สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช.เจาะประเด็น “คุมเข้มเด็กเล่นเกม : ลิดรอนสิทธิหรือช่วยสร้างสรรค์” เนื่องในโอกาสวันประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยปัญหาเด็กติดเกมถือเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนเข้าร่วม
เด็กติดเกมน่าห่วง สถิติขยับขึ้นทุกปี
น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กติดเกมพบว่า ล่าสุดมีสัดส่วนถึง 14.4 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 ถึง 9 เปอร์เซนต์ และปี 2549 อยู่ที่ 4 เปอร์เซนต์ โดยแนวโน้มขณะนี้คือ เพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นต้องมีการบำบัดรักษา โดยทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ได้เข้าไปดูแลโรงเรียนทั่วประเทศ 24 แห่ง ใน 6 จังหวัด ที่เป็นตัวแทนแต่ละภูมิภาค พบว่าโรงเรียนได้ขอความช่วยเหลือใน 2 เรื่อง คือ เด็กติดเกม และเด็กมีปัญหาการเรียนจากโรคสมาธิสั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลที่ต่อเนื่องกัน
กระทรวงสาธารณสุขยังมีการเปิดคลินิกในโรงเรียน ชุมชน หรือตามคลินิกเอกชน เพื่อกระจายการรักษาไปสู่ระดับอำเภอหรือชุมชน แต่พบว่าไม่มีเด็กเข้ามาบำบัด ทั้งที่พ่อแม่ของเด็กที่มีปัญหา ควรรีบนำเด็กเข้ามารักษาโดยด่วน เพราะอาการจะดีขึ้น ล่าสุดปัญหาติดเกมได้ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงสมาคมจิตแพทย์สหรัฐหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญแล้ว ขณะที่ประเทศจีนมีการนำเด็กติดเกมเข้าฝึกในค่ายทหาร ส่วนเกาหลีสร้างฝ่ายจิตเวชสำหรับเด็กติดเกม ดังนั้นถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องช่วยกันเยียวยาแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีความซับซ้อนมากก็ตาม
แจกแท็บเล็ตป.1 ไม่มีการประเมินผลกระทบสุขภาพ
ด้าน น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดเกม ติดไอที ติดแชท เป็นปัญหาใหม่ในสังคมไทย ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบาย โดยมีข้อเสนอการแก้ปัญหาที่สำคัญคือ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ รวบรวมความรู้และเผยแพร่ให้เห็นผลดี-ผลเสียของไอที ขณะที่ในระดับครอบครัว เยาวชน ชุมชน และโรงเรียนต้องมีระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะนโยบายการแจกแท็ปเล็ต เด็กป.1ยังไม่มีระบบการดูแลผลเสียที่เกิดขึ้น
2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนพื้นที่และสร้างทางเลือกในกิจกรรมอื่นๆแก่เด็กและครอบครัว
3.สร้างระบบความปลอดภัยให้เด็ก เช่น การเล่นเกมต้องระบุเลขบัตรประชาชน เพื่อการจำกัดเวลา จำกัดอายุเด็ก การใช้เงินอย่างจำกัดในการเล่นเกม โดยทุกร้านเกมควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างสรรค์สำหรับเด็ก มีผู้ให้คำแนะนำสิ่งดี ๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ ซึ่งผู้รับผิดชอบในทางปฏิบัติก็คือ คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
บริษัทผลิตเกมออกแบบให้เด็กติดนานๆ ไม่สร้างระบบป้องกัน
น.พ.อดิศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 46 (7) ระบุว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก” โดยเฉพาะการเล่นเกม ซึ่งผู้ผลิตเกมตั้งใจออกแบบให้คนติดเกมนาน ๆ ตรงนี้ถือว่าผู้ผลิตรู้อยู่แล้ว แต่ไม่สร้างระบบป้องกันให้เด็ก น่าจะผิดกฎหมาย และเท่าที่ทราบการออกแบบ 1 เกมต้องใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่ผลที่ออกมาคุ้มค่า เพราะมีบริษัทเกม ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ต่อมาขยายเป็น 300 ล้านบาท
ชี้กฎหมายควบคุมล้าสมัย เจออิทธิพลขวางการตรวจสอบ
นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านเกมทั่วประเทศอยู่ 5,000 แห่ง กระทรวงวัฒนธรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตแล้วกว่า 10 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 20 แห่ง แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตมากกว่า 100 แห่ง ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า เวลาไปตรวจสอบจะถูกอิทธิพลในท้องถิ่น หรือเจ้าของร้านเป็นกลุ่มของผู้มีอำนาจ แม้แต่ในเขตกทม.ก็ตาม จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่
การแก้ปัญหาของกระทรวงวัฒนธรรม ได้เร่งแก้ไขกฎหมายควบคุมสิ่งที่ยังล้าสมัย ไม่ทันสถานการณ์ และเตรียมออกพ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ จะทำให้มีเม็ดเงินมาพัฒนาสื่อทางเลือกใหม่ และยังมีการสนับสนุนร้านเกมสีขาว มีการควบคุมเวลาเล่น เช่น เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นได้ตั้งแต่ 14.00 -22.00น. หรือตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เล่นได้ตั้งแต่ 10.00 -22.00น. เป็นต้น และจะมีการออกเรทติ้งเกมว่า รูปแบบใดที่เด็กทั่วไปเล่นได้ หรือต้องจำกัดอายุ
“ขณะนี้ปัญหาเรื่องเนื้อหาไม่ใช่แค่ในร้านเกมแล้ว แต่ยังลามไปถึงโทรศัพท์มือถือที่ดูแลยาก และเกินอำนาจของกระทรวงวัฒนธรรม และอนาคตโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะสร้างปัญหามากกว่าเกม เด็กสามารถเล่นเกมออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก กำลังเผยแพร่อย่างรวดเร็วมาก” นายประดิษฐ์กล่าว
ปัญหาร้านแกมในชุมชนรองจากยาเสพติด
ด้านมุมมองของผู้ปกครอง นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เปิดเผยงานสำรวจโดยกลุ่มครอบครัวอาสาจำนวน 1,186 คน พบว่า ในพื้นที่สำรวจมีร้านเกมตั้งอยู่ถึง 81 เปอร์เซนต์ และในห้างสรรพสินค้ารอบชุมชนมีร้านเกม 68 เปอร์เซนต์ ผู้ตอบคำถามจำนวน 43.5 เปอร์เซนต์ บอกว่ามีร้านเกมถึง 1-5 แห่ง ส่วนอีก 6.4 เปอร์เซนต์ บอกว่ามีเกินกว่า 5 แห่ง
เมื่อถามถึงปัญหารุนแรงในพื้นที่ ซึ่งต้องแก้ไขอันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด 35 เปอร์เซนต์ และร้านเกม 28.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ตอบว่าร้านเกมไม่เป็นปัญหาเป็นครอบครัวที่ไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถือเป็นเกราะป้องกันอย่างหนึ่งเพราะเด็กต้องผ่านในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ครอบครัวที่ติดเกมส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดตัว บางรายเป็นระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้น ควรร่วมกันหาทางออกไม่ให้เด็กเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน
นายวัชรา ค้าขาย ประธานชมรมเยาวชนดีเด่น เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้ร้านเกมเปิด 24 ชั่วโมง เพราะการติดเกมนำไปสู่ปัญหายาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การพนัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสร้างกิจกรรม สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ซึ่งในส่วนของชมรมฯ มีการจัดค่ายอาสา กีฬา ดนตรี และนำเด็กติดเกมมาร่วม ถือว่าประสบความสำเร็จมาก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ