สมาคมยาค้าน‘ทริปส์พลัส’ ชี้ยอมอียูไทยเสียเปรียบแน่

31 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2182 ครั้ง

 

 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ตามที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งทำกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้เสร็จ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดยน่าจะเริ่มเปิดการเจรจากับอียูอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 2556 และอ้างว่า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว รวมถึงกลุ่มยาที่คัดค้านการเปิดเจรจา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ได้ทำหนังสือที่ ท.032/2555 ถึงอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ ไทย-สมาคมการค้ายุโรป (EFTA) ระบุว่า สินค้ายาสำเร็จรูป ที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU-EFTA) และสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศหลักที่ไทยส่งยาออกไปไม่ใช่ประเทศเหล่านี้ ดังนั้น ในหมวดสินค้ายาในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสีย จากเภสัชภัณฑ์ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอแต่อย่างใด จึงขัดกับหลักการและวัตถุประสงค์ของการเจรจาเอฟทีเอที่ว่าจะส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันสูงขึ้น ทางสมาคมฯ จึงไม่เห็นด้วย

 

                 “สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ขอแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยที่ประเทศไทย จะเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สมาคมการค้ายุโรป สำหรับสินค้าในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสียจากเภสัชภัณฑ์ เพราะนอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความตกลงดังกล่าวแล้ว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้ายาฯ มีปริมาณและมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้น ประกอบกับหากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงทริปส์ หรือ ทริปส์พลัส ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและใหญ่หลวง ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเกินกว่าที่สมาคมฯ จะรับผิดชอบได้” หนังสือดังกล่าวระบุ

 

 

ทางด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การที่รมว.พาณิชย์อ้างว่าได้รับฟังความเห็นทุกฝ่ายแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้นัดหมาย เพื่อรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างกระชั้นชิด จดหมายเชิญส่งมาวันเดียวกับที่นัดรับฟัง ราวกับไม่ได้ต้องการรับฟังจริง ๆ ทางเครือข่ายงดเหล้า จึงทำหนังสือขอให้นัดประชุมใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับฟัง ทางเครือข่ายฯ จึงจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

 

 

 

                      “เราไม่ได้ต่อต้านการค้าเสรี แต่เราคิดว่า การที่รัฐบาลเป็นนักประชาธิปไตย ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มาพูดตลอดเวลาว่า อียูต้องการลดภาษีแอลกอฮอล์ให้ได้ 90 เปอร์เซนต์ ดังนั้นต้องรับเงื่อนไขนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไม่เคยเอาความเห็นของประชาชนไปพิจารณาว่า ควรกำหนดให้สินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสินค้าทำลายสุขภาพ แม้แต่ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ยังมีจุดยืนเช่นนี้ ให้ถอดสินค้าทำลายสุขภาพเหล่านี้ออกจากการเจรจา นอกจากนี้เราไม่อยากเห็น กรมเจรจาฯ ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เคยนำกรอบเจรจาฯ มารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนเข้ารัฐสภา ทั้งที่เมื่อจะเริ่มเจรจาอียู-อาเซียนยังนำกรอบไปรับฟังความคิดเห็น” นายธีระกล่าว

 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “นโยบายแอลกอฮอล์เพื่ออนาคตเยาวชนไทย” ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ คือ ให้คงมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยละเว้นการบรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการเจรจาเอฟทีเอ ทั้งนี้กรมควบคุมโรคจะนำเสนอข้อสรุปนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 25 วันตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: