โดยการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการดึงภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย ทำให้ได้รับรางวัลอโชก้าเฟลโลว์ ในฐานะผู้ทำงานร่วมกับชุมชน และท้องถิ่น เพื่อสร้างแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และเป็นผู้พัฒนาแนวทางการจัดการน้ำแบบใหม่ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมที่เหมาะสม และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานชุดแรกของประเทศไทย เรื่องการก่อสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ถาม : คิดว่าอะไรทำให้ได้รับรางวัลอโชก้าเฟลโลว์ ปีนี้
หาญณรงค์ : อันแรกน่าจะเป็นเพราะว่ามีคนเสนอเข้าไป เพราะเห็นว่าทำงานมานานแล้ว ก่อนหน้านี้เคยมีคนเสนอ แต่มูลนิธิอโชก้าบอกว่ายังมองไม่เห็นประเด็นที่เราทำ มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า มีคนเคยเสนอแต่ตกตั้งแต่รอบแรกขั้นพิจารณาความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะว่า ตอนนั้นยังทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย หลังจากไม่ได้ทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองฯ ก็มีคนเคยเสนออีก แต่ไม่เคยเสนอตัวเอง
ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งแต่แรก ๆ เพราะมูลนิธิอโชก้าอาจจะมองว่า ประเด็นที่เราทำเรื่องน้ำ เป็นเรื่องที่แรง เช่น เรื่องคัดค้านการสร้างเขื่อนของรัฐบาล คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องเขื่อนดีพอ ว่ามีผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาที่ทำมาตลอด ผมจะไม่พูดเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างเดียว แต่จะพูดเรื่องทางเลือกในการจัดการน้ำ และเรื่องการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย คนที่ทำงานมารุ่นเดียวกัน หลายคนได้ไปแล้ว บางคนอาจะเป็นรุ่นน้อง จนมีคนถามว่ายังไม่ได้หรือ ก็ตอบว่า ผมไม่รู้ เพราะไม่เคยเสนอตัวเอง คนที่คุยด้วยก็จะบอกว่า เขาจะเสนอให้ คนนั้นก็บอกจะเสนอให้ คนนี้ก็บอกจะเสนอให้
อีกประเด็นคือ ทุกครั้งที่เรานำเสนอเรื่องการคัดค้านเขื่อน เราจะต้องเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำไปด้วย เราเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2537-2538 ตั้งแต่สมัยที่เสนอเขื่อนแก่งเสือเต้นแรก ๆ เราพบว่าในทุ่งลุ่มน้ำยม มีพื้นที่ชุ่มน้ำราบลุ่มแม่น้ำยม ทำให้เราต้องไปค้นตำราบางเล่ม ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ และตั้งแต่ปี 2537-2538 มา ผมก็อยู่ในคณะทำงานวิชาการ เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ หลังจากทำงานวิจัยที่ป่าพรุคันธุลี ที่จ.สุราษฎร์ธานี ผมเป็นคนรับผิดชอบหลักในการลงไปทำ คือไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านว่า พื้นที่ป่าพรุมีความสำคัญอย่างไร
กระทั่งเข้ามาเป็นคณะทำงานวิชาการ และช่วงหลังมีการยกร่างทำรายงานพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้งบประมาณลงไปทำงาน ซึ่งสผ.ได้รับเงินจาก DANCED องค์กรจากประเทศเดนมาร์ก มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำ เมื่อรายงานที่มีรายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศ เราอยู่ในส่วนของการผลักดันจนเป็นมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านมาในคณะทำงานอยู่แล้ว บางครั้งเราต้องเข้าไปนั่งอยู่ในคณะอนุกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย ซึ่งเดิมก็คือมูลนิธิคุ้มครองฯ แต่เราต้องทำทั้ง 2 ส่วนนี้ จึงโยงมาเรื่องของการจัดการพื้นที่ชุมน้ำ ที่มาทำหลักช่วงหลังคือพื้นที่สามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม และมีงานวิจัยไทบ้านเรื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ประมาณ 6-7 แห่ง
นอกจากนี้เวลาที่มีงานสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนใหญ่คือป่าทาม ก็อยู่ในนิยามของการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยบทบาทเหมือนกับว่า ผมเป็นเครือข่ายในการไปผลักดันให้เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าใจว่า พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร รวมทั้งชาวบ้านด้วย แม้แต่ป่าพรุแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อ.ปะทิว จ.ชุมพร หรือ ที่สุราษฎร์ธานี
นี่คืองานที่ทำมา เวลาที่คณะกรรมการอโชก้ามาถาม เราก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง ว่าที่จริงพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเรื่องสำคัญคนมาถามยังไม่รู้เลยว่าพื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร พอเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่อันหนึ่งของประเทศที่ควรสงวนไว้
กรณีของพื้นที่สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ จะประกาศให้พื้นที่สามร้อยยอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ หรือแรมซาร์ไซด์ แต่ประกาศไม่ได้ชาวบ้านไม่ยอม เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจว่า พื้นที่ชุ่มน้ำคืออะไร ผมก็ต้องลงไปทำงานที่นี่ประมาณ 2 ปีกว่า ทำเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำกับเรื่องช้าง เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ จนวันนี้ชาวบ้านตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาดูแลพื้นที่ของตัวเอง เราออกมาเป็นพี่เลี้ยงอยู่ห่าง ๆ
สามร้อยยอดประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเมื่อปี 2551 ในขณะที่คณะทำงานตั้งใจจะประกาศตั้งแต่ปี 2541 เป็นที่แรกของประเทศไทย สุดท้ายประกาศเป็นที่ 11 ของประเทศห่างกันประมาณ 10 ปี จึงได้ประกาศ ซึ่งเสียเวลาไปมาก แต่การทำเรื่องแบบนี้ เราต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจ พาเขาไปดูงานแลกเปลี่ยนกับเขา และที่ได้มากคือครูรอบโรงเรียนทุ่งสามร้อยยอดได้หลักสูตรสิ่งแวดล้อม ช่วงของการปรับหลักสูตรใหม่ คือชุมชนได้นำวิชาว่าด้วยการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมาทำเป็นหลักสูตรของโรงเรียน 14 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน สามารถใส่เข้าไปในหลักสูตรได้ทั้งหมด ด้วยกระบวนการกลไกที่เราลงไปทำงานกับชาวบ้าน
ถาม : เรื่องหลักสูตรในโรงเรียนเหมือนเป็นผลพวงแต่กลายเป็นเรื่องใหญ่
หาญณรงค์ : ใช่ โรงเรียนนำหลักสูตรนี้ไปประกวดได้รางวัลที่ 1 ของประเทศ ตัวครูเองก็ได้ตำแหน่งทางวิชาการ แล้ววันนี้ที่นั่นมีหลักสูตรพื้นที่ชุ่มน้ำที่อ้างอิง ดีกว่านักวิชาการบางกลุ่ม หรืออ้างอิงดีกว่าคนที่มาเป็นผู้บริหารประเทศด้วยซ้ำ เพราะหลักสูตรนี้อ้างจากการแปลของ สผ.เลย เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ครูในโรงเรียนรอบสามร้อยยอดมี คือข้อมูลที่ถูกแปลมาจากสผ. นอกจากนี้ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาจัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำเองได้ติดต่อกันเป็น 10 ปี โดย ท้องถิ่น อบต.เป็นเจ้าภาพ ครูก็นำผลงานของตัวเองมาโชว์ ในงานที่จัดทุกครั้ง
การทำเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นงานที่ทำร่วมกับ สผ.และใกล้ชิดมากที่สุด เป็นหน่วยงานที่ให้เกียรติเรามากเวลาที่ทำงานร่วมกัน เช่น เวลาไปประชุมต่างประเทศสามารถหางบประมาณให้เราไปได้ หางบประมาณให้จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำ และช่วยในการให้ข้อเท็จจริงในการประชุมมากที่สุด ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ยอมรับภาคประชาชน และเราได้นำวิธีการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถือเป็นการจัดการแบบใหม่ เข้าไปสู่กลุ่มภาคประชาชน และเอ็นจีโอที่ทำงานด้วยกัน ถ้าอโชก้าคิดว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ของการให้รางวัล น่าจะเป็นเรื่องของการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่า
ถาม : เรื่องน้ำ เป็นประเด็นทรัพยากรที่ใหญ่ระดับโลก ทำไมอโชก้าไม่มองประเด็นน้ำ
หาญณรงค์ : เคยได้รับข้อมูลจากอโชก้าเฟลโลว์บางคนว่า น้ำไม่อยู่ในนิยามของทรัพยากร เขามองเรื่อง ดิน ป่า แร่ เป็นทรัพยากร แต่ไม่ใช่น้ำ เช่น เรื่องกฎหมาย ป่าไม้ ที่ดิน เรื่องชาติพันธุ์ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ถ้าเราเห็นบริบทการจัดการน้ำในโลกที่ผ่านมา นอกจากประเทศอินเดียที่มองการจัดการน้ำเป็นทางเลือก แต่ที่อื่นพอมีปัญหาขึ้นมาที่ลงไปทำคือ เอ็นจีโอที่จะต้องไปสู้กับหน่วยงานภาครัฐ แต่ของผมจัดการสองบทบาท หนึ่งอันไหนที่ไม่เห็นด้วยเราพูดชัดว่าไม่เห็นด้วย ผมว่าบทบาทนี้เราแสดงตัวมาชัดเจนใน 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องอ้อมค้อม เมื่อไม่เห็นด้วยบอกไปเลยว่าไม่เห็นด้วย แต่อันไหนที่เป็นทางเลือกในการจัดการเราจะบอกทางเลือกในการจัดการไปด้วย แต่ถ้าทางเลือกนั้นต้องใช้งบประมาณ แล้วไม่มีงบ หรืองบน้อยเขาอาจจะไม่เลือกทางนั้น
แต่บางพื้นที่ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำ (ประเทศไทย) ที่ผมเป็นประธานอยู่ ก็ลงไปทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลงไปทำข้อมูลให้กับหนองแซง สระบุรี ว่า ชุมชนต้องการใช้น้ำเท่าไหร่ อันนี้ก็ทำในบทบาทขององค์กร แต่บทบาทพี่ที่ผ่านมาอาจจะอยู่ในบทบาทของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐมากไป เรื่องนี้ต้องยอมรับ เพราะในเชิงของการจัดการร่วมกัน ต้องทำให้สังคมยอมรับและเข้าใจการจัดการอย่างนี้ อันนี้คือจากที่คุยกับคนอื่นมา มีคนมาบอกว่า เมื่อเราอธิบายผ่านสื่อ สังคมจะเข้าใจมากขึ้นว่าการจัดการน้ำคืออะไร การจัดการที่สมควรจะเป็นคืออะไร น้ำท่วมคืออะไร สมควรท่วมแค่ไหน ทางออกทางไหนได้บ้าง ไม่ใช่มีทางเดียว เมื่อก่อนเราจะเจอแค่ว่า ถ้าคุณไม่เอาเขื่อน คุณก็คิดอย่างอื่นมา ถ้าไม่สร้างตรงนี้จะย้ายไปสร้างตรงไหน แปลว่ายังไงก็ต้องสร้างเขื่อน
แต่วันนี้นวัตกรรมเรื่องการสร้างเขื่อนมันนานมาแล้ว ต้องหาแนวทางใหม่ในการจัดการน้ำ ให้มันไม่ตีบตัน เช่นทำบายพาสน้ำ หาพื้นที่รับน้ำที่เหมาะสม บทเรียนที่เราทำงานมา 10-20 ปี ทำให้เรามองทะลุว่าลุ่มน้ำนี้ควรจัดการอย่างไร ต้องมองให้เห็นภูมิประเทศแต่ละลุ่มน้ำที่ต่างกัน แล้วเราคิดว่าไม่ใช่มีแต่ภาครัฐที่จะมารับเหมาการจัดการน้ำ ชุมชนท้องถิ่นสำคัญที่สุดในการจัดการน้ำ
เมื่อก่อนอาจจะมองว่า กรมชลประทานทำได้ทุกอย่าง แต่ที่จริงไม่ใช่ กรมชลประทานมีขีดความสามารถเพียงการจัดหาพื้นที่ แต่การจัดการในแปลงขนาดเล็กต้องไปถามท้องถิ่นอยู่ดี ความสามารถของกรมชลฯไม่ได้มีเหมือนท้องถิ่น แต่ว่าถ้าท้องถิ่นสามารถดูแลต้นน้ำให้น้ำไหลได้ตลอดทั้งปี มีการจัดการน้ำ อันนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะผลักให้ท้องถิ่นจัดการและรับผิดชอบได้
ยังมีเรื่องของการก่อตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ พี่มีส่วนในคณะทำงานที่ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำควรจะมีอัตราส่วนเท่าไหร่ ควรจะมององค์ประกอบอะไรบ้าง ตั้งแต่ปี 2537-2538 ที่ก่อตั้งกรรมการลุ่มน้ำ พี่ก็วิพากษ์วิจารณ์เขาตั้งแต่ตอนนั้น จนมาถึงแผนโครงการ ธ ประสงค์ใด เราก็เสนอว่าทำไมไม่มีแผนที่ไม่ต้องก่อสร้างเข้าไปอยู่ในนั้นบ้าง จนเขายอมรับว่าต้องมีแผนที่ไม่ก่อสร้างบ้าง เช่น แผนไปทำงานร่วมกับสังคม การเกิดเวทีให้ชุมชนมีส่วนร่วม การเกิดคณะกรรมการลุ่มน้ำให้มีการถกเถียงกันในคณะกรรมการ อันนี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในแผน เรารู้สึกว่ามันค่อย ๆ ขยับไป แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
อีกประเด็นหนึ่งคือ พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญในระบบนิเวศ อยู่ในชุมชนในชนบทที่วันนี้กระจายอยู่ไปทั่ว ที่วันนี้ถูกเปลี่ยนแปลง ถูกทำลายไม่เคยมีการดูแล เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำไม่อยู่ในนิยามภาษาเรียนของนักศึกษาที่เรียนเรื่องระบบนิเวศ เรื่องป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นมีหมด แต่นิยามคำว่าพื้นที่ชุ่มน้ำไม่มี
ถาม : มีแนวคิดในการทำงานอย่างไร
หาญณรงค์ : ประเทศไทยเป็นของเรา เราต้องมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการที่จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการพัฒนาของรัฐ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านทุกคนในประเทศที่เห็นว่า นโยบายนี้ของรัฐมันไม่ถูกต้อง ต้องช่วยกันบอกว่ามันไม่ถูก เพราะประเทศไทยเป็นของทุกคน
ถาม มีแผนการอย่างไรต่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในอนาคต
หาญณรงค์ : ทางคณะกรรมการอโชก้าถามว่า อยากทำอะไรต่อไปใน 10 ปีนี้ ผมบอกว่า 1.จะผลักดันมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้อยู่กับพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นกฎหมาย ประมาณ 17 ข้อ ไม่ต้องเพิ่มเติมใหม่ ของเก่าที่มีอยู่ปรับเป็นภาษากฎหมาย และให้ชุมชนมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันนี้จะต่อยอดจากที่ทำมาตั้งแต่ต้น และที่เหลือมาดูว่าจะทำไปสู่ข้อบัญญัติของท้องถิ่นได้อย่างไร แต่จะได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับสังคมด้วย และต้องมีบทบาทเรื่องของการออกไปรณรงค์ให้เกิดความรู้ ให้สังคมได้รับรู้ก่อนที่ อันนี้จึงเป็นเหมือนงานต่อยอดของผม ว่าการจัดการน้ำที่เราทำมาตอนแรก และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำคือทางออก และที่เหลือเรามองว่า ถ้าเราจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำได้ แหล่งน้ำท้องถิ่นจะยังมีอยู่
ถาม : เหมือนกับอโชก้ามองด้วยว่า บทบาทการคัดค้านของเอ็นจีโอต้องมีทางออกด้วย
หาญณรงค์ : ใช่ คำว่านวัตกรรมใหม่ คือการผลักดันให้สังคมยอมรับวิธีคิดแบบใหม่ เหมือนที่คุณประยงค์ ดอกลำไย เสนอเรื่องโฉนดชุมชน ที่ผ่านมาถามว่าเราทะเลาะกับรัฐบาลไหม กลุ่มที่ทะเลาะเราก็ทะเลาะ แต่เมื่อทะเลาะเสร็จเราก็เป็นเพื่อนกัน แต่กลุ่มที่เราทำงานด้วยได้ก็ทำอย่างสผ. เพราะเราต้องการให้หน่วยงานราชการยอมรับแนวคิดในการทำงานและนำไปปรับใช้ได้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มแม่รำพึงที่ขัดแย้งกับ สผ.เรื่อง รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เมื่อ สผ.ลงไปทำเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ ชาวบ้านรับได้ นี่เป็นงานอนุรักษ์ ที่หน่วยงานราชการ และชาวบ้านเดินไปในแนวทางเดียวกันได้ ชาวบ้านไม่ได้ค้านรัฐบาลทุกเรื่อง แต่ถ้าผมไม่อธิบายให้ชาวบ้านฟัง สผ.เข้าพื้นที่ไม่ได้ ชาวบ้านจะแยกภาครัฐด้วยกันไม่ออก เราต้องวิเคราะห์ให้ชุมชนฟังว่า แต่ละหน่วยงานมีบทบาทต่างกัน หน่วยไหนที่ทำงานด้วยกับเราได้ ต้องทำได้ ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับทุกคน แต่ถ้าหน่วยงานไหน ที่เราชวนมาทำงานกับชาวบ้านแล้วยังไม่เข้าใจกัน ก็ต้องแตกกัน
ถาม : ขั้นตอนในการคัดเลือกใช้เวลานานขนาดไหน และใครเป็นคนเสนอชื่อ
หาญณรงค์ : ใครเสนอนี่ไม่รู้ แต่น่าจะเป็นคนที่เคยได้รับรางวัลแล้ว เพราะผมไม่ได้เสนอตัวเอง ซึ่งเราสามารถเสนอตัวเองได้แต่ผมไม่เสนอ วิธีการคือ อโชก้าใช้วิธีมาสัมภาษณ์ว่า เราทำอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง ที่รู้มาการเลือกจะเลือก 6 คนในประเทศไทย วิธีคิดคือ ประชากร 10 ล้านคน ต่อ 1 ล้านคน เข้าใจว่าที่อโชก้าคุยกับเรา เพื่อดูว่าเรามีแนวคิดตรงกับผู้ที่เสนอเรามาหรือไม่ เราทำงานอะไรบ้าง เรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สังกัดองค์กรไหน ได้รับเงินเดือนเท่าไหร่ แต่เนื่องจากว่า ผมตกงานมาตั้งแต่ปี 2541 แต่คิดว่ายังทำงานมากกว่าตอนที่อยู่มูลนิธิคุ้มครองฯ และทั้งหมดจะเสนอกับอโชก้าเฟลโลว์สากล ที่จะตัดสินอีกทีหนึ่ง ใช้เวลาประมาณเกือบปีกว่าจะตัดสิน
ถาม : คิดว่าเหมาะกับรางวัลอโชก้าหรือไม่
หาญณรงค์ : ถามว่าเหมาะกับรางวัลหรือไม่ เราคิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่จะเลือกรางวัลที่จะเสนอ ไม่ใช่จะเสนอทุกที่ที่มีรางวัล ไม่เคยเสนอรางวัลด้วยตัวเอง อโชก้าเฟลโลว์เป็นคนอื่นที่เสนอ และเห็นว่าเราทำงานอย่างนี้จริง ทุกวันนี้มีการประกวดรางวัลเต็มไปหมด แต่พื้นที่ที่เราทำงานมีจุดยืนคือไม่เสนอรางวัล แต่ถามว่า อโชก้าเฟลโลว์มาบังคับอะไรไหม เขาไม่ได้บังคับอะไร เขาให้เราทำงานแบบที่เราเคยทำมา อันนี้เราไม่เกี่ยง แต่ถ้าคุณให้รางวัลแล้วเราต้องไปทำตามที่เขาให้ทำ เราจะไม่รับรางวัลแบบนั้น แต่อโชก้าไม่มีเงื่อนไข และอโชก้าอาจจะให้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของเรา และเรายังมีจุดยืนในการทำงานแบบเดิม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ