'5หน่วยงาน'จับมือ'3กองทุน'     ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน-เริ่ม1เม.ย.

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 29 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2280 ครั้ง

 

5หน่วยงานจับมือเดินหน้าช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทยของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ เพื่อมอบสิทธิด้านการรักษาให้แก่คนไทยทั่วทั้งประเทศ พร้อมด้วยความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เพียงแสดงบัตรประชาชนในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุข ที่ต้องการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ บูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นโครงการแรกของความร่วมมือครั้งใหญ่ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการด้านการใช้สิทธิรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมกันใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ  ได้แก่ 1.กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง 2.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และ 3.กองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ภายใต้แนวคิด  “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”

 

นายกฯแจงรายละเอียดอาการ-วิธีการ-สิทธิ

ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค  ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ  ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ  มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำอย่างรุนแรง  แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด  ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น

รักษาทุกที่หมายถึง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ถูกถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลาลง

ทั่วถึงทุกคน หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิตามรายละเอียดข้างต้น ประกอบด้วย ผู้มีสิทธิของ 3 กองทุน ได้แก่ กลุ่มข้าราชการไทยและครอบครัว (ประมาณ 5 ล้านคน) จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ประมาณ 48 ล้านคน จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสังคม (ประมาณ 10 ล้านคน) จากกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม

 

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นสิ่งที่ 3 กองทุนมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน คือ เมื่อมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิต จะต้องไม่ถูกถามสิทธิ และสามารถรักษาได้ทันทีในทุกพื้นที่ โดยคนไทยทุกคนจะต้องได้รับบริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบ่ายเบี่ยงการรักษา การถามสิทธิก่อนรักษา และต้องสำรองจ่ายเงินก่อนการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉิน อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการที่ผ่านมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

เร่งให้ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ-อปท.ได้รับสิทธิด้วย

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ประชาชนที่อยู่นอกเหนือ 3 กองทุนดังกล่าว ได้แก่ ลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางรัฐบาลจะดำเนินการให้ได้รับสิทธิการรักษาโดยเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือจากหน่วยบริการภาครัฐทุกสังกัดและทุกระดับ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการลงนามความร่วมมือจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจ และความพร้อมของการให้บริการรักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินแก่คนไทยทุกคน จากโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลของเอกชนทุกแห่ง จึงทำให้มั่นใจได้ว่า คนไทยทุกคนจะได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแน่นอน

ร.พ.เอกชนจี้รัฐแจงให้ชัด-อาการโรคฉุกเฉิน

 

วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว : จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคต 3 กองทุนสุขภาพ” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ท.พ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักการชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายนิมิตร์  เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ดร.นพ.พงศธร  พอกเพิ่มดี  นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

น.พ.เฉลิมกล่าวว่า การรับผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องที่ทุกโรงพยาบาลต้องทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินสัญลักษณ์สีแดงตามกฏหมาย นโยบายนี้เป็นการปรับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่ากัน  เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือนิยามของคำว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน ควรกำหนดนิยมให้ชัดเจน เพราะยังมีความกังวลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้สีเหลืองว่ารวมไปถึงอาการอย่างไร ขนาดไหน หากระบุไปถึงโรคได้เลยจะชัดเจนขึ้นมาก

 

“ผู้ป่วยฉุกเฉินสัญลักษณ์สีแดงที่เข้ามา โรงพยาบาลต้องรับอยู่แล้ว จะเก็บเงินหรือไม่เก็บเงินจากใครโรงพยาบาลต้องรักษา แต่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีสัญลักษณ์ บางครั้งอาจจะมีสีเหลืองอ่อน ซึ่งควรจะมีการกำหนดนิยามนี้ให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะหากจะให้โรงพยาบาลใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องที่ลำบากมาก”

 

นอกจากนี้นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังกล่าวถึง ระบบการขนส่งผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาจนอาการทุเลาแล้ว ต้องมีรถพยาบาลที่จะขนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อไปโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งระบบนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบและมีการวางแผนอย่างดี เนื่องจากระบบการขนย้ายผู้ป่วยในประเทศไทยนั้นมีปัญหามาก รวมไปถึงสถานพยาบาลกองทุนต้นสังกัด ต้องพร้อมที่จะรับผู้ป่วยด้วย โดยโรงพยาบาลเอกชนไม่ควรจะเป็นผู้ส่งผู้ป่วย เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมรับผู้ป่วยได้ และยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่รัฐบาลมองข้ามคือ ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ทั้ง 3 กลุ่มนี้ เช่น คนที่ทำงานที่อบต. อบจ หรือ แม้กระทั่ง กทม.ที่ไม่ได้สังกัด 3 กองทุน รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างด้าวอีกเกือบ 400,000 คน ที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่ตกหล่นไป ซึ่งควรจะรวมเข้าไปด้วยและทำให้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสิทธิ์ด้วย

 

สปสช.ระบุ 173 อาการเบิกได้-ขอดูผล 1 เดือน

 

ท.พ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักการชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นเหมือนอิฐก้อนแรกที่เป็นรูปธรรม แต่มีวัตถุดิบกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ที่จะร่วมกันทำให้เป็นโครงการ ส่วนการนิยามคำว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินที่หลายคนยังเป็นห่วงนั้น การนิยมคำว่าฉุกเฉินของแต่ละฝ่ายอาจจะแตกต่างกัน แม้แต่การนิยามของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.ยังอาจจะคลุมเครือ ดังนั้น สปสช.จึงจะระบุเป็นอาการออกไปให้ชัดเจน ถ้าหากไม่ชัดเจนหรือมีข้อสงสัยสามารถโทรถามได้ที่ 1669 ในขณะที่การจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น จะจ่ายตามประกาศและอัตราของกรมบัญชีกลาง 173 อาการ และถ้าหากไม่มีโรคที่อยู่ใน173 อาการนั้น โรงพยาบาลสามารถระบุโรคนั้นมาได้เลย โดยจะเหมารวมจ่ายไม่เกิน 1,000 บาท  ส่วนระบบการขนส่งต่างๆนั้น สพฉ.ได้มีการเตรียมรถฉุกเฉินสำรองไว้พอสมควร

ผู้อำนวยการสำนักการชดเชยค่าบริการกล่าวต่อว่า ใน 2-3 วันที่เหลือนี้ สปสช.จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดมาทำความเข้าใจในการดำเนินการนโยบายนี้ ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะระเบียบการเบิกจ่าย ซึ่งหลังจากผ่านไป 1 เดือนคงต้องมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง

หมอ-เอ็นจีโอ ชื่นชมรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำ

 

ด้านนายนิมิตร์  เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดีของรัฐบาลนี้ เพราะประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาล จะไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย มีเงินจ่ายให้แน่นอน ไม่ถูกทวงหนี้ตามหลัง ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยที่ไม่มีเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่จ.พิษณุโลก ผู้ป่วยต้องใช้โฉนดที่ดินวางจำนองไว้กับธนาคารแทนค่ารักษาพยาบาล

ขณะที่ ดร.น.พ.พงศธร  พอกเพิ่มดี  นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ต้องชื่นชมรัฐบาลที่กล้าประกาศนโยบายนี้  ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับระบบในอดีตที่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งนโยบายนี้จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลคนละ 10,500 บาท แต่มีกระแสข่าวว่ากองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้กับโรงพยาบาลในเครือของตัวเองคนละ 15,000 บาท เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ควรจะจ่ายในมาตรฐานเดียวกัน และควรจะรวมโรคเอดส์  ไต และมะเร็งเข้าไว้ในนโยบาย 3 กองทุนนี้ด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากนโยบายนี้แล้ว รัฐบาลควรจะพิจารณาการเพิ่มจำนวนบุคลากรและเตียงของระบบสาธารณสุขโดยรวมด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ทั้งประเทศมีเตียงประมาณ 100,000 เตียง ในขณะที่ต่างประเทศจะมีประมาณ 200,000 เตียง ประเทศไทยน้อยกว่าเท่าตัว รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ซึ่งแม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะดี แต่ถ้าไม่มีการเพิ่มบุคลากรและเตียงเข้าไปให้เพียงพอ ก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เต็มที่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: