ชี้กสทช.สอบตกดูแลผู้บริโภคห่วย ไม่จัดการ‘SMSขยะ-โกงโทรมือถือ อึ้งทุ่มงบช่วยการกุศลถึง328ล้าน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1594 ครั้ง

 

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

 

กสทช.กำหนดพันธกิจแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม 7 ข้อ ที่ต้องดำเนินการประกอบด้วย 1.การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบกิจการ 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการประกอบกิจการ 3.การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด 4.การจัดให้มีบริหารโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม 5.การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมให้ได้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรมและได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ 6.การเตรียมความพร้อมในกิจการโทรคมนาคม ให้สามารถแข่งขันได้ ในระดับสากล และ 7.ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกสทช.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กสทช.สอบตกคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้

 

 

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท สยามอินเทลลิเจนต์ยูนิต จำกัด ในฐานะอนุกรรมการ 2 คณะ ของ กสทช. กล่าวถึงผลการทำงานของกสทช.ตามพันธกิจทั้ง 7 ข้อ ซึ่งในเรื่องการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคมนั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เห็นได้จากจำนวนผู้แข่งขันในตลาดที่เป็นรายใหญ่ยังเท่าเดิม การออกกฎเรื่องการแชร์โครงข่ายยังไม่เห็นผล การออกประกาศต่าง ๆ ของกสทช.มีการบังคับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เช่น การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติ แผนการใช้ความถี่สำหรับสาธารณภัย โครงการฮอตไลน์ เอเมอเจนซี่ ยังไม่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การแก้ปัญหากรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz 2556 ในเดือนกันยายน ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนที่จะรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่การขอคืนคลื่น 2.3 GHz จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกสทช.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องจัดทำหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ควบคุมคุณภาพบริการข้อมูล ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท และทำให้ผู้บริโภคตระหนักรู้สิทธิของตนเอง แต่ผลงานเชิงประจักษ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในการคุ้มครองผู้บริโภคแทบจะไม่มีผลงานเลย เช่น ปัญหาเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง กสทช.ยังขาดกลไกเชิงนโยบาย ในการแก้ปัญหาของผู้บริโภคในระยะยาว การระงับข้อพิพาทล่าช้า และปัญหาเดิมซ้ำซากที่ยังแก้ไขไม่ได้

 

            “ในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค 1 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่า กสทช.สอบตก ปัญหาเดิมซ้ำซากที่แก้ไขไม่ได้ยังเกิดขึ้นอยู่ เช่น SMS ขยะ สัญญาณหลุด ค่ายโทรศัพท์มือถือคิดเงินผิด ผู้บริโภคยังถูกเอาเปรียบจากบัตรเติมเงิน และตู้เติมเงิน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตั้งคำถามกสทช.ใช้งบกว่า 2,000 ล้านคุ้มหรือเปล่า

 

 

นอกจากนี้ นายอิสริยะยังนำเสนอการใช้งบประมาณของ กสทช. ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2555 ว่า งบประมาณในการดำเนินงาน 1,416 ล้านบาท สิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท ค่าบุคลากร 960 ล้านบาท และเงินสมทบกองทุน 175 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,690 ล้านบาท และตั้งคำถามว่า การใช้งบประมาณของกสทช.กับผลงานที่ออกมา สอดคล้องกันหรือไม่ งบประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรม มากเกินไปหรือไม่ จำนวนบุคลากรกับผลงาน ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และจำนวนคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งสอดคล้องกันหรือไม่

 

 

             “จากการใช้งบประมาณของกสทช. คงต้องเปรียบเทียบกับผลงานที่ออกมา เช่น กระบวนการทำประชาพิจารณ์ กสทช.ฟังเสียงประชาชนจริงหรือไม่ ในขณะที่การทำประชาสัมพันธ์ ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคยังน้อยมาก รวมถึงการทำฐานข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ยังไม่เกิดขึ้น” นายอิสริยะกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

งบบริจาค-การกุศลสูงลิบถึง 328 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ กสทช. พ.ศ.2554 รายงานการใช้งบประมาณของกสทช.ดังนี้ เงินเดือนพนักงาน 500 ล้านบาท ค่าอาหารนอกเวลา 2.8 ล้านบาท เดินทางในประเทศ 17.6 ล้านบาท ค่าจ้างเหมาบริการอื่น ๆ 102 ล้านบาท ค่ารับรอง-พิธีกร 7.6 ล้านบาท ฝึกอบรมสัมมนา 87.8 ล้านบาท ค่าลงทะเบียนฝึกอบรม  21.6 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 207.5  ล้านบาท เงินบริจาคและการกุศล 328 ล้านบาท จัดประชุมภายใน 2.4 ล้านบาท วัสดุสำนักงาน 10 ล้านบาท ค่าเดินทางต่างประเทศ 70 ล้านบาท ค่าไฟฟ้า 8.4 ล้านบาท โทรศัพท์สำนักงาน 1.65 ล้านบาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1.85 ล้านบาท อินเตอร์เน็ต 15.6 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 972 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1,272 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค 40.7 ล้านบาท ซึ่งกสทช.มีเจ้าหน้าที่รวมกว่า1,000 คน

 

ทั้งนี้นายอิสริยะมีข้อเสนอให้กับกสทช.ในการดำเนินงานทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยในระยะสั้น กสทช.ต้องเตรียมแก้ปัญหาคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานเดือนกันยายน 2556 กำกับดูแลบริการประเภทข้อมูล ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ แก้ปัญหาผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและจริงจัง และปรับปรุงเว็บไซต์กสทช. ให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่านี้

 

ส่วนในระยะยาว กสทช.ต้องจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานกสทช.  จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ที่มากกว่าการจัดงานกิจกรรม หรือลงโฆษณาในสื่อ  และสุดท้ายกสทช.ต้องปรับปรุงกระบวนการประชาพิจารณ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ไม่มีอำนาจ-ด่าหยาบคายออกทีวีก็คุมไม่ได้

 

 

ทางด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา 1 ปี กสทช.ยังขาดกรอบในการกำกับดูแลการทางนโยบาย ซึ่งคงจะต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับกิจการวิทยุโทรทัศน์ของประเทศไทย เนื่องจากระยะเวลา 10 ปี ที่ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลทางด้านนี้ จึงเกิดเป็นช่องว่าง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นการเข้ามารับหน้าที่ของกสทช. จึงต้องวิเคราะห์ปัญหา เพื่อให้รู้ว่าปัญหาคืออะไร และถึงวางกรอบกำกับดูแลทางนโยบายในการแก้ไขปัญหา

 

 

              “ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่ประสบอยู่ในขณะนี้ เรื่องของเนื้อหา การแบ่งขั้วทางการเมืองและด่ากันผ่านสื่อของตัวเอง ผ่านวิทยุชุมชนที่มีเนื้อหาหยาบคาย แต่ยังสามารถออกอากาศได้ ซึ่งถ้ากสทช.มีกรอบการทำงาน จะสามารถระบุเนื้อหาออกมา และสิ่งที่กสทช.ต้องการจะกำจัดเนื้อหาแบบไหน เพราะเนื้อหาบางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่น กสทช.ก็จะสามารถดำเนินการได้”

 

 

ดร.พิรงรองกล่าวต่อว่า และควรจะวางกรอบไปถึงเนื้อหาที่ต้องการจะส่งเสริมด้วย เช่นเรื่องของเด็ก เยาวชน ครอบครัว การศึกษา ทั้งนี้หลังจากกำหนดเนื้อหาแล้ว จึงไปถึงการวางกรอบในการกำกับดูแล ซึ่งแต่เดิมรัฐเป็นผู้กำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ แต่เมื่อสื่อมีมากขึ้นรัฐไม่สามารถกำกับดูแลได้ จึงต้องมีการวางระบอบเพื่อกำกับดูแลกันเอง หรืออาจจะเป็นรัฐร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการกำกับดูแล หรือใช้ร่วมระหว่างรัฐและการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกสทช.ที่จะต้องวางกรอบในการกำหนด และที่สำคัญคือต้องมีการสร้าเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อด้วย

 

 

 

            “ในยุคที่สื่อมีมากจนตามไม่ทัน สิ่งที่กสทช.ต้องสร้างเป็นเครื่องมือให้กับผู้บริโภคคือ ความรู้เท่าทันสื่อ สร้างสติปัญญาให้ผู้บริโภคที่จะเท่าทันสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.ยังเคลื่อนไปน้อยมาก ในขณะที่กลุ่มที่ทำเรื่องนี้มากกว่ากับเป็นเครือข่ายเพื่อผู้บริโภค การให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อเท่าทันสื่อเป็นเรื่องพื้นฐานมากในทุกประเทศ เพราะทุกวันนี้สื่อเกิดขึ้นมาก จนเครื่องมือในการกำกับดูแลไปไม่ถึง รัฐไปไม่ถึง การสร้างสติปัญญาให้ผู้บริโภคจึงเป็นประเด็นสำคัญ แต่กสทช.ยังเคลื่อนไปน้อยมาก ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา” ดร.พิรงรองกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุไม่มีกรอบทำงาน จ้างทำวิจัยก็เหลวเพราะไม่รู้ปัญหา

 

 

ในฐานะหนึ่งในคณะอนุกรรมการกสทช. ดร.พิรงรองกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เห็นจากการทำงานของ กสทช.คือไม่มีการสร้างกรอบในการทำงาน คณะอนุกรรมการด้านกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ (กสท.) มีประมาณ 20 ชุด ไม่มีการวางกรอบการทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างทำ ไม่มีความเชื่อมโยงในขณะที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในการประชุม แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่มีผลงานเกิดขึ้น

 

 

             “สิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับการทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาคือ การออกประกาศ กฎ ต่าง ๆ โดยไม่อยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งตัวอย่างในต่างประเทศนั้น การออกกฎ ประกาศหรือนโยบายต่าง ๆ ต้องมีการทำวิจัยทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ เป็นลักษณะของการประเมินด้วย ในขณะที่การออกกฎ ประกาศของกสทช.มาจากความต้องการ วาระของผู้กำกับดูแล เข้าไปมีส่วนอย่างมาก ว่าจะออกนโยบายจากปัญหาที่แท้จริง”

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในกสทช.คือ การตั้งงบประมาณและจ้างสถาบันการศึกษาเพื่อทำงานวิจัย ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยไม่ได้ผล ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากผู้รับจ้างทำวิจัยไม่ได้อยู่กับปัญหาและไม่ได้อยู่ในกสทช. จึงไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

 

 

               “คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ตั้งงบประมาณขึ้นมา และจ้างอาจารย์จากสถาบันการศึกษาเข้ามาทำวิจัย ซึ่งงานวิจัยหลายเรื่องถูกเก็บไว้บนหิ้ง เพราะไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริง เพราะคนทำวิจัยไม่ได้รู้ซึ้งถึงปัญหา และไม่ได้อยู่ในกสทช. ดังนั้นการให้โจทย์งานวิจัยต้องชัดเจน เพื่อให้ได้ผลที่คุ้มค่า” ดร.พิรงรองกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

กสทช.    

Like this article:
Social share: