ศธ.ปรับหลักสูตรใหม่ร.ร.ตาดีกา เพิ่มโอกาสนร.3จว.ชายแดนใต้

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) 31 มี.ค. 2555


 

นายนิฟูอัด บาสาลาฮา นักวิชาการอิสลามศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กำลังวางระบบการเรียนการสอนให้โรงเรียนตาดีกา (ศูนย์การเรียนรู้อิสลามศึกษา) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีระบบธุรการที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยริเริ่มโครงการพัฒนาระบบการปฏิบัติการด้านธุรการและสารบัญในศูนย์ตาดีกา ซึ่งสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก ได้ดำเนินการนำร่องไประยะหนึ่งแล้ว

 

นายนิฟูอัดกล่าวว่า โรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสถาบันการสอนวิชาศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานในพื้นที่ ยังมีปัญหาเรื่องการวางระบบการเรียนการสอนอยู่มาก ส่วนระบบการจัดเก็บข้อมูลก็ยังมีส่วนที่จำเป็นต้องลงไปช่วยเสริม เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะให้แก่ผู้สอน จากการสำรวจโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ พบว่า ผู้สอนส่วนมากไม่มีทักษะการวางแผนการสอน และยังขาดทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนของเยาวชน

 

นายซานูซี เบญจมันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก กล่าวว่า สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี  ได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี จัดพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือเรียนให้แก่ โรงเรียนตาดีกาในจังหวัดปัตตานี ทั้งหมด 653 ศูนย์ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงชั้น

 

สำหรับหนังสือแบบเรียนดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการศึกษาอิสลามประจํามัสยิด (ตาดีกา) ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส พ.ศ. 2548 โดยแบบเรียนสำหรับช่วงชั้นที่ 2 หรือชั้นอิบติดาอี (ชั้น 4 – 6) เทียบเท่าระดับประถมปลาย ในการศึกษาสายสามัญ ได้แจกจ่ายให้ศูนย์ต่างๆ แล้ว ส่วนแบบเรียนช่วงชั้นที่ 1 ได้แจกจ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้

 

นายซานูซีกล่าวด้วยว่า ต้นคิดการเปลี่ยนแบบเรียน จากเดิมที่ใช้ในโรงเรียนตาดีกาปัจจุบัน มาจากการรวบรวมปัญหาที่พบในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งการเปลี่ยนแบบเรียนดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรกของการรื้อการเรียนการสอนตาดีกา แล้วจะการให้เป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานกลาง เพื่อการันตีว่า นักเรียนตาดีกามีความรู้ความสามารถในการแข่งขันความรู้ทางศาสนาในระดับประเทศได้

 

นายซานูซีกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนตาดีกา ไม่มีมาตรฐานกลางในการกำหนดคุณภาพการศึกษาของเด็ก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจำเป็นต้องมีการวางระบบที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถต่อรองกับกระทรวงศึกษาธิการได้ว่า ต้องลงมาสนับสนุนในส่วนใดบ้าง

 

ปัจจุบันนักเรียนตาดีกาเสียเปรียบการศึกษาในระบบอื่น เนื่องจากวุฒิการศึกษาตาดีกายังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งยังเสียเปรียบในเชิงการเปรียบเทียบความรู้ เมื่อมีการทดสอบความรู้วิชาศาสนาหรือ I-Net เนื่องจากมาตรฐานกลางความรู้ด้านศาสนาอิสลามปัจจุบันอ้างอิงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการศึกษาอิสลามประจำมัสยิดมัสยิด (ตาดีกา) ในจ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พ.ศ. 2548 แต่โรงเรียนตาดีกาในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ใช้แบบเรียนตามระเบียบดังกล่าว

 

นายซานูซีกล่าวว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่รับรองวุฒิอิสลามของตาดีกา ทำให้เยาวชนเสียโอกาสในการเรียนต่อชั้นศาสนาที่สูงขึ้น สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี จึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยเข้าไปวางระบบการเรียนการสอนตาดีกาให้เป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: