จี้รัฐออกกฎหมาย5ฉบับคุ้มครองเกษตรกร แนะบริษัทให้ความรู้-ประกันความสุ่มเสี่ยง ตั้งเครือข่ายแก้ปัญหา'เกษตรพันธสัญญา'

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 30 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2379 ครั้ง

กลไกเหลื่อมล้ำภาครัฐ ก่อปัญหาเกษตรพันธสัญญา

 

 

จากคำนำหนังสือ “เกษตรพันธสัญญา ใครอิ่ม ใครอด ?” ที่จัดพิมพ์โดยคณะทำงานเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา ระบุว่า ระบบเกษตรพันธสัญญา คือเครื่องมือสำคัญในการลงทุนของบริษัทผู้ประกอบการ ที่ครอบคลุมหลายสาขาวิชา การผลิตทางการเกษตร (การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชผัก) สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหาตลาดสินค้าเกษตรกร ไปจนถึงการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร จากการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ ซึ่งระบบดังกล่าวมีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมขบวนการเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์อันหอมหวานที่ผู้ประกอบการนำเสนอกับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากตกลงปลงใจเข้าสู่วังวนของเกษตรพันธสัญญา หลังจากนั้นพบว่า ระบบเกษตรพันธสัญญายังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ ความรู้ไม่เท่าทันของเกษตรกรต่อบริษัทผู้ประกอบการ ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ   รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากกลไกภาครัฐ กฎหมาย และนโยบายที่จะกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตในระบบนี้

 

วันนี้เกษตรกรส่วนหนึ่ง ถลำลึกลงไปกับเกษตรพันธสัญญาแล้ว และไม่สามารถถอนตัวได้ จะมีวิธีใดที่จะสามารถช่วยให้เกษตรกรเหล่านี้แก้ปัญหาได้

 

จากข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค ระบุถึงสาเหตุของความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญญาคือ เกษตรกรถูกชักนำโดยไม่รู้เท่าทันระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ทำให้เข้าสู่การทำสัญญาโดยไม่มีกลไกใดๆ ของภาครัฐ ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ซึ่งบริษัททำสัญญาปากเปล่ากับเกษตรกรบางราย โดยไม่มีเอกสารสัญญาคู่ฉบับ นำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามสัญญา และมีการเพิ่มเติมข้อสัญญาด้วยวาจาในภายหลัง อีกทั้งบริษัทมักมีข้ออ้างต่างๆ ที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น อ้างว่าผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่ในสัญญาไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ บางครั้งเกษตรกรถูกกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทหรือพนักงานของบริษัท ซึ่งทำให้เกษตรกรถูกตัดคะแนนความร่วมมือ ซึ่งมีผลต่อค่าตอบแทนที่ควรจะได้ เป็นต้น

 

 

แนะเกษตรกรเสนอบริษัททำกิจกรรมเพื่อสังคม

 

 

ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ศึกษาเรื่องเกษตรพันธสัญญา แสดงความเห็นว่า การที่เกษตรกรทำสัญญาเรื่องเกษตรพันธสัญญา มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในหลายด้าน เนื่องจากมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง และกว่าจะคืนทุนจะต้องใช้ระยะเวลานาน

 

หนึ่งในความเสี่ยงของเกษตรพันธสัญญาที่เกษตรกรต้องเผชิญ ซึ่งดร.พอพันธ์นำเสนอ สอดคล้องกับปัญหาจากข้อเรียกร้องคือ เกษตรกรไม่รู้สิทธิของตนเอง และไม่เคยเก็บสัญญาคู่ฉบับที่ทำไว้กับผู้ประกอบการ นี่คือจุดอ่อนของเกษตรกรไทย เพราะไม่ใช่ความเคยชิน ไม่เคยอ่านเอกสาร บริษัทส่งเอกสารมาให้ไม่รู้ว่าเก็บที่ไหน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จึงทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตนเองเซ็นอะไรลงไป

 

นอกจากนี้เกษตรยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ เพราะเคยแต่ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อทำเกษตรพันธสัญญา ต้องมีการบริหารกิจการของตนเอง ทำอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงไม่สามารถปรับตัวได้ รวมถึงขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำเกษตรพันธสัญญา ยิ่งสร้างปัญหาและผลกระทบให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

 

จากปัญหาดังกล่าว ดร.พอพันธ์จึงเสนอทางออก ในรูปแบบของ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะต้องมีนโยบาย CSR อยู่แล้ว โดยดร.พอพันธ์ระบุว่า เกษตรกรควรมีข้อเสนอให้บริษัททำ CSR เชิงกลยุทธ์ เช่น สนับสนุนให้ก่อตั้งสมัชชาเกษตรกรพันธสัญญา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างเกษตรกร บริษัท รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และต้องรับรู้ นอกจากการรวมกลุ่มระดับสมัชชาแล้ว บริษัทควรจะสนับสนุนให้รวมกลุ่มของเกษตรพันธสัญญา ในแต่ละพื้นที่ด้วย

 

                       “เกษตรกรควรเสนอให้บริษัททำ CSR ในการกำหนดราคากลาง ในการรับซื้อผลผลิตร่วมกัน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดูแล เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง และควรมีการประกันรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกร และที่สำคัญ CSR ของบริษัทควรจะทำเรื่องสัญญา ที่ระบุให้มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น น้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆ ด้วย ส่วนปัญหาการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี  เกษตรกรควรเสนอให้บริษัทถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และอบรมเพิ่มความรู้เรื่องการบริหาร จัดการฟาร์ม และสร้างให้มีระบบการให้กำลังใจกันด้วย และบริษัทควรจะมี CSR การปฏิบัติตนที่ดีต่อสภาพแวดล้อม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกษตรกร”

 

นอกจากนี้ดร.พอพันธ์ยังมองสิ่งที่ต้องการให้เกษตรกรนำเสนอ ต่อบริษัทหรือผู้ประกอบการเกษตรพันธสัญญาด้วยว่า ควรเสนอให้มีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างบริษัทและเกษตรกร ในมิติต่างๆ ของเกษตรพันธสัญญา เช่น ด้านการผลิต รายได้ ความเสี่ยง และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และที่สำคัญที่ต้องการเรียกร้องคือ ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อให้สังคม ผู้บริโภคร่วมกันตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่รับรู้เรื่องเกษตรพันธสัญญาน้อยมาก ขณะที่ทุกอย่างเกี่ยวพันกับชีวิตของคนส่วนใหญ่

 

จี้รัฐตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาเกษตรพันธสัญญา

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม ประสบปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตรแบบพันธสัญญา รวมไปถึงเกษตรกรที่ถูกบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และสถาบันการเงินดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความถูกต้องและชัดเจน คณะทำงานเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานในการศึกษา รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และรัฐควรจะมีคณะทำงานในการตรวจสอบ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ในกรณีที่เกษตรกรถูกดำเนินคดี ด้วยความไม่เป็นธรรม

 

ส่วนข้อเสนอเชิงมาตรการระยะเร่งด่วน ขอให้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งระบบการไกล่เกลี่ย และการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากความขัดแย้ง หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญา และต้องกำหนดให้ข้อตกลง ที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีแบบมาตรฐาน และกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาติดตาม กำกับให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

นอกจากนี้คณะทำงานเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา เรียกร้องให้สภาเกษตรแห่งชาติ ในฐานะที่มีหน้าที่โดยตรงต่อปัญหา เข้ามาเป็นองค์กรหลักในการับผิดชอบ เพื่อติดตามดำเนินการพัฒนาระบบการแก้ปัญหา และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมายให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

 

 

เสนอกฎหมาย 5 ฉบับคุ้มครองเกษตรกรพันธสัญญา

 

 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง คณะทำงานฯ ได้นำเสนอกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมในธุรกิจอุตสาหกรรมทางการเกษตรและอาหาร คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร พ.ศ....ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกพืชตามพันธสัญญา พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.การตลาดปัจจัยและสินค้าเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตรแบบพันธสัญญา พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา และ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร พ.ศ....

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: