ติงรัฐรอผลศึกษาเข้าถึงยา ก่อนไทยถกเอฟทีเอกับอียู

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1294 ครั้ง

 

น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมหารือเรื่องข้อคิดเห็นต่อการเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ในประเด็นการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ องค์การเภสัชกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการ

 

น.พ.ประดิษฐ์กล่าวว่า เนื่องจากกรณี เอฟทีเอ ไทย-อียู มีประเด็นข้อวิพากษ์จากสังคมมาก โดยเฉพาะข้อห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ในประเด็นการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร จึงเชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกันว่า จะมีวิธีเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อให้ผลกระทบด้านลบเกิดน้อยที่สุด หากรัฐบาลไทยจะทำความตกลงการค้าเสรีกับอียู โดยหวังว่าจะได้ทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และได้ข้อคิดเห็นสำคัญให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากนั้นที่ประชุมมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีความเห็นที่แตกต่างกัน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม เนื่องจากหากประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพีจากอียูตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นหากไทยไม่ได้ทำ เอฟทีเอกับอียู การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

 

ขณะที่ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการเศรษฐกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปเริ่มทำเอฟทีเอแบบทวิภาคี กับประเทศในอาเซียนแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุดมาเลเซียก็เพิ่งประกาศว่าจะเจรจา โดยคาดว่าต่อไปอียูจะพยายามทำเอฟทีเอ กับอาเซียน ดังนั้นหากไทยไม่เริ่มเจรจากับอียูก็จะเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงเวลาทำเอฟทีเอ อียู-อาเซียน แล้ว เราจะต้องรับเงื่อนไขที่อียูได้ทำเอฟทีเอกับประเทศในอาเซียนต่าง ๆ มาโดยปริยาย ประกอบกับในปี 2558 ที่จะถึงนี้อียูจะตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีของไทยทั้งหมด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบจากการโดนตัดจีเอสพีกว่า 8 หมื่นล้านบาท

 

ดังนั้นหากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับอียู จะทำให้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่สูงขึ้น ในการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป ในขณะที่ประเทศรอบข้างที่ทำเอฟทีเอกับอียู ก็จะได้เปรียบไทย เพราะภาษีส่งออกไปอียูจะลดลง อย่างไรก็ตาม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยเสนอกรอบเจรจาให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเริ่มเจรจาได้ประมาณช่วงต้นปีหน้า และจะใช้เวลาในการเจรจาประมาณปีครึ่ง กว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติในเดือนมกราคม 2558

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชน ได้แสดงความกังวลต่อข้อเรียกร้องจากอียู ในเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างมาก เพราะเป็นการเรียกร้องเกินกว่าความตกลงระหว่างประเทศ ที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) อันเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกยอมรับ ซึ่งการเรียกร้องเกินกว่าข้อตกลงทริปส์นี้จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดตลาดของยาติดสิทธิบัตรที่มีราคาแพง เพราะยาจะมีสิทธิบัตรนานขึ้นและการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะทำได้ช้าลง ส่งผลให้การเริ่มผลิตยาตำรับเดียวกันกับยาต้นแบบโดยอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยทำได้ช้าลง ในสถานการณ์ที่ยาส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศเกือบร้อยละ 70 หากมียาติดสิทธิบัตรจำนวนมาก จะส่งผลให้ราคายาในภาพรวมของประเทศไทยแพงขึ้น และคนไทยจะเข้าถึงยาได้น้อยลงเนื่องจากสภาพอุตสาหกรรมยาของประเทศไทยในปัจจุบันมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนายาที่ต่ำและยาที่ผลิตมักเป็นยาเลียนแบบยาต้นตำรับที่นำเข้าจากบริษัทต่างชาติแทบทั้งนั้น

 

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและเครือข่าย กล่าวว่า พวกเราไม่ได้คัดค้านการเจรจาการค้า เอฟทีเอ กับอียู แต่ต้องการ เห็นการเจรจาการค้าที่ประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบถึงประชาชนและสังคมอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเยียวยาได้ โดยขอให้รัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศทำตามมติ ครม. คือให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดรวมทั้งความเห็นจากประชาชนรายงานไปยัง ครม. ก่อนการยกร่างกรอบการเจรจา ไม่ควรลัดขั้นตอนโดยให้ ครม. พิจารณาร่างกรอบฯ ทั้งที่ยังไม่มีการรายงานผลการรับฟังความเห็นต่อ ครม.

 

นอกจากนี้ ได้ให้ข้อมูลว่าผลกระทบที่จะเกิดจากการยอมรับข้อเสนอเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาและการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร ต่อค่าใช้จ่ายเฉพาะในด้านยาในประเทศจะสูงมากกว่าตัวเลขจากการที่เราจะโดนตัดสิทธิจีเอสพีและไม่ทำ เอฟทีเอ กับอียูเสียอีก

 

 

 

                 “จากการศึกษาของนักวิชาการที่ อย. กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาฯ ให้การสนับสนุน และได้รับการตีพิมพ์ใน The Southeast Journal of Tropical Medicine and Public Health คาดการณ์ไว้ว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาทหากเรายอมรับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี และปล่อยให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี... นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ WHO UNDP UNAIDS และ UNCTAD ได้แนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาเลี่ยงการยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือแม้แต่สภายุโรปเองก็มีมติห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยุโรปบีบบังคับประเทศกำลังพัฒนาให้ยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาด้านการสาธารณสุข” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

 

 

รศ.ดร.นุศราภรณ์ เกษสมบูรณ์ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สช. และ อย. กำลังเร่งทำงานร่วมกันเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพต่อการเข้าถึงยา กรณี เอฟทีเอ ไทย-อียู อยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเริ่มการประเมินผลกระทบ โดยให้นักวิจัยจากแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ศึกษา และในที่ประชุมวันนี้ ได้เสนอให้มีผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาอยู่ในคณะทำงานประเมินผลกระทบด้วย เพื่อมาร่วมกำหนดข้อเสนอทางเลือกทางนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน เพราะเห็นว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีข้อมูลในเรื่องการทำ เอฟทีเอ ไทย-อียู ค่อนข้างดี แต่ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ ยังไม่ได้รับปาก

 

อย่างไรก็ตามเห็นว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ โดยไม่อยากให้มองว่าขั้นตอนการประเมินผลกระทบนี้เป็นการขัดขวางการเจรจาการค้า เนื่องจากควรมองให้รอบด้าน และจากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาโดยนักวิจัยหลายกลุ่ม ในเรื่องผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจากการยอมรับในเรื่องการผูกขาดข้อมูล การขึ้นทะเบียนตำรับยา และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรใน เอฟทีเอ ได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน คือ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของคนไทย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ดีที่สุดขณะนี้คือ ขอให้รัฐบาลรอข้อสรุปจากการศึกษาผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของ สช. ที่ทำร่วมกับ อย. ซึ่งการศึกษานี้คาดว่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายนปีหน้า

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้ ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรป จะเดินทางมาพบนายกิตติศักดิ์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี โดยหลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการลัดขั้นตอนเร่งตกลงเรื่องการเจรจา เอฟทีเอ กับอียู และยอมรับข้อเสนอในประเด็นการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรไป โดยไม่ได้นำข้อเสนอแนะจากการรับฟังความเห็นมาพิจารณาอย่างรอบด้านอย่างแท้จริง และพิจารณาตัดสินใจโดยใช้มุมมองเรื่องผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่มีต่อกลุ่มนายทุนบางกลุ่มนำผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของคนไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: