เอกชนเซ็งเงื่อนไขแผนจัดการน้ำ'ปลอด' สั่งเปลี่ยนใหม่ต้อง'ออกแบบ-ก่อสร้าง'ด้วย จวกรัฐไม่ชัด-ทำสับสน-เอกสารไม่สากล

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 30 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1695 ครั้ง

 

หลังการประกาศของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เชิญชวนให้ผู้ประการที่สนใจเข้าร่วมเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ไปเมื่อวันที่ 9-23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ล่าสุดนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดห้องประชุมแกรนด์ ฮอล ของศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกรอบแนวความคิด (Conceptual Plan) ดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนที่สนใจทั้งไทยและต่างชาติ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงอย่างคับคั่งกว่า 1,000 คน ในขณะที่สื่อมวลชนเองก็ไปสังเกตการณ์จำนวนมากไม่แพ้กัน

 

 

แจงมี 398 บริษัทสนใจโครงการ 3.5 แสนล้าน

 

 

การชี้แจงเริ่มต้นขึ้น โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ขึ้นเวที พร้อมด้วย นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า จากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ารับเอกสารโครงการดังกล่าวรวม 398 ราย ประกอบด้วยภาคธุรกิจในประเทศ 303 ราย ภาคธุรกิจต่างประเทศ 37 ราย ส่วนราชการ 17 ราย สถานทูต 22 ราย และสื่อมวลชน 19 ราย โดยการชี้แจงครั้งนี้เพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับผู้สนใจที่จะเข้าร่วมดำเนินการโครงการนี้ รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ และให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการคัดเลือกครั้งนี้อย่างโปร่งใส โดยในการคัดเลือกผู้ที่จะมีสิทธิ์เข้ามาดำเนินการโครงการนั้น เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีตนเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง และมีคณะกรรมการ 16 คน แบ่งออกเป็น หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง 6 คน และหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าปลัดกระทรวงอีก 5 คน โดยจะมี 2 คน ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องที่ว่าด้วยการพัสดุ และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นอกเหนือจากกรรมการโดยตำแหน่ง ยังมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน โดยทั้งหมด มีหน้าที่คือคัดเลือกข้อเสนอกรอบแนวคิดไปสู่การว่าจ้างในอนาคต และตรวจสอบในทางระเบียบราชการว่าด้วยการอนุมัติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปลอดชี้อย่าตกใจทำเองเสนอเอง เพราะมีสองตำแหน่ง

 

 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการชุดนี้จึงต้องนำเสนอเรื่องต่อปลัดฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยตรง ดังนั้นจึงขออย่าสงสัยว่า ตนเป็นประธานกบอ.อยู่แล้ว แต่ทำเรื่องเพื่อเสนอตัวเอง จะเป็นเรื่องที่ไม่โปร่งใส เพราะขณะนี้ตนดำรงอยู่ทั้ง 2 ตำแหน่ง การดำเนินการใด ๆ จะต้องผ่านคณะกรรมการถึง 16 คนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะสามารถทำเกินเลยไปได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาช่วยคณะกรรมการอีกเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

 

 

                      “ขอย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างใดๆ ยังไม่มีสัญญา ยังไม่มีการจ่ายเงินใด ถ้าหากมีการกล่าวหาว่าจะมีการคอร์รัปชั่นจึงเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้เรายังไม่ได้เลือกใคร และยืนยันว่าไม่ได้มีใครในใจ จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทุกคนจะทำได้เท่ากันหมดแล้วแต่ความสามารถ และผมยืนยันว่าจะไม่มีการปิดกั้นใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับ บริษัทต่างประเทศ การเข้าร่วมในโครงการนี้จะต้องเป็นไปตามกฎหมายของไทยโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น  จะนำเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอ้างก็ไม่ได้” นายปลอดประสพกล่าว

 

 

ให้เวลาทำแผน 3 เดือนเพื่อนำเสนอ

 

 

สำหรับกรอบระยะเวลาของการทำงาน นายปลอดประสพกล่าวว่า นับจากวันนี้ทุกองค์กร-บริษัท จะมีเวลา 90 วันในการทำงาน โดย 60 วันแรก เป็นการดำเนินการทำรายงาน เพื่อให้เกิดกรอบแนวความคิด (Conceptual Plan) 30 วัน ต่อมาเป็นการเชิญมาสัมภาษณ์เพิ่มเติม จากนั้นจึงจะเป็นการคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสมเบื้องต้น (Short List) ที่จะต้องยืนยันภายใน 30 วัน ว่าจะเสนอหรือไม่ และแบบใด เช่น ระบุว่าจะเสนอมาแบบเป็นบริษัทเดี่ยว ๆ เป็นกลุ่มที่ทำกิจการค้าร่วม (Consortium) หรือเป็นกลุ่มที่ทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่จะต้องแสดงหลักฐานเป็นเอกสารเท่านั้น โดยสำหรับบริษัทต่างชาติ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ต้องได้รับคำยืนยันจากสถานทูต ภายใน 30 วัน กรรมการจะตรวจสอบคุณสมบัติ และจะประกาศรายชื่อ ซึ่งหากบริษัทมั่นใจก็ไม่จำเป็นต้องรอ แต่สามารถที่จะดำเนินการล่วงหน้าไปเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้เขื่อนกันน้ำกับการผันน้ำ ถ้าทำได้จะให้คะแนนพิเศษ

 

 

ในส่วนของรายละเอียดโครงการฯ นายปลอดประสพระบุว่า การทำเอกสารโครงการจะแยกออกเป็น 8 เรื่องตามกรอบแนวคิดที่เสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นทีโออาร์การดำเนินโครงการในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา และครอบคลุมไปถึง 6 เรื่องของลุ่มน้ำรอง 11 ลุ่มน้ำด้วย ที่นอกจาก 8 เรื่องแล้ว  ผู้เสนอยังจะต้องทำเพิ่มอีก 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ (Trans basin Diversion) และแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเล (Sea Barrier) ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในทีโออาร์แล้วเช่นกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้จะไม่เป็นการบังคับให้ทำ แต่หากบริษัทไหนสามารถทำได้ ก็จะถือว่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ในเรื่องของความสามารถ โดยสองเรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นมา เป็นเรื่องที่ไม่ได้ครอบคลุมในวงเงินกู้ โดยบริษัทที่สนใจต้องแสดง รายละเอียดเรื่องงบประมาณมาด้วย หลังจากนั้น กรรมการจะทำลิสต์ ทั้ง 6 กลุ่มออกมา โดยแต่ละกลุ่มจะคัดเลือกไว้ 3 บริษัท หรือ 3 กลุ่มบริษัท แล้วจึงดำเนินการคัดเลือกต่อไป

 

“อย่างไรก็ตาม ใน 8 เรื่องนี้ มี 2 เรื่องที่ไม่ได้พูดถึงคือ ปลูกป่า และรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง ไม่ว่าจะทำข้อใด ต้องพูดถึงทั้งสองเรื่องนี้ทุกครั้ง โดยเรื่องการปลูกป่า รัฐบาลมีเงิน 10,000 ล้านบาทไว้ สำหรับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นคนทำ หากมีแนวคิด ก็สามารถเสนอได้” ประธาน กบอ.กล่าว พร้อมยกตัวอย่างถึงเกณฑ์การพิจารณา ที่จะสัมพันธ์กับการให้คะแนนการคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสมในการดำเนินการโครงการด้วย อาทิ 1.ความถูกต้อง และความครบถ้วน ของกรอบแนวคิด 2.ความสอดคล้องกับแผนแม่บท 3.ความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางเทคนิค 4.ความเชื่อมโยงของระบบทั้งหมด 5.ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์  6.กรอบเวลาที่สั้นที่สุด 7.ประมาณการค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณ และ 8.ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยจากลิสต์กลุ่มละ 3 บริษัท กรรมการจะคัดเลือกให้เหลือ บริษัทเดียวเท่านั้น เพื่อทำสัญญาในอนาคต โดยบริษัทที่จะเริ่มการเจรจา จะเริ่มจากบริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุด โดยผู้ที่ได้สัญญาในอนาคต อาจมีหลายลักษณะ โดยใน 6 เรื่อง เรื่องอาจจะเป็น 6 บริษัทก็ได้ หรืออาจมีบริษัทที่ได้มากกว่า 1 หัวข้อก็ได้

 

 

เปลี่ยนจากขอแผนความคิด เป็นดีไซน์แอนด์บิวท์

 

 

ภายหลังการชี้แจงรายละเอียดในหลักการต่างๆ แล้ว นายปลอดประสบยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเวลาจำกัดในเรื่องของเงินกู้ และประเทศไทยเองก็มีเวลาน้อยที่จะต้องเตรียมต่อสู้กับน้ำท่วม จึงเป็นไปได้ที่ในการดำเนินการโครงการนี้ อาจจะต้องใช้วิธีการในระบบดีไซน์ แอนด์ บิวท์ (Design and Build) หรือการออกแบบและสร้างต่อเนื่องกันไปทันที ซึ่งถ้าหากใช้ระบบนี้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุดพร้อมกับจ้างบริษัทเข้ามาอีก 2 กลุ่ม เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับคัดเลือก ให้ดำเนินการโครงการ โดยจะเป็นการดูแลเรื่อง 1.การบริหารจัดการโครงการ และ 2.เป็นที่ปรึกษาในการวิเคราะห์เรื่องแผนการก่อสร้าง และหากบริษัทที่เสนอว่าจะดำเนินการแบบนี้ และได้รับคัดเลือกก็จะต้องส่งรายละเอียดแผนทั้งหมดให้กับ 2 บริษัทที่ปรึกษานี้ดูก่อนการก่อสร้าง 1 เดือน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องไปดำเนินการ เพื่อนำมาเสนอ ทั้งในเรื่องของงบประมาณ เรื่องค่าก่อสร้างที่จะมีการพิจารณาไปพร้อมกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเป็นเรื่องของกรอบเวลา ราคา เทคนิค และประสบการณ์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คณะกรรมการจะตัดสินใจเลือกใครมาทำโครงการ” นายปลอดประสพกล่าว

 

 

โต้วสท.ไม่ต้องศึกษาอีก เพราะเป็นแผนเดิมทำได้อยู่แล้ว

 

 

หลังจากการชี้แจงในประเด็นหลัก ๆ ของขั้นตอนและหลักการในการคัดเลือกแล้ว นายปลอดประสพยังกล่าวถึงประเด็นที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ตั้งข้อสังเกตในขั้นตอนการทำงานที่ข้ามขั้นตอนของการศึกษา แต่กลับดำเนินการเพื่อให้เป็นกรอบแนวคิด โดยระบุว่า ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาเพื่อเป็นแนวทางหลักในการดำเนินโครงการนี้ 80 เปอร์เซนต์ เป็นข้อเสนอเดิมของหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำมาก่อน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่ออกมาเป็นโครงการ ต้องผ่านการศึกษาล่วงหน้ามาแล้วทั้งสิ้น ถึงขั้นที่เคยไปดูสถานที่ก่อสร้างมาก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการศึกษาดำเนินการตามขั้นตอนมาหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องถอยหลังกลับไปอีก

 

                “ถ้าถามว่า แล้วทำไมต้องทำ Conceptual Plan อีก ผมก็จะตอบว่า แผนทั้งหมดทำไว้หมดแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่สิ่งที่อยากรู้คือแผนเหล่านี้มันใช้ได้หรือไม่ เช่น เรื่องของ 2 อ่างเก็บน้ำที่เป็นปัญหาขัดแย้ง ที่แม่วงก์ กับแก่งเสือเต้น ก็ต้องกลับมาถามว่าจะต้องทำยังไง มันดีไหม ดูต้องหรือไม่ หรือจะต้องออกแบบใหม่ หรือมีการพูดกันเรื่อง Flood way หรือ Flood diversion ก็พูดกันมานานแล้วแต่ไม่เคยทำ พอน้ำท่วมก็คิดว่าจะต้องทำ ครั้งนี้จึงเป็นการจะมาถามว่า ควรจะสร้างไหม ที่ไหน อย่างไร จึงอยากให้มีการเสนอแนวความคิดกันมาบนฐานเดิมรวมกับของใหม่ก็แค่นั้น” นายปลอดประสพระบุ

 

 

ยืนยัน 31 ม.ค.ปี หน้าได้ชื่อบริษัทแน่

 

 

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวถึงแผนงานและช่วงเวลาในการคัดเลือกผู้เหมาะสมในการดำเนินโครงการนี้ ว่า ในการคัดเลือกบริษัทที่จะเสนอแผนงานเข้าร่วมโครงการ จะแบ่งกลุ่มบริษัทออกตามแผนงานหลัก และโครงการที่จะต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน ใน 8 แผนงานหลัก แต่แผนงานที่ 1 ได้แก่ การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้ว เพื่อให้เกิดความสมดุลในพื้นที่หรือการปลูกป่านั้น ครม.ได้ให้งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ไปดำเนินการแล้ว ส่วนแผนงานการปรับปรุงองค์กรในการจัดการน้ำ สั่งการ กำกับดูแล ติดตาม นั้นใช้งบปกติ จึงเหลือเพียง 6 โครงการที่ต้องการให้บริษัทมาดำเนินการออกแบบก่อสร้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                    “บริษัทที่สามารถส่งเอกสารเพื่อนำเสนอแผน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2555 หลังจากนั้นคณะกรรมการจะใช้เวลาพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทต่าง ๆ ภายใน 1 เดือนเพื่อให้เสร็จสิ้นในวันที่ 24 กันยายน 2555 จากนั้น เมื่อบริษัทได้รับการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ ว่าสามารถยื่นแนวความคิดเพื่อนำเสนอได้ ก็จะให้เวลาในการทำงานออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอีก 3 เดือน โดยให้เอกชนดำเนินการทำดราฟ (ร่าง) เอกสาร 2 เดือน จะต้องเสร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 จากนั้นจะเชิญบริษัทมาสัมภาษณ์เพิ่มเติม ในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการให้เหลือโครงการละ 1 บริษัท และจะประกาศผลผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้จัดทำโครงการนี้ในวันที่ 31 มกราคม 2556” นายสุพจน์กล่าว

 

สำหรับบรรยากาศในการชี้แจงได้รับความสนใจจากตัวแทนบริษัท องค์กร ทั้งไทยและต่างชาติรวมถึงค สถานทูต เดินทางมาร่วมรับฟังอย่างคึกคัก โดยในตอนท้ายของการชี้แจง มีการเปิดให้มีการซักถาม ซึ่งปรากฏว่า มีตัวแทนจากบริษัทต่าง ๆ ลุกขึ้นถามคำถามในหลายประเด็น เช่น กรณีคุณสมบัติของบริษัทที่จะยื่นเสนอเข้ารับการพิจารณาว่า จำเป็นจะต้องนำประวัติการทำงานของบริษัทแม่ เข้ามายืนยันด้วยหรือไม่อย่างไร, กรณีของเอกสารมีภาษาอังกฤษให้หรือไม่ และเอกสารที่จะต้องนำส่ง จะต้องจัดทำเป็นภาษาอังกฤษด้วยหรือไม่ รวมไปถึง ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบเรื่องอัตราเสี่ยงค่าเงิน และจะดำเนินการด้วยเงินสกุลใด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้ลุกขึ้นเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมอีก ทำให้นายปลอดประสพต้องตัดบท พร้อมกับตอบคำถามด้วยท่าทีขึงขังสั้น ๆ

 

                 “ผมขอย้ำว่า การดำเนินการทั้งหมดเหล่านี้เป็นการดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ภายใต้กฎหมายของไทย ขอให้ทุกท่านทำความเข้าใจ เอกสารทุกอย่างก็ทำมาเป็นภาษาไทย สกุลเงินเป็นเงินบาท หากใครทำได้ก็ทำ ไม่สะดวกใจก็ไม่ต้องทำ แค่วันนี้จัดให้มีคนมาแปลภาษาอังกฤษให้ก็บุญแล้ว โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลไทย มีความจำเป็นต้องทำ ดังนั้นเราจึงต้องนำเงินมาลงทุนในเรื่องนี้ เงินเรามีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะให้ใครทำเท่านั้น ถ้าหากมีคำถามข้องใจอะไร ขอให้ไปติดต่อที่องค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เลย สอบถามได้ เพราะเราไม่มีปิดบังข้อมูลอะไรอยู่แล้ว ถ้าไปขอแล้วเขาไม่บอก ให้มาบอกผม ผมจะจัดการให้ ดังนั้นขอให้สบายใจ” นายปลอดประสพกล่าว

 

 

บริษัทชี้ เอกสารสับสน ความต้องการไม่นิ่ง

 

 

อย่างไรก็ตามในการชี้แจงรายละเอียดการจัดทำแผนดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้รับฟังส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่มีความสนใจที่จะร่วมนำเสนอแผนงานแสดงความเห็นว่า การชี้แจงยังไม่ชัดเจนมากนัก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้รับเอกสารเบื้องต้นมาแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ เนื่องจากเอกสารแนวทางต่างๆ ไม่ได้ถูกจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องมีการแปลเพิ่มในภาษาของตน และอาจจะสับสนในเรื่องของการตีความที่แตกต่างกันไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การชี้แจงของนายปลอดประสพ ยังมีความสับสนอยู่ เช่นในประเด็นเรื่องของ แนวทางการจัดทำแผนงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ระบุว่าให้จัดทำเฉพาะ แนวกรอบความคิด (Conceptual plan) เพื่อการพิจารณา ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการดำเนินการก่อสร้างจริง แต่วันนี้ในปลอดประสพกลับระบุว่า จะมีการพิจารณากลุ่มที่สามารถออกแบบ Conceptual plan และก่อสร้างไปเลย ในรูปแบบ Design and Built  จึงอาจจะต้องทำให้บริษัทต่างๆ กลับไปหาแนวทางใหม่ทั้งหมด ในขณะที่การตอบคำถามก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

 

ทางด้าน นายคาตะยะ อิชิซูคะ กรรมการผู้จัดการบริษัท พาสโค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจด้านการสำรวจและจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า จากการที่มาฟังการชี้แจงรายละเอียดในครั้งนี้ เห็นว่าอาจจะต้องกลับไปทำความเข้าใจกับเนื้อหา แนวทางการจัดทำแผนเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลไทยใหม่ เนื่องจากมีข้อมูลบางอย่างที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการชี้แจงครั้งนี้เห็นชัดเจนว่า บริษัทที่จะส่งแผนงานจะต้องมีการจับคู่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลไทย ในการจัดทำโครงการนี้ เช่นเรื่องของการออกแบบ รวมไปถึงการก่อสร้าง ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทของตนก็คงจะต้องกลับไปพูดคุยกับบริษัทแม่ ในประเทศญี่ปุ่นก่อนว่า จะทำอย่างไรต่อไป หรือจะหาบริษัทไหนมาจับคู่ธุรกิจร่วมกัน ส่วนประเด็นเรื่องของความโปร่งใสนั้น นายคาตะยะ หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้แต่ตอบเพียงว่า บริษัทดูเพียงภาพรวมทั้งหมด ก่อนจะกลับไปนำเสนอบริษัทแม่เพื่อการตัดสินใจต่อไป

 

 

เปิดรายละเอียด 8 ยุทธศาสตร์ แผนงานที่ต้องทำ

 

 

สำหรับรายละเอียดงานหลัก (Back bone) และโครงการที่บริษัทต่างๆ จะต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำ แบบบูรณาการและยั่งยืน (ระยะยาว) ซึ่งระบุไว้ในเอกสารสำหรับบริษัทที่สนใจใช้เป็นแนวทางในการออกแบบแผน จัดทำโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย งานและโครงการในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำ มีค่าการลงทุนประมาณ 3000,000 ล้าน แยกเป็นแผนดำเนินโครงการ 8 แผนได้แก่

 

1.การฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้ว ฯลฯ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลพื้นที่ดำเนินการประมาณ 10 ไร่  งบประมาณดำเนินการ 10,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินการเพื่อทำหน้าที่ปรับอัตราไหลน้ำหลากสูงสุด ที่จะไหลลงสู่ทางน้ำหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำ ดำเนินการใน

1.1 พื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าในที่สูงใน จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน  อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เป็นต้น โดยเน้นดำเนินการในป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง พื้นที่เกษตร

1.2.พื้นที่ป่ากลางน้ำ และป่าพื้นที่ราบ จะดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น จ.สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น เน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ป่าบุ่ง และป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar site) พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วน เป็นต้น 

1.3.พื้นที่ป่าปลายน้ำและป่าในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ ใน จังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ปลายน้ำ เช่น จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าชายหาด เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.การสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม และยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.  งบประมาณดำเนินการ 50,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินการเพื่อทำหน้าที่ปรับอัตราการไหลน้ำหลากสูงสุด ไม่ให้เกินขีดความสามารถของแม่น้ำที่รองรับการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วย

2.1 ลุ่มน้ำปิง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ที่ ต.นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่,อ่างเก็บน้ำคลองวังเจ้า คลองสวนหมาก และคลองขลุง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แห่ง

2.2 ลุ่มน้ำยม ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

2.3 ลุ่มน้ำน่าน  ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปาด ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ,อ่างเก็บน้ำคลองชมพู  ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

2.4 ลุ่มน้ำสะแกกรัง  ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์

2.5 ลุ่มน้ำป่าสัก  ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำป่าสักตอนบน ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง ความจุรวม 98.59 ล้าน ลบ.ม. ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี

 

3.การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ (ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง) งบประมาณดำเนินการ 50,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย

3.1. ผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินของลุ่มน้ำที่สัมพันธ์กับผังน้ำ เพื่อแสดงการแบ่งเขตการใช้ที่ดิน (Landduse zoning) ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย เขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่น้ำท่วมถึง เขตพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนเมือง อุตสาหกรรม เขตที่ตั้งแหล่งเก็บน้ำเขตที่ปลอดจากน้ำท่วม เขตที่น้ำท่วมได้(เขตพื้นที่ชะลอน้ำ เขตพื้นที่พักน้ำชั่วคราว “แก้มลิง” ทางน้ำธรรมชาติ ทางน้ำหลาก (Flood way) เขตกำหนดเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เขตที่รองรับการพัฒนาและเศรษฐกิจของจังหวัด ของภูมิภาค และของประเทศ เป็นต้น  การดำเนินการจะต้องมีกำหนดเสนอมาตรการด้านกฎระเบียบ องค์กร การมีส่วนร่วม เอกสารประชาสัมพันธ์การสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ได้ผังการใช้ที่ดินที่บูรณาการการใช้ประโยชน์สอดคล้องกับต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นที่ยอมรับ สำหรับนำมาเป็นฐานในการพัฒนาประเทศสืบไป

3.2 ผังเมืองของพื้นที่ชุมชนและผังเมืองเฉพาะ เพื่อแสดงการใช้ที่ดินในพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด สำหรับใช้เป็นแนวทางให้พื้นที่ชุมชนดั้งเดิมหรือพื้นที่ชุมชนใหม่พัฒนาการใช้ที่ดินสืบต่อไป

3.3 การจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ชุมชนของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้วได้รับการปกป้องจากภัยน้ำท่วมทุกกรณี จะกำหนดขอบเขตของพื้นที่ปิดล้อมระดับป้องกันน้ำท่วมพั้นที่ปิดล้อม ระบบระบายน้ำภายในพื้นที่ปิดล้อม และพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งกฎระเบียบ มาตรการเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบูรณาการใช้ประดยชน์ที่ดินในพื้นที่ปิดล้อมและพื้นที่ข้างเคียง เป็นต้น

3.4 การจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของประเทศ เพื่อให้พื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ คือพื้นที่ตั้งแต่ใต้ จ.อยุธยาลงมาถึงอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน พาณิชกรรม ศูนย์กลางการบริหาร และบริการของประเทศได้รับการปกป้องจากภัยน้ำท่วมทุกกรณี

3.5 การจัดทำพื้นที่ปิดล้อมเกษตรกรรม เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรรมหลักของประเทศที่มีการลงทุนจำนวนมากได้รับการปกป้องจากภัยน้ำท่วมปกติ (จะยอมให้น้ำท่วมเฉพาะกรณีที่เป็นน้ำหลากขนาดกลางถึงขนาดใหญ่เท่านั้น)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

4.การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน ในพื้นที่โครงการ ชลประทานพิษณุโลก (เหนือนครสวรรค์) และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เหนืออยุธยา) ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราวในฤดูน้ำหลากได้ประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้าน ลบ.ม.ใช้พื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่ รวมทั้งปรับปรุงให้สามารถเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมและประมง งานที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่

4.1 ปรับปรุงคันปิดล้อมพื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน รวมทั้งประตูน้ำ คลองระบายน้ำ เส้นทางน้ำหลาก สถานีสูบน้ำออก ให้พร้อมใช้งานในการควบคุมการนำน้ำเข้า การกักเก็บน้ำ และการระบายน้ำ และจัดทำสถานีสูบน้ำเข้าคลองชลประทานให้พร้อมใช้งานในการส่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม ดังตัวอย่างที่ได้ดำเนินการในพื้นที่บางบาล

4.2 ประชุมชี้แจงราษฎร เกษตรกรให้เกิดความเข้าใจ และเห็นถึงความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเก็บกักน้ำ

4.3 กำหนดมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือระหว่างน้ำท่วม ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ที่ชัดเจน เป็นจริงและทันกาล และประกาศให้ทราบตั้งแต่เริ่มแรก

4.4 กำหนดเกณฑ์การผันน้ำและเวลาที่จะผันน้ำเข้าไปในพ้นที่ การแจ้งข่าว การติดตาม การประสานงาน การให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน

4.5 ปรับปรุงระบบพื้นที่ปิดล้อมชุมชนในพื้นที่ ให้พร้อมใช้งาน (คัน ประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ คลองระบายน้ำ ท่อ ฯลฯ) โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับจังหวัด เทศบาล อบต.ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

4.6 กำหนดระดับและปรับปรุงคันป้องกันพื้นที่เกษตรกรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอาคารปากคลองแยก และคลองระบายน้ำ (รับน้ำจาก ปตร.ปากคลอง) ที่อยู่นอกพื้นที่ ให้ได้ตามที่กำหนดและพร้อมใช้งาน โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน ประสานกับจังหวัด อบจ. และ อบต.ดำเนินการ และห้ามมีการการเสริมคันชั่วคราว เช่น คันดิน กระสอบทราย เพิ่มเติมก่อนได้รับอนุญาต

 

5.การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ  งบประมาณดำเนินการ 7,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำจากลุ่มเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยงานต่างๆ ได้แก่

5.1 งานขุดลอก สันดอนแม่น้ำ ปรับแนวตลิ่งแม่น้ำ เพื่อให้ได้หน้าตัดแม่น้ำตามที่กำหนด

5.2 งานปรับปรุงคันริมแม่น้ำ นอกเหนือจากคันริมแม่น้ำของพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัด ให้ได้ระดับน้ำตามกำหนด(กำหนดโดยกรมชลประทาน) และห้ามมีการเสริมความสูงของคันริมแม่น้ำ เช่น เสริมด้วย คันดินถม กระสอบทราย ก่อนได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกลาง

5.3 งานปรับปรุง อาคารปากครองแยกแม่น้ำให้ได้ตามที่กำหนด เช่น การปรับปรุง ประตูน้ำบางโฉมศรี เป็นต้น

5.4 งานปรับปรุงคลองระบายน้ำที่รับน้ำจากประตูน้ำปากคลองแยกในข้อ 5.3 ให้สามารถรองรับการระบายน้ำได้ตามขีดความสามารถของประตู

 

6. การจัดทำทางน้ำหลาก (Flood way) และหรือทางผันน้ำ (Flood Diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกิน จากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง(ระดับประเทศ) ไปพร้อมๆ กัน  งบประมาณการดำเนินการ 120,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย ประกอบด้วย

6.1 เลือกรูปแบบของทางน้ำหลาก จะเป็น Flood way หรือ Flood diversion channel โดยการเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก ประกอบด้วย เกณฑ์ทางวิศวกรรม เกณฑ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเกณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม สิ่งแวดล้อม และนิเวศ

6.2 เลือกแนวทางของน้ำหลาก โดยการเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก

6.3วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและรายรับ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นไปได้

6.4วิเคราะห์การจัดทำ Floodway และการคมนาคม (logistic) ไปพร้อมกัน สำหรับรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

6.5 เลือกรูปแบบการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด

7.การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ (หลากและแล้ง) กรณีต่างๆ งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 งานหลัก

7.1 ระบบ Scada

7.2 ระบบ MIS (ประเมินผลข้อมูลเพื่อการบริหารสั่งการ)

7.3 ระบบ DSS การจัดสินใจที่นำไปสู่การทำ (Flood fighting+Flood rescue)

7.4 ระบบบริหารจัดการเมื่อเกิดวิกฤติ นำไปสู่การบริหารจัดการบนฐานข้อมูลคนไทย

8. การปรับปรุงองค์การ (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมาย และวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม  ใช้งบปกติ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: