‘ไชล์ดวอทช์’ชี้เด็กขาดทักษะชีวิต ปมสำคัญ‘ห่างบ้าน-เด็กหลังห้อง’ จี้ร.ร.ชุมชนเร่งแก้-ลดปัญหาสังคม

29 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1858 ครั้ง

 

‘ไชล์ดวอทช์’ระบุจำนวนเด็กอ้วน-ผอมลดลง

 

 

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ ในโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการวิเคราะห์สภาวการณ์และขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน หรือ ไชล์ดวอทช์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงผลการวิจัยติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในรอบปี 2555 พบว่า ในด้านความแข็งแรง การบริโภคและสุขภาพจิต พบว่ามีทั้งข่าวดีข่าวร้ายเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

 

 

ด้านข่าวดีนั้นพบว่า มีเด็กอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ร้อยละ 6.98 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.13 ในปี 2554 เช่นเดียวกัน จำนวนเด็กผอมหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 2.12 ในปี 2554 มาเป็นร้อยละ 2.01 ในปี 2555

 

ส่วนข่าวร้ายคือ จำนวนเด็กที่ติดน้ำอัดลม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 จากร้อยละ 32 ในปี 2554 นอกจากนี้ ยังพบว่า มีเด็กเพียงไม่ถึงครึ่ง หรือเพียงร้อยละ 49 ที่กินข้าวเช้าเป็นประจำ ในด้านสุขภาพจิตพบว่า มีเด็กที่เคยเครียดจนมีอาการทางกาย เช่น อาเจียน ถึงร้อยละ 40 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2554 เด็กร้อยละ 24 ระบุว่า ตนอารมณ์เสียหงุดหงิดง่าย และมีเพียงร้อยละ 35 ที่ระบุว่า ตนสามารถคุมอารมณ์เวลาโกรธ หรือผิดหวังได้ดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยมีเด็กเพียง 19 % ที่อ่านฉลากอาหารรู้เรื่อง

 

 

ในด้านการบริโภค แม้ภาพรวมจะดูดีขึ้นเล็กน้อย จากอัตราส่วนเด็กที่น้ำหนักเกินหรือต่ำกว่าเกณฑ์ แต่จากการสำรวจก็ยังพบข้อน่าเป็นห่วง เกี่ยวกับนิสัยการบริโภคของเด็ก เช่น มีเด็กเพียงร้อยละ 19 ที่อ่านฉลากส่วนประกอบอาหารของของกินหรือเครื่องดื่มที่ซื้อ นอกจากนี้ยังมีเด็กถึงร้อยละ 13 ที่ระบุว่า ตนมักป่วยหรือไม่สบายเป็นประจำ และมีเด็กเพียงร้อยละ 36 หรือประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ใส่หมวกกันน็อคเป็นประจำเวลาขับขี่มอเตอร์ไซค์

 

ทั้งนี้ยังพบปัจจัยอธิบายสำคัญในเรื่องนี้คือ สภาพครอบครัวและระดับผลการเรียน โดยเด็กที่อยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มความเจ็บป่วยน้อยกว่า และได้กินอาหารเช้าเป็นประจำมากกว่า ในขณะที่เด็กที่ผลการเรียนอยู่ในระดับ 2.5 ขึ้นไป มีนิสัยการบริโภค การอ่านฉลากอาหาร มากกว่าเด็กที่ผลการเรียนต่ำกว่า 2.5 เช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพจิต ที่เด็กที่ไม่อยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มอาการเครียดสูงกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่

 

 

 

ร้อยละ 20 ยอมรับสถานะอยู่ก่อนแต่ง

 

 

ด้านสภาวการณ์ความเสี่ยงด้านค่านิยมทางเพศ ความเสี่ยงด้านอบายมุขและความรุนแรงพบว่า เด็กโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ในขณะเดียวกันมีเด็กเพียงร้อยละ 30 ที่ระบุว่า ตนมีความรู้เรื่องอุปกรณ์คุมกำเนิด และการติดต่อของกามโรคเป็นอย่างดี และมีเด็กถึงร้อยละ 45 ที่ยอมรับการที่วัยรุ่นยุคนี้พกถุงยางอนามัยติดตัว แต่มีเด็กเพียงร้อยละ 39 ที่พอใจกับการสอนเพศศึกษาในปัจจุบัน และมีเด็กเพียงร้อยละ 15 และ 22 ตามลำดับ ที่ปรึกษาปัญหาเรื่องเพศกับครู และผู้ปกครองได้

 

 

 

นอกจากนี้ ในความเสี่ยงด้านอบายมุขและความรุนแรงพบว่า ยังใกล้เคียงกับปีที่แล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยพบเด็กร้อยละ 10 สูบบุหรี่เป็นประจำ และร้อยละ 12 ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร้อยละ 7 เล่นพนันฟุตบอลเป็นประจำ และร้อยละ 9 พบเห็นการเสพยาเสพติดร้ายแรง ในสถานศึกษาเป็นประจำ ในด้านความรุนแรงร้อยละ14 เคยพบเห็นการพกพาอาวุธ และการทำร้ายร่างกายในสถานศึกษา ร้อยละ 10 เคยถูกกรรโชกรีดไถในสถานศึกษา

 

 

 

 

วัยโจ๋ร้อยละ 20 ที่มีเพื่อนชอบใช้ความรุนแรง

 

 

นอกจากนี้มีเด็กถึงร้อยละ 20 ที่มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่ชอบใช้ความรุนแรง ร้อยละ 7 อยู่ในครอบครัวที่มีการกระทำรุนแรงกับเด็ก และร้อยละ 9 อยู่ในโรงเรียนที่มีการกระทำรุนแรงต่อนักเรียน ทั้งนี้ปัจจัยครอบครัวและผลการเรียนยังคงอธิบายความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีเช่นกัน โดยเด็กที่ไม่อยู่กับพ่อแม่ และระดับความสำเร็จทางการเรียนต่ำ มีอัตราความเสี่ยงเรื่องอบายมุข และความรุนแรงสูงกว่าเด็กทั่วไปแทบทุกกรณี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จี้โรงเรียน-ชุมชนเร่งแก้เด็กหลังห้อง ฟื้นศักดิ์ศรี-สร้างแรงบันดาลใจ

 

 

               “ในภาพรวมสภาวการณ์เด็กไทยหลายเรื่องดี แต่กระนั้นข้อมูลก็ยังชี้ว่า มีเด็กกว่า 1 ใน 3 ที่ยังต้องขาดทักษะชีวิตทั้งจากครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ซึ่งอยากเห็นทุกฝ่ายเข้าร่วมกันผลักดันการสอนทักษะชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กตั้งแต่เล็กอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรงเรียนที่ต้องหันมาทบทวนบทบาทความสำคัญของตนในการขับเคลื่อนเรื่องทักษะชีวิตเด็กร่วมกับครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้จากสภาวการณ์ที่พบ ปัจจัยอธิบายปัญหาเด็ก มาจากระดับความสำเร็จในการเรียนของเด็กเอง จึงชี้ถึงความจำเป็นที่โรงเรียนและชุมชน ยังต้องเน้นการเข้าไปดูแลเด็กด้อยโอกาส เด็กเรียนอ่อนเรียนช้าอย่างจริงจังเป็นระบบ โดยเน้นการสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ ให้กับเด็กในการเรียน โดยไม่ปล่อยให้ปรากฏการณ์ ‘เด็กหลังห้อง’ ทำให้มีเด็ก ‘ศักดิ์ศรีบกพร่อง’ ถอดใจจากการเรียนและพาตัวเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังอยากเสนอให้รัฐบาลชูวาระครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงจังต่อเนื่องทุกรัฐบาล เนื่องจากสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนไปมาก โดยมีครอบครัวกว่า 7 ล้านครอบครัว ที่เป็นครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือปู่ย่าตายายเลี้ยง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เป็นปัจจัยอธิบายสภาวการณ์และปัญหาเด็กนานัปการ” ดร.อมรวิชช์กล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: