สธ.เร่งแผนผลิต‘แพทย์ครอบครัว’ ป้อนร.พ.ชุมชน-ไม่พอรักษาคนไข้ นศ.ไม่เรียน-ไปศึกษาเฉพาะทาง

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 31 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3540 ครั้ง

วิกฤต ‘แพทย์ครอบครัว’ ขาดแคลนอย่างหนัก

 

 

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเสวนา แผนกำลังคน "แพทย์ครอบครัว" สู่ภาพพึงประสงค์ของระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาจารย์โรงเรียนแพทย์และนักวิชาการ เข้าร่วม

 

น.พ.นิทัศน์ รายวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการส่งเสริมบุคลากรที่เป็น “แพทย์ครอบครัว” (Family Medicine) ให้ครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในเขตเมืองและชนบท แพทย์ครอบครัวจะทำหน้าที่ตอบสนองระบบบริการสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ ด้วยรูปแบบให้บริการที่เน้นไปยังตัวบุคคล ครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก ขณะนี้มีแพทย์ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น 14,956 คน ดูแลประชากร 55 ล้านคน (ไม่รวม กทม.) ซึ่งในอนาคตจะมีการวางระบบพัฒนากำลังคนใหม่ เพื่อให้เกิดแพทย์ครอบครัวในอัตราส่วนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับแพทย์รักษาโรคโดยทั่วไป

 

ทั้งนี้การมุ่งเน้นรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับธรรมนูญ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 6 เรื่องบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ ข้อ 46 ระบุให้รัฐส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ที่จัดโดยแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขประจำครอบครัว เพื่อให้บริการครอบคลุมอย่างทั่วถึงทั้งเขตเมืองและชนบท โดยต้องทำงานในเชิงรุกเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อต่อกับระบบบริการสาธารณสุขอื่น ๆ โดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมจากนักเรียนแพทย์

 

 

พ.ญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ จากเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ นำเสนอสถานการณ์การผลิตแพทย์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศไทยว่า อัตราการเพิ่มของแพทย์ครอบครัวอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมจากแพทย์รุ่นใหม่ แต่ละปีมีผู้สมัครเรียนเฉพาะทางประมาณ 20 คนเท่านั้น ซึ่งการเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวเคยได้รับความนิยมในช่วงแรก ๆ หลังการประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะบทบาทแพทย์ครอบครัวที่กลับไปทำงานในโรงพยาบาลไม่ชัดเจน และไม่ได้รับการยอมรับเหมือนแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน มีแพทย์ครอบครัวที่ได้รับวุฒิบัตร 309 คน แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่ยังปฏิบัติหน้าที่แพทย์ครอบครัว ที่เหลือเปลี่ยนทางไปเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น

 

 

                 “ปัญหาที่เราพบคือ ไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนการผลิตแพทย์กลุ่มนี้จริง ๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดคือ จำนวนครูผู้สอนไม่เพียงพอ และเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วทำงานได้ไม่นาน ก็ลาออก จนถึงขณะนี้มีชมรมเครือข่ายเวชศาสตร์ครอบครัว อยู่ไม่เกิน 150 คน ที่อยู่ในระบบและยังปฏิบัติการอยู่” พ.ญ.สายพิณกล่าว

 

 

ลาไปศึกษาต่อสาขาเฉพาะทางเพียบ

 

 

ด้าน พ.ญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาแพทย์ครอบครัว โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ทุนเรียนแบบ in service ผ่านการสอนและฝึกปฏิบัติในศูนย์การเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปี 2552 ที่มีเพียง 4 แห่ง เป็น 18 แห่ง ทั่วประเทศในพื้นที่หลัก ๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวกระจายตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. สถานบริการสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัย กทม. เป็นต้น ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยในครอบครัว บริการไปเยี่ยมตามบ้าน การให้ความรู้ในการป้องกันโรคต่างๆ ช่วยให้การบริการของโรงพยาบาลในระดับพื้นที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ แต่ปัญหาคือ แพทย์ครอบครัวเหล่านี้ถูกใช้ทำงานที่หลากหลายไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ผู้บริหารโรงพยาบาลยังไม่เข้าใจในความสามารถเฉพาะทาง และเงินเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ๆ ทำให้ลาออกไปศึกษาต่อเพิ่มเติมถึง 30-40 เปอร์เซนต์

 

น.พ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในศูนย์การเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่า โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จึงเหมาะกับการให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ  ปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวประจำอยู่ 3 คน ดูแลประชากร 50,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชนดีมาก และสามารถเติมเต็มการทำงานของโรงพยาบาลให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เนื่องจากแพทย์ครอบครัวมีหน้าที่ติดตามผู้ป่วยที่กลับไปรักษาตัวที่บ้านอย่างต่อเนื่องเป็นรายกรณี ทำให้เกิดการดูแลรักษาครบวงจร

 

 

แนะหาไอดอลที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่าง

 

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างแรงดึงดูดใจ ให้เกิดการศึกษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนิสิต นักศึกษานิยมเรียนแพทย์เฉพาะทางมากกว่า เพราะรายได้ดีกว่าและมีความก้าวหน้าทางอาชีพเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เสนอให้หาแพทย์ครอบครัวตัวอย่าง (ไอดอล) ของแพทย์ที่ประสบความสำเร็จในสาขานี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรมให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ และ ยังเสนอให้มีการสนับสนุนบุคลากรในท้องถิ่นเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมเป็นแพทย์ครอบครัวให้มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความต่อเนื่องในการทำงานในพื้นที่ มากกว่าแพทย์ครอบครัวที่ย้ายมาจากที่อื่น ซึ่งจะประจำที่โรงพยาบาลชุมชนได้ไม่นาน ก็ลาออกไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง เพราะเห็นว่ามีอนาคตที่ดีกว่า

 

ขณะที่ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข เลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ สรุปข้อเสนอจากการประชุมว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นควรให้มีนโยบายระดับชาติ เพื่อสนับสนุนบริการปฐมภูมิที่ชัดเจน โดยให้มีทีมบุคลากรสาธารณสุขที่ประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพร่วมกันดูแลประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม หากใช้เป้าหมายแพทย์ครอบครัว 1 คน ดูแลประชาชน 10000 คน แบบที่ สปสช.วางไว้ จะต้องมีกำลังคนแพทย์ครอบครัว อย่างน้อย 6,000 คน

 

นอกจากนี้บทบาทหน้าที่ของแพทย์ครอบครัวต้องชัดเจน ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของสถานบริการ และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขประจำครอบครัว ของโรงพยาบาล และสถานบริการชุมชนอื่น ๆ เช่น รพ.สต. ตลอดจนต้องมีนโยบายและแรงจูงใจเพื่อธำรงรักษาแพทย์ครอบครัวไว้ในระบบ ข้อเสนอทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติที่จะประชุมในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ เพื่อผลักดันการพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานต่อไป

 

 

เผยเป็นสาขาที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่า

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “เวชศาสตร์ครอบครัว” คือ สาขาการแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่งที่รวมความรู้ทางการแพทย์และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแลสุขภาพของครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมที่ประกอบด้วยความผูกพัน, ความรัก, การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ตลอดจนความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว (มีหลักการเหมือนกันทั่วโลก)

 

เวชศาสตร์ครอบครัวนั้น เกิดขึ้นมาโดยปรัชญาที่อาจแตกต่างจากการแพทย์วิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ที่อาจละเลยความเป็นมนุษย์, ศีลธรรมจรรยาของผู้ป่วยและแพทย์

 

เวชศาสตร์ครอบครัว มิได้เกิดจากบุคคลในวงการแพทย์จัดตั้งขึ้นเอง แต่สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวเกิดขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและปรารถนาของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนทั่วไปรอคอยอัศวินม้าขาว คือ ระบบทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง, เป็นกันเองและมีความเข้าใจระบบสาธารณสุขเพื่อมาทดแทนการแพทย์ที่แตกแขนงมากเกินไป ไม่เป็นกันเอง ซึ่งพบได้ในแพทย์ที่มีจิตใจเป็นเหมือนเครื่องยนต์อันทันสมัย ดังนั้นการแพทย์ในยุคนี้ จึงต้องเป็นผลรวมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสามารถติดตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีบรรยากาศที่รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์และจิตใจเอื้ออาดูรแก่กัน ถ้าจะมองวงการแพทย์ในปัจจุบันก็จะเห็นว่าแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มักจะขาดบรรยากาศของความเป็นมนุษย์ ในขณะที่แพทย์ใน Primary care มักขาดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นสาขาวิชาที่เสริมจุดอ่อนทั้ง 2 นี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลายสถาบันไม่เปิดสอนเพราะเข้าใจผิด

 

 

เวชปฏิบัติครอบครัว (Family Practice) หมายถึงการทำเวชปฏิบัติโดยอาศัยหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวต่อบุคคลและครอบครัว 15 เปอร์เซนต์ ของปัญหาที่พบในการทำเวชปฏิบัติครอบครัวเป็น ปัญหาที่ไม่อาจจะเลี่ยงความพิการหรือความตายได้ รูปแบบที่แพทย์ครอบครัวจะใช้ในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพให้คงอยู่ หรือมิให้มีความพิการเพิ่มขึ้น รูปแบบนี้เรียกว่า “Medical Model” ส่วนอีกกว่า 80 เปอร์เซนต์ ของเวชปฏิบัติครอบครัว มักจะเป็นปัญหาที่หายเองได้, ป้องกันได้ หรือเป็นปัญหา psycho-social การทำเวชปฏิบัติแบบนี้จะต้องอาศัยความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย เป้าหมายมิใช่เพียงผลการรักษาอย่างเดียว เราต้องคำนึงถึงผลด้านอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น ความรู้สึกสบาย, ความพึงพอใจ รูปแบบนี้เรียก “Relation Model”

 

เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ถูกใช้สับสนกับคำว่า เวชปฏิบัติปฐมภูมิ (Primary care), เวชปฏิบัติทั่วไป (General practice) และเวชปฏิบัติครอบครัว (Family Practice) ความไม่เข้าใจนี้เอง ที่ทำให้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บางแห่ง จึงไม่มีการเรียนการสอนเวชศาสตร์ครอบครัว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: