กรมชลฯแจงพัฒนาลำพะเนียง ชาวบ้านยันชุมชนต้องออกแบบ

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 30 ก.ย. 2555


 

วันที่ 27 กันยายน โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กรมชลประทาน ร่วมกับ บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอลซัลแตนท์ จำกัด จัดเวทีชี้แจงปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังชี้แจงและแลกเปลี่ยนซักถาม ประมาณ 200 คน

 

รศ.ดร.ประสิทธิ์ ประคองศรี ที่ปรึกษาโครงการให้ข้อมูลว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ที่ทางกรมชลประทานร่วมกับ บริษัท พรีฯ จะทำการศึกษานั้น เพื่อต้องการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งใน จ.หนองบัวลำภู อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ตั้งแต่การจัดทำแผน การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบรายละเอียดการปรับปรุงขยายลำน้ำพะเนียง การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเวทีต่อไปจะตระเวนชี้แจงโครงการกับประชาชนทั้ง 6 อำเภอ ของ จ.หนองบัวลำภู เพื่อรับฟังความคิดเห็น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “เราต้องการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลำน้ำพะเนียงอย่างจริงจัง และสานต่อโครงการที่ผ่านมาที่ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการโขง เลย ชี มูล โครงการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ โดยต้องการให้เกษตรกรได้ใช้น้ำจริง ๆ จากระบบชลประทานที่มีอยู่ และจะชี้แจงโครงการและฟังความคิดเห็นในทุกๆ อำเภอ” ดร.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

ด้านนายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ให้ความเห็นว่า การจะศึกษาพัฒนาลำน้ำพะเนียง ต้องศึกษาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาขุดลอกขยายครั้งที่แล้วก่อน ทั้งการพังทลายของหน้าดินริมตลิ่ง เกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำได้เนื่องจากคันดินที่สูงเกือบ 2-3 เมตร ที่ถูกขุดขึ้นมาขวางทางใช้น้ำ อีกทั้งยังขวางทางระบายน้ำที่จะไหลลงลำน้ำสาขา จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนานยิ่งไปอีก การพัฒนาลำพะเนียงจะต้องถูกออกแบบโดยชาวบ้าน และให้เหมาะสมตามระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ผ่านรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             “การพัฒนาหรือเพิ่มเติมอะไร ต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมก่อน ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการขุดลอกครั้งก่อนตอนนี้ก็ยังเดือดร้อนอยู่ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยให้ประชาชนได้ร่วมจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำของตัวเองเลย คิดเอง ทำเองหมด ปัญหาถึงได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาประชาชนต้องจัดการทรัพยากรด้วยตัวเองแล้ว เพราะชาวบ้านเองจะรู้จักพื้นที่ดีที่สุด” นายวิเชียรกล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: