อาหารไทยกำลังวิกฤต(2)เมล็ดพันธุ์ถูกฮุบ จับชาวบ้านที่ผลิตเอง-กฎหมายเอื้อบรรษัท กว้านซื้อถึงไร่นา-แนะชุมชนต้องพึ่งตัวเอง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 29 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4131 ครั้ง

ข้าว ผัก หรือพืชใดๆ ที่มนุษย์นำมาประกอบอาหาร ล้วนมีจุดตั้งต้นจากเมล็ดพันธุ์ คงกล่าวไม่ผิดจากความจริงเท่าใดนักว่า ผู้ใดครอบครองเมล็ดพันธุ์ ผู้นั้นย่อมครอบครองอาหาร ที่ผ่านมาภาคการเกษตรของไทยเรียกได้ว่าเป็นภาคการผลิตที่ถูกละเลย อันเนื่องจากความต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรม ท่ามกลางการละเลยนี้ เกษตรรายย่อยค่อยๆ สูญเสียศักยภาพการพึ่งตนเองไปทีละเล็กละน้อย และตกอยู่ใต้ร่มเงาของบรรษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่พืชที่งอกเงยจากผืนดินไม่คุ้มค่าต้นทุน

 

เกษตรกรบางกลุ่มจึงพยายามรวมตัวเพื่อเรียกคืนอธิปไตยด้วยการเก็บ คัดเลือก รักษา กระทั่งจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์เอง โดยไม่ต้องซื้อจากบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ที่แพงกว่า ปลูกต่อไม่ได้ และใช่ว่าจะมีคุณภาพดีกว่าเสมอไป ขณะที่ภาครัฐก็ยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียงพอต่อความต้องการเกษตรกร แต่สถานการณ์กลายเป็นว่า กฎหมายที่รัฐเป็นผู้ถือกลับไม่เอื้อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

ในการประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2555 “อิสรภาพทางพันธุกรรม อธิปไตย และความมั่นคงทางอาหาร” จึงร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการส่งเสริมพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน การจัดการภูมิปัญญาไทย เพื่อฟันฝ่ากำแพงกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร

 

ชี้‘เมล็ดพันธุ์เฉพาะถิ่น’ สำคัญ แนะเกษตรกรดูแลเอง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต่างพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทำให้เมล็ดพันธุ์มีความหลากหลาย ทนทานต่อศัตรูพืช โรค และสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเติบโตขึ้น พึ่งพาเทคโนโลยีและสารเคมีอย่างเข้มข้น เกษตรกรจำเป็นต้องเพาะปลูกคราวละมากๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มทุน เมล็ดพันธุ์ข้าว ผัก ผลไม้ ในแต่ละท้องถิ่นที่เคยมีอยู่อย่างหลากหลายก็ค่อยๆ หายไปจากแปลงเพาะปลูก กระทั่ง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากกระแสการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นของเกษตรกรรายย่อยเริ่มกลับมา เนื่องเพราะเห็นความสำคัญของอธิปไตยด้านเมล็ดพันธุ์

 

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์คือความสอดคล้องเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะนิเวศ เผ่าพันธุ์ สติปัญญา เมื่อพันธุกรรมเป็นต้นแบบการผลิต จึงไม่แปลกที่ภาคธุรกิจจะใช้พันธุกรรมเป็นเครื่องมือทางการตลาดและการผูกขาด โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการเกษตรพันธะสัญญาทุกระบบ หรือคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ล้วนมีการควบคุมพันธุกรรมทั้งสิ้น ไม่มีบริษัทไหนเปิดอิสระทั้งหมดแม้แต่สายพันธุ์ไก่ ไก่ไข่ หรือพืชผักต่างๆ

 

 

ชาวบ้านแฉถูกขรก.เกษตรไล่จับแต่กลับเอื้อนายทุน

 

 

ความพยายามที่จะควบคุมเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทด้านการเกษตร ย่อมไม่ส่งผลดีต่อความมั่นคงทางอาหาร การสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ด้านเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นทางออกในระยะยาว แต่ปัญหาที่เกษตรกรรายย่อยประสบอยู่คือ กฎหมายที่ไม่เอื้อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ และกลับเปิดช่องให้บริษัทเอกชนใช้เป็นเครื่องมือยับยั้ง อุบลกล่าวว่า ชาวบ้านใน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่พยายามเก็บคัดเลือกและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กันเอง มักถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเสมอ เนื่องจากไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542

 

“เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า อาหารที่คนไทยกินล้วนมาจากระบบที่ไม่เป็นธรรมทุกมื้อ เรามั่นคงบนความไม่เป็นธรรม”

 

 

ด้าน จันทร์ดำ กองมูล คณะกรรมการการกองทุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มเป็นผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด แต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับกุมกรณีปิดฉลากผิดกฎหมายบ่อยครั้ง โดยแต่ละครั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจะถูกยึดหมด ทำให้สูญเสียรายได้จำนวนมาก ทั้งที่เคยทำหนังสือขอแจ้งไปแล้วว่า ทางกลุ่มถูกปลอมแปลงฉลาก แต่กลับไม่มีหนังสือตอบรับให้เข้าไปชี้แจง

 

จันทร์ดำยังกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ร้อนเรียนกรมวิชาการการเกษตรให้ดำเนินคดีข้อหาฉลากผิดกฎหมาย ชาวบ้านจึงเชื่อว่าทางบริษัทดังกล่าวต้องการทำลายคู่แข่ง จากเหตุการณ์นี้ จันทร์ดำจึงมีมุมมองว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยการเข้ามาให้ความรู้ต่อยอดในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และไม่มีวิทยากร นักวิชาการ หรือนิติกร คอยให้ความรู้ด้านกฎหมาย เมื่อเป็นเรื่องคดีฟ้องร้องขึ้น ทางกลุ่มจึงถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนที่มีเงินมากกว่า และใช้ช่องทางกฎหมายมาบดบังเส้นทางทำมาหากินของชาวบ้าน

 

 

บรรษัทแสบตั้งโต๊ะรับซื้อพันธุ์ข้าวถึงในนา

 

 

ตรงกันข้าม อุบลให้ข้อมูลว่า บางหมู่บ้านกลับมีนายทุนอ้างชื่อศูนย์วิจัยข้าว ลงไปตั้งโต๊ะจับจองเมล็ดพันธุ์จากชาวนา ซึ่งอุบลมองว่าเป็นการรุกคืบของธุรกิจเมล็ดพันธุ์สู่ระดับหมู่บ้าน เกษตรกรจำนวนหนึ่งก็เลือกใช้วิธีซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท เพราะสะดวกสบายกว่า โดยไม่ได้คิดว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน เพิ่มการพึ่งพา ทำให้ห่วงโซ่อาหารถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชน และนำไปสู่การสูญเสียความรู้ ภูมิปัญญาการจัดการตนเองด้านเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอุบลถือว่าเป็นความสูญเสียที่น่าเป็นห่วงที่สุด

 

กรมวิชาการเกษตรซึ่งดูจะตกเป็นจำเลยในสถานการณ์ไปโดยปริยาย กัลยา เนตรกัลยามิตร ผู้อำนวยการสถานีทดลองพืชไร่ จ.พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร จึงอธิบายว่า กรณีที่เกิดขึ้น ทางกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจด้านกฎหมายกับชาวบ้าน และยังมีแนวคิดจะสร้างเครือข่ายพันธมิตรผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ที่ยอมรับกฎกติกาของกรมวิชาการเกษตร ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและไม่เอาเปรียบสังคม โดยทางกรมฯ จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี มีการอบรมเจ้าหน้าที่ รวมถึงการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ และจัดทำข้อตกลงความเข้าใจกับเกษตรกร เงื่อนไขคือจะต้องรับเมล็ดพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร ห้ามซื้อจากแหล่งอื่น ทั้งนี้เกษตรกรผู้ประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนขออนุญาตผลิต และจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์นั้นๆ โดยมีการแจ้งล่วงหน้าถึงความต้องการในการจัดทำข้อตกลงความเข้าใจ

 

เอกชนตาลุกมุ่งตลาดเมล็ดพันธุ์พืชไร่มากขึ้น

 

กัลยายังยกข้อมูลประกอบให้เห็นว่า เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้มาก โดยเมื่อใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีจะพบว่า ต้นทุนลดลง แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถั่วเหลืองจากเดิมที่ใช้เมล็ดพันธุ์ไม่ได้คุณภาพทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถั่วเขียวถ้าใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 26 เปอร์เซนต์ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซนต์ ข้อมูลเหล่านี้ได้จากการสำรวจในพื้นที่ จ.แพร่ จ.น่าน และ จ.สระแก้ว

 

ทว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทมากขึ้น ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐควรเป็นผู้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรก็คือ หน่วยงานของรัฐไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งกัลยาก็ยอมรับเรื่องนี้ ทางกรมฯ จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้วิสาหกิจชุมชนมีส่วนช่วยขยายเมล็ดพันธุ์

 

นอกจากนี้ กัลยายังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อตลาดเมล็ดพันธุ์ขณะนี้ด้วยว่า

 

             “เป็นที่น่าแปลกใจว่าภาคเอกชนเข้ามาทำพืชคนจน คือ พืชตระกูลถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งเดิมทีสาเหตุที่ภาคเอกชนไม่ให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นพืชที่ได้กำไรน้อย เกษตรกรต้องช่วยเหลือตนเองในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ แต่เดี๋ยวนี้ภาคเอกชนกลับเข้ามาให้ความสนใจกับถั่วเหลือง ถั่วเขียว เพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันพืช หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อลดการนำเข้าให้ได้มากที่สุด”

 

 

พันธุ์ข้าวยังไม่พอขาดอีกปีละเกือบ 2 แสนตัน

 

ประเด็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ เนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้ ข้าวที่คนไทยบริโภคมีอยู่ไม่กี่พันธุ์ แต่ระยะหลังๆ ชาวนาบางพื้นที่เริ่มนำพันธุ์ข้าวพื้นเมืองกลับมาปลูกใหม่ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ดังกรณีข้าวสังข์หยด ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจ.พัทลุง ที่กำลังได้รับความนิยม แต่ก็ยังได้รับความนิยมในวงจำกัด ขณะที่กรมการข้าวเองก็ยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ดังที่กล่าวข้างต้น

 

จากข้อมูลของกรมการข้าว บทบาทหน้าหนึ่งของกรมการข้าวคือ การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวทั้งสิ้น 24,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จำแนกเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง 17,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศ 3,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ข้าวจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ 3,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ และข้าวป่า 1,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์รวมแล้ว 119 พันธุ์ แบ่งเป็นข้าวเจ้า 96 พันธุ์ ข้าวเหนียว 23 พันธุ์ และในปี  2556-2557 จะมีการเปิดการค้นหาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกครั้ง

 

ในด้านความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 77.8 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี 61.78 ล้านไร่ แยกย่อยเป็นนาดำ 27.69 ล้านไร่ (เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกๆ 3 ปี) ต้องการเมล็ดพันธุ์ปีละ 37,800 ตัน และนาหว่าน 34.09 ล้านไร่ (เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกๆ 2 ปี) ต้องใช้เมล็ดพันธุ์อีกปีละ 272,600 ตัน ส่วนนาปรังมีพื้นที่ 16.10 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาดำ 0.5 ล้านไร่ และนาหว่าน 15.6 ล้านไร่ ซึ่งการทำนาปรังต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกปี ปีละ 253,600 ตัน รวมแล้วความต้องการเมล็ดพันธุ์ประมาณ 600,000 ตันต่อปี

 

แต่เมื่อดูปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ในปี 2555 กลับพบว่า กรมการข้าวคาดว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เพียง 95,000 ตัน สหกรณ์การเกษตรคาดว่าจะผลิตได้ 24,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชนผลิตได้ 120,000 ตัน ขณะที่ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์จะผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 175,000 ตัน รวมทั้งสิ้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในปี 2555 เท่ากับ 414,000 ตัน ยังขาดแคลนเมล็ดพันธุ์เกือบ 2 แสนตัน

 

กรมการข้าวหนุนชุมชนผลิตเองแก้ปัญหาขาดแคลน

 

ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านการกระจายพันธุ์ข้าวอย่างเพียงพอและทั่วถึง จากการลงพื้นที่โดยเฉพาะในภาคอีสาน พบว่าเกษตรกรบางรายเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ถึง 10 ปี จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพและการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ ขณะที่ศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของภาคอีสานมีเพียงปีละ 20,000 ตันเท่านั้น เนื่องจากภาคอีสานส่วนใหญ่ปลูกข้าวเหนียวเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสายพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ภาคอีสาน คาดว่าต้องใช้เงินถึง 1,200 ล้านบาท โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

 

นอกจากนี้ หากแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคอีสานได้ ก็จะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวสู่ระดับอำเภอ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของอำเภอที่มีการปลูกข้าว รวมถึงการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ทดแทนเมล็ดพันธุ์ข้าวเดิมของชาวนา ให้พอเพียงในกรณีเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้สนับสนุนส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรเฉพาะพื้นที่ โดยจะรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในแต่ละพื้นที่ในปี 2556 และเร่งรัดการผลิตเมล็ดพันธุ์

 

               “การแก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และภาคเกษตรด้วย แต่ละจังหวัดต้องมีส่วนร่วมวิเคราะห์ข้อมูลและเชื่อมโยงระดับชุมชนด้วยกัน เช่น กรณีชัยนาทโมเดล ที่ใน 1 ตำบล มีร้านค้า 40 กว่าร้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งขายไปทั่วพื้นที่ภาคกลาง นี่ถือเป็นความเข้มแข็งของเกษตรกร ที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งหมู่บ้านมีความเชื่อมโยงกัน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีศูนย์ข้าวชุมชนเป็นผู้ควบคุมดูแลระบบในลักษณะเครือข่าย ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวระดับจังหวัด จึงอยากให้มีการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้รูปแบบการดูแลตนเอง จัดทำโครงการสำรองเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคง เอาไว้ใช้ในยามเกิดวิกฤติ ซึ่งถือว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เป็นอย่างดี” ชัยฤทธิ์กล่าว

 

เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวหลัก 4 แบบ ขยายวงการผลิตให้ได้ทั่วปท.

 

นอกจากนี้ กรมการข้าวยังมีแนวนโยบายการวิจัยปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แบบคือ 1.พันธุ์ข้าวนาสวนสำหรับนิเวศนาชลประทาน พบมากในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทาน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีพื้นที่ชลประทาน 2.พันธุ์ข้าวนาสวนสำหรับนิเวศนาน้ำฝน พบมากในพื้นที่ภาคอีสาน 3.พันธุ์ข้าวน้ำลึก สำหรับนิเวศนาน้ำลึก พบมากในสายพันธุ์ 432 กข 45 และ 4.พันธุ์ข้าวไร่สำหรับนิเวศนาที่สูง

 

ชัยฤทธิ์อธิบายว่า ยุทธศาสตร์การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว คือการมุ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี โดยเน้นผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ สถาบันการเกษตร และผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตเมล็ดพันธุ์ คัดเมล็ดพันธุ์หลักและเมล็ดพันธุ์ขยายให้เพียงพอ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ขยายสามารถนำไปปลูกได้ 3-4 ฤดู หากเก็บรักษาอย่างถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันจะมีศูนย์ข้าวชุมชนและผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์มากถึง 4,000 ชุมชน แต่ก็ยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องเทคโนโลยี ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบางแห่งยังขาดแคลนเครื่องคัดและตากเมล็ดพันธุ์ บ้างก็มีปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ ปัญหาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาการจัดการด้านการตลาด

 

“กรมการข้าวมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ผลิตและจำหน่าย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ขึ้นทะเบียน โดยจะสร้างกลไกเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างการผลิตและการตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว หากสังเกตช่วงที่ประสบอุทกภัย จะเห็นว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวประสบปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกใหม่ในการจัดการปัญหา สร้างระบบใหม่ให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 30 จังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่ดูแลกระบวนการผลิตและจำหน่ายในจังหวัด พัฒนาบุคลากร สารสนเทศ การตลาด ส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน”

 

ส่วนยุทธศาสตร์การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐาน กรมการข้าวพยายามติดตามดูแลร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 300-400 ร้าน ศูนย์ข้าวชุมชน 2,015 ศูนย์ และกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ 313 กลุ่ม โดยจะพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมกำกับดูแล ออกตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตและจำหน่าย และออกใบรับรองให้ อีกทั้งส่งเสริมให้ความรู้เรื่องกฎหมายและระเบียบต่างๆ แก่ผู้จำหน่วยเมล็ดพันธุ์ แต่ปัญหาคือ กรมการข้าวมีนักกฎหมายอยู่เพียง 2 คน ไม่มีคนเพียงพอ จึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายต่อเกษตรกรผู้กระทำผิดได้

 

 

เสนอปิดทางนายทุนเปิดช่องเกษตรกรพัฒนาพันธุ์พื้นถิ่น

 

 

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรมจึงมีข้อเสนอ 5 ประเด็นคือ ประเด็นแรก ควรให้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนจัดการพันธุกรรมท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุรักษ์และคุ้มครองตนเองในเรื่องเมล็ดพันธุ์ จึงควรทำให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นธุรกิจการเกษตรของคนไทยและอยู่ในมือชาวนา เนื่องจากขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งได้รุกคืบด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จนไม่มีช่องทางให้เกษตรกรได้พัฒนาสายพันธุ์เป็นของตนเอง

 

ประการที่ 2 ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งตนเอง มีการจัดการที่สามารถช่วยเหลือเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้โดยการสร้างศูนย์เมล็ดพันธุ์และเครือข่าย

 

ประการที่ 3 สนับสนุนกระบวนการวิจัยพันธุกรรมท้องถิ่นร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการวิจัยของรัฐในระดับชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ โดยศูนย์วิจัยแต่ละพื้นที่ต้องตอบสนองความต้องการในพื้นที่อย่างหลากหลาย

 

ประการที่ 4 สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรม ณ ถิ่นที่อยู่ เช่น การประกาศให้คนในพื้นที่รู้จักสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะทำให้ข้าวพื้นบ้านมีที่หยัดที่ยืนไม่จมอยู่กับสายพันธุ์ข้าวแบบเดิมๆ

 

และประการสุดท้าย  ควรปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการตนเองขององค์กรเกษตรกรท้องถิ่น โดยเฉพาะพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่ดี แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับเป็นไปในทางตรงข้าม บริษัทเมล็ดพันธุ์มีโอกาสมากกว่าชาวบ้าน โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกีดกันการค้าและจัดการกับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่รู้กฎหมายซึ่งมีจำนวนมาก กรมวิชาการเกษตรต้องให้ข้อมูลลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรเพื่อป้องกันปัญหา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: