ชี้'นโยบายรถคันแรก’กระทบยอดขายปี56 ดันยอดผลิตพุ่ง-เพิ่มมลพิษ-ปัญหาจราจร ป้ายแดงหมดสต็อก-เร่งเพิ่มอีก7ล้านแผ่น

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5991 ครั้ง

 

‘นโยบายรถคันแรก’ บริษัทรถยนต์ยอดขายพุ่ง

 

 

30,000 ล้านบาท คือราคาที่รัฐต้องจ่ายให้แก่ ‘นโยบายรถคันแรก’ นโยบายประชานิยม เพื่อคืนภาษีรถให้แก่ผู้ซื้อรถคันแรกไม่เกิน 100,000 บาท แม้ช่วงแรกจะดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าที่ควร แต่ถึง ณ วันนี้ พิสูจน์แล้วว่านโยบายดังกล่าวสามารถกระตุ้นการซื้อรถได้ชนิดมโหฬาร ผนวกกับสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ทำให้ยอดส่งมอบรถตกค้างมาจนถึงปีนี้ สร้างบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เมื่อสามารถทำยอดขายในเดือนมิถุนายนได้สูงสุดถึง 123,471 คัน เพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึง 75.7 เปอร์เซ็นต์

 

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ออกมาเปิดเผยยอดขายรถยนต์ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ที่มียอดขายรวมถึง 6.06 แสนคัน เติบโตเพิ่มขึ้น 40.4 เปอร์เซ็นต์ ของช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการทำลายสถิติอีกเช่นกัน

 

ด้านบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ก็ไม่น้อยหน้า โนบุยุกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ยอดขายรถครึ่งปีแรกสูงถึง 51,233 คัน เติบโตขึ้น 48.81 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยังพบด้วยว่ายอดการผลิตยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการกับการซื้อ ข้อมูลจากศูนย์บริการรถยนต์ต่างๆ ระบุว่า ไม่สามารถจัดหารถให้ลูกค้าได้ในระยะสั้น แต่ต้องใช้เวลาในการรอรับรถอยู่ที่ 3 เดือนขึ้นไปในรถบางรุ่น

 

ขณะที่ สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิเชียร เอมประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท โตโยต้า และโนบุยุกิ มูราฮาชิ กล่าวตรงกันว่า ปัจจัยหนึ่งของการทุบสถิติครั้งนี้ เป็นผลพวงจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และคาดการณ์ว่า ตลาดรวมรถยนต์ของไทยปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะสูงถึง 1.2 ล้านคัน หรือเติบโต 51 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่วิเคราะห์ว่า การเติบโตของยอดขายรถยนต์จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

ณ ปัจจุบัน มีผู้ยื่นขอคืนภาษีแล้วประมาณ 90,000 คน เงินที่ต้องจ่ายคืนประมาณ 7,000 ล้านบาท และยังมีผู้จองซื้อรถตามนโยบายรถคันแรก แต่ยังไม่ได้รับรถอีกกว่า 400,000 คัน คาดว่า ก่อนปิดโครงการในสิ้นปีนี้ยอดจองที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 500,000 คัน ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม

 

ระบุบิดเบือนโครงสร้างภาษี หวั่นกระทบยอดขายปีหน้า

 

พิจารณาจากแง่มุมเศรษฐกิจ นโยบายรถคันแรกก่อผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างยากจะปฏิเสธ สศค.วิเคราะห์ว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้ จะช่วยเพิ่มการบริโภคของภาคเอกชนถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้วที่โตเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ ‘ความเป็นธรรม’ ก็ชวนคิดไม่น้อยว่า ใครกันแน่คือ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการที่ประเทศต้องสูญเสียเงิน 30,000 ล้านไปกับนโยบายรถคันแรก

 

แน่นอน อุตสาหกรรมรถยนต์คือภาคส่วนที่ได้ประโยชน์เต็มที่ เปรียบเสมือนรัฐบาลเป็นผู้ทำการส่งเสริมการตลาดให้แก่บริษัทรถยนต์ไปโดยปริยาย แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์จัดเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการฟูมฟักประคบประหงม จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอด

 

ถึงกระนั้น ใช่ว่าจะไม่มีคำท้วงติงจากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับรัฐบาลกำลังบิดเบือนโครงสร้างภาษีทางการแข่งขันที่มีมาแต่เดิม ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการสร้างความต้องการเทียมและดึงกำลังซื้อในอนาคตของประชาชน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และหมายความว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีหน้า จะต้องเผชิญความท้าทายอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ราคาไม่แตกต่างกระทบตลาดรถยนต์มือสอง

 

 

นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ของเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว แห่งศูนย์ธุรกิจบัณฑิตโพลล์ ที่เคยวิเคราะห์ผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า หากใช้รายได้ 15,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายรถคันแรก จะมีอยู่ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่สัดส่วนของครัวเรือนที่น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้น่าจะน้อยกว่า เนื่องจากบางครัวเรือนมีรถอยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน สัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีอยู่ถึง 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกียรติอนันต์กล่าวว่า คนกว่าครึ่งประเทศต้องแบกรับภาระของคนกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าตนเอง

 

เจ้าของธุรกิจรถมือสองคนหนึ่งในจ.ชลบุรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจรถมือสองซบเซาอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถคันแรก เนื่องจากผู้ซื้อเห็นว่าราคารถใหม่เมื่อหักภาษีที่จะได้คืน ราคาสูงกว่ารถมือสองไม่มาก จึงตัดสินใจซื้อรถใหม่มากกว่ารถมือสอง ส่วนในอนาคต นักธุรกิจรายนี้ประเมินสถานการณ์ว่า ธุรกิจรถมือสองมีความเป็นไปได้ที่จะซบเซาต่อเนื่อง เพราะรถจำนวนมากที่ซื้อผ่านโครงการรถคันแรกไม่สามารถขายได้ภายใน 5 ปี รถที่จะเข้าสู่ตลาดรถมือสองจึงอาจลดน้อยลง

 

ป้ายแดงขาดแคลน ซ้ำเติมปัญหาจราจรเมืองกรุง

 

 

นอกจากนี้นโยบายดังกล่าว ยังส่งผลกระทบถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม ที่ออกมาเปิดเผยว่า ปริมาณป้ายทะเบียนรถใหม่หรือป้ายแดง กำลังขาดตลาดจากนโยบายรถคันแรก และรถใหม่ที่สั่งมาตั้งแต่ช่วงต้นปี คือ 7 แสนป้าย กระทรวงคมนาคมจึงต้องเปิดประกวดราคาหาผู้ผลิตป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่สูงถึง 7 ล้านแผ่น ในวงเงิน 227 ล้านบาท เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนของรถยนต์คันใหม่ที่จะออกสู่ท้องถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่นับปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องของหมวดอักษรที่กรมการขนส่งทางบกใช้ไปจนเกือบหมดทุกตัวอักษรแล้ว

 

จำนวนรถที่จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อรวมรถทุกประเภท พบว่า มีสูงถึง 7,128,650 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน 2,734,363 คัน จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเข้าสู่ท้องถนนเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะส่งผลต่อปัญหาการจราจรที่สาหัสอยู่แล้วอย่างไร

 

 

จวกรัฐกระตุ้นแต่เศรษฐกิจจนลืมคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

 

ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีถนนสายสำคัญรองรับอยู่เพียงประมาณ 4,700 กิโลเมตร ในมุมมองของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ไม่เพียงแต่จะส่งผลเรื่องมลภาวะที่รุนแรงขึ้น ยังจะทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อไปอีกหลายอย่าง

 

ดร.ธงชัยกล่าวว่า ปัญหาจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น หากมองในมุมของกายภาพก็เห็นได้อยู่อย่างชัดเจนว่าจะมีมลพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งสังคมรับรู้อยู่แล้ว เมื่อในอากาศมีมลพิษเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่เสื่อมลง เมื่อสุขภาพไม่ดีการทำงานก็มีประสิทธิภาพน้อยลง และส่งผลไปถึงเรื่องของสังคมอื่นๆ ไม่รวมถึงเรื่องงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลอื่นๆ อยู่แล้ว

 

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ธงชัยเชื่อว่าเป็นเรื่องของการสร้างนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ทั่วโลกรวมถึงไทยเองพยายามที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่นโยบายของรัฐบาลกลับไม่ได้มองในมุมนี้ เลือกที่จะกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งนโยบายรถคนแรกที่ถึงกับทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ผลิตสินค้าออกมาไม่ทัน หากพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า เป็นนโยบายที่ไม่ทำให้คนเห็นแก่สังคมส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำให้มีการบริโภคพลังงาน น้ำมันมากขึ้น ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และหากจะกลับไปแก้ปัญหาภายหลังก็เป็นเรื่องยาก เพราะเหมือนเป็นการปลูกฝังนิสัยแบบนี้ไปแล้ว

 

 

                      “แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไปผลักดันให้เปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เพราะเป็นมุมมองของนักการเมือง ที่อย่างไรก็ต้องอิงกับความพอใจของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระยะสั้น แต่จะส่งผลกระทบในระยะยาว การแก้ปัญหาก็จะลำบากมากขึ้น เพราะเหมือนเป็นการสร้างนิสัยให้กับคนไทยไปแล้ว อาจจะเรียกว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาก็ได้ คืออาจจะต้องรอให้ถึงวันที่คนไทยต้องซื้อน้ำมันลิตรละ 100-200 บาท เพราะน้ำมันหมดแล้วก็อาจจะทำให้คนเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง” ดร.ธงชัยกล่าว

 

 

เริ่งสร้างจิตสำนึก เพิ่มทางเลือกการเดินทาง

 

 

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในขณะนี้ แต่ในความคิดเห็นของ ดร.ธงชัยระบุว่า สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน คือต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า สิ่งที่ควรจะเป็นที่แท้จริงคืออะไร เช่น การต้องการถนนเพื่อให้ประชาชนใช้รถจักรยานมากขึ้น หรือการสร้างความสะดวกปลอดภัยในการเดินไปเพื่อต่อการขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยหากประชาชนต้องการสิ่งเหล่านี้มากขึ้น นักการเมืองที่เดินตามความต้องการของประชาชนก็จะจัดหา หรือทำนโยบายที่สนองความต้องการเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นเรื่องยากและต้องอาศัยเวลาเพราะปัจจุบันแม้ว่าจะมีการรณรงค์มานานแต่ด้วยความไม่สะดวกในหลายเรื่องเช่น ความปลอดภัยของจักรยาน การขนส่งมวลชนยังขาดคุณภาพจึงทำให้การรณรงค์ไม่ประสบความสำเร็จ

 

                      “ผมมองว่าเราจะต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่า เช่น การชี้ให้เห็นว่าแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนทั่วไปบางคนหรือส่วนใหญ่ พบว่ามีจำนวนสูงเกือบเท่ากับราคาผ่อนบ้านแล้ว และหากต้องการที่จะประหยัดเงินส่วนนั้นเขาจะต้องทำอย่างไร แต่ปัจจุบันข้อมูลสถิติเหล่านี้มีการจัดทำน้อยมาก ตอนนี้เราก็กำลังทำกันอยู่ แม้จะดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องยากแต่เราก็หมดหวังไม่ได้” ดร.ธงชัยระบุ

 

คพ.ชี้ชัดรถเพิ่มมลพิษเพิ่มแน่นอน

 

 

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรืองกิจ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปัญหาเดียวกันว่า ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ดำเนินการเรื่องของการดูและเรื่องของคุณภาพอากาศ ได้มองเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน เพราะการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ย่อมทำให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ คพ. ดำเนินการมา โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรตาม เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของรถใหม่อาจน่าเป็นห่วงน้อยกว่ารถเก่าๆ เนื่องจากรถใหม่จะมีการตรวจมาตรฐานอย่างเคร่งครัด และส่วนใหญ่มีการปรับปรุงมาตรฐานการใช้น้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 4 หมดแล้ว ทำให้อัตราการเพิ่มของมลพิษลดน้อยลง

 

 

                         “เรื่องของมลพิษจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อัตราการเพิ่มน้อยกว่ารถเก่า ๆ ที่จะหายไป ซึ่งอาจจะเป็นการเปลี่ยนให้เกิดรถรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานเรื่องของการปล่อยมลพิษที่ดีขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นเรื่องของการจราจรมากกว่า เพราะปัจจุบัน ในหลายพื้นที่มีรถติดมากอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มจำนวนขึ้นรถก็จะติดมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกรุงเทพฯ คือเรื่องของฝุ่นขนาดเล็ก, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจน และโอโซน ซึ่งปัญหานี้จะเกิดจากรถยนต์ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน คพ.กำลังพยายามหาทางป้องกันการปล่อยสารพิษเหล่านี้ โดยเฉพาะสารระเหยอินทรีย์จากน้ำมันเบนซิน ขณะนี้มีการควบคุมให้คลังน้ำมัน ปั๊มน้ำมันต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องควบคุมการปล่อยสารนี้ออกมา เพื่อป้องกันการเพิ่มมลพิษในอากาศให้มากขึ้น” นายวิเชียรกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: