รัฐบาล‘ยิ่งลักษณ์’เบี้ยวคนจน สั่งแก้ราษีไศล15วันยังไม่จบ

นักข่าวกลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน จ.ศรีสะเกษ 30 ก.ค. 2555


 

จากกรณีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศล ตามมติครม.วันที่ 12 มิ.ย.2555 ให้แก้ไขปัญหากรณีผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล ให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพื่อให้เป็น “ราษีไศลโมเดล” และเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหากรณีอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะ ผู้เดือดร้อนจากโครงการ โขง ชี มูล

 

โดยร.ต.อ.เฉลิมกล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวาระที่บริหารประเทศ และสั่งกำกับให้ข้าราชการทุกระดับตั้งใจทำงานให้บรรลุเป้าหมาย จ่ายเท่าไหร่รัฐบาลยอมจ่าย หากตรวจสอบแล้วเป็นไปตามความเป็นจริง เพราะเป็นเงินภาษีของชาวบ้านเอง ชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นายกฯ มีคำสั่งให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7-15 วัน หลังจากนั้น รองนายกฯ สั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน

 

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายประดิษฐ์ โกศล ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล เปิดเผยระหว่างเดินทางมารอชุมนุมที่จ.สุรินทร์ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธาน การประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ว่า เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว นับจากการประชุมของคณะอนุกรรมการครั้งแรกวันที่ 22 มิ.ย. ซึ่งตนเป็นคณะกรรมการด้วย พวกเราต้องสลดใจอีกครั้งที่รัฐบาลละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาความทุกข์ร้อนของคนจน วันนี้เราสมัชชาคนจน ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้ทำหน้าที่ให้สมกับที่คนรากหญ้าไว้วางใจ

 

ด้านนางสำราญ สุรโคตร ตัวแทนสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนหัวนา กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาล โดยกรมชลประทาน ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนาให้แล้วเสร็จ โดยอ้างเสมอว่าไม่มีงบประมาณดำเนินการ แต่วันนี้กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง จะนำเสนอโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำอย่างเต็มพื้นที่ทั้งบริเวณเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล และโครงการดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องมาตลอดว่า หากจะมีการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบกับราษฎรในพื้นที่ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นรายกรณี วันนี้รัฐบาลและกรมชลประทานทำให้เราหมดความเชื่อมั่นใจต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนจน

 

นางผา กองธรรม นายกสมาคมคนทาม กล่าวว่า การต่อสู้ของคนจนจำเป็นต่อดำเนินต่อไปตราบใดที่สังคมไทยยังเอารัดเอาเปรียบคนจนอย่างพวกเรา และนายกยิ่งลักษณ์ มาที่จ.สุรินทร์ เราก็จะเดินทางไปถามว่าท่านมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้พวกเราคนทามหรือเปล่า

 

20 ปี ที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ว่า การสร้างเขื่อนราษีไศลสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับชุมชนท้องถิ่น วันนี้รัฐบาลยังมีความพยายามผลักดัน โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ได้แก่ โครงการ โขง เลย ชี มูล ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบรอบที่สอง ทั้งที่ปัญหาเก่าไม่ยอมแก้ไขให้แล้วเสร็จ แต่พยายามสร้างปัญหาใหม่กับชุมชนท้องถิ่น

 

นางผากล่าวด้วยว่า วันนี้เราอยากจะตั้งคำถามว่าการสร้างเขื่อนมีใครได้ประโยชน์บ้าง รัฐบาลต้องให้ชัดเจน เริ่มจาก ใครรับเหมาก่อสร้าง มีการป้องกันการคอรัปชั่นหรือเปล่า หากสร้างแล้วมีผลกระทบการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเป็นเช่นไร จากที่ส่วนตัวได้ศึกษารายงานผลการศึกษาวิจัยกรณีผลกระทบจากโครงการ โขง เลย ชี มูลนั้นไม่แตกต่างไปจากงานศึกษาวิจัยที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยใส่ใจดำเนินการอย่างจริงจัง ปัจจุบันนี้กรณีเขื่อนราษีไศลก็ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จได้ ทั้งการจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำดิน การจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพ และอีกหลายประเด็นรัฐบาลทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ตลอดระยะเวลากว่า 10 รัฐบาลที่ผ่านมา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 ก.ค.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขงชีมูล จำนวนกว่า 500-1,000 คน เดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีที่ จ.สุรินทร์ โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ข้อเรียกร้องของเครือข่าย คือ หยุดโครงการ โขง เลย ชี มูล และแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทั้งหมดในโครงการ โขงชีมูล ให้แล้วเสร็จ 2.การแก้ไขปัญหารายกรณี โดยเฉพาะกรณีเขื่อนราษีไศล

 

นอกจากนั้น เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล 7 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนราษีไศลเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนหนองหาน กุมภวาปี เขื่อนห้วยหลวง ยังได้ออกแถลงการณ์โอกาส ครม.สัญจร จ.สุรินทร์ “รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการโขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ หยุด! โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง เลย ชี มูล” ถึงประชาชนจังหวัดสุรินทร์และผู้มีใจเป็นธรรมทั่วประเทศ ระบุ “โครงการ โขง เลย ชี มูล” ใช้งบประมาณมหาศาล และจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากกรณีโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ โขง ชี มูล ที่มีการสร้างเขื่อนถึง 14 เขื่อนในภาคอีสาน ใช้งบประมาณไป 10,000 กว่าล้านบาท แต่ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การสูญเสียที่ดินทำกิน เสียทรัพยากรธรรมชาติของชาวอีสาน โดยเฉพาะการสูญเสียป่าบุ่งป่าทาม ตัวอย่างกรณีเขื่อนราษีไศล มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำมูนไปถึง 1 แสนไร่ มีผู้สูญเสียที่ดิน 7,760 ครอบครัว รวมผู้เดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยกว่า 1 หมื่นครอบครัว

 

แถลงการณ์ระบุว่า เขื่อนดังกล่าวไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและชุมชนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขณะนี้มีการเผลักดัน “โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล” ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาซ้ำรอยโครงการเดิม ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ที่คาราคาซัง มา 20 ปี นั้นรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

 

บทเรียนการต่อสู้ของคนในลุ่มน้ำโขง ชี มูน คือ “การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์และวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า แต่รัฐไม่สนใจ

 

ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้ 1.แก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล ให้แล้วเสร็จ จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ครบถ้วน รวดเร็ว และให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเขื่อนทุกเขื่อน 2.จัดทำแผนในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม หากศึกษาแล้วพบเขื่อนไหนก่อปัญหาผลกระทบมากกว่าได้ประโยชน์ ให้รื้อเขื่อนนั้นทิ้ง

 

3.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่า นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น 4.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ โดยชุมชนท้องถิ่นเอง ตามระบบนิเวศนั้น ๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: