ปัญหาการนโยบายการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยนั้นไม่เป็นผลอย่างเห็นได้ชัด เพราะขณะนี้ยังมีการผลักดันอนุญาต ให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรง และเป็นสารก่อมะเร็งที่ทั่วโลกเลิกใช้แล้ว รวมทั้งมีการละเว้นภาษีนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย ทั้งนี้ในเวที “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ได้นำเสนอรายงานการวิจัยจากหลายพื้นที่ เพื่อตอบคำถามว่าทำไมนโยบายควบคุมสารเคมีในประเทศไทยถึงไม่เดินหน้า
เกษตรฯผ่านงบภัยพิบัติหนุนซื้อยาฆ่าแมลง
นายสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีจากงบประมาณภัยพิบัติโรคพืช ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวการสำคัญในการผลักดัน ให้เกิดการใช้สารเคมีในพื้นที่ ผ่านโครงการงบประมาณภัยพิบัติโรคพืช โดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องภัยพิบัติ เรื่องพืชเป็นเงิน 500 ล้านบาท จำนวนนี้ไม่ได้ขายให้กับเกษตรโดยตรง แต่เป็นการขายให้กับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องโรคระบาดในพืช และแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เช่น บ้านกำนัน บ้านผู้ใหญ่บ้าน เช่น จ.มหาสารคาม มีนโยบายชัดเจนว่าจะทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แต่งบประมาณการใช้สารเคมีในจ.มหาสารคาม ใช้ไปประมาณ 300 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณตามโครงการเกษตรอินทรีย์ ใช้งบประมาณสร้างโรงปุ๋ยเพียง 5 ล้านบาท ถ้าลงไปในพื้นที่จะเห็นได้ว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะถูกแจกจ่ายไปยังบ้านกำนัน บ้านผู้ใหญ่ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะแจกให้กับลูกบ้านอีกต่อหนึ่ง มีสารเคมีบางชนิดที่ชาวบ้านไม่ต้องการ จะถูกเก็บไว้ตามหน่วยงานราชการ
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนี้ คือ ให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานไปที่อำเภอว่า หมู่บ้านนี้เกิดโรคระบาดขึ้นในพื้นที่ เมื่ออำเภอได้รับเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการภัยพิบัติของอำเภอ จะทำหนังสือรายงานไปที่จังหวัด จังหวัดจะดำเนินการประกาศให้หมู่บ้านนั้นเป็นเขตภัยพิบัติ และส่งกลับมาที่อำเภอ ให้อำเภอส่งไปยังพื้นที่ตั้งเป็นโครงการภัยพิบัติ เพื่อของบประมาณจัดซื้อสารเคมี
นายสุเมธกล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่กำลังเกิดปัญหาจากโครงการจัดซื้อสารเคมีจากงบภัยพิบัติคือ 1.ไม่เกิดการระบาดของโรคจริง 2.การจัดซื้อไม่ตรงกับโรคพืช เนื่องจากอาจจะมีการตกลงกับบริษัทแล้วว่า จะซื้อสารเคมีชนิดไหน โดยไม่คำนึงถึงโรคที่เกิดขึ้นจริง และ 3.อาจจะมีการปลอมสารเคมี เพราะเกษตรกรใช้แล้วไม่ได้ผล
ต้นทุนทำนา เป็นค่าสารเคมี 50 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่รายงานการศึกษาวิจัย การศึกษาผลกระทบในการใช้สารเคมีทางการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ยังพบว่า เกษตรกรใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรปริมาณสูงมาก น.ส.นิรินธร์ ประเสริฐสังข์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ นำเสนอรายงานการศึกษา การใช้สารเคมีปลูกข้าวในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สุพรรณบุรี คือ ดอนเจดีย์ อู่ทอง สองพี่น้อง และเดิมบางนางบวช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวมากที่สุด เกษตรกรใช้เงินต้นทุนในการทำนาแต่ละปีประมาณ 1-5 แสนบาท ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนเป็นค่าสารเคมีและปุ๋ยเคมี แม้จะใช้พื้นที่ปลูกข้าวน้อย แต่สัดส่วนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีไม่ต่างกัน
และจากการลงพื้นที่ศึกษาพบว่า เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชฉีดพ่นทุก 3 วัน และยังใช้สารที่มีพิษรายร้ายแรงที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว ในสัดส่วนสูงถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ เช่น คาร์โบฟูราน และพาราควอทด้วย
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาเกษตรกรที่จ.สุพรรณบุรี พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูล และมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการใช้สารเคมี แต่เกษตรกรเข้าใจผิดคิดว่า แม้จะไม่มีการระบาดของศัตรูพืชก็ต้องฉีดสารเคมีป้องกัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และต้องใช้สารเคมีในอัตราส่วนที่สูงกว่าคำแนะนำ ในฉลากข้างขวด เนื่องจากเกษตรกรกังวลว่า หากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอัตราน้อย จะทำให้ผลผลิตเสียหาย รายได้ลดลงและทำให้ครอบครัวเป็นหนี้
“ส่วนใหญ่เกษตรกรกว่าร้อยละ 90.2 รู้และเข้าใจว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งปาก จมูกและผิวหนัง ในขณะที่ร้อยละ 47.62 เข้าใจว่า แม้จะไม่มีการระบาดของศัตรูพืชก็ต้องฉีดสารเคมีป้องกัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และร้อยละ 41.07 คิดว่าการผสมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต้องผสมในอัตราส่วนที่สูงกว่าคำแนะนำในฉลากข้างขวด เพราะกลัวว่าถ้าใส่น้อยเกินไปผลผลิตจะเสียหาย ทำให้รายได้ลดลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น”
เกษตรกรไม่เชื่อมั่นแนวทางเกษตรปลอดสารเคมี
ทั้งนี้ น.ส.นิรินธร์ ในฐานะของผู้ศึกษาพบว่า เหตุผลที่เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูงเนื่องจากเกษตรกรเชื่อว่า หากไม่ใช้สารเคมีแล้ว จะได้ผลผลิตน้อย เพราะขนาดที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกสัปดาห์ ยังไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควรจะได้รับ และยังเชื่อว่าการกำจัดแมลงโดยวิธีอื่น เช่น การใช้สารอินทรีย์จะทำให้ศัตรูพืชจากที่อื่น มารุมกินผลผลิตของตนเอง ทำให้ผลผลิตน้อยลงไปอีก และที่สำคัญเกษตรกรไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีชีวภาพ หรือเกษตรกรรมอินทรีย์อย่างเพียงพอ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลของการใช้สารเคมี ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่าง ๆ ที่เกษตรกรจะได้รับไม่น้อยกว่า 6 ช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โปสเตอร์ต่าง ๆ ร้านค้า ฯลฯ ข้อมูลที่เกษตรกรได้รับดังกล่าวทำให้เกษตรไม่เชื่อมั่นว่า การไม่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ จะสามารถทำให้เกิดความมั่นคงและลดความเสี่ยงทางการเกษตรได้
ข้าราชการทำตัวเป็นนายหน้าขายยาปราบศัตรูพืชเอง
นอกจากนี้เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงใช้ทางเลือกอื่น เพราะรายได้หลักของครอบครัวอยู่ที่การทำนา ถ้าหากเปลี่ยนไปใช้แบบสารอินทรีย์แล้ว ได้ผลผลิตน้อยลง หรือเกิดความเสียหายขึ้น หมายความว่า ครอบครัวจะต้องขาดทุนและแน่นอนว่า จะต้องมีหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีหน่วยงานใดมารับรอง และให้ความเชื่อมั่น
ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ สนับสนุนแนวทางการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นหลักในการควบคุมศัตรูพืช หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทขายสารเคมี ทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า สารเคมีชนิดใดเหมาะสม และสมควรใช้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายเหตุผลด้วยกัน เช่นเจ้าหน้าที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เจ้าหน้าที่บางคนไม่เชื่อว่าการผลิตแบบลดต้นทุน ละ เลิก การใช้สารเคมีจะสามารถให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกับการใช้สารเคมี ขณะที่บางคนต้องการให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี เพราะรู้ถึงพิษภัย แต่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากนโยบายแผนปฏิบัติงานและงบประมาณไม่เอื้ออำนวยให้ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
เกษตรกรรับพิษสารเคมีพุ่งขึ้นตามพฤติกรรม
ทางด้านจ.นครสวรรค์ นายนพดล มั่นศักดิ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจ.นครสวรรค์ ในฐานะของผู้ศึกษา ได้ลงพื้นที่ศึกษาในอ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเขตชลประทานมากที่สุด จึงมีน้ำทำการเกษตรอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร และที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ระบุว่า อ.บรรพตพิสัย เป็นอำเภอที่มีจำนวนคนเข้ารับการรักษาอาการที่เกิดจากการใช่สารเคมีมากที่สุดของจ.นครสวรรค์ เกษตรกรร้อยละ 17 เคยมีอาการแพ้สารเคมีทางการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดดูดซึม และเอ็นโดซัลแฟน
ทั้งนี้ตัวเลขการเจ็บป่วยของเกษตรกรในพื้นที่ สอดคล้องกับทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเคมี จากการพูดคุยกับเกษตรกรพบว่า เกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่ ไม่อ่านฉลาก ไม่มีความเข้าใจต่อการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง และใช้ตามความเคยชิน กำหนดปริมาณในการใช้จากการสังเกตว่า ส่วนผสมเข้มข้นแค่ไหน โดยไม่สนใจเรื่องสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้การตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นการตัดสินใจเองโดยขาดความรู้ และไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความรู้จากอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี รวมถึงการเก็บสารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงเก็บสารเคมีไว้ในบ้าน
นโยบายจำนำข้าว ผมผลิตต้องดี-ตัวเร่งใช้สารเคมี
เจ้าหน้าที่มูลนิธิจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจ.นครสวรรค์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจการใช้สารเคมีและข้อมูลการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่า ภายใต้นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล เกษตรกรยุคใหม่เลือกการผลิตแบบที่ใช้สารเคมีทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของข้าว ความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้บริโภคและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาในหลายพื้นที่ทั้งนาข้าวและแปลงผัก จะมีข้อมูลที่เหมือนกันคือ มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตนั้นปลูกเพื่อจำหน่าย ถ้าผลผลิตไม่สวยราคาจะตกลง ซึ่งรายงานการศึกษาข้อมูลการใช้ และผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ต.นาสะไมย์ อ.เมือง จ.ยโสธร มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ยเคมี คิดเป็นร้อยละ 33 และค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คิดเป็นร้อยละ 13 ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ระบุว่า ปลูกข้าวเพื่อจำหน่าย จึงมีการใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณมาก เพื่อกระตุ้นการผลิต
เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ปลูกผักในจ.มหาสารคาม มีต้นทุนในการใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมีในการกำจัดวัชพืชรอบละประมาณ 30,000 ต่อไร่ เนื่องจากการปลูกผักเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ในระยะสั้น ผักที่ปลูกทั้งหมดเพื่อขาย ดังนั้นการผลิตมีเป้าหมายอยู่ที่การขาย กระบวนการผลิตต้องให้ได้ผักที่สวยงาม ตามความต้องการของพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรไม่มีทางเลือก
“เกษตรกรรู้ว่าการใช้สารเคมีเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้บริโภค แต่รายได้เป็นแรงจูงใจ เป็นความหวังและการอยู่รอด ผู้บริโภคเป็นผู้กดดันให้เกษตรกรใช้สารเคมี”
การใช้งบประมาณภัยพิบัติการเกษตร ในการจัดซื้อสารเคมี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ซื้อสารเคมีรายใหญ่ที่สุด และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองถูกวิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่าระยะหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้เป็นผู้ซื้อเองเท่าไหร่ แต่ระยะหลังหันไปทำหน้าที่ในการชงเรื่อง ผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยใช้งบประมาณภัยพิบัติ เริ่มต้นจากโรคแมลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ