ครูสอนวิทย์วิกฤติหนัก-สสวท.จี้รัฐเร่งแก้ สอนนอกห้อง-พัฒนาครู-ปรับระบบวัดผล แนะสร้างแรงจูงใจ'เว้นภาษี-ให้สิทธิพิเศษ'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 30 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 12808 ครั้ง

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทย ที่ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก สาเหตุสำคัญที่งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ส่วนใหญ่มาจากระบบการศึกษาที่ยังไม่เอื้อให้เด็กทดลองสืบค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง แต่มักจะใช้วิธีให้เด็กเรียนรู้ข้อเท็จจริงจากกิจกรรมสำเร็จรูป จนทำให้เด็กไม่ต้องคิดอะไรเพิ่มเติมโดยเฉพาะการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การทดลอง สืบค้น สำรวจหลักฐาน และใช้หลักเหตุผลมาสรุป เพื่อให้ได้คำตอบด้วยตัวเอง

 

 

PISA เผยเด็กไทยเรียนวิทย์อยู่อันดับ 49 จาก 65 ประเทศ

จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาโดย IMD (International Institue for Mangement Development)  เมื่อปี 2554 พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 57 ประเทศทั่วโลก จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 46 เมื่อปี 2550 ขณะที่ผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นโดยโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment หรือ  PISA เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิก ที่ดำเนินการโดย Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยยังด้อยวิเคราะห์และพัฒนาการเรียนรู้ โดยค่าเฉลี่ยคะแนนในปี 2552 อยู่ในอันดับที่ 49 จาก 65 ประเทศ และมีสัดส่วนเด็กไทยเพียง 0.6 เปอร์เซนต์ ที่สามารถทำคะแนนอยู่ในระดับ Level 5 หรือ 6 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มีสัดส่วนของนักเรียนที่มีผลการทดสอบอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ 9.6 เปอร์เซนต์ โดยประเทศจีน (เซี่ยงไฮ้) และฟินแลนด์มีสัดส่วนของนักเรียนที่ทำคะแนนอยู่ในระดับสูงมากถึง 28.2 เปอร์เซนต์ และ 22 เปอร์เซนต์ตามลำดับ

 

ผลการประเมินโดย PISA สะท้อนให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ต่อขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

 

 

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาอันเป็นที่มา ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะยกระดับคุณภาพในเชิงของการคิดวิเคราะห์ ซึ่งนำไปสู่ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษา ได้ผลสรุปว่า สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการขัดประสิทธิภาพ ในด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งภาพรวมของปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียง การขาดทักษะการสอนของครูวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระบบของการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินผลด้านการศึกษาของนักเรียนไทยด้วย

 

 

สสวท.ชี้รัฐต้องเร่งแก้ 3 ด้าน หลักสูตร-ครู-วัดผล

 

 

ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. แสดงความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปแปลงไปตลอดเวลา แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันเพื่อระดมความคิด เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้จากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่า ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ประเด็นหลัก คือ

 

1.การเรียนการสอนที่เคยจำกัดเฉพาะในห้องเรียน และเคยปฏิบัติตลอดมา จนถึงวันนี้นับเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้ว เพราะเป็นที่ยอมรับการโดยทั่วไปว่า การเรียนแต่ในห้องเรียนไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะปัจจุบันองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีอยู่นอกห้องเรียนมากมาย นอกจากการหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต ยังมีสิ่งที่น่าเรียนรู้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ในชุมชน ในโรงงานต่าง ๆ หรือในวิชาชีพอื่น ๆ ดังนั้น การเรียนการสอนจะต้องขยายออกจากจากห้องเรียน เพราะการเรียนเพียงในห้องเรียนไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ที่แท้จริง แต่ปัจจุบันการเรียนวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัด ทั้งเรื่องของเวลาเรียน ทรัพยากรบุคคล ที่ไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องหาทางแก้ไข

 

2.สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญประการต่อมาคือ การพัฒนาครู ขณะนี้ครูไม่ควรจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น แต่จะต้องเรียนไปพร้อมกับนักเรียนด้วย เนื่องจากปัจจุบันโลกก้าวไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก็ยิ่งไปได้เร็ว ดังนั้นครูจะต้องตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน ซึ่งครูอาจจะต้องเรียนมากกว่านักเรียน เพื่อจะสามารถเรียนรู้ในโลกของความเป็นจริง ความก้าวหน้าต่าง ๆ หากครูพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า นักเรียนจะไม่เชื่อครู เพราะนักเรียนไปเร็วกว่า ดังนั้นทั้งนักเรียนและครูจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปเรื่องของการวัดผล ในการสอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้ง โอเน็ต เอเน็ต เอ็นที หรือหลาย ๆ ระบบ ประเด็นคือ จะต้องวัดผลจากผลการเรียนที่แท้จริง ที่เด็กจะนำไปใช้ได้ การวัดผลจะต้องวัดจากความคิด รู้จัดคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น โดยจะต้องไม่เป็นเพียงการวัดผลจากการให้เลือกจากคำตอบ ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แต่จะต้องเป็นการวัดผลอยู่บนฐานที่ทำให้นักเรียนสามารถใช้ความคิด มีกระบวนการทางการการคิดที่เป็นระบบมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

 

แนะครูทลายกำแพง สอนนอกห้องให้มากขึ้น

 

 

                      “การทลายกำแพงห้องเรียน ที่ผ่านมาสสวท.ทำไปแล้วในบางแห่ง การเรียนรู้ การดูงาน เยี่ยมชมโรงงาน ไปดูหน่วยงานปฏิบัติงานต่างๆ แต่หลายแห่งบอกว่า ทำไปแล้วแต่ก็เป็นเพียงการทำเพื่อเสริมไม่ได้นำมาสอน ไม่ได้นำมาวัดผล บางคนบอกส่วนใหญ่ถ้าทำเช่นนี้ได้โรงเรียนจะต้องมีทรัพยากรมาก ความจริงไม่ต้อง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีองค์ความรู้ รวมไปถึงภาคเกษตร อาหาร กระจายอยู่ทั่วประเทศ การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สามารถเรียนได้จากแหล่งต่างๆ เหล่านี้  ครูก็จะต้องเรียน เช่น การไปดูโรงงาน แหล่งด้านอาหาร การบำบัดเชื้อโรค ทดสอบมาตรฐานของ อองค์การอาหารและยา (อย.) ทำอย่างไร เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ห้องเรียน ตำราเรียนไม่ได้กล่าวถึงเลย เราเรียนเฉพาะในห้องเรียนไม่เกิดประโยชน์ สภาพความเป็นจริงถ้าทำได้ แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะครูคิดว่าเป็นภาระเพิ่ม” ดร.มนตรีกล่าว

 

 

แก้ทัศนคติยากที่สุด เพราะครูกลัวยุ่งยาก

 

 

อย่างไรก็ตามในข้อเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปการเรียนการสอนต่างๆ ศ.ดร.มนตรีกล่าวว่า อาจมีอุปสรรคอยู่ที่เรื่องของทัศนคติ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะก่อให้เกิดยุ่งยาก ทำให้เกิดความลำบาก แต่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มทำ ดังนั้นสิ่งแรกของการเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ โดยเฉพาะครูผู้สอน ที่ผ่านมามักจะคิดว่า สอนเพื่อให้เด็กสอบ เมื่อเด็กสอบได้ดีก็จะส่งผลต่อการขึ้นเงินเดือน ดังนั้นจึงจะต้องเปลี่ยนแปลงจากครูก่อน ขณะเดียวกัน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร หรือระดับนโยบาย ก็ต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าครูเปลี่ยนแปลงแล้วเจ้าหน้าที่ หัวหน้า หรือ ผู้ที่มีระดับสูงๆ ขึ้นไป ไม่เปลี่ยน ก็ไม่สามารถดำเนินการ การพัฒนาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น และจะส่งผลสู่การไม่ก้าวไปข้างหน้าของประเทศนั่นเอง

 

 

 

ให้ทุกคณะร่วมผลิตครูแทนที่จะมาจากครุศาสตร์แห่งเดียว

 

 

สำหรับในประเด็นของการขาดแคลนบุคลากรครู โดยเฉพาะครูด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ดร.มนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นที่ชี้ชัดแล้วว่า การผลิตครูที่มาจากสถาบันด้านการศึกษาศาสตร์ หรือ คณะครุศาสตร์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนครูจำนวนมาก โดยเฉพาะครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ซึ่งมีการเสนอรูปแบบว่า ควรมีการทำเป็นแบบคลัสเตอร์ เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มด้านศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรืออื่น ๆ ในการผลิตครูมาจากหลายแหล่ง

 

และข้อเสนอที่สอง สถาบันที่เคยผลิตครูมาก่อน จะต้องร่วมมือกับองค์กรด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ร่วมกันในการผลิตครูด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแนวคิดผลิตครูจากคณะใดคณะหนึ่งนั้น นับวันก็จะไม่สามารถผลิตครูที่มีความสามารถในการผลิตครูได้ให้เพียงพอ และมีคุณภาพได้ สิ่งสำคัญคือการให้บริการทางการศึกษาปัจจุบันจะต้องเป็นสากลมากขึ้น  โดยเฉพาะในยุคของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จำเป็นที่การศึกษาไทยจะต้องเป็นสากล เพื่อการผลิตบุคลากรเข้าสู่ความเป็นสากลนี้ และในภาคของการศึกษาครูจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องผลิตบุคลากรที่มีความเท่าเทียมกัน บัณฑิตใหม่จะต้องเป็นที่ยอมรับ การผลิตครูก็เป็นหนึ่งในการที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วย

 

 

ผู้บริหารเปลี่ยน-นโยบายเปลี่ยน สร้างปัญหาให้ครูวิทยาศาสตร์

 

 

เมื่อถามถึงคุณภาพของครูวิทยาศาสตร์ของไทย เมื่อเทียบกับครูด้านวิทยาศาสตร์ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ดร.มนตรีกล่าวว่า จริงๆ แล้ว คุณภาพดูจะไม่แตกต่างกัน แต่จะคละกันไปมากกว่า โดยผู้ที่อยู่ในการศึกษามานานแล้วก็จะมีปัญหาเรื่องของการตามให้ทัน แต่ถ้าเป็นบัณฑิตผลิตมาใหม่คุณภาพค่อนข้างดีกว่า ดังนั้นสิ่งที่จะต้องหาทางแก้ไขคือ จะทำอย่างไรให้ครูที่เป็นครูมาแล้วสิบปี เพิ่มขีดความสามารถด้านการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอหลายประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา ในการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยเห็นว่าครูที่เกี่ยวข้องด้านการเรียนการสอนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ควรได้รับโอกาสการไปศึกษาดูงาน ในภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม ในภาคเอกชนต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่า อุตสาหกรรมเหล่านั้นต้องการบุคลากรแบบใดบ้าง ไม่ได้เพียงแต่สอน แต่ต้องลองทำบ้าง

 

 

                    “การผลิตครูเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เป็นรูปธรรมขณะนี้ เป็นปัจจัยที่เกิดจากเรื่องนโยบาย เมื่อผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยนไป เราจะยังต้องประสบปัญหาเรื่องของการผลิตบุคลากรครูจนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงขณะนี้” ศ.ดร.มนตรีกล่าว

 

 

ให้สิทธิประโยชน์พิเศษครูวิทย์ สร้างแรงจูงใจเพิ่มจำนวน

 

 

นอกจากเรื่องของแหล่งผลิตบุคลากรที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยไม่พึ่งพาการผลิตจากสถาบันด้านศึกษาศาสตร์เพียงอย่างเดียวแล้ว ดร.มนตรี ยังเห็นว่า ปัญหาเรื่องของแรงจูงใจสู่การเป็นครูวิทยาศาสตร์ยังคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาครูด้านวิทยาศาสตร์ไม่เคยเพียงพอในระบบการศึกษา หลายโรงเรียนในหลายพื้นที่ ต้องนำครูจากสาขาอื่นมาสอนวิทยาศาสตร์แทน ดังนั้นสิ่งที่เชื่อว่าจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนครูวิทยาศาสตร์ได้ จะต้องเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ที่ก้าวเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น เช่น การให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษกับครูที่จะเข้ามาสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อาจเสนอเป็นเรื่องของการงดเว้นภาษีให้กับครูในสาขานี้  ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่สนใจจะเป็นครู เลือกที่จะเข้ามาสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยีมากขึ้น เมื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จะสามารถคัดเลือกได้มากขึ้น คุณภาพก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งเรื่องสิทธิพิเศษแบบนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง แต่รัฐบาลจะต้องหาแนวทางว่า จะสร้างแรงจูงใจอะไรได้บ้าง หากมีนโยบายชัดเจนก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากต้องการที่จะเน้นเรื่องการผลิตบุคลากรด้านนี้จริง ๆ

 

 

ครูตัวจริงให้มองถึงแก่นมากกว่าปัจจัยภายนอก

 

 

ด้านนายบุญยงค์ ตราเตร็ง ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเกาะหมากน้อย ต.เกาะหมาก อ.เมือง จ.พังงา กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดของ ดร.มนตรีว่า ในฐานะของครูสอนวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสพูดคุยกับครูวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคใต้ด้วยกันเห็นว่า ถึงแม้ปัจจุบันเรื่องของสวัสดิการ หรือแรงจูงใจ จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เห็นว่าเป็นความจริง แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ที่ยังไม่มองไปถึงแก่นปัญหาจริง ๆ ซึ่งคิดว่าในระดับนโยบาย ควรเล็งเห็นเรื่องของการเพิ่มคุณภาพ ศักยภาพของครูที่มีอยู่ไปพร้อม ๆ กับการผลิตบุคลากร เพราะจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ครูด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ต้องการคือ การส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาความรู้ เพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งครูส่วนใหญ่มองว่าไม่ได้ผล และไม่สามารถช่วยให้เด็กมีกระบวนการคิดตามเป้าหมายของหลักสูตรได้ ส่วนเรื่องของการเพิ่มจำนวนครูนั้น แม้จะมีจำนวนมาก แต่หากไม่สามารถสอนเด็กได้ตรงตามจุดประสงค์ก็ไม่มีประโยชน์

 

 

ระบุครูต้องทำงานอื่นควบกับการสอนเด็ก

 

 

          “ปัญหาของครูวิทยาศาสตร์ตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเรียนการสอนมากกว่า ที่เราคงจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช้วิธีสอนแบบดั้งเดิม แต่ครูยังไม่มีองค์ความรู้ หรือทักษะเหล่านี้ ดังนั้นรัฐบาลควรจะเพิ่มในส่วนนี้ให้กับครูมากขึ้น ปัญหาต่อมาที่เราพบอยู่เป็นประจำคือ ภาระของครู ที่จะต้องทำหน้าที่อื่นๆ มากมาย ทำให้ไม่สามารถสอนเด็กได้เต็มที่ รวมไปถึงเรื่องของชั่วโมงเรียนที่มีเพียง 50 นาที ครูไม่สามารถตั้งคำถามและรอให้เด็กไปหาคำตอบได้ทัน บางครั้งก็ต้องบอกคำตอบไปแล้ว ทั้งที่จริง ๆ แล้วเด็กคิดเองเป็น  ขณะเดียวกันสิ่งที่เรายังขาดมากคือ เรื่องของสื่อการเรียนการสอน นวัตกรรมด้านการศึกษาที่ทันสมัย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการควรจะต้องนำไปคิด และหาแนวทางแก้ไขปัญหา” นายบุญยงค์กล่าว

 

 

นอกจากนี้นายบุญยงค์ยังกล่าวถึงประเด็นที่เป็นที่หนักอกหนักใจของครูวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะครูในพื้นที่ห่างไกลว่า อยากให้ระดับนโยบายเร่งแก้ปัญหาเรื่องของการวัดผล หรือการประเมินผลการเรียนของเด็กนักเรียนอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า ไม่ได้เป็นการประเมินผลการเรียนของนักเรียนได้อย่างแท้จริง  และที่ผ่านมามีการลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นการเกณฑ์เดียวกันในการประเมินผลการเรียนของเด็กนักเรียนทั้งประเทศ เพราะโดยบริบทของโรงเรียนต่าง ๆ การเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกลย่อมขาดความพร้อม และเข้าไม่ถึงข้อมูลต่างๆ เท่ากับนักเรียนในส่วนกลางอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เชื่อว่าการวัดผลแบบนี้จะไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สพฐ.ตั้งสถาบันดูแลเรื่องวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ

 

 

อย่างไรก็ตามจากปัญหาแนวโน้มด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ดีขึ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ มีความพยายามในการแก้ปัญหาอยู่ตลอดมา แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนมาตั้งแต่ ปี 2546 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ  โดยการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน และการวัดผลจากการเรียนรู้เนื้อหาวิชาด้วยการท่องจำ เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (Learner - Centered) ด้วยการลงมือฝึกปฏิบัติ โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Approach) และกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา (Problem Solving Approach)

 

แต่แม้จะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแล้วก็ตาม สถานการณ์การศึกษาวิทยาศาสตร์ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังไม่ดีขึ้น และยังมีแนวโน้มต่ำลง ทำให้ล่าสุดมีการกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง  เน้น ให้ “คนไทย ได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”  โดยเริ่มดำเนินการในปี 2552 - 2561 และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายใน เพื่อรับผิดชอบเร่งรัดพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ

 

 

ทำนโยบายโรงเรียนแกนนำ หวังพัฒนาได้

 

 

ดร.เบญลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของสถาบันวิทยาศาสตร์เป็นการดำเนินการจัดกิจกรรมยกระดับการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุกด้านอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ โดยการให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน ด้วยการสนับสนุนสถานศึกษา ให้มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามที่กำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานหลักสูตรของชาติ เนื่องจากธรรมชาติของการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นักเรียนต้องปฏิบัติการทดลองเพื่อการค้นหาองค์ความรู้ และการเข้าใจกับธรรมชาติของสิ่งที่ต้องการศึกษา

 

ดังนั้นการจะได้มาของความรู้ที่เป็นจริงและถูกต้อง โรงเรียนควรมีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้และมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเที่ยงตรง

 

 

          “ในการดำเนินการปีงบประมาณ 2553 - 2555 ที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนแกนนำ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จำนวน 2,116 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถเป็นแกนนำในการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้”

 

 

หลากนโยบาย หลายกิจกรรม ให้ครูทำเต็มที่

 

 

นอกจากนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมการสนับสนุนงบประมาณให้เขตพื้นที่วิจัย และพัฒนาการจัดการเรียนรูด้วยรูปแบบที่หลากหลายให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่ ได้แก่

 

            - การเผยแพร่นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการคิด และการแก้ปัญหา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ และในระดับภูมิภาค 4 ภูมิภาค พัฒนาศูนย์การเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของสถานศึกษาแกนนำครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษา

            - การจัดให้มีการฝึกอบรมครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สร้างระบบเครือข่ายการพัฒนาครูร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศการสนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ ให้แก่สถานศึกษา

            - การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการใช้ศูนย์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียนให้เป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ของครูและนักเรียน ส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย   

            - จัดทำ Website www.kruwit.com และต่อมาเป็น Website scimath.obec.go.th เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายข้อมูลในการประสานงานของครูและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้และเทคนิควิธีการสอน

            - การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สร้างโอกาสและส่งเสริมการแข่งขันความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชาติและนานาชาติ

                - การประชุมประสานแผนการดำเนินงานการวิจัยในทุกระดับทุกเขตพื้นที่การศึกษา จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา จัดทำระบบการกำกับ ติดตามและรายงานผล

 

 

ยอมรับเสียงวิจารณ์ เพื่อนำไปแก้ไข

 

 

                       “การดำเนินการทั้งหมดได้ผลมาระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อไปคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลการศึกษาวิจัย และนวัตกรรมทางการศึกษาขึ้น สถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จึงร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และบริษัท MSD (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเพื่อร่วมโครงการประชุมวิชาการยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานระดับชาติขึ้น ซึ่งผลที่เราได้รับจากหลายๆ ฝ่ายจะได้มีการนำไปเข้าที่ประชุมของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยจากข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการวัดผลทางการศึกษา ที่ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง การพัฒนาครูด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาด้านนี้ต่อไป” ดร.เบญจลักษณ์กล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: