เร่งทำ‘ตั๋วรูปพรรณ’สกัดล่าช้างป่าสวมตั๋ว ใช้มากว่า70ปี-4พันเชือกมั่วประวัติกันเละ กรมอุทยานฯเซ็งให้มท.ทำ7ปีไม่มีอะไรคืบ นำร่องนิรโทษฯ'สุรินทร์'คาดเสร็จใน8เดือน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ TCIJ 28 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5769 ครั้ง

 

เป็นปัญหาเรื้อรังมานานสำหรับข้อถกเถียงเกี่ยวกับการตรวจสอบตั๋วรูปพรรณช้าง ระหว่างช้างป่าและช้างบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้าง โดยเฉพาะช้างป่าถูกล่าจากผืนป่าออกมาเพื่อสวมตั๋วรูปพรรณ เพื่อให้กลายเป็นช้างที่ถูกกฎหมาย ก่อนที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจต่างๆ ทั้งเดินขอทานข้างถนน ใช้แรงงานในป่า แสดงโชว์ในปางช้าง ตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ฯลฯ

อย่างไรก็ตามหลังการเปิดประเด็นเรื่องการปรับปรุงตั๋วรูปพรรณช้างใหม่ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันช้างไทย โดยกลุ่มอนุรักษ์ช้างหลายหน่วยงาน ขอให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาตั๋วรูปพรรณช้างใหม่ ให้มีรายละเอียดและข้อมูลที่ครบถ้วนกว่าเดิม เนื่องจากตั๋วรูปพรรณช้างแบบเดิมนั้น ถูกใช้มายาวนานกว่า 72 ปี และไม่สามารถช่วยในการตรวจสอบได้อย่างชัดเจนจน เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาช้างยาวนานตลอดเวลาที่ผ่านมา

 

จี้ตรวจสอบตั๋วช้างทั่วประเทศ

 

นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือการที่ช้างกำลังถูกล่าออกจากป่า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น มีทั้งการฆ่าเพื่อเอางา หรือ เอาอวัยวะไปเป็นอาหาร ตามใบสั่งของนายทุน รวมไปถึงการนำลูกช้างมาสวมตั๋วรูปพรรณเป็นช้างบ้าน และฝึกให้แสดงความสามารถต่างๆ โชว์นักท่องเที่ยว ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีช้างเหลืออยู่ในป่าเพียง 3,000 กว่าตัว แต่มีช้างที่ถูกเลี้ยงเป็นช้างบ้าน 4,000 กว่าเชือก และจากการที่กรมอุทยานฯ ได้เข้าตรวจสอบธุรกิจปางช้างทั่วประเทศพบว่า มีช้างถึง 400-500 เชือก ไม่มีตั๋วรูปพรรณที่ถูกต้อง โดยเฉพาะปางช้างใน จ.เชียงใหม่ ที่ตรวจสอบพบว่า เป็นจังหวัดที่มีช้างไม่มีตั๋วรูปพรรณถึง 147 ตัว ในขณะที่ปางช้างในพื้นที่ภาคอีสานก็มีช้างที่ไม่มีตั๋วรูปพรรณจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ เป็นต้น

อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวว่า อยากจะเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลเรื่องของการจัดทำตั๋วรูปพรรณช้างใหม่อย่างจริงจัง และเข้มข้น เพราะที่ผ่านไม่พบว่ามีหน่วยงานใดให้ความสำคัญกับปัญหาตั๋วรูปพรรณช้างอย่างจริงจังเลย แม้กรมอุทยานฯ จะพยายามขอหารือพูดคุยในเรื่องนี้ กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง รวมไปถึงกรมปศุสัตว์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยภายใน 6 เดือนนี้ จะพยายามแก้ไขตั๋วรูปพรรณช้างให้มีการทำตั๋วรูปพรรณช้างหรือสมุดคู่มือช้างตัวนั้นๆ ตั้งแต่อายุ 3 เดือน ไม่ต้องรอถึง 8 ปีอย่างที่เป็นอยู่ โดยจะมีการระบุรูปพรรณสัณฐานของช้างอย่างน้อย 10 จุด เช่น ความกว้าง ยาว ตา หาง หู เป็นต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีหลักฐานในการจับกุมหากพบว่ามีการนำช้างไปทำผิดกฎหมาย และทุกๆ 6 เดือน จะต้องนำช้างมาแสดงตัวกับผู้ว่าราชการจังหวัด

 

“เรื่องช้างนี่เป็นปัญหามาก แต่ภายใน 6 เดือนนี้ ผมจะพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จบ ก่อนที่ผมจะหมดวาระในตำแหน่งนี้ ซึ่งจะต้องไปที่จ.สุรินทร์ ที่เป็นแหล่งเลี้ยงช้าง เพราะที่ผ่านมาพวกนี้จะใช้วิธีการเวียนตั๋วผลัดกันใช้ไปมา ทำให้เป็นปัญหาตลอดมานี่แหละ” นายดำรงกล่าว

 

ช้างเชียงใหม่ไม่มีตั๋วมากที่สุด

 

จากข้อมูลการตรวจสอบปางช้างทั้งหมด 133 แห่ง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า จังหวัดที่มีปางช้างมากที่สุดได้แก่ จ.เชียงใหม่ มีปางช้างทั้งสิ้น 30 แห่ง จำนวนช้าง 617 เชือก นอกจากนี้มีปางช้างในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ จ.ภูเก็ต ปางช้าง 17 แห่ง จำนวนช้าง 233 เชือก, จ.ชลบุรี 15 แห่ง จำนวนช้าง 269 เชือก, จ.กระบี่ ปางช้าง 12 แห่ง จำนวนช้าง 91 เชือก, จ.กาญจนบุรี ปางช้าง 11 แห่ง จำนวนช้าง 218 เชือก, จ.พังงา ปางช้าง 11 แห่ง จำนวนช้าง 170 เชือก, จ.สุราษฎร์ธานี  ปางช้าง 8 แห่ง จำนวนช้าง 171 เชือก, จ.แม่ฮ่องสอน ปางช้าง 8 แห่ง จำนวนช้าง 37 เชือก ,จ.ตราด ปางช้าง 6 แห่ง จำนวนช้าง 55 เชือก และ จ.พระนครศรีอยุธยา ปางช้าง 3 แห่ง จำนวนช้าง 96 เชือก ทั้งนี้มีช้างที่ไม่มีตั๋วรูปพรรณชัดเจน เป็นช้างของปางช้างในเขต จ.เชียงใหม่ จำนวน 147 เชือก และในปางช้างไทรโยค จ.กาญจนบุรี จำนวน 19 เชือก

 

มท.พ้อเป็นจำเลยตลอด แจงเตรียมใช้ตั๋วใหม่ทันปี 56

 

ด้านนายธนาคม ฐานนันท์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ส่วนการทะเบียนทั่วไป กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงประเด็นปัญหาเดียวกันว่า ที่ผ่านมา กรมการปกครองเป็นจำเลยมาโดยตลอดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาตั๋วรูปพรรณช้าง ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เนื่องจากบุคลากรของหน่วยงานมีน้อย ขณะเดียวกันในการดำเนินการก็ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ประกอบกับรูปแบบของตั๋วรูปพรรณช้างที่ล้าสมัย เป็นเพียงกระดาษใบเดียวและใช้งานมาเป็นเวลานานมาก ไม่มีการระบุรายละเอียดที่มากกว่าบอกตำหนิ ท่าทางทางกายภาพทั่วไป เช่น มีเล็บ 18 เล็บ มีขนายกี่ข้าง หูร่อย แก้มด่าง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระบุอายุช้าง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า ให้นำช้างมาขึ้นตั๋วรูปพรรณได้ตอนอายุ 8 ปี ซึ่งถือว่านานไปแล้ว ทำให้เกิดการสวมตั๋วกันได้ง่าย ช้างบางเชือกระบุว่าเป็นช้างพลาย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่า เป็นช้างพัง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเรื่องตั๋วรูปพรรณใหม่ทั้งหมด

ขณะนี้กรมการปกครองได้ทำหนังสือไปยังทุกจังหวัดที่มีช้าง เพื่อให้สำรวจตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยงให้ครบทุกเชือก เพื่อเตรียมปรับปรุงตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยงใหม่ทั้งหมด ที่จะมีรายละเอียดมากขึ้น สามารถระบุลักษณะสำคัญของช้างแต่ละตัวไว้ทั้งหมด รวมทั้งจะมีการนำเทคโนโลยี เช่น ดีเอ็นเอ และการฝังไมโครชิพมาใช้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันจะมีการระบุหมายเลขบัตรประชาชนของเจ้าของที่ครอบครองช้าง จัดทำในลักษณะคล้ายกับทะเบียนบ้าน ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลคาดว่า 1 เดือนข้างหน้าจะเสร็จสิ้น และน่าจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนรูปแบบตั๋วทะเบียนช้างใหม่ได้ภายในปี 2556

 

“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีตั๋วรูปพรรณช้างเลี้ยง อยู่ทั้งหมด 2,600 กว่าเชือกเท่านั้น  ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขของกรมปศุสัตว์ ที่ระบุมีช้างเลี้ยงอยู่ราว 4,000 เชือก เนื่องจากอาจจะมีตั๋วที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งจะมีการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง”

 

ชี้อุทยานฯทำล่วงหน้าช้างสุรินทร์200เชือก

 

นส.พ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะเลขานุการและอนุกรรมาธิการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไข้ตั๋วรูปพรรณช้างบ้านว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2548 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เริ่มดำเนินการเพื่อการปรับปรุงแก้ไขตั๋วรูปพรรณช้างจำนวน 200 เชือก ที่ จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นตัวอย่างและการเก็บข้อมูลช้างบ้านในประเทศไทยเบื้องต้นและได้ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ตั๋วรูปพรรณช้างในรูปแบบใหม่ที่กรมอุทยานฯ จัดทำนั้น มีรายละเอียดครบถ้วนมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมแปลงหรือจับช้างป่ามาสวมตั๋วเป็นช้างเลี้ยง ทั้งนี้ในการยืนยันสถานะของช้าง ปัจจุบันสิ่งที่สามารถระบุตัวช้างบ้านได้นั้นจะมีสองรูปแบบ คือ ตั๋วรูปพรรณจากกรมการปกครอง และบัตรสุขภาพช้างของกรมปศุสัตว์ แต่ที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 โดยยึดถือตั๋วรูปพรรณเป็นหลัก ส่วนการฝังไมโครชิพ ที่หลายคนคิดว่าช้างตัวใดมีการฝังไมโครชิพแล้วเป็นช้างบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะการฝังไมโครชิพ คือการเก็บหมายเลขประจำตัวช้างในทะเบียนสุขภาพของกรมปศุสัตว์เท่านั้น เหมือนหมายเลขบัตรประชาชนของคน เมื่อเจอช้างบ้านแล้วใช้เครื่องอ่านไมโครชิพจะสามารถรู้ได้ว่าช้างตัวไหนเป็นตัวไหน ประวัติสุขภาพเป็นอย่างไร เพราะในความเป็นจริง ช้างบ้านแต่ละเชือกมีการเคลื่อนย้าย เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเจ้าของบ่อย ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ แจงตั๋วใหม่รายละเอียดเพียบ ป้องกันช้างสวมตอ

 

ตั๋วใหม่เหมือน‘พาสปอร์ต’รูปถ่าย-ข้อมูลครบ

 

สำหรับตั๋วรูปพรรณแบบใหม่จะมีลักษณะเป็นรูปเล่มคล้ายๆกับทะเบียนบ้านหรือพาสปอร์ต แล้วเพิ่มรายละเอียดต่างๆขึ้นดังนี้ 1.กำหนดให้เริ่มมีการจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณลูกช้างตลอดช่วงชีวิตทั้งหมด  6 ครั้ง คล้ายๆ ของคน ได้แก่ ครั้งแรก เริ่มที่อายุตั้งแต่ 30 วัน, ครั้งที่สอง อายุ 5 ปี,ครั้งที่สาม อายุ 10 ปี, ครั้งที่สี่ อายุ 15 ปี, ครั้งที่ห้า อายุ 30 ปี และ ครั้งที่หก อายุ 45  ปี (ตลอดชีพ) โดย ระยะห่างการการจดตั๋วรูปพรรณในแต่ละครั้งนั้น พิจารณาจากพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของช้างเป็นหลัก

2.ถ่ายรูปลักษณะช้าง ทั้งด้านหน้า หลัง ซ้าย ขวา และตำหนิ พร้อมรูปถ่ายควาญช้างหรือเจ้าของช้าง 3.       ระบุหมายเลขไมโครชิพ ที่ทำขึ้นโดยกรมปศุสัตว์ ช้างหนึ่งตัวจะต้องมีหมายเลขไมโครชิพเพียงหนึ่งอัน 4.       ประวัติครอบครัว ชื่อ พ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย (เท่าที่หาได้) รวมถึงหมายเลขไมโครชิพ 5.ข้อมูลทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) พ่อ แม่ ลูก (เท่าที่หาได้) 6.ข้อมูลลักษณะตัวช้าง เช่น ขนาดตัว ได้แก่ ความยาวรอบอก ความยาวลำตัว ส่วนสูง และความยาวรอบขาหน้า (ขวา) ประวัติการผสมพันธุ์ ประวัติการตกลูก ประวัติการตั้งท้อง และประวัติการตกมัน นิติกรรมต่างๆ เช่น  การโอน การเคลื่อนย้าย การซื้อขาย เป็นต้น ประวัติด้านสุขภาพ ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับช้าง และการดูแลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของช้าง หรือควาญช้างจัดให้กระทรวงมหาดไทยมา 7 ปีแล้วแต่ไม่ขยับ

นสพ.ภัทรพลกล่าวต่อว่า สำหรับแนวการจัดทำตั๋วรูปพรรณช้างดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสำคัญที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงได้ยึดเอาไปใช้เพื่อการปรับปรุงตั๋วรูปพรรณช้างแล้ว แต่ทราบว่าตอนนี้ยังไม่สามารถจัดทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากได้รับแจ้งจากว่า ทางหน่วยงานไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะดำเนินการได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังคงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขปรับปรุง

คิดว่าปัญหานี้ควรจะรีบดำเนินการ เพราะสถานการณ์ช้างไทยกำลังน่าเป็นห่วง เพราะถูกคุกคามอย่างมาก แต่กระบวนการด้านระเบียบการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังคงล้าสมัยอยู่ ในกรณีของตั๋วรูปพรรณช้างในรูปแบบเดิมที่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวนั้น จริงๆ แล้วมีการระบุรายละเอียดค่อนข้างดีอยู่แล้ว หากคนที่ดูเป็นใช้เป็นก็จะสามารถแยกแยะช้างได้เลย แต่ต้องยอมรับว่า องค์ความรู้การอ่านตั๋วรูปพรรณแบบนั้นไม่ได้มีการถ่ายทอดเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ในขณะที่คนที่ดูเป็นได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้ทันสมัย และสามารถใช้ได้ในคนรุ่นนี้ ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการไว้เพื่อเป็นแนวทางมาแล้วตั้งแต่ปี 2548 เป็นเวลา 6-7 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการขยับเขยื้อนเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

“คิดว่าเราคงต้องมารื้อเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด ต้องวางระเบียบให้ชัดเจน ให้ความรู้กับบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดึงเอาหน่วยงานที่มีองค์ความรู้เข้าไปร่วมกันทำงานทั้งกรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ และ กรมการปกครอง เมื่อก่อนคนจะไปจดตั๋วทะเบียนช้าง ก็แค่ไปที่อำเภอโดยไม่ต้องเอาตัวช้างไป เสียเงิน 5 บาทก็ได้ตั๋วมาแล้ว แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะควาญช้างเองเขาก็ต้องการให้ทำ แต่ทางหน่วยงานยังไม่ทำ ซึ่งถ้าหากจะรื้อกระบวนการ ทำใหม่ทั้งหมดก็น่าจะมีออกระยะเวลานิรโทษกรรมสำหรับช้างที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้เข้ามาดำเนินการให้ถูกต้อง เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราเคยทำกับสัตว์ทั่วไปมาแล้ว” นสพ.ภัทรพลกล่าว

 

ย้ำต้องแก้ที่กฎหมายแต่ยังไม่มีข้อสรุป

 

สำหรับประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482  นั้น นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มีพยายามเคลื่อนไหว ขอให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่ผ่านมามีการนำเสนอร่างแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้จากหลากหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามในส่วนของวุฒิสภา ซึ่งให้ความสนใจในประเด็นนี้เช่นกัน เคยดำเนินการเพื่อเตรียมการในการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น โดยเมื่อ 7 ปีที่ ดร.เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา วุฒิสมาชิก ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทย” โดย ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำประชาพิจารณ์ ประชุมรับฟังความคิดเห็นความต้องการของทุกฝ่ายอย่างเป็นกลาง จนพบสาเหตุปัญหาช้างที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ

ต่อมาน.ส.สุมล สุตวิริยะวัฒน์  ประธานคณะอนุกรรมาธิการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำรายละเอียดการศึกษาวิจัยดังกล่าวลงพื้นที่ เพื่อยืนยันสถานการณ์ทั้งหมด และนำมาสรุปรายละเอียดเพื่อแก้ไขในเชิงกฎหมาย โดยสรุปปัญหา และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้างได้ว่า 1.บัญญัติพระราชบัญญัติช้างแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองช้างโดยตรง เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้กับช้างถึง 17 ฉบับ ถูกฉบับนี้ ผิดฉบับนั้น ซ้ำซ้อนและล้าสมัย 2.แยกช้างออกจากพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 ที่ให้ค้าขายครอบครองช้างและซากของช้างได้ 3. รณรงค์ให้เลิกค่านิยมในการครอบครองช้าง งาช้าง กระดูกช้างเพื่อสร้างบารมีฯลฯ

4.สนับสนุนในการศึกษาวิจัยเรื่องระบบสืบพันธุ์ของช้าง เพื่อใช้ในการบำรุงและขยายพันธุ์ช้าง ตลอดจนสนับสนุนในการศึกษาองค์ประกอบของอาหารที่ช้างต้องการ 5.สนับสนุนให้มีการศึกษาและสืบทอดวัฒนธรรม พิธีกรรมและประเพณีโบราณที่เกี่ยวข้องกับช้าง 6.ควรศึกษาแนวทางที่จะวิเคราะห์ทางพันธุกรรม (DNA) ของช้างเพื่อใช้ชี้ตัวช้างได้แน่นอนยิ่งขึ้น 7.เร่งสำรวจประชากรช้างเลี้ยงและช้างป่าที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดเป็นการด่วน 8.หาแนวทางในการทำเครื่องหมายที่มีมาตรฐานชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนและเชื่อถือได้ในช้างเลี้ยงทั้งหมดเนื่องจากความหลากหลายของชนิดไมโครชิพ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ การบันทึกลักษณะประวัติและรูปแบบของช้างอย่างละเอียดอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า 9.ควรมีมาตรการในการควบคุมปางช้างโดยตั้งเป็นกฎระเบียบในการดำเนินกิจการอย่างเข้มงวด 10.ทำการกวาดล้างการลอบค้าสัตว์ป่าและสัตว์สงวนตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี

11.ลงโทษผู้กระทำผิดทั้งปรับทั้งจำคุกให้หนักขึ้นกว่าเดิม 12.ในขณะที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะนั้น ต้องออกกฎระเบียบเพื่อบังคับให้เจ้าของช้างนำช้างที่คลอดใหม่ไปแจ้งเกิดภายใน 90 วันเป็นอย่างช้างให้เพิ่ม “สัตว์ป่าคุ้มครองพิเศษ” ซึ่งหมายถึงช้างป่าและช้างเลี้ยงที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นการด่วน “ปัญหาช้างต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะจากข้อมูลเราจะเห็นว่า ช้างอายุน้อยที่ถูกนำมาเร่ร่อนส่วนใหญ่ เป็นช้างที่ยังไม่จดทะเบียนทั้งนั้น เพราะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายมาใช้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าช้างพวกนี้อาจจะถูกล่ามาจากป่า ซึ่งหาก กรมการปกครองบอกว่าไม่มีกำลัง ไม่มีบุคลากรก็ควรจะต้องบอกให้ดังๆ เพื่อขอกำลังจากหน่วยงานที่สามารถทำได้ แต่หากคิดว่าไม่สามารถทำได้ก็ควรจะถอดช้างออกจากการเป็นสัตว์พาหนะดีกว่า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: