นศ.มหา’ลัยทั่วปท.จี้ศธ. คุมร้านเหล้ารอบสถาบัน

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1739 ครั้ง

 

 

วันที่ 27 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน เข้าพบ นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องให้เร่งผลักดันมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีผลบังคับใช้ รวมถึงออกประกาศไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด ไม่ให้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และห้ามรับสปอนเซอร์จากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

นายธีรภัทร  คหะวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้มีร้านเหล้า ผับบาร์รอบสถานศึกษาจำนวนมาก ทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต จึงทำให้การเข้าถึงง่าย ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 7 นาทีก็หาซื้อสุรามาดื่มได้ และผู้ขายเกือบทั้งหมดพร้อมใจขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั้งที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มถึง 260,000 รายต่อปี

 

นอกจากนี้เด็กและเยาวชนที่ก่อคดีจนต้องอยู่ในสถานพินิจฯ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งพบว่ากว่า 60 เปอร์เซนต์ ที่ดื่มสุราก่อนก่อเหตุ สอดคล้องกับที่เครือข่ายเยาวชนฯ สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้านเหล้ารอบสถานศึกษาจาก 5 พื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างวันที่ 20–31 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา จำนวน1,703 ราย อายุระหว่าง 15-25 ปี แบ่งเป็นเพศหญิง 52 เปอร์เซนต์ และเพศชาย 48 เปอร์เซนต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 100 เปอร์เซนต์ มีประสบการณ์การดื่ม หรือเคยเห็นเพื่อนในวัยเดียวกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนจุดเริ่มต้นการทดลองดื่ม คือ เบียร์ 36 เปอร์เซนต์ เหล้าปั่น 34 เปอร์เซนต์ และเหล้าสี 21เปอร์เซนต์ ตามลำดับ

 

นายธีรภัทรกล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า 76 เปอร์เซนต์ เชื่อว่า ถ้ามีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา จะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนดื่มและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ 70 เปอร์เซนต์ ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการมาควบคุมดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งมาตรการจำกัดการเข้าถึง ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง ส่วนอีก 67 เปอร์เซนต์ เชื่อว่าการควบคุม และเข้มงวดกับการขายใกล้สถานศึกษา จะช่วยลดผลกระทบ และลดการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเกือบทุกร้านใช้กลยุทธ์ดึงดูดให้เข้าไปใช้บริการ เช่น ใช้ดนตรีเรียกแขก จัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ใช้หญิงสาวคอยบริการ

 

              “หากดูจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้พยายามสอนวิธีการดื่มแบบรับผิดชอบผ่านการรณรงค์ต่าง ๆ โดยใช้องค์กรบังหน้า (นอมินี) ในนามมูลนิธิ หรือสถาบันวิชาการที่ธุรกิจน้ำเมาสนับสนุน เป็นต้น โดยกลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง มั่นใจว่าเมื่อดื่มไปแล้วจะไม่สามารถรับผิดชอบได้จริง  เพราะธุรกิจน้ำเมา รู้ว่าแอลกอฮอล์กดสมองส่วนควบคุมความรับผิดชอบ จึงลงทุนรณรงค์เรื่องนี้ ทำให้เยาวชนประมาทตกเป็นเหยื่อตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนเหตุผลที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พยายามสอนวิธีการดื่มอย่างรับผิดชอบนั้น เยาวชนเชื่อว่า เป็นการใช้สถาบันการศึกษา เป็นเครื่องการันตีความรับผิดชอบต่อสังคม การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เด็กจดจำองค์กรและนำไปโฆษณาทั้งนี้เยาวชนกว่า 72 เปอร์เซนต์ เห็นด้วยหากสถาบันการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการมีจุดยืน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายธีรภัทรกล่าว

 

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้าม คือการทำการตลาดแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(CSR) ที่มุ่งไปที่เด็กและเยาวชน จัดแคมเปญเข้าสู่มหาวิทยาลัย และมีกิจกรรมภายนอกสถานศึกษาเช่น ชมรมรักกันเตือนกัน การดื่มอย่างรับผิดชอบ หรือกิจกรรม R U 20 (20 ปี ดื่มได้) ซึ่งรับทุนสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติรายใหญ่ รวมถึงการจัดกิจกรรม  Alcohol and Youth Forum ที่เชิญนักศึกษากว่า 300 คน และอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังมาร่วมงาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ต่างจากประเด็นบุหรี่ ซึ่งกระทรวงได้ประกาศออกมาชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานศึกษารับสปอนเซอร์จากบริษัทบุหรี่

 

ในวันนี้เยาวชนจึงมีข้อเสนอกับกระทรวงศึกษาธิการดังต่อไปนี้ 1.ขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเร่งผลักดันมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษากับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2.ขอให้กระทรวงศึกษาออกประกาศไปยังสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานใต้สังกัด ไม่ให้มีการทำกิจกรรม CSR ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กับสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่ ตลอดจนห้ามไม่ให้รับสปอนเซอร์ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3.ขอให้สถาบันการศึกษาจัดรณรงค์ให้ความรู้ถึงพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: