วิจัยชาวบ้านพบมูลค่าริมโขงอื้อ หลังเขื่อนผุดสวล.ทำชีวิตเปลี่ยน

30 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1625 ครั้ง

เมื่อวันที่ 25-26 กันยายน เครือข่ายภาคประชาสังคม 5 เครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิไฮริคเบิร์น, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน, เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง ร่วมจัดงานประชุม “เขื่อนแม่น้ำโขง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการปรับตัวของชุมชนแม่น้ำโขง” ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เพื่อเสนอผลงานวิจัยภาคประชาสังคม มีผู้เข้าร่วมจาก 7 จังหวัดประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, หนองคาย, นครพนม, บึงกาฬ, เลย และชาวกัมพูชา

 

นายชาญณรงค์ วงษ์ลา ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ผู้เสนองานวิจัย กล่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ล้วนพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา การทำเกษตรริมแม่น้ำโขง การค้าระหว่างชายแดน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อคิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ เฉพาะที่มีการสำรวจแล้วมีมูลค่ารวมกันกว่า 5 ล้านบาทต่อครัวเรือนต่อปี หากเกิดการสร้างเขื่อนขึ้น มูลค่าหรือการพึ่งพิงแม่น้ำโขงก็จะสูญสิ้น เช่น เศรษฐกิจ, ระบบนิเวศน์, การเกษตรริมฝั่งโขง, พันธุ์ปลา, การทำนาริมโขง, การเลี้ยงปลาในกระชัง, การท่องเที่ยว, การค้าชายแดน ฯลฯ

 

ด้านนายประดิษฐ์  จันทรชาลี ตัวแทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงอุบลราชธานี กล่าวว่า ระบบนิเวศย่อยในแม่น้ำโขงที่มีมากถึง 19 ระบบ เช่น ซ่ง, คอน, ดอน, บุ่ง เป็นระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับคนและลักษณะการหาปลาที่แตกต่างกัน และจากการสำรวจแบบสอบถาม 500 ชุดใน 5 หมู่บ้าน พบว่า มีการทำอาชีพประมงมากถึงร้อยละ 52 คิดเป็นเงินมากถึง 9.6 ล้านบาท ที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชน ยังไม่รวมรายได้จากการพึ่งพิงแม่น้ำโขงด้านอื่น ๆ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนที่ประเทศจีน ประกอบกับภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป พบว่าพันธุ์ปลาลดน้อยลง ระดับน้ำแปรปรวน ขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ เชื่อว่าหากมีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมอีกระบบนิเวศรวมไปถึงรายได้ ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านก็จะหมดสิ้นไป

 

นายสีคอนสิน ชาวกัมพูชา กล่าวว่า มีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจึงได้เข้ามาร่วมฟัง แม่น้ำโขงเสมือนเป็นพ่อของเรา แม่น้ำที่กัมพูชาก็เหมือนแม่ วันนี้พ่อกับแม่เราเริ่มป่วยเราจะนิ่งดูดายอยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงคนไทยหรือกัมพูชา คนทั้งโลกควรร่วมกันลุกขึ้นมารักษาพ่อและแม่ของเรา

 

อย่างไรก็ตามที่ประชุมส่วนใหญ่มีความหวั่นใจ หากเกิดเขื่อนบ้านกุ่มที่ประเทศไทย หรือเขื่อนไซยะบุรีที่ สปป.ลาว จะกระทบทั้งการประมง, การเกษตร, น้ำท่วม, ปลาสูญพันธุ์, หาดทรายหาย, วัชพืชไม่ตาย, ดินเสียหาย ทรัพยากรสูญสิ้น คนริมโขงก็คงต้องอพยพไปหางานทำที่กรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ยังมีการร่วมกล่าวแถลงการณ์เร่งให้รัฐบาลทบทวน ยุติการสร้างเขื่อน และฟังเสียงประชาชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: