ถกทางออก'ชุมชนรถไฟ' สายสีแดง‘ตลิ่งชัน-ศิริราช’

29 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3144 ครั้ง

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตกและเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมจัดเวทีเสวนา รถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช กับทางเลือกเพื่อความเป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัย” ที่ชุมชนบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอทางเลือกต่อการทำโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช ในแบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำโครงการบ้านมั่นคงของชุมชน และนำทางเลือกดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนกับภาคประชาสังคมและสื่อสารต่อสาธารณชน

 

จากรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช โดยมีพื้นที่ 4 ชุมชน คือบางกอกน้อย 1, บางกอกน้อย 2, บางกอกน้อย ฝั่งวงเวียนกลับหัวรถจักร และบางระมาดรวมอยู่ในโครงการด้วย ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนดังกล่าวต้องย้ายออกไปจากพื้นที่ ทั้งที่ได้พัฒนาพื้นที่มาในระดับหนึ่งแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง

 

ทั้งนี้ชาวชุมชนระบุว่า จากการสอบถามบริษัทออกแบบพบว่า แนวก่อสร้างของโครงการจะอยู่บริเวณรางรถไฟฝั่งขวา ซึ่งจะใช้พื้นที่ราว 18 เมตร จากศูนย์กลางรางเดิม ดังนั้นจึงเสนอขอใช้พื้นที่ประมาณ 12 เมตร เพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่ดังกล่าวชุมชนมีสัญญาเช่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการเจรจายังไม่มีข้อยุติ เพราะการศึกษาของบริษัทที่ออกแบบระบุว่า การรถไฟฯ ต้องการใช้พื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดินบริเวณแนวเส้นทางและสถานี จูงใจให้เกิดการลงทุน ล่าสุดการเจรจาในกรณีปัญหาดังกล่าวจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 30 ตุลาคม 2555

 

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ย้ำต้องการให้ชุมชนอยู่ได้ โครงการก็อยู่ได้

 

 

นางประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราชทั้ง 4 แห่ง ได้ร่วมกันเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยการเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ เพื่อทำโครงการบ้านมั่นคงตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันได้ทำสัญญาเช่าที่ดินแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการทำโครงการบ้านมั่นคง และหลังจากรับข้อมูลว่า จะมีโครงการดังกล่าวเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ก็ได้พยามยามเคลื่อนไหวเพื่อเสนอการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยใช้แนวทาง “แบ่งที่ดินให้ชุมชนอยู่ได้ และโครงการก็อยู่ได้”

 

นางประทินกล่าวว่า ข้อเสนอของชาวบ้านคือการแบ่งใช้ที่ดิน โดยโครงการฯ ใช้พื้นที่จริง 18 เมตร จากศูนย์กลางรางเดิม และเหลือพื้นที่ให้ชุมชนเช่าอยู่ 12 เมตร ซึ่งจะนำมาแบ่งเป็นพื้นที่สร้างบ้าน 10 เมตร และทำถนน 2 เมตร แต่การรถไฟฯ ต้องการให้ชาวชุมชนออกจากพื้นที่ทั้งหมด เพราะหากให้ชาวบ้านอยู่ต่อไปจะเก็บค่าเช่าได้น้อย แต่หากเก็บเอาไว้ให้เอกชนประมูลทำโครงการอื่น ๆ เช่น การปรับภูมิทัศน์จะทำรายได้ให้มากกว่า ซึ่งจากประสบการณ์ชาวชุมชนเกรงว่าจะมีการหมกเม็ดดำเนินการดังกล่าว ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของโครงการบ้านมั่นคงอย่างสิ้นเชิง

 

 

ชง 3 ข้อลดผลกระทบต่อชาวชุมชน

 

 

ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ว่ามี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.การดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช ให้ดำเนินการในรัศมี 18 เมตร และให้ยกระดับแนวรางรถไฟ ส่วนรัศมีอีก 12 เมตรที่เหลือให้จัดเป็นที่อยู่อาศัย

 

2.กรณีการสร้างสถานีจรัญสนิทวงศ์ ให้ก่อสร้างในแนวพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อศูนย์พักคนไร้บ้าน โดยลดขนาดสถานีลง หรือขยับไปใช้พื้นที่จอดรถขยะของสำนักงานเขตบางกอกน้อยแทน 3.กรณีการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถจักรบริเวณสถานีธนบุรี ให้ลดระยะรางลงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่เช่าที่ดินอยู่อาศัยบริเวณวงเวียนกลับหัวรถจักร

 

 

อยู่ร่วม ‘ชุมชน-รถไฟ’ ด้วยการปรับภูมิทัศน์โดยชุมชน

 

 

ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การก่อสร้างรางรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา แต่การรถไฟฯ อาจหลงลืมว่า ในพื้นที่โครงการมีคนอยู่ ซึ่งจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้พัฒนาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาคน และสำหรับความเป็นไปได้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมตามข้อเสนอของชาวชุมชนนั้นทำได้ แต่จะให้ดีที่สุดเสนอว่าควรมีพื้นที่สร้างบ้าน 13 เมตร และพื้นที่ถนน 3 เมตร เพื่อให้รถพยาบาลและรถดับเพลิงเข้าไปบริการในชุมชนได้

 

อย่างไรก็ตาม การออกแบบสถาปัตยกรรมในขณะนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนของชาวบ้าน ที่จะมีข้อตกลงที่แน่ชัดกับการรถไฟฯ ส่วนในฐานะสถาปนิก สามารถมาช่วยเสริมได้ในขั้นตอนหลังจากที่การรถไฟอนุญาตให้ใช้พื้นที่ หรือหากต้องการให้ออกแบบอาคารในชุมชนร่วมกับการรถไฟฯ

 

ดร.ฤทธิรงค์กล่าวต่ว่า ในส่วนของการปรับภูมิทัศน์ เสนอการสร้างบ้านให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์ ให้คนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม หากมีการดูแลบ้านที่ดี ชุมชนสวยงาม ภูมิทัศน์ก็จะดูดีตามไปด้วย อีกทั้งการรถไฟฯ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาดูแล ถือเป็นการปรับภูมิทัศน์โดยชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะการรถไฟฯชูนโยบายยุติไล่รื้อเป็น CSR

 

 

ทางด้าน นางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาสำคัญของไทยและสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่สูง อย่างไรก็ตามในไทยยังมีการแก้ปัญหาที่ดินในเขตเมืองโดยใช้การแบ่งปันที่ดิน (Land sharing) ดังกรณีของที่ดินการรถไฟฯ ที่มีการเจรจาเช่าที่ดินของชุมชน และในกรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กับชาวบ้านซอยเซ่งกิ่ง ซึ่งเป็นกรณีแรก ๆ ที่มีการแบ่งปันที่ดิน หรือกรณีที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ลงทุนก่อสร้างอาคารให้ชาวชุมชนอยู่ โดยแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งที่ได้คืนเพื่อสร้างอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังดำเนินนโยบายไม่ไล่รื้อที่ดินด้วย

 

นางปรีดากล่าวว่า ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ และการรถไฟมีสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ทั้งนี้ ในส่วนของการรถไฟฯ น่าจะนำตรงนี้มาทำ CSR (Corporate Social Responsibility: ความรับผิดชอบต่อสังคม) โดยทำให้เป็นแนวนโยบายที่ชัดเจนเหมือนกับที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ทำ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการโฆษณาในตรงนี่เท่าไรนัก นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นโอกาสดีในการแก้ปัญหาคนจนเมืองซึ่งไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงและการเผาไล่รื้อที่ดิน

 

 

เปลี่ยนแนวคิดต่อคนจนเมือง-หนุนประชาธิปไตยกินได้

 

 

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาของชุมชนมีแนวทางที่ดีขึ้น จากที่สังคมเคยมองชุมชนเหมือนเป็นเนื้อร้ายของเมืองที่ต้องตัดทิ้ง เปลี่ยนเป็นหันมามองอย่างเข้าใจมากขึ้นว่า คนเหล่านี้เป็นผลพวงหนึ่งของการพัฒนา และคนที่อยู่ในสลัมก็ได้เข้าไปหนุนเกื้อกับเศรษฐกิจของคนที่เป็นลูกจ้าง แรงงานในเมือง ถือเป็นเศรษฐกิจนอกระบบที่เกื้อหนุนคนในระบบซึ่งจะมองแยกกันไม่ได้ การมองด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ นี้ เป็นทางออกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหา

 

ดร.ประภาสเสนอว่า กระบวนการตัดสินใจสำหรับนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ ควรมีการเจรจา มีผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมหาทางออก ทางเลือก ตรงนี้ถือเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมในการตัดสินใจร่วมกันซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนั้นควรมีการปรับทัศนคติเรื่องการใช้ที่ดิน ในกรณีการใช้ที่ดินสาธารณะ ที่ดินของรัฐ เช่นที่ราชพัสดุ ที่ดินทหาร เพื่อการทำธุรกิจควรต้องมีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และควรปรับให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยเห็นกับชีวิตของผู้คนมากขึ้น

 

สำหรับการปรับภูมิสถาปัตย์ ควรมองคนจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง แล้วการออกแบบก็จะให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งพยายามคิดร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทางรถไฟยกระดับ ทางออกที่เห็นร่วมกัน

 

 

ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่าวันนี้รู้สึกดีใจที่ได้เห็นข้าราชการ นักวิชาการ สถาปนิก ที่มองเห็นคนเป็นคน จากที่เคยพบแต่กลุ่มคนที่มองเห็นคนไม่มีคุณค่า เพราะตกอยู่ในอำนาจของนักเศรษฐศาสตร์ ที่มองเห็นแต่ตัวเลข โดยไม่คิดว่าได้สร้างความทุกข์ยากให้กับผู้คน พร้อมทั้งเสนอถึงการสร้างทางรถไฟยกระดับซึ่งจะช่วยรองรับการพัฒนาของเมืองได้ และจะช่วยให้ชาวบ้านสามารถสร้างบ้านอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงด้วย

 

ขณะที่ สุชิน เอี่ยมอินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว แสดงความเห็นสนับสนุนข้อเสนอเรื่องทางรถไฟยกระดับ โดยกล่าวว่า จะทำให้ชุมชนสามารถขยับพื้นที่ไปได้ราว 14 เมตร พร้อมยกตัวอย่างของกรณีรถไฟฟ้าที่สร้างใกล้กับอาคารสูงได้ โดยเว้นระยะไม่กี่เมตร และยังระบุว่า ระยะ 12 เมตรตามที่ชาวบ้านขอใช้พื้นที่ก่อนหน้านี้ ถือว่าหลังชนกับปากเหวแล้ว แต่ก็ต้องยอมเพราะชาวบ้านต้องการที่จะอยู่ในพื้นที่เดิม และเรื่องต่อมาที่อยากให้คำนึงถึงคือ ความปลอดภัยของชาวชุมชนในเรื่องถนนที่กว้างเพียงพอสำหรับใช้สัญจร โดยเฉพาะเมื่อเกิดไปไหม้หรือสำหรับรถพยาบาล

 

 

บอร์ดการรถไฟฯ แจง ‘เว้นระยะความปลอดภัย’ ไม่เกี่ยวนำพื้นที่ไปใช้ทำธุรกิจ

 

 

ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ขณะนี้การรถไฟฯ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช สำหรับกรณีการเว้นพื้นที่ด้านข้างทางรถไฟนั้น เป็นการเว้นระยะความปลอดภัยจากเสาไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากทางรถไฟสร้างคู่ขนานไปกับทางรถไฟฟ้า จึงต้องกันพื้นที่และทำรั้วกั้นตลอดแนว ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการนำพื้นที่ไปใช้ทำธุรกิจ เพราะถ้าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เอกชนก็มาลงทุนอะไรไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำการปรับภูมิทัศน์ตลอดเส้นทาง

 

ส่วนข้อเสนอให้ทำทางรถไฟยกระดับ นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า การทำทางรถไฟยกระดับนั้น นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน โครงการดังกล่าวยังมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ และรองรับการจราจรที่ขยายตัวด้วย ทั้งนี้การทำทางรถไฟยกระดับจะต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 400-500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช ยังไม่ผ่าน ครม.โดยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล การนำปัญหาต่าง ๆ ออกมานำเสนอและร่วมพูดคุยกันถือเป็นสิ่งที่ดีต่อการดำเนินโครงการต่อไป

 

 

 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อเสริมโครงข่ายแก้ปัญหาการจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น รูปแบบโครงการจะก่อสร้างทางใหม่ขึ้นมาอีก 1 เส้นทาง บนเขตทางเดิมที่เหลืออยู่ 30 เมตร ซึ่งจะวิ่งคู่ไปกับเส้นทางรถไฟเดิม สำหรับโครงสร้างงานโยธาเป็นทางระดับดิน มียกข้ามจุดตัด 2 แห่ง คือ บริเวณแยกฉิมพลีและแยกจรัญสนิทวงศ์ ส่วนสถานีที่จะก่อสร้างมีทั้งหมด 3 สถานี คือ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงอีก 1 แห่งนั้น จะตั้งอยู่ใกล้กับสถานีปลายทางคือ สถานีธนบุรี-ศิริราช

 

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และใช้ที่ดินเขตทางของการรถไฟฯ แต่มีปัญหาอุปสรรค คือจะต้องโยกย้ายชุมชนริมเขตทางรถไฟที่มีอยู่หนาแน่น ทั้งเขตตลิ่งชันและบางกอกน้อยร่วม 67 ชุมชน ประเมิน 1,000 ครัวเรือน

 

โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นเส้นทางต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้ก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้ว รอวันเวลาเปิดบริการเต็มรูปแบบพร้อมสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต อีก 4 ปีข้างหน้า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: