อีเวนท์หลังปรับครม.'ยิ่งลักษณ์3' กลุ่มอิตาเลียน-ไทยจับมือเพื่อไทย ร่วมวงเดินหน้าแผนลงทุนใน'พม่า'

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 29 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2985 ครั้ง

 

 

ดอกผลจากการเดินสายของพี่น้อง ‘ชินวัตร’

 

 

การเดินสายต่างประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรี ผู้น้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มออกดอกออกผล

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทย ประกาศแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้าน ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ทั้งโครงการป้องกันน้ำท่วมทั่วประเทศ 3.5 แสนล้าน โครงการถนน-รถไฟฟ้าความเร็วสูง-ท่าเรือทั่วทุกหัวเมือง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการที่เป็นที่จับตาของนักลงทุน นายธนาคารทั่วโลก รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) จัดโปรแกรมเดินทางมาเมืองไทย เป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง คือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย หรือทั่วโลกรู้จักในนาม “ทวายโปรเจกต์ (Dawei)”

 

บางแห่งมาเพื่อเจรจาปล่อยกู้ บางแห่งมาเพื่อเจรจาร่วมลงทุน เพราะแหล่งทุนทั่วโลกประเมินว่า เมืองไทยเป็นลูกหนี้ชั้นดี

 

ประกอบกับยุทธศาสตร์การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจ-การค้าทะลุไปถึงยุโรป อเมริกา กำลังหอมหวาน

 

ไม่มีใครรู้ว่า ปลายทางกำไรของผลการลงทุนมหาศาลของรัฐบาลไทย ใครเป็นผู้รับปันผลแบบจับเสือมือเปล่า ?

 

หากเคลียร์โปรแกรมส่วนตัว-โปรแกรมทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงตัว การจัดอีเวนต์ระดับภูมิภาคเอเชีย ด้วยการปรากฎตัวในไซด์ก่อสร้างท่าเรือทวาย ของ 2 ผู้นำประเทศ จะเกิดขึ้นกระหึ่มอาเซียนในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2555 หลังจากจับมือหลังฉากประชุมผู้นำโลกในนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยิ่งลักษณ์-เต็งเส่ง เจรจาข้ามฟ้าจับมือจากสหรัฐอเมริกา

 

 

ผลจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  หารือกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หลังเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 67 ณ มหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 23-29 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ความคืบหน้าการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย คืบหน้าไปอีกระดับ

 

มีทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งมีรองประธานาธิบดีเมียนมาร์ และรองนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประธานร่วม

 

รวมทั้งยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ แบ่งตามสาขาความร่วมมือ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาชุมชน กฎระเบียบ และการเงิน นอกจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นควรให้มีการจัดประชุมร่วมกัน โดยจะให้ไทยรับเป็นเจ้าภาพในการประชุม

 

ตามด้วยการตั้งวาระเพื่อพิจารณา ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการตั้งเรื่อง จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) หรือสภาพัฒน์ฯ “รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย)

 

 

แผนลงทุนไทย-พม่าระยะสั้น แก้กฎลงทุน-ลดภาษี-เปิดด่าน 5 แห่ง

 

 

เสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล ตั้งวาระการลงทุนทวายโปรเจกต์ ไว้ 2 ระยะ

 

1.ระยะเร่งด่วน ด้านการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนาม ใน MOU ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ให้เชื่อมโยงกับโครงการทวายด้วย ส่วนประเด็นที่ติดขัดข้อกฏหมาย จะมีการจัดประชุมคณะทำงานระดับรัฐมนตรี โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

 

พร้อมกับการเจรจาให้เมียนมาร์เปิดจุดผ่านแดนถาวร โดยการยกระดับให้จุดผ่านแดน เพิ่มเติมอีก 5 แห่ง ได้แก่ บ้านพุน้ำร้อน-ทิกี้ บ้านสิงขร-มูด่อง บ้านพระเจดีย์สามองค์-พญาตองซู บ้านกิ่วผาวอก-พอนพายิน แบะบ้านห้วยต้นนุ่น-แม่แจ๊ะ

 

และจะมีการสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในเมียนมาร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ในอนาคตจะมีนโยบายผ่อนปรนวงเงินสำหรับบุคคลธรรมดา หลังจากที่ปัจจุบันมีการเปิดเสรีในการแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับการลงทุน ไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับบุคคลธรรมดา และไม่จำกัดวงเงินสำหรับนิติบุคคล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับมาตรการด้านภาษี กรมสรรพากรจะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังจากที่ได้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 นอกจากนั้นจะกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ และเร่งรัดให้มีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

ส่วนความช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐบาลไทย กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว และระหว่างนี้ได้หารือร่วมกับ ITD และ JICA/METI อยู่เป็นระยะ ๆ

 

 

ขยับไปขยายถนนจากบ้านโป่ง-เมืองกาญจน์-ชายแดน

 

 

2.ระยะปานกลาง เป็นแผนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อจากบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์อย่างเต็มรูปแบบ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังอยู่ระหว่างขออนุมัติครม. เพื่อขยายส่วนเพิ่มถนนช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี โดยกรมทางหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

 

ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษสายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย/เมียนมาร์ ระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร กรมทางหลวงได้ลงนามในสัญญาจ้างศึกษาความเหมาะสมแล้วเป็นระยะเวลา 15 เดือน โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จในปลายปี 2556 และจะเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2558

 

ด้านการขนส่งทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมขออนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้ ในการก่อสร้างเส้นทางจากท่าเรือทวายถึงท่าเรือแหลมฉบัง ภายหลังที่ไม่ได้รับการพิจารณาในการเสนอให้ศึกษาเส้นทางก่อสร้าง จากที่หยุดรถบ้านเก่า-บ้านพุน้ำร้อน วงเงิน 15 ล้านบาท

 

ส่วนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายแดน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการจัดจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อประกอบการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม ในพื้นที่ด่านชายแดนพุน้ำร้อน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555

 

ทั้งนี้ในส่วนการสนับสนุนทางการเงิน สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย กระทรวงการคลังได้จัดตั้งคณะทำงาน โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสม และประเด็นสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชนของไทย กับญี่ปุ่นและเมียนมาร์ รวมทั้งแหล่งทุนที่เหมาะสม โดยคาดว่าเมื่อได้ทางเลือกที่เหมาะสมแล้วจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาและแต่งตั้งคณะเจรจาอย่างเป็นทางการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พม่าเดินหน้าท่าเรือทวายกับอิตาเลียน-ไทย

 

 

พร้อมกันนี้ฝ่ายเมียนมาร์ ได้รายงานความคืบหน้าด้วย แบ่งออกเป็น 8 ส่วน ได้แก่ 1.การลงนาม Framework Agreement (FA) มีการลงนามระหว่างการท่าเรือพม่ากับบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทบทวนเงื่อนไขของ FA ระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับอิตาเลียน-ไทย โดยมีผู้รับผิดชอบเป็นบริษัท Dawei Development Company จดทะเบียนในเมียนมาร์ ซึ่งมี ITD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

 

ด้านกฎหมายคุ้มการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ปัจจุบันเมียนมาร์ยังคงใช้กฎหมายคุ้มครองการลงทุนต่างประเทศฉบับเดิม สำหรับร่างกฎหมายฉบับใหม่นั้นนำเข้าเสนอเข้ารัฐสภาในเดือนสิงหาคม 2555 นอกจากนั้นที่ผ่านมาเมียนมาร์ยังได้ประกาศใช้ Dawei Special Economic Zone Law แล้ว รวมถึงยังได้จัดตั้ง Central Working Body และ Management Committee of Dawei Special Economic Zone ขึ้นมาดูแลโครงการในภาพรวมแล้ว

 

ส่วนการพัฒนาเส้นถนนเชื่อมโยงชายแดนไทย-เมียนมาร์ ได้ก่อสร้างถนนลูกรังเพื่อเชื่อมต่อโครงการและสะพานข้ามแม่น้ำชั่วคราวใกล้เสร็จสิ้น เหลือระยะทางก่อสร้างเพียงแค่ 10 กิโลเมตร โดยกำหนดแนวเส้นทาง Toll Road ล่าสุดระยะทาง 132 กิโลเมตร

 

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เมียนมาร์ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Halcrow และ Aurecon ในการออกแบบท่าเรือ และบริษัท GMAPS ในการศึกษาแผนการตลาด และสรรหานักลงทุนบริเวณท่าเรือที่มีศักยภาพ โดยจัดทำ Conceptual Work (Layout) และ Pre-feasibility Study เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัมปทานของโครงการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ราชบุรีโฮลดิ้งเข้าไปทำโรงไฟฟ้า-ใช้ถ่านหินเหมือนเดิม

 

 

ด้านโครงการโรงไฟฟ้า ได้ประสานงานกับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) โดยได้ลงนาม MOU ร่วมกับ ITD เพื่อศึกษา Feasibility Study ของโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ในช่วงแรกผู้พัฒนาโครงการ มีแผนที่จะใช้โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินสะอาด ขนาดรวม 613 เมกะวันต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยมีแผนเริ่มจ่ายไฟในปี 2557-2559

 

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเมียนมาร์ได้อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อการก่อสร้างในเฟสแรกขนาด 400 เมกะวัตต์ แล้ว โดยแผนเบื้องต้นแบ่งเป็นโรงไฟฟ้า LNG ขนาด 33 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการในปี 2557 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 120 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการในปี 2558 และโรงไฟฟ้าถ่ายหินสะอาด ขนาด 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินการในปี 2559

 

 

ให้ 2 รัฐวิสาหกิจลงขันเฟดแรก 1 แสนล้าน-ทุนญี่ปุ่นไม่ตกขบวนรับ 2 เด้ง

 

 

หลังโครงการเป็นรูปเป็นร่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้พิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงิน สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโครงการทวาย

 

ทั้งนี้ตัวแทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและอิตาเลียน-ไทย ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า ควรเปิดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุน โดยอาจจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สนใจลงทุน

 

 

ข้อสรุปของฝ่ายรัฐบาลไทย ในการทำแผนลงทุน คือ 1.กำหนดประเภทธุรกิจที่รัฐบาลควรเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน เช่น  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.จัดทำโครงสร้างเงินลงทุน และ 3.ที่มาของแหล่งเงินทุน ทั้งนี้มีข้อเสนอ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เข้าถือหุ้นในโครงสร้างการลงทุนด้วย

 

และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารแหล่งเงินกู้ ที่มาจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)  จึงต้องมีการปรับสัดส่วนหุ้นใหม่ ในอิตาเลียน-ไทย ด้วย

 

นักวิเคราะห์แผนการลงทุนขนาดใหญ่อย่างสภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นมาก เพราะโครงการทวายจะเชื่อมโยงกับอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย และนักลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ด 80 เปอร์เซนต์ ก็เป็นทุนสัญชาติญี่ปุ่น

 

เช่นเดียวกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่อธิบายโครงการนี้ผ่านสาธารณะว่า รัฐไทยตั้งเป้าแนวทางสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการทวายไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งต้องร่วมมือกับพันธมิตรการที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลไทย เช่น ดึงญี่ปุ่น พม่าเข้ามาร่วมด้วย

 

 

ต้นทุนรัฐบาล-เพื่อไทย-กำไรไอ้โม่ง ?

 

 

ถ้อยแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจไม่กล้าส่งเสียงดัง เพราะเสียงอาจก้องไปส่องทับเรื่องปมผลประโยชน์ทับซ้อน ที่คนการเมืองครหากันไว้ล่วงหน้าว่า มีอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ค่าจับเสือมือเปล่า จากการลงทุนมหาศาลในชายแดนประเทศไทย และชายแดนพม่า

 

มีแต่คำอธิบายของส่วนราชการ เจ้าของทุน และกุนซืออดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย อย่าง นายพันศักดิ์ วิญรัตน์ ที่แสดงวิสัยทัศน์เรื่องทวายโปรเจ็กต์ ไว้ว่า

 

 

              “ทวายไม่ใช่เป้าสุดท้ายของเรา หรือของญี่ปุ่น ทวายเป็น transits point  ไปสู่อินเดีย อัครมหาเศรษฐีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งของโลก และไปสู่ Gulf state (กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอารเบียน) และไปสู่ยุโรป โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ประหยัดค่าต้นทุน ค่าประกัน ที่สำคัญของสินทรัพย์ญี่ปุ่น ซึ่งลงทุนในไทยมาเป็น 50-60 ปี โดยใช้ทวายเป็น transits ผ่านไปขายยังอินเดีย”

 

 

               “การที่นายกฯยิ่งลักษณ์ไปคุยกับอินเดีย อินเดียจึงอยากสร้างถนนจากทางเหนือของอินเดียเข้าพม่า”

 

 

เขาบอกว่า ทวายโปรเจ็กต์เป็นการต่ออายุให้กับโครงสร้างการลงทุนทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ในประเทศไทย นั่นคือการจ้างงานต่อเนื่องของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่จ้างงานคนไทยอย่างน้อยเกือบล้านคน และยังจ้างงานข้างเคียงอีกเกือบ 2 ล้านคน

 

 

ทุ่มโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 2.27 ล้านล้านบาท

 

 

ดังนั้น รัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐบาล จึงต้องสื่อสารตรงกันว่า “รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ด้วยการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท จะผลักดันก่อสร้างระบบราง มอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกทวาย กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ในเส้นทางอีสต์เวสต์คอริดอร์ และนอร์ทเซาท์คอริดอร์ ผ่านท่าเรือน้ำลึกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง”

 

น่าสนใจว่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 25 ตุลาคม 2555) ขณะที่การเมืองไทยหยุดหายใจด้วยวาระการปรับคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” บริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เรียกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เพื่อประชุมชี้แจงความคืบหน้าในการลงทุนโครงการทวาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นการประชุมนักวิเคราะห์ครั้งสำคัญในรอบ 24 เดือน หลังเห็นเค้าลางตัวเลขเงินลงทุนที่รัฐบาลเพื่อไทยใส่ลงไปในท่าเรือน้ำลึก 2 ชาติ

 

บริษัท อิตาเลียน-ไทย แสดงให้เห็นความพยายามเปิดโครงการให้เร็วขึ้น เป็นต้นปี 2557 จากเดิมกำหนดสิ้นปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลพม่า

 

คล้อยหลังการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีกำหนดการของทำเนียบรัฐบาล 26 ตุลาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมการจัดเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ และนายพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมด้วย

 

 

‘อิตาเลียน-ไทย’ ให้รัฐหนุนทุนหวังดุงนักลงทุนอื่นหุ้นด้วย

 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือแนวทางการระดมเงินทุน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งมีการรายงานในที่ประชุมว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับสัมปทาน ต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งจัดทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มประชุม JHC ที่จะเกิดขึ้นในไทยช่วงวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2555

 

คาดว่าในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย.55 นายญาณ ทุน รองประธานาธิบดีพม่า จะนำคณะมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ JHC ที่มีนายกิตติรัตน์ เป็นประธาน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย โดยนายญาณ จะมีกำหนดเข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ระหว่างการเยือนไทยด้วย

 

 

การลงทุนในนามใช้วงเงินลงทุนบริษัททวาย ดีเวลลอปเมนท์ (DDC) ซึ่งเป็นบริษัทลูก หลังจากนั้นรอจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจ หรือ SPV เพื่อดำเนินการโครงการ โดย SPV จะเป็นเจ้าของทั้ง 2 โครงการ ส่วน DDC จะถือหุ้นใน SPV 25 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือรัฐบาลไทยจะเป็นผู้หาพันธมิตรอื่น ๆ เข้ามา ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นอาจเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์

 

สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัทอิตาเลียน-ไทย ในรอบ 10 เดือน ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.84 %จากราคา 3.62 บาทเป้น 3.94 บาท โดยราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 4.08 บาท และต่ำสุดที่ 3.04 บาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.65 บาท

 

ต้องจับตาดูว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ภายใต้การขับเคลื่อนการลงทุนโดยเงินภาษีของรัฐไทย ใคร ? จะเป็นผู้ได้รับผลผระโยชน์ที่ปลายทาง ดินแดนที่อยู่ชายแดน 2 ประเทศ ที่ประวัติศาสตร์ระบุว่าเคยทำสงครามยืดเยื้อกันนานกว่าครึ่งศตวรรษ

 

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: