คปก.ดันออกกฎหมายสิทธิชุมชน ลดขัดแย้ง-ประโยชน์สาธารณะ

29 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2179 ครั้ง

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชน พ.ศ....ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ

 

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า ควรให้ความสำคัญกับพ.ร.บ. สิทธิชุมชน เพราะแท้จริงสิทธิชุมชนเกิดก่อนรัฐไทย ชุมชนเกิดขึ้นก่อนรัฐ แต่ภายหลังเกิดการรวบอำนาจโดยรัฐ หากพิจารณาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับรองสิ่งที่มีอยู่เดิม แล้วหายไป รวมถึงที่รัฐริบไป และจะเห็นว่าหลังจากปี 2540 มีการขับเคลื่อนการใช้สิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้น และภาคประชาชนมีความพยายามผลักดันกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดเช่น ประเด็นปัญหาโฉนดชุมชน รวมถึงเรื่องเขตวัฒนาธรรมพิเศษของชาติพันธุ์ เพื่อรับรองสิทธิชุมชน แต่พบว่า รัฐยังเพิกเฉย ละเลย ไม่ให้ความสนใจ แม้จะมีการรับรองในรัฐธรรมนูญปี 2540และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ต้องไปออกกฎหมายลูก ในขณะที่หน่วยงานรัฐส่วนหนึ่งมีการอ้างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ,พ.ร.บ.ป่าไม้ พยายามจะทำให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลก็มีแนวโน้มรับรองความชอบธรรมดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

 

 

                    “ผู้ที่พัฒนาสิทธิชุมชนให้เป็นรูปธรรมคือประชาชน รวมทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ถูกพัฒนาโดยกระบวนการประชาชนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา คปก.เห็นว่าหากยังมีความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญกับสิทธิ แต่คปก.เห็นว่าควรทำกฎหมายนี้เป็นหลักการพื้นฐานเพื่อผูกพันหน่วยงานรัฐ เพราะมีกรณีที่หลายคนต้องติดคุก ต้องเสียชีวิตเพื่อให้ได้สิทธิชุมชน”

 

 

นายไพโรจน์กล่าวว่า การจัดหลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา ยังมีข้อถกเถียงว่า ชุมชนและรัฐควรมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากร ดังนั้นจะไม่มีหมู่บ้านเป็นตัวตั้งแต่ขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรเป็นสำคัญ โดยมีวัฒนธรรม ความเชื่อที่สัมพันธ์กัน หรือเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ต้องมีกติกาบางอย่างร่วมกัน ประเด็นต่อมาคือ สิทธิชุมชนซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้ง ก็ต้องตัดสินกันที่ว่าใครคือผู้รักษาฐานทรัพยากรเหล่านั้น หากต่างคนต่างอ้างสิทธิการเป็นชุมชน แล้วใครจะเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ได้จริง คงต้องมีกลไกบางอย่างมาตัดสิน ทั้งนี้ประเด็นต่าง ๆ ที่ภาคประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆตั้งข้อสังเกตไว้คปก.จะรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

 

รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่า 1.แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะบัญญัติไว้ในมาตรา 66, 67 อยู่แล้ว แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดในรายละเอียดว่า อะไรคือสิทธิชุมชน การบังคับใช้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดในรายละเอียด ก็อาจจะต้องคำนึงประเด็นนี้ด้วย 2.หากพิจารณารัฐธรรมนูญ ในมาตรา 303 การกำหนดการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ระยะเวลาที่ผ่านไป 5 ปีแล้วรัฐบาลไม่สนใจ ไม่ใยดี และไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ภาคประชาชนคงต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม 3.กฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่สามารถเขียนให้แคบกว่ารัฐธรรมนูญได้ ขอบเขตตามรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นหลักสำคัญ อย่างไรก็ตามความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้ระบบกฎเกณฑ์มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะจากรัฐเท่านั้นที่นำไปสู่การบังคับใช้ กฎกติกาของชาวบ้านที่ร่างร่วมกันหากไม่ขัดต่อหลักการก็ควรที่จะบังคับใช้ได้เช่นกัน

 

นายศักดิ์ณรงค์ มงคล เลขานุการกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวนำเสนอหลักการเบื้องต้นของร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชุนว่า หลักการที่ควรปรากฏในร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนฯ แบ่งเป็น 6 เรื่องได้แก่ 1.ความหมายและประเภทของชุมชน โดยนิยามความหมายของชุมชนจากลักษณะพื้นฐานอันได้แก่ ต้องมีกลุ่มคนอาศัยร่วมกัน โดยดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างเป็นปกติ และต้องมีกฎเกณฑ์ที่ยอมรับและใช้ร่วมกัน ส่วนประเภทของชุมชนกำหนด 3 ประเภท คือ ชุมชนซึ่งรวมถึงชุมชนเกิดใหม่ เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

 

 

2.ประเภทของสิทธิชุมชน การเขียนกฎหมายในประเด็นนี้ควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความของศาลหากมีกรณีเกิดขึ้น โดยการร่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และสิทธิเกี่ยวเนื่องตามความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

 

3.ผู้ทรงสิทธิชุมชน ควรประกอบด้วยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลและชุมชนทุกประเภทตามประเภทของชุมชนที่ระบุข้างต้น4.การใช้สิทธิชุมชน สิ่งสำคัญได้แก่ การใช้สิทธิชุมชนนั้น ต้องมีฐานแห่งสิทธิรองรับให้นำไปใช้ เช่น จารีตประเพณี หรือ ฐานความสัมพันธ์ทางธรรมชาติระหว่างบุคคลและความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ส่วนการลำดับความสำคัญสิทธิในกรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์สิทธิชุมชนและ/หรือประโยชน์หรือสิทธิส่วนบุคคล ให้พิจารณาโดยคำนึงหลักประโยชน์สาธารณะ แต่หากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงอยู่ของชุมชนก็ให้คำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้ยึดหลักพอสมควรแก่เหตุตามหลักกฎหมายมหาชนมาพิจารณาประกอบ

 

นายศักดิ์ณรงค์กล่าวว่า สำหรับกลไกพิเศษเพื่อการร่วมจัดการ บำรุงรักษา ใช้ หรือได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ จากแนวคิดกฎหมายทั้ง 5 ฉบับมีความหลากหลาย แต่ที่เห็นว่ามีความสำคัญ คือ การทำแผนร่วมกันในสังคม เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมซึ่งคำนึงถึงบทบาทของชุมชน ส่วนกรณีกลไกการระงับข้อพิพาท ให้คำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละภูมิประเภทเป็นสำคัญ จึงควรเปิดพื้นที่การวางหลักการเรื่องนี้ไว้สำหรับการแลกเปลี่ยนและการรับฟังความคิดเห็นในเวทีที่จัดขึ้นทั่วประเทศ

 

ผู้แทนภาคประชาชนให้ความเห็นว่า ปัญหาปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิชุมชนมักจะถูกรุกไล่จากรัฐ  บ่อยครั้งเกิดการเผชิญหน้าโดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งในเทือกเขาบรรทัด ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายสิทธิชุมชน  และประชาชนมีสิทธิจริงหรือไม่

 

นอกจากนี้ภาคประชาชนยังมีความเห็นว่า ประเด็นที่ยังไม่ชัดขณะนี้คือเรื่องพื้นที่ เพราะในความหมายของรัฐมีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณะ ที่ป่า อาจจะถูกทำให้นิยามว่า เป็นพื้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คิดว่าตรงนี้เป็นข้อกังวลของชาวบ้าน และคิดว่าประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การเข้ามาจัดการอะไรบ้าง เช่น การจัดการทรัพยากร แต่การที่กลุ่มทุนเข้ามาดำเนินการในเชิงธุรกิจไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องระหว่างชุมชนกับรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: