สภาอุตฯชี้ปีนี้ถ้า‘เอาไม่อยู่’นักลงทุนหนีแน่ เตือนคนไทยเรียนรู้เรื่องน้ำ-พร้อมปรับตัว จวกรัฐแก้ปัญหาช้า-ข้อมูลมั่ว-สื่อสารห่วย

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 28 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2722 ครั้ง

เดือนมิถุนายน ปี 2554 เป็นช่วงที่เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย มีหลายจังหวัดที่เกิดอุทกภัย หลังจังหวัดเกิดภัยพิบัติ น้ำป่าทะลัก ดินถล่ม ฯลฯ แต่ในห้วงเวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดมหาอุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศ มีประชาชนได้รับผลกระทบถึง 12.8 ล้านคน มูลค่าความเสียหาย 1.44 ล้านล้านบาท นั่นเป็นเพียงตัวเลข ยังไม่นับถึงผลกระทบทางจิตใจ ความสูญเสียของบ้านเรือน ที่พักอาศัย โรงเรียน อาคาร โรงงานต่างๆ ที่ยังไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้

ผ่านมา 1 ปีเต็ม หลายจังหวัดเริ่มได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกลงมาแล้ว หลายพื้นที่เริ่มมีน้ำท่วมขัง ทำให้มีคำถามหนาหูว่า “ปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่” และรัฐบาลจะ “เอาอยู่หรือเปล่า” เนื่องเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่สูญเสียความเชื่อมั่นทั้งในการวางแผนป้องกันน้ำท่วม มาตรการป้องกันน้ำท่วม การแก้ปัญหาขณะน้ำท่วม และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ หลายหน่วยงานจึงจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นทั้งการทวงถามความคืบหน้าแผนรับมือภัยพิบัติของรัฐบาล และการให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ได้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้

 

 

 

ชี้คนไทยต้องเข้าใจธรรมชาติ-รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของน้ำ

 

 

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงการจัดการน้ำเชิงบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วม-ภัยแล้งซ้ำซากว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มีอยู่ 3 ข้อที่ควรทำคือ 1.คนไทยต้องเข้าใจธรรมชาติเรื่องน้ำว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยน จะเปลี่ยนอย่างไร 2.จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และ 3.คนไทยต้องเข้าใจธรรมชาติ นอกจากนั้นจะทำอย่างไรให้ทุกพื้นที่ในประเทศมีการจัดการน้ำ และมีแนวทางป้องกัน เมื่อปีที่แล้วเราเสียหาย 1.44 ล้านล้านบาท ตามที่ธนาคารโลกบอก ถ้าเราวางแผนแก้ไขป้องกัน เราจะเสียเงินเพียง 3 แสนล้านบาท แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราไม่รีบแก้ไขปีนี้อาจจะเสียหายมากขึ้น

 

นอกจากนี้ประเทศไทยจะต้องมีการประเมินเทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำ เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงวงจรการเกิดเอลนินโญ ลานินญา ซึ่งมีผลต่อทรัพยากรน้ำ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การใช้ที่ดิน ปัญหาการจัดการน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ ในขณะที่โจทย์การจัดการน้ำของประเทศไทย คือ ต้องแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปด้วยกัน และต้องสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นด้วยน้ำ และยังมีพื้นที่การจัดการที่ต้องคำนึงถึงคือ พื้นที่ชลประทาน 26.5 ล้านไร่ น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม และการจัดการน้ำในเขตชุมชนเมืองเทศบาลอีกด้วย


กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกล่าวว่า การจัดการน้ำให้ได้ผล ต้องทำหลายอย่างไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลเพื่อวางระบบ และยังต้องมีเครื่องมือที่พร้อม เช่น การวางระบบคอมพิวเตอร์ มีแบบจำลองสภาพอากาศเพื่อคำนวณการไหลของน้ำ รวมไปถึงท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือในการจัดการน้ำ หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการทำกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะเลือกแนวทางการจัดการน้ำในชุมชน เป็นกิจกรรมของบริษัท และทำอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยชุมชนได้มากขึ้น

 

 

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ น้อยกว่าให้ความสำคัญกับการก่อสร้างถนน ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างน้ำของประเทศไทยลงทุนเพียง 1 ใน 10 ของการก่อสร้างถนน ทุกๆ 7 ปี ถนนจะต้องได้รับการซ่อมแซม แต่ระบบการจัดการน้ำไม่มีงบประมาณเพื่อบำรุงรักษา มีดีบ้างในบางชุมชน และพบว่าชุมชนขนาดใหญ่บางแห่งไม่สามารถจัดการน้ำได้ ซึ่งการจัดการน้ำที่ดี ต้องเริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูล มีการวางแผน คาดการณ์ และวางแนวทางดำเนินการ รวมถึงการจัดการภัยพิบัติด้วย การรวบรวมข้อมูลเป็นหัวใจในการจัดการน้ำ และเมื่อได้ข้อมูลแล้วต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยขาดคนวิเคราะห์ข้อมูลตรงนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ไม่ใช่เราไม่มีข้อมูล แต่เราขาดคนวิเคราะห์ข้อมูล”

 

 

โรงงานฟื้นไม่ถึง40เปอร์เซ็นต์ ชี้ปีนี้เอาไม่อยู่-นักลงทุนหนี

 

 

ซึ่งนอกจากประเด็นโดยตรงคือเรื่องของน้ำ และการจัดการน้ำแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เนื่องเพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีนิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายถึง 7 แห่ง สถานประกอบการเสียหายนับพันแห่ง คนงานได้รับผลกระทบนับแสนคน ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประไทย เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ระหว่าง 600,000-700,000 ล้านบาท บริษัทประกันสามารถจ่ายได้ประมาณ 400,000 ล้านบาท

 

จากการลงพื้นที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า โรงงานที่สามารถเดินเครื่องจักรในการผลิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ โรงงานที่ยังเดินเครื่องได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 33 เปอร์เซ็นต์ และอีก 19 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่มีการเดินเครื่อง ในขณะที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ปิดโรงงาน ซึ่งมีทั้งย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น หรือเลิกกิจการเพราะน้ำท่วม รวมถึงโรงงานที่คิดจะเลิกกิจการอยู่แล้วด้วย

 

 

 

 

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาภัยพิบัติของรัฐบาลมี 2 อย่างคือ 1.เยียวยาและการป้องกัน ซึ่งทั้งสองมาตรการยังมีปัญหา เช่น การเยียวยาจากธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเลือกลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อ และดอกเบี้ยไม่ดี ในขณะที่ธนาคารของรัฐ เพิ่งตั้งตัวได้ และปล่อยสินเชื่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งช้ามาก ส่วนการป้องกันที่มีแผนจะสร้างกำแพงสูงเพื่อป้องกัน ยังมีคำถามว่าจะสามารถป้องกันได้หรือไม่ ส่วนมาตรการป้องกันอื่นๆ ยังไม่มีการพูดถึง เช่น ฟลัดเวย์ (Flood way) คลองระบายน้ำต่างๆ รวมถึงถนนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งแผนป้องกันของรัฐบาล ยังไม่เห็นว่ามีการบูรณาการ มาตรการดีๆ ที่คณะกรรมการนำเสนอมา มีแต่แผนระยะยาว แต่แผนระยะสั้นยังไม่มีการพูดถึง

 

 

จวกรัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขช้า-กระทบยอดสั่งสินค้าตปท.

 

 

“วันนี้พื้นที่ภาคกลางกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเมืองในประเทศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งไม่มีใครบอกได้ ทำให้บรรยากาศการลงทุนอาจจะไม่ดีนัก ภัยพิบัติครั้งนี้นอกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงานระดับกลาง เช่น ธุรกิจ SMEs ที่มีประมาณ 900 กว่าโรง ยังไม่ฟื้นแล้ว และยังมีโรงงานที่ไม่ได้อยู่นอกพื้นที่ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น โรงงานผลิตขวดน้ำ ที่จริงแล้วน้ำไม่ได้ขาด แต่โรงงานถูกน้ำท่วม ไม่สามารถผลิตขวดได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้กระทบไปทั่วโลก กล้องแคนนอนรุ่นใหม่ล่าสุด ไม่สามารถเปิดตัวได้ เพราะเลนส์ผลิตในประเทศไทย แต่โรงงานถูกน้ำท่วม คอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อต้องระงับการผลิต เพราะโรงงานผลิตชิ้นส่วนอยู่ในประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือล่าช้า ควรจะดำเนินการให้เร็วกว่านี้ เพราะจะกระทบกับยอดการสั่งสินค้าจากต่างประเทศด้วย”

 

ทั้งนี้ในเรื่องการป้องกัน รัฐบาลควรคิดให้รอบคอบ และต้องมีแผนงานแบบบูรณาการ เพราะหากป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมได้ แต่ด้านนอกน้ำท่วมหมด ผลกระทบและความเสียหายก็ไปถึงนิคมฯอยู่ดี ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาของรัฐบาลคือ ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจากรัฐบาลเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นแนวทางป้องกันน้ำท่วมที่จะให้ได้ผลคือ รัฐบาลต้องมีศูนย์พยากรณ์ที่แม่นยำ และต้องให้ข้อมูลเป็นระยะ เพราะข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่รัฐบาลขาดตรงนี้ ดังนั้นต้องแก้ตรงนี้ ข้อมูลต้องออกมาเป็นระยะจากหน่วยงานเดียว และหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องพูด ไทยยังขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพสั่งการที่ชัดเจน และสามารถสั่งการได้

 

 

ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต รองประธานสภาอุตสาหกรรมกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องสร้างความเชื่อมั่นกับคนไทยด้วยกันเอง ส่วนต่างชาติจากการที่ได้ประชุมร่วมกับนักลงทุนต่างชาติพบว่า ผู้ประกอบการคงไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เพราะโรงงานส่วนใหญ่ลงทุนแบบหยั่งรากลึก การจะย้ายสถานประกอบการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ ไม่มีประเทศไหนเหมาะสมเท่ากับประเทศไทย แต่ถ้าหากปีนี้เกิดน้ำท่วมขึ้นมาอีกคงไม่มีใครอยู่

 

ดังนั้นรัฐบาลคงต้องมีแผนแม่บทว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ แผนภัยพิบัติชาติ แค่โครงสร้างพื้นฐานคงไม่พอ ต้องมีกฎหมายที่สำคัญ มีการบูรณาการทุกภาคส่วน การวางผังเมืองต้องชัดเจน แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆต้องมีการระบุให้ชัดเจน รัฐบาลต้องวางผังพื้นที่อุตสาหกรรม และมีการกระจายออกไปพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งให้มีหน่วยงานรองรับ

 

 

บริษัทประกันขอเพิ่มเบื้ยประกันภัยพิบัติเรียกความเชื่อมั่นคืน

 

 

ในขณะที่ธุรกิจการประกันภัย เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก รวมมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย ระบุว่า ที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประกันภัยกับบริษัทประกันภัยของต่างประเทศ มีทุนประกันของภาคอุตสาหกรรมประมาณ 13 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างประเทศจะรับประกัน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดว่าไม่มีภัยพิบัติ บริษัทประกันทั่วโลกจึงสนใจ แต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายติดอันดับ 1 ใน 10 ความเสียหายของโลก วงเงินการประกันภัยจึงสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับความสามารถในการบริหารธุรกิจประกันภัยและทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ตามประเภทของภัยพิบัติ

 

 

“ต้องชื่นชมรัฐบาลในการแก้ปัญหาการประกันภัย รัฐบาลได้ช่วยสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ 50,000 ล้านบาท ทั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก SMEs เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา บริษัทประกันภัยจากต่างประเทศเริ่มกลับมาเกือบปกติแล้ว และในอนาคตจะมีการประกันพืชผลทางการเกษตรด้วย อย่างไรก็ตามบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้เสียหายมากคือ น้ำระบายออกช้า เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน น้ำไม่ใช่ประเด็นสำคัญของความเสียหาย แต่ที่เราไม่รู้คือจะจัดการกับน้ำอย่างไร”

 

 

‘นวนคร’สร้างกำแพงป้องโรงงาน-โวยรัฐไม่จริงจังแก้ปัญหา

 

 

ทางด้าน นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เลือกแนวทางที่จะป้องกันนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในละแวกภาคกลาง อาทิ สวนอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ฯลฯ แทนการรอรับมาตรการป้องกันน้ำท่วมจากรัฐบาล นั่นคือการสร้างพนังกั้นน้ำที่ลึกลงไปในดิน 7 เมตร สูงจากพื้นดิน 5.5 เมตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าในนิคมฯ

 

นายนิพิฐกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของผู้ประกอบการดีขึ้นมาก การสร้างกำแพงล้อมรอบนิคม เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ทำประชาพิจารณ์กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานแล้ว นอกจากนี้ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมถนนไปแล้ว 100 ล้านบาท และส่วนของนักลงทุนเราได้สื่อสารด้วยตลอดเวลา เช่นนำไปดูพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพง อธิบายให้ฟังว่าจะสามารถป้องกันได้ขนาดไหน และมีการจำลองตัวอย่างกรณีหากเกิดน้ำท่วมให้เขาดูด้วย

 

                         “สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ขอให้รัฐพูดจริง ทำจริง ที่ผ่านมาไม่คิดว่าประเทศไทยจะขาดข้อมูล หรือเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ไม่เคยพูดความจริง เราต้องการความจริงที่จะพูดกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมชลประทานไม่เคยบอกเราว่า ประตูระบายน้ำพัง ตรงนี้ใช้ไม่ได้ เป็นแบบนี้ไม่ได้ พูดความจริงว่าผมไม่รู้ ยังจะดีกว่าไม่พูด และไม่รู้จะรับมืออย่างไร แก้ปัญหาได้อย่างไร และควรทำตามแผนที่วางไว้อย่างจริงจัง เชื่อว่าทุกกระทรวงที่รับผิดชอบมีแผนงาน แต่ไม่ดำเนินการตามแผน”

 

ทางด้าน ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ไม่ได้พูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภัยพิบัติโดยตรง แต่มีการพูดถึงเรื่องโลกร้อนและวางยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการไว้ ซึ่งโยงมาถึงเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้สภาพัฒน์ฯต้องทำแผนรับรองขึ้นใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11

 

ส่วนจะกำหนดให้ภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ คงต้องพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ศูนย์กลางการสั่งการ ต้องเตรียมการให้เกิดขึ้น การเตือนภัย ระบบเตือนภัยต่างๆ และการสร้างพื้นที่ให้กับนักลงทุน  นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านสังคม เช่นการจัดทำแผนชุมชน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง แผนเมือง ที่มีการกำหนดว่า ใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง และที่สำคัญคือควรสร้างเครือข่ายระบบรองรับภัยพิบัติโดยชุมชน

 

 

นักวิชาการชี้รัฐไม่แก้ปัญหาในภาพรวม-ทุกคนเห็นแก่ตัว

 

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวถึงทางรอดจากอุทกภัยว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ติดอันดับ 8 ในประเด็นความเสียหายจากภัยพิบัติ และติดอันดับ 1 ความเสียหายจากภัยน้ำท่วม และลงในกินเนสบุ๊ก ซึ่งประเทศไทย ไม่ใช่ไม่เคยเกิดภัยพิบัติ แต่เป็นการเกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเตรียมความพร้อม น้ำท่วมที่ผ่านมาจึงเป็นประสบการณ์สำคัญให้คนไทยได้เรียนรู้ และองค์ความรู้ที่ได้เป็นสิ่งสำคัญ

 

จากสถิติของประเทศไทยที่เกิดน้ำท่วมระดับนี้ เกิดขึ้นมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2489 และ พ.ศ.2538 สุดท้าย เมื่อ 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่สิ่งที่เหนือธรรมชาติคือ น้ำมือมนุษย์ที่ทำร้ายธรรมชาติ เช่น การสร้างเขื่อนจะตัดยอดน้ำเล็กๆ ให้ลดลง ในขณะที่มวลน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนกั้นไม่ได้ การจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่แนวทางการแก้ปัญหา ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการป้องกันน้ำท่วมแบบเห็นแก่ตัว มองเฉพาะปัญหาของตนเอง ไม่ได้มองภาพรวมของประเทศและพื้นที่ วันนี้เราแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการยกถนน ทำกำแพง เป็นเหมือนกับดักตัวเอง และไม่ได้มองภาพรวม

 

 

ภัยจากดินถล่มคร่าชีวิตคนมากกว่าน้ำท่วม-แผ่นดินไหว

 

 

ขณะที่ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า สิ่งสำคัญคือประเทศไทย ทั้งรัฐบาลและประชาชนเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมาก มีการตีความข้อมูลที่เข้ามาต่างกันออกไป ดังนั้นการสื่อสารของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องรู้ว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะมาอย่างไร จะรับมือได้อย่างไร ซึ่งหากรู้ล่วงหน้าความเสียหายจะลดลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่รู้ และไม่มีใครเป็นผู้สื่อสาร ที่สำคัญในปีนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องการสื่อสาร ทุกอย่างเหมือนเดิม รัฐบาลควรจะวงแนวทางการสื่อสารให้กับประชาชน ขณะที่ประชาชนเองก็ควรเรียนรู้ และมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ที่อาศัยอยู่ รวมถึงพื้นที่ประเทศไทย ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ควรจะเรียนรู้พื้นที่และทำความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน เช่น ตรงไหนเรียกว่าพื้นที่ชั้นใน ชั้นนอก และควรดูแผนที่ให้เป็น เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำ เพราะสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นอยู่กับการระบายน้ำในช่วงนั้นว่าจะทำแบบไหน อย่างไร

 

 

                “น้ำท่วม แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ป้องกันได้ หากเรามีข้อมูลและมีการบริหารจัดการให้ดี จะสามารถเตรียมการรับมือได้ น้ำท่วมย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำไปอยู่ที่สูง อาจจะเกิดความเสียหาย แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ส่วนแผ่นดินไหวมีการเตือนภัยก่อนเกิดขึ้น นักวิชาการสามารถบอกได้จากเครื่องมือต่างๆ ว่า พื้นที่ใดจะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ในขณะที่ภัยพิบัติที่น่ากลัวคือ ดินโคลนถล่ม เพราะจะมาแบบไม่รู้ตัว และไม่มีอะไรบอกเหตุว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งชาวบ้านเสียชีวิตมาแล้วหลายราย จากเหตุดินโคลนถล่ม เนื่องจากป่าบนภูเขาถูกทำลายหมดแล้ว และไม่มีที่ยึดดินและน้ำ ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น”

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากนายศศินสอดคล้องกับ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ซึ่งระบุว่า การป้องกันแผ่นดินไหวสามารถทำได้ด้วยการสร้างบ้านเรือนให้สามารถรองรับเหตุการณ์ได้ ที่ผ่านมาสถานการณ์แผ่นดินไหวไม่เพิ่มขึ้น แต่รุนแรงขึ้น สถิติการเกิดคงที่ จำนวนที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นข่าว แน่นอนว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนเพิ่มขึ้น ขนาดของเมืองใหญ่ขึ้น เมื่อเกิดความเสียหายย่อมมากขึ้นด้วยเป็นธรรมดา และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว เป็นความเสี่ยงที่ประชาชนสร้างขึ้นเอง เช่น สร้างบ้าน สร้างอาคารที่ไม่มีการป้องกันแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสี่ยง ส่วนที่กลัวกันว่าจะเกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนต่างๆนั้น ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป แผ่นดินไหวไม่จำเป็นต้องเกิดบนรอยเลื่อน และที่ผ่านมายังไม่ใช่ของจริง ของจริงยังไม่มา

ดร.เป็นหนึ่งกล่าวด้วยว่า การป้องกันเรื่องแผ่นดินไหว ภาคประชาชนสามารถทำได้มากกว่าภาครัฐ ในขณะที่รัฐอาจจะเป็นตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหว ประชาชนสามารถสร้างบ้านให้ป้องกันแผ่นดินไหวได้ ยกเว้นป้องกัน สึนามิเท่านั้นที่ทำไม่ได้ แต่ประเทศไทยไม่ทำ และไม่เคยคิดถึงการป้องกันเช่นนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: