เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 พ.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลอง การคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) มาบังคับใช้ดำเนินคดีแพ่ง 23 องค์กร กว่า 100 คน เข้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน พร้อมให้ผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสอง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
การยื่นคำร้องครั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่า การคิดคำนวณค่าเสียหายโดยใช้แบบจำลองฯ เป็นการคิดค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่สอดคล้องความเป็นจริง มีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงหลายประการ รวมทั้งการใช้แบบจำลองไปเรียกค่าเสียหาย เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองในเรื่องสิทธิชุมชนของประชาชนเอาไว้
นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ความคิดเห็นต่อแบบจำลองเพื่อคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม จากนักวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 16 คน ระบุว่ารายงานวิจัยดังกล่าว ยังไม่เคยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ จากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง คุณภาพของงานวิจัยอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ รายงานวิจัยยังไม่เหมาะสม มีข้อต้องปรับปรุงหลายประการ และนักวิชาการเกือบทั้งหมดสรุปว่า ผลการประเมินโดยรวมแล้ว ผลงานวิจัยอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี
ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาชนที่เข้ายื่นเรื่อง อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ มูลนิธิอันดามัน ฯลฯ
จากนั้น เวลา 13.30 น.ชาวบ้านเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เพื่อติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาคดีความโลกร้อนของรัฐบาล ที่แถลงไว้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 พร้อมเรียกร้องให้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน หลังจากมีการเข้าพบ และเจรจากับนายยงยุทธ ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายเดินทางกลับเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายในข้อ 5.4 ระบุว่า รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปการจัดการที่ดินจะเกิดขึ้นได้จะต้องทำให้เกิดการกระจายสิทธิในที่ดินอย่างยั่งยืน แนวทางสำคัญคือจะใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย จะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
สำหรับการฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ.47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย
โดยรายละเอียดการคิดค่าเสียหายแบ่งเป็น 7 กรณี คือ 1.ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2.ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3.ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4.ค่าทำให้ดินสูญหาย 5.ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6.ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7.มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ