ปล่อยผู้เข้าอบรมแทนฟ้อง เดินหน้าสมานฉันท์-ไฟใต้

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 30 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1964 ครั้ง

 

พ.อ.ปราโมทย์  พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์-โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ที่ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนาทวี มีคำพิพากษาระงับการฟ้องคดีและปล่อยตัว 2 ผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ซึ่งได้ดำเนินการอบรมแทนการฟ้องตามหลักสูตรสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 สิ้นสุดการฝึกอบรม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ศาลนาทวีอ่านคำสั่งปล่อยตัวผู้เข้ารับการอบรมแทนการฟ้อง ในวันที่ 29 ตุลาคม 2555 จำนวน 2 รายคือ นายรอยาลี บือราเฮง อายุ 28 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 244/2554 ลงวันที่ 28 กันยายน 2554 สภ.เทพา คดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน พฤติกรรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เวลา 17.45 น.ร่วมกับพวกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย คือ อาสาสมัครทหารพราน บาราเหม แฉะ และอาสาสมัครทหารพรานมะนาวี  อาหะมะ และผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นายนูรดีน แม

 

ผู้ต้องหารายที่ 2 คือ นายยาซะ  เจะหมะ อายุ 25 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดสงขลา ที่ 611/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สภ.สะบ้าย้อย ร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พฤติกรรม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณ 19.30 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงนายสุชาติ  อุดม อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดบริเวณริมถนนสาย อ.สะบ้าย้อย-คูหา หมู่ 1 ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการเมืองนำการทหารเข้ามาในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงประกาศให้ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ใช้กฎหมายทางเลือกที่นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการอบรมแทนการฟ้องคดี เป็นบทบัญญัติที่มุ่งแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้โอกาสผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้ารับการอบรมตามคำสั่งศาล แทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ แต่โอกาสนี้จะมีให้ก็แต่ผู้ที่ได้กระทำความผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยหลงผิด และต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเหล่านี้ ต้องการกลับใจและเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

 

บทบัญญัติมาตรา 21 เป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้ต้องหาและผู้ที่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือ บทบัญญัตินี้ให้ผู้ต้องหาเข้ารับการอบรมแทนการฟ้อง  ก็ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมเท่านั้น ไม่มีบุคคลใดสามารถใช้อำนาจบังคับได้โดยเด็ดขาด มาตรา 21 จึงเป็นกฎหมายทางเลือกเพื่อมุ่งสู่ความสมานฉันท์อย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายสานใจสู่สันติ ของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่ต้องการให้ทุกคนกลับสู่สังคม กลับสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหลบหนีอีกต่อไป

 

ในการนี้ พล.ท.อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรมแทนการฟ้อง ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 21 นางอารี  เตชะวันโต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.นราธิวาส มอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาชีพช่างถ่ายภาพ, ช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ แก่ผู้สำเร็จการอบรม 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: