จี้สร้างกลไกแก้ปัญหา‘เกษตรพันธสัญญา’ หลังพบชีวิตเกษตรกรล่มสลายนับล้านคน ชี้ทำกระทบสิ่งแวดล้อม-ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 29 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3120 ครั้ง

ภาพลักษณ์ของเกษตรแบบพันธสัญญา หรือ contract farming สำหรับสังคมไทย มีมุมมองหลายด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่า คนมองเกี่ยวข้องอยู่ในส่วนใด หากเป็นนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า เป็นเกษตรกรที่ทำลายระบบอาหาร เอาเปรียบเกษตรกร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมพืช ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ ขณะที่เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า เป็นการเอาเปรียบเกษตรกร ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน แหล่งน้ำ อากาศ ฯลฯ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ ในขณะที่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้กลับมองว่า นี่คือการเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดระบบเกษตรที่มั่นคง เนื่องจากเกษตรกมีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งทั้งหมดยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีบทสรุป ด้วยเพราะความหลากมิติและประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายได้รับ เพราะแม้แต่ตัวเกษตรกรเอง หลายคนก็ไม่พอใจกับระบบดังกล่าว และมองว่าตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็ยังอยู่ในวังวนเกษตรพันธสัญญาอยู่ในปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู, เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง, เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด, เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, มูลนิธิชีววิถี, สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ , แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดสัมมนา “เกษตรพันธสัญญา : ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ VS ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร” ภายใต้หัวข้อ "เกษตรพันธสัญญา ใครอิ่ม...ใครอด"  ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

การเสวนาถกเถียงในเวทีดังกล่าว ถึงแม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากผลกระทบของรูปแบบการทำเกษตรกรรมรูปแบบนี้นัก แต่ภาพรวมของการพูดคุยพอจะทำให้หลายฝ่ายมีความหวังขึ้นบ้างว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะหันมาให้ความสำคัญ และหาแนวทางร่วมกันเพื่อหาทางทางออกที่เป็นธรรมของทุกฝ่าย

 

 

ความเป็นธรรมยังไม่เกิดในเกษตรพันธสัญญา

 

 

“ความเป็นธรรมกับเกษตรกร” เป็นประเด็นที่ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงมากที่สุดในเวที โดยส่วนใหญ่มองว่า การมุ่งถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยไม่คำนึงถึงเกษตรกร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ จนนำไปสู่การล่มสลายของระบบเกษตรกรรมไทยในที่สุด ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและคุณภาพชีวิต ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย

 

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความคิดเห็นว่า แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรมากถึงกว่า 2 ล้านครัวเรือน ที่ประสบปัญหาหนี้สินทั้งๆ ที่ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรควรมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ จึงเป็นสิ่งที่น่าตกใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ นอกจากนั้นจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ไม่มีปีไหนเลยที่ประเทศไทยจะไม่มีการประท้วงเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาเป็นข่าวมากมาย ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การทำเกษตรในระบบพันธสัญญา ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างต่อเกษตรกร

 

 

ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

 

 

ในมุมมองของ ดร.เพิ่มศักดิ์เห็นว่า การทำเกษตรกรรมในระบบพันธสัญญาทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในทุกขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ สู่ระบบการผลิต ไปจนถึงระบบตลาดก่อนจะถึงผู้บริโภค โดยประเด็นแรกเรื่องของความไม่เป็นธรรมในภาคสังคม จะเห็นได้ว่าบริษัทพยายามจะเพิ่มผลผลิต โดยให้เกษตรกรเข้าไปขยายพื้นที่จำนวนมาก ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้นและยังพบว่ามีสารเคมีตกค้างอยู่ในพื้นที่ จากการใช้ยาฆ่าแมลงต่างๆ ที่ผู้ประกอบการนำมาให้เกษตรกรใช้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่จะต้องนำเงินงบประมาณ ที่ได้จากภาษีของประชาชนเข้าไปใช้ในการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรที่เสื่อมสภาพลง จากการขยายผลผลิตของเกษตรกรที่อยู่ในระบบพันธสัญญา กับบริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้น

 

              “ในพื้นที่จ.น่าน ที่ผมไปดูพบว่า ปัจจุบันนี้พื้นที่จำนวนมากถูกบุกรุกแผ้วถาง เพื่อทำการเกษตรพันธสัญญา ทรัพยากรป่าไม้ถูกตัดโค่นลงอย่างน่าเป็นห่วง ในอนาคตรัฐจะต้องนำงบประมาณ ที่ได้จากการเสียภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เข้าไปบำบัดฟื้นฟู ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการเพิ่มผลผลิตของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของสารเคมีตกค้างในพืชผลทางเกษตร รวมไปถึงในพื้นดิน แหล่งน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศ ที่จะส่งผลกระทบโดยรวมกับคนกลุ่มใหญ่อื่นๆ จากการทำงานของเรา ผมเคยนำพระ เณร และแม่ชี ซึ่งส่วนใหญ่ได้อาหารดีๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวาย โดยนำกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในภาคเหนือไปตรวจเลือดพบว่า มีจำนวนมากที่มีสารเคมีตกค้างอยู่ในเลือดถึง 70 % ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่า หากการทำการเกษตรแบบพันธสัญญายังไม่ได้รับการดูแลปัญหาจะหนักหน่วงกว่านี้” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว

 

 

ทำเกษตรกรเป็นผู้ไร้ญาติขาดมิตร

 

 

นอกจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมแล้ว ดร.เพิ่มศักดิ์ยังมองว่า ปัญหาที่เกษตรกรในระบบพันธสัญญาพบอยู่อีกประการหนึ่งก็คือ การขาดความมีศักดิ์ศรี และคุณค่าชีวิต เพราะเมื่อตกลงที่จะทำเกษตรพันธสัญญาแล้ว จะต้องมุ่งมั่นผลิตให้ได้ตามที่ผู้ประกอบการกำหนด เช่น เลี้ยงไก่ก็ต้องเลี้ยงไก่อย่างเดียว เลี้ยงหมูก็ต้องเลี้ยงหมูอย่างเดียว โดยไม่มีเวลาออกไปปฏิสัมพันธ์กับใครเลย เปรียบเสมือนการทำเกษตรแบบไร้ญาติ ทั้งที่ในสังคมชนบทไทยเคยมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยกัน แต่ระบบเกษตรพันธสัญญาเข้ามาทำลายสิ่งที่ดีเหล่านี้ไปหมด ทั้งชีวิตต้องมาผูกติดอยู่กับการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ทำเกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรในทุกส่วน นั่นก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตลาดที่ผู้ประกอบการ เป็นผู้ควบคุมตลาดเองทั้งหมด มีอำนาจเหนือตลาด ทำให้เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ ขณะเดียวกันกลุ่มที่อยู่ในระบบ ก็ต้องอยู่ในการควบคุมของผู้ประกอบการที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะซื้อผลผลิตเหล่านั้นหรือไม่ หากยังไม่ซื้อผลผลิตที่ออกมา ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต่อไปในภาวะจำยอม รวมทั้งการขายยาทางการเกษตรในราคาแพง โดยไม่เปิดเผยต้นทุนการผลิต ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเนื่องไปทั้งระบบ

 

                   “ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องของระบบทุน ซึ่งโดยส่วนใหญ่สถาบันการเงิน มักจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในระบบ แต่เกษตรกรต้องรับความเสี่ยงจากปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่างๆ ทั้งเรื่องโรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ แต่พบว่าสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการ ไม่ได้แบ่งความเสี่ยงไปเลย เมื่อเกิดปัญหาเกษตรกรยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินเหมือนเดิม ปัญหานี้คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ควรเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สร้างกลไกต่างๆ เข้ามาควบคุมสัญญาต่างๆ ของผู้ประกอบการ ว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำเกษตรแบบพันธสัญญานี้” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว

 

 

ต้องการเป็นครัวโลกต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม

 

 

ทางด้าน รศ.ดร.สมพร อัศวิลานนท์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันระบุว่า ปัญหาสำคัญของการทำการเกษตรในระบบพันธสัญญา แม้ว่าหากมองในมุมที่เป็นประโยชน์จะเป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิต พัฒนาผลผลิต เพื่อกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ทั้งในระบบการตลาด หรือการทำธุรกิจ แต่ก็มีข้อด้อยที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาครัฐ ควรหาทางออกและแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นของความไม่เป็นธรรม ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในหลายๆ ประเด็น ทั้งเรื่องของการกำหนดราคาผลผลิต กระบวนการทางการตลาดหรืออื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกษตรกรยังคงไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องใดๆ เลย

 

                     “ประเทศไทยบอกว่า ต้องการเป็นครัวของโลก เพราะเราคือประเทศเกษตรกรรม แต่ขณะนี้ต้องดูว่าเกษตรกรกับผู้ประกอบการเองมีความเชื่อมโยงกันมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นธรรมเรามีมากน้อยแค่ไหน หรือการผูกขาดในตลาด ควรจะต้องมีการปรับปรุง และหาทางออกไปในทิศทางใด ผมมองว่าเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเร่งเข้ามีส่วนในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” ดร.สมพรกล่าว

 

 

ซีพียันต้องสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาด

 

 

อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การทำเกษตรพันธสัญญา ยังคงสร้างความไม่เป็นธรรมหลายด้านให้กับเกษตรกร อาจนำไปสู่การล่มสลายของภาคเกษตรได้ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการ กลับแสดงความเห็นไปอีกทางหนึ่ง

 

นายณรงค์ เจียมใจบรรจง ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ กล่าวถึงรูปแบบการทำเกษตรพันธสัญญาของซีพี โดยยืนยันว่าหลักการสำคัญของซีพี อยู่ที่มาตรฐานคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกสู่ผู้บริโภคในตลาด ดังนั้นการทำงานร่วมกับเกษตรกร จึงจำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มข้น ซึ่งจะสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของพันธุ์สัตว์ต่างๆ การดูแล เลี้ยงดูตามมาตรฐานของซีพีที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยซีพีเริ่มดำเนินธุรกิจแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง มาตั้งแต่ปี 2518 เป็นการเริ่มให้เกษตรกรเลี้ยงไก่กระทง ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมในครั้งนั้น 200 ครอบครัว 1 ครอบครัวจะต้องเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว จากนั้นมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าบางรายจะเลิกเลี้ยงไปแล้ว แต่บริษัทถือว่ากลุ่มพวกนี้มีการดูแลกันมากับบริษัทฯ จนถึงปัจจุบัน ลูกหลานของเกษตรกรจำนวนหนึ่งก็เข้ามาทำงานกับซีพีด้วย

 

 

เกษตรกร100%ต้องเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน

 

 

นายณรงค์กล่าวต่อถึงรูปแบบของเกษตรกรที่เข้าร่วมทำเกษตรกรรมพันธสัญญากับซีพีว่า สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ซีพีจะพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่จะต้องเหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม รวมทั้งสังคมในพื้นที่ก็ต้องยอมรับด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสังคม และสิ่งสำคัญจะต้องดูที่คุณสมบัติของเกษตรกรอย่างละเอียดคือ จะต้องมีที่ดินเป็นของตัวเอง มีบุคคลในครอบครัวอย่างน้อย 3 คน เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งต่อความรับผิดชอบเลี้ยงดูสัตว์ต่อไป

 

นอกจากนี้ยังต้องมีเงินทุนเป็นของตัวเองร้อยละ 30 และไม่มีประวัติเสื่อมเสีย จากข้อมูลพบว่าเกษตรกรที่เข้าสู่โครงการนี้ 100 % จะต้องพึ่งพิงการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และ 85 % สามารถคืนเงินกับสถาบันการเงินได้ตามกำหนด มี 10 % ที่ไม่สามารถคืนเงินได้ตามกำหนด ส่วนอีก 5 % ไม่สามารถคืนเงินได้

 

           “ซีพีจะเน้นเรื่องของคุณภาพของสินค้า ซึ่งเกษตรกรจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานของเรา ขณะเดียวกันเรามีการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สัตวบาลนำมาใช้ร่วมกันกับเกษตรกร ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างสัตวบาลกับเกษตรกร และที่ผ่านมาเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเราก็ยังคงดูแลกันอย่างดีเหมือนเดิม” นายณรงค์กล่าว

 

 

เครือข่ายเปิดเอกสารร้องแก้ปัญหาเกษตรพันธสัญญา

 

 

นอกจากนี้ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญายังออกเอกสารข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหา “เกษตรพันธสัญญา” อย่างเป็นทางการ โดยระบุถึงสถานการณ์ ข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยระบุว่า

 

1.ภายใต้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการเกษตรของประเทศอยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร โครงสร้างดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนำไปสู่โครงสร้างที่เกิดการผูกขาดอันเป็นสาเหตุของความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยกำลังได้รับ

2.จากโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ทำให้เกษตรกรซึ่งตกอยู่ภายใต้กระบวนการผลิตของระบบเกษตรพันธสัญญา นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกรจะต้องแบกรับ หากจะตั้งคำถามว่า โครงสร้างระบบการผลิตและระบบการตลาดภายใต้เกษตรพันธสัญญา สร้างความไม่เป็นธรรมอย่างไรต่อเกษตรกร จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา พบสาเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม ดังต่อไปนี้

 

1.เกษตรกรถูกชักนำโดยไม่รู้เท่าทันเกี่ยวกับระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ให้เข้าสู่การทำสัญญา โดยไม่มีกลไกใดๆ ของภาครัฐในการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

 

 

สัญญาที่ไม่เคยเป็นธรรม

 

 

2.ความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการในการทำสัญญา

2.1 ปัญหาพื้นฐานทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการทำสัญญา จากการศึกษาพบว่า ในการทำสัญญาของเกษตรกรเป็นการทำสัญญากันด้วยวาจา หรือเกษตรกรไม่เคยได้รับสัญญาคู่ฉบับ หรือมีการทำสัญญาย้อนหลัง

2.2 การกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทั้งวิธีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี เพื่อให้ลูกหลานของเกษตรกรจำต้องแบกรับภาระหนี้สินเกษตรกรจากพ่อแม่ โดยบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร

2.3 บริษัทใช้วิธีการปล่อยเงินกู้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยสูง การปล่อยสินเชื่อภายใต้ระบบการผลิตในรูปแบบและวิธีการต่างๆ

2.4 บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบการผลิตแบบผูกขาด ดำเนินการให้มีผู้อื่นทำหน้าที่เป็นคู่สัญญากับเกษตรกร เพื่อตัดตอนความรับผิดตามสัญญา

2.5 การไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาและการเพิ่มเติมข้อสัญญาด้วยวาจาในภายหลัง บริษัทมักมีข้ออ้างต่างๆ ที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น อ้างว่าผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่ในสัญญาไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ หรือเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัท หรือพนักงานของบริษัท ทำให้เกษตรกรถูกตัดคะแนนความร่วมมือซึ่งมีผลต่อค่าตอบแทนที่ควรจะได้ เป็นต้น

3.ความไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ยากในการเข้าถึงของเกษตรกร

 

 

บรรษัทใช้ทุกรูปแบบบีบเกษตรกร

 

 

จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาพบว่า มีเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธสัญญาจำนวนมาก ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม แต่ไม่ปรากฏว่า มีเกษตรกรนำข้อสัญญาเกี่ยวกับการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาไปสู่กระบวนการยุติธรรมเลย แต่พบข้อมูลว่า บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ใช้ช่องทางต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และโดยอาศัยอำนาจอิทธิพลเหนือระบบราชการในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ให้ส่วนราชการต่างๆ พยายามใช้กฎระเบียบในการดำเนินการต่อเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม

 

 

เรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค

 

 

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค ดังต่อไปนี้

 

1.ข้อเสนอประเด็นเร่งด่วน

 

1.1 จากการศึกษาความไม่เป็นธรรมของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ประกอบกับงานศึกษาเกี่ยวกับการผูกขาดของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรม ประสบปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา รวมทั้งมีเกษตรกรที่ถูกบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และสถาบันการเงินดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมซึ่งเกษตรกรได้รับ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานในการศึกษา รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

 

1.2 ให้รัฐตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรกรถูกดำเนินคดีด้วยความไม่เป็นธรรม

 

2.ข้อเสนอเชิงมาตรการ

 

2.1 จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา พบว่า มีระบบของกลุ่มอิทธิพลภายใต้ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารพยายามขัดขวาง ห้าม และทำลายการรวมกลุ่มของเกษตรกร ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการป้องปรามการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม

 

2.2 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมเพื่อให้สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้

 

2.3 เร่งดำเนินการให้มีการจัดทำและกำหนดค่ามาตรฐานกลางของปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ยา อาหาร ในลักษณะทำนองเดียวกับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

 

2.4 พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปตามค่ามาตรฐาน โดยมีตัวแทนเกษตรกร ผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ และผู้รับซื้อ ร่วมในการตรวจสอบ

 

2.5 ส่งเสริมผลักดันให้เกิดความยุติธรรมในระบบการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา โดยนำหลัก “การค้าที่ยุติธรรม” (Fair Trade) มาเป็นแนวทางในการดำเนินการที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย

 

2.6 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะเร่งด่วนกระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ต้องรีบดำเนินการจัดตั้งระบบการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากความขัดแย้ง หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญา

 

2.7 กำหนดให้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นสัญญาที่มีแบบมาตรฐาน และกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาติดตาม กำกับให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด

 

2.8 ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจในการทำการเกษตร

 

2.9 ปรับปรุงและพัฒนาระบบการประกอบกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้เกิดความรับผิดชอบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ชุมชน และสังคม

 

2.10 ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านการอำนวยความยุติธรรม และการค้าที่เป็นธรรมในระดับพื้นที่ และหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับการประกอบกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธสัญญา มีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และดูแลระบบสวัสดิการของครอบครัวเกษตรกร

 

2.11 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะที่มีหน้าที่ทั้งโดยสำนึกและโดยกฎหมายต่อปัญหา ความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมของเกษตรกร ควรเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบ เพื่อติดตาม ดำเนินการพัฒนาระบบการแก้ปัญหา และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมายให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

 

 

3.ข้อเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง

 

 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ระบบการเกษตรของประเทศไทยตกอยู่ภายใต้โครงสร้างของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และไม่มีกฎหมายในการควบคุมกำกับให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบอบกฎหมายที่ว่าด้วย “ความเป็นธรรมในธุรกิจอุตสาหกรรมทางการเกษตรและอาหาร” ขึ้นมาเป็นอีกระบอบหนึ่งเพื่อสร้างความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเกษตรและอาหารในอนาคต ซึ่งควรจะประกอบด้วยชุดของพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย คือ

 

1.พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร โดยคาดหวังให้กฎหมายฉบับนี้ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งนำไปสู่ประโยชน์หลายด้านต่อเกษตรกรทั้งที่อยู่ในระบบพันธสัญญา และนอกระบบพันธสัญญา เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล การรวมกลุ่มต่อรองผลประโยชน์จากการผลิต และการผลักดันสิทธิเกษตรกร เป็นต้น

 

2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการกำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกพืชตามพันธสัญญา เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นรูปแบบการผลิตที่รุกคืบและครอบงำเกษตรกร โดยอาศัยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง อย่างไรก็ตาม ระบบเกษตรพันธสัญญายังมีความจำเป็นในด้านประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องควบคุม การควบคุมทำได้ง่ายขึ้นเมื่อมีพื้นที่ที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการทอนอำนาจต่อรองของธุรกิจการเกษตรต่อเกษตรกรที่ลงทุนไปแล้วด้วยวิธีการย้ายฐานการผลิต

 

3.พระราชบัญญัติการตลาดปัจจัยและสินค้าเกษตรพันธสัญญา ความเสียเปรียบของเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การไม่สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตได้เอง และไม่สามารถควบคุมหรือรับรู้ราคา รวมทั้งคุณภาพของปัจจัยการผลิต และความสามารถในการแสวงหาตลาดสินค้า ในระบบการผลิตที่ต้องผลิตและขายตลอดเวลา ความสามารถในการขายของธุรกิจการเกษตรเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่แพ้การผลิตของเกษตรกร การสมดุลอำนาจด้านการตลาดของเกษตรกรและธุรกิจ จึงมีความสำคัญต่อชีวิตและรายได้ของเกษตรกรในระบบพันธสัญญา

 

4.พระราชบัญญัติระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตรแบบพันธสัญญา เงินทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมเศรษฐกิจ ที่ดินได้กลายเป็นทุน การพึ่งพาทางด้านการเงินจึงกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรืออยู่ในช่วงชั้นสังคมไหนก็ตาม ในมุมของเกษตรพันธสัญญาที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุนสูง การจัดระบบความสัมพันธ์กันใหม่ให้เป็นธรรมและชอบธรรมในการกู้เงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

5.พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ณ ปัจจุบันตกอยู่ภายใต้ความไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ การคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญาเป็นพิเศษในระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะมีการต่อรองกันอย่างเป็นธรรมจริงๆ จึงมีความสำคัญ เพราะระบบกฎหมายไทยยังมืดบอดต่อปัญหาเกษตรพันธสัญญา โดยมองว่าเป็นเพียงสัญญาเอกชน ไม่ได้มองเป็นระบบการผลิตเหมือนระบบโรงงานที่ต้องการกฎหมายโรงงาน หรือกฎหมายแรงงาน เป็นต้น ขณะที่กฎหมายสัญญาเดิมขาดจุดยืนในการปกป้องเกษตรกรจากระบบพันธสัญญา

 

6.พระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารเป็นประเด็นที่ยึดโยงเกษตรพันธสัญญากับสังคมในความหมายที่กว้าง และประชาชนทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบพันธสัญญาในแง่นี้ และที่สำคัญประเด็นนี้เป็นเหตุผลหลักของการผลิตภาคเกษตร คือ ผลิตอาหารให้เพียงพอและปลอดภัยอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การผลิตเพื่อเป็นสินค้าแลกเงิน เป้าหมายของกฎหมายนี้คือ กำหนดจุดยืนในการผลิตอาหารว่า สำคัญเหนืออื่นใดในการผลิตอาหารต้องคำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอ (รวมถึงการกระจายอาหาร) และความปลอดภัย

 

 

4.ข้อเสนอต่อสังคมไทย ผู้บริโภค และพี่น้องเกษตรกร

 

 

ในฐานะเกษตรกรที่มีศักดิ์ศรี ไม่ควรฝากความหวังไว้กับผู้อื่น หากแต่ควรที่จะเริ่มต้นสร้างเครือข่ายกับผู้บริโภค และพันธมิตรต่างๆ ในสังคมไทยให้ร่วมกันจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรและทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: