าจะแข็งขึ้นไปกว่าที่เคยเป็น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยรัฐบาลทุ่มงบมหาศาลผุดท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า ในประเด็นเรื่องของการขยายโอกาสการลงทุนของไทยในขณะนี้ มองว่าในขณะที่สหรัฐฯ กับยุโรปกับกำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองกลับยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้เพราะมีช่องทางอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสการขยายการค้าการลงทุนในตลาดเออีซี เพราะหากพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า สินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค ล้วนแต่เป็นสินค้าจากประเทศไทยที่ครองตลาดในภูมิภาคนี้ทั้งสิ้น

 

ดังนั้นหากสามารถทำตลาดในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ในช่วงที่กำลังจะเกิดเขตการค้าเสรี จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเองก็เห็นโอกาสทางด้านนี้ จึงเตรียมการอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการขยายเส้นทางโลจิสติกส์ ที่มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในมุมมองของตนก็เห็นด้วย เพราะจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะเป็นการขยายท่าเรือน้ำลึกทางฝั่งตะวันตก ที่จะสามารถรองรับเรือสินค้าได้จำนวนมาก เพราะตอนนี้ท่าเรือแหลมฉบังไม่สามารถรองรับจำนวนเรือสินค้าได้มากพออีกแล้ว

 

 

ขณะที่การหวังกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน เหมือนการจะต้องไปพึ่งพาคนอื่น แต่ปากบารา มีความเหมาะสมและสามารถทำได้เลย และจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้มาก ขณะเดียวกันการขยายเส้นทางโลจิสติกส์ทางบก ให้เชื่อมโยงถึงกันทั่วภูมิภาค โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าจะทำให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

 

 

                “เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่รัฐบาลเองก็มองเห็นโอกาสในด้านนี้ โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรี ที่เอาคนที่มองเห็นโอกาสด้านเศรษฐกิจ เข้ามาทำในเรื่องนี้ เท่าที่ผมทราบตอนนี้รัฐบาลอนุมัติเงินจำนวนมากลงไปในการทำท่าเรือปากบาราแล้ว และน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันมีการปรับเปลี่ยนเอาคุณประภัสร์ จงสงวน มาดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะมีการขยายเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งทุกอย่างมีแผนชัดเจน สิ่งที่พิจารณาต่อมาคือ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะการแก้กฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอาเซียนซึ่งตอนนี้คงจะถือว่าเป็นโอกาสสำคัญมากกว่า การลงทุนในสหรัฐฯ และยุโรป” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

 

 

 

 

แนะหันมาพึ่งตลาดตะวันออกดีกว่าขายฝรั่ง

 

 

ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี แสดงความคิดเห็นถึงโอกาสของการขยายเศรษฐกิจของไทยว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ประเทศไทยคงจะไม่สามารถพึ่งพาตลาดตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมีปัญหาเยอะแยะ ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นเองก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน สิ่งที่ต้องมองคือการให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีน และตลาดตะวันออก ที่ยังมีโอกาสในการลงทุนเจริญเติบโตได้ ซึ่งถือเป็นการหลบปัญหาที่กำลังรุนแรงในตลาดตะวันตก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย และน่าจะทำให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้

 

 

                “อยากจะฝากคาถาว่าไว้ว่า โอกาสของไทยตอนนี้ต้องเป็นตลาดตะวันออก หรือ หลบตะวันตก วกมาตะวันออก ให้ท่องคาถานี้ไว้และเดินหน้าลุยตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะไปรอด” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: