วิจัยชี้ไทยยังขาด‘เงิน-คน’ดูแลป่าทั่วปท. อธิบดีอุทยานฯโอดทำเรื่องขอแต่ไม่เคยได้ ชี้ปืนมีแค่600กระบอก-เจอหมีก็ยังสู้ไม่ได้

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 31 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2238 ครั้ง

ทีดีอาร์ไอเผยผลงานวิจัยรักษาป่าขาดทั้งเงิน-คน

 

 

น.ส.ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง การประเมินช่องว่างทางการเงินของพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับสนับสนุนการวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) and Resource and Environment Economics Foundation of the Philippines Incorporated (REAP) ระบุ ภารกิจพิทักษ์ป่า พื้นที่อนุรักษ์ไทย การบริหารจัดการ “คนกับเงิน” ยังไม่เพียงพอ

 

เนื้อหางานวิจัยดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์พื้นที่อนุรักษ์ของไทยในปี 2552 มีพื้นที่อนุรักษ์ 418 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 102,636 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 6 ประเภทคือ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 คือ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 97,253 ตารางกิโลเมตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัญหาของพื้นที่อนุรักษ์ คือ มีการบุกรุกพื้นที่ทำการเพาะปลูกและการลักลอบล่าสัตว์  ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ งบประมาณที่ได้รับและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือในการดำเนินการที่ทันสมัย สำหรับแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ มาจากหลายแหล่ง โดยรายรับหลักมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนรายรับอื่นๆ อาทิ รายรับจากการท่องเที่ยว และเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

 

 

อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์ตอบคำถามกลับแค่ 81 แห่ง จาก 181

 

 

น.ส.ปริญญารัตน์กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อต้องการดูปัจจัยที่มีผลต่อความเหมาะสม ของการบริหารจัดการคน และงบประมาณในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสำรวจจากแบบสอบถามและการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่ง เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นปัจจัยผลักดันและปัจจัยตอบสนอง ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนประชากรที่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากขอบเขตพื้นที่ และจำนวนประชากรที่อาศัยภายในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ จำนวนนักท่องเที่ยว ที่พักและกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โครงสร้างรายรับ-รายจ่ายของพื้นที่อนุรักษ์ โดย จากการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่เป้าหมาย 181 แห่ง ได้รับตอบกลับมา 81 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45 แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 53 แห่ง (รวมอุทยานทางบกและทางทะเล) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 28 แห่ง จำแนกตามขนาดพื้นที่ได้เป็น 3 ชั้น คือ เล็ก กลาง ใหญ่  ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดกลางหรือ ชั้นที่ 2 จำนวน 55 แห่ง ขนาดใหญ่หรือชั้นที่ 3 จำนวน 19 แห่ง ขนาดเล็กหรือชั้นที่ 1 จำนวน 5 แห่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลชี้ขาดทั้ง “คนและเงิน”

 

 

                 “ผลศึกษาพบว่า มีการกระจุกตัวของจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำในบางพื้นที่ แต่โดยรวมพื้นที่อนุรักษ์มีเจ้าหน้าที่ประจำเฉลี่ย 2 คน ต่อ 10 ตารางกิโลเมตร และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์เฉลี่ย เพียง 198 บาท ต่อ 0.01 ตารางกิโลเมตร หรือราว 198,420 บาท ต่อ 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบขนาดพื้นที่กับจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำพบว่า ยังมีช่องว่างอยู่มากในทุกขนาดพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำรวม 4,481 คน ผลจากแบบสอบถามระบุ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องการราว 7,306 คน จึงยังมีความขาดแคลนอีก 2,825 คน

 

ส่วนค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ต่อเฮกแตร์โดยรวม พบว่า ในปี 2009 ได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการพื้นที่รวม 421 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ประมาณการราว 935 ล้านบาท จึงยังมีช่องว่างงบประมาณที่ต้องการราว 514 ล้านบาท ทั้งนี้จากข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้รับจึงพิจารณา เฉพาะงบบริหารจัดการที่ได้รับจากรัฐ ไม่รวมรายจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ” น.ส.ปริญญารัตน์ ระบุ

 

นอกจากนี้จากการศึกษา ยังพบผลสรุปที่ยืนยันปัญหาคนและเงิน ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ยังไม่เพียงพอ ทั่งที่การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านการเงิน เจ้าหน้าที่ นโยบายการพัฒนา การติดตามตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม

 

 

เสนอหารายได้จากการท่องเที่ยว-เพิ่มเทคโนโลยี

 

อย่างไรก็ตาม การศึกษามีข้อเสนอแนะให้จัดสรรงบประมาณ ที่อ้างอิงคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์ และการคุกคามที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่ เนื่องจากการมีงบประมาณที่จำกัด ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการการเงินแบบพึ่งตนเอง โดยการสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยว การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอนุรักษ์อย่างเหมาะสม และการจัดทำความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ได้แก่การสร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่อนุรักษ์โดยการนำหลักการจ่ายค่าบริการสำหรับการดูแลรักษาระบบนิเวศมาใช้

 

ในส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ มีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่หลายแห่งระบุว่า สิ่งที่ต้องการมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ (ถ้าได้เพิ่มก็ดี) คือ อุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์หรือ GPS ระบุพิกัด การบันทึกข้อมูลการทำสถิติพื้นที่ที่ไปออกลาดตระเวนว่า จุดไหนอย่างไรสภาพข้อมูลพื้นที่เป็นอย่างไร และควรพัฒนาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เขาดูแลพิทักษ์พื้นที่ได้มากกว่านี้  ซึ่งเมื่อดูแนวโน้มการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศพัฒนาแล้วพบว่า แต่ละพื้นที่มีแนวโน้มงบประมาณในการบริหารจัดการลดลง เพื่อให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการแบบพึ่งตนเอง และมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่มาก แต่ให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจตรา พิทักษ์ป่า ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

 

 

อธิบดีกรมอุทยานฯยันไม่ได้งบสนับสนุน

 

 

ด้านนายดำรงค์  พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อหน่วยงานด้านการพิทักษ์ป่าโดยตรง ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ที่ผ่านมา ปัญหาที่กรมอุทยานฯ พบอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็คือ การสนับสนุนในทุกเรื่องกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตนคิดว่าจะมาเอาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีอะไรต่างๆ นานานั้น ถ้าได้ก็ดี แต่สิ่งสำคัญคือ ปัจจุบันนี้แค่จำนวนคนรักษาป่ายังไม่มีเลย ที่มีอยู่ปัจจุบันถือว่าเป็นจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับผืนป่าที่จะต้องดูแลรับผิดชอบ

 

                  “การสนับสนุนเรื่องของอาวุธป้องกันตัว หรืออาวุธเพื่อเดินตระเวนป่าก็แทบจะไม่มี เพราะไม่มีงบประมาณจะไปซื้อเพื่อแจกให้กับเจ้าหน้าที่เอาไปใช้เวลาเดินป่า ตรวจตราตระเวนเพื่อป้องกันพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาถามว่ากรมอุทยานฯ เคยขอเรื่องนี้ไปหรือไม่ คำตอบคือในทุกปีมีการพูดถึงเรื่องนี้ และทำเรื่องของบประมาณเพื่อซื้ออุปกรณ์สนับสนุนทุกอย่างให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แต่ผลคือ ขออะไรไปก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองกลับมา บางครั้งยังคิดว่า ถ้าไม่ติดขั้นตอนทางราชการ ถึงกับอยากที่จะขอบริจาค เรี่ยไรจากประชาชนที่เห็นความสำคัญเรื่องของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียเอง ทั้งเรื่องเงินซื้ออุปกรณ์ รวมไปถึง ข้าวสาร อาหารแห้ง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้อะไรจากรัฐบาลสักอย่าง” นายดำรงค์กล่าว

 

อย่างพวกที่ไปดับไฟป่าพรุงควนเคร็งนี่ ไม่ได้อะไรจากรัฐบาลเลย มีงบฉุกเฉินที่ขอมา 4,700,000 บาท ตนบอกมีงบระหว่างปีไม่พอ เราไม่มีเงิน ก็ขอลูกน้องว่าขอลดๆ ลงหน่อยได้ไหม เราไม่มีเงิน พวกนี้ต้องไปดับไฟทั้งวันทั้งคืนนะ แต่ผมก็ขอเด็กว่า ขอให้เอาเบี้ยเลี้ยงแค่ครึ่งเดียว พวกนี้ทำทุกวัน เหน็ดเหนื่อย แต่ก็พยายามให้กำลังใจเขาบอกว่า เราทำเพื่อรักษาป่า ทำถวายองค์สมเด็จพระเทพฯ ทุกคนก็เต็มใจ แต่จะให้หวังอะไรคงไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

 

 

ปีนี้ได้งบตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่ม

 

 

อย่างไรก็ตามมีคำถามถึงงบประมาณปกติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกจัดสรรมาและระบุว่า มีการแจกจ่ายลงไปในทุกหน่วยงานภายในกระทรวงนั้น ในส่วนของกรมอุทยานฯ นายดำรงกล่าวว่า ส่วนหนึ่งก็มีการจัดสรรลงไปในเรื่องของหน่วยพิทักษ์ป่า ที่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มหน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่มเพื่อให้สมดุลกับพื้นที่ เช่น ผืนป่าตะวันตกที่มีขนาดพื้นที่กว้างแต่มีหน่วยพิทักษ์ป่าน้อย ก็ได้มีการจัดเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ลงไป

 

             “อันนี้ถือว่าเฮงมากนะที่ได้ ตั้งแต่ขอมา จะให้บอกยังไง ป่าคุณก็จะเอา แต่ไม่ให้อะไรเลย ปืนก็ไม่มี อาวุธประจำกายไม่มีสักอย่าง ดูสิเด็กไปตระเวนป่าถูกหมีกัด หมีตะปบมา เพราะไม่มีอาวุธอะไรที่จะป้องกันตัว อย่างเจ้าหน้าที่ออกตระเวนกัน 20 คน มีอยู่ 6 คนที่มีปืน ที่เหลือก็มีแต่หิ้วกระติกน้ำกันไป เวลามีการยิงของพวกตัดไม้ยิงมา ก็ต้องพากันหลบหมอบตามพุ่มไหม้ ต้องรอเสียงปืนเงียบถึงค่อยๆ คลานกันออกไปอย่างนี้ มันควรหรือเปล่า และมันจะได้ประโยชน์ตรงไหน ปัจจุบันทุกหน่วยของพิทักษ์ป่าทั้งประเทศ มีปืนเอชเคอยู่แค่ 600 กระบอก มันไม่เพียงพอ เมื่อก่อนนี้พอผมพูดเรื่องปืน ก็จะมาหาว่าผมเอาปืนไปซ่องสุม จะเอากำลังมายึดอำนาจ บ้าหรือเปล่าผมไม่เคยจะเอากำลังมาสู้ทหาร ปล่อยข่าวกันเลอะเทอะไปหมด ทั้งที่เรื่องจริงเราแค่ต้องการให้เจ้าหน้าที่มีอาวุธรักษาป่าเท่านั้นเอง” นายดำรงกล่าวอย่างมีอารมณ์

 

 

 

ยันไม่มีทุจริตเรื่องรายได้พิทักษ์ป่า

 

 

เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องการทุจริตเรื่องของเงินของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า นายดำรงกล่าวว่า เรื่องเงินเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ปัจจุบันตนไม่เชื่อว่าจะมีการทุจริตกัน เพราะในการจัดการเรื่องบัญชีเงินเดือน จะต้องมีเอกสารในการเข้าไปทำบัญชีกับทางธนาคาร และนำบัตรเอทีเอ็มไปกดด้วยตัวเอง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีการขู่บังคับกัน ตอนนี้ถ้าทำอย่างไรก็ต้องมีข่าวความแตกออกมาแน่นอน จึงคิดว่าไม่น่าจะมีแล้ว แต่ก็อาจจะมีบ้างพวกที่แอบทำแบบนี้ แต่เชื่อว่าไม่ใช่พวกพิทักษ์ป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านี้ต้องให้ความเห็นใจ เพราะทำงานหนัก ซึ่งที่ผ่านมาตนได้พยายามต่อสู้เพื่อให้มีเงินเดือน 7,500 บาท ซึ่งทุกคนก็ดีใจมาก ถือว่าทำได้ในระดับหนึ่ง คนที่ไม่มีครอบครัวก็อาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก แต่คนที่มีครอบครัว มีเมียมีลูก จะมีความห่วงหน้าห่วงหลังมากหน่อย ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยกัน ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญมาตลอด พยายามทำได้เท่าที่ทำได้เพื่อให้สวัสดิการเจ้าหน้าที่ได้มีกำลังใจในการรักษาป่าต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: