อาหารไทยกำลังวิกฤต(4)เกษตรกรถูกรุม ทั้ง‘รัฐ-กฎหมาย-นายทุน’ไล่บี้จนไปไม่รอด ชี้เพิ่มงบวิจัย-หนุนประสิทธิภาพการผลิต

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 31 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3728 ครั้ง

ความมั่นคงทางอาหารของสังคมใดสังคมหนึ่ง ย่อมผูกติดกับระบบเกษตรกรรมของสังคมนั้น จากตอนที่ผ่านมา ทำให้พบว่า ภาคการเกษตรถูกละเลยจากภาครัฐมาช้านาน เนื่องเพราะรัฐบาลมุ่งแต่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก และโอบอุ้มบรรษัทขนาดใหญ่มากกว่าเกษตรกร ซ้ำกลไกด้านกฎหมายยังเป็นอุปสรรคต่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร หรือแม้มีกฎหมาย ก็ยังเปิดช่องให้อุตสาหกรรมการเกษตรเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรอยู่อย่างต่อเนื่อง และนโยบายการเปิดเสรีอย่างหุนหันพลันแล่นโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เป็นเหตุให้ภาคการเกษตรของไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ และต้องหันไปพึ่งพาระบเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิใช่ข้อผิดพลาดเพียงประการเดียวของรัฐ เพราะหากชำแหละดูโครงสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศไทย จะพบความบิดเบี้ยวและบิดเบือนที่เกิดขึ้น จากมือไม้ใหญ่โตของธุรกิจเอกชน โดยที่ภาครัฐทำอะไรไม่ได้ หรือเลือกที่จะนิ่งเฉยแทนการลงไปกำกับดูแล และแก้ไขโครงสร้างอย่างจริงจัง จะดำเนินการก็ต่อเมื่อถูกเรียกร้องหรือแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปเป็นเรื่องๆ แบบลูบหน้าปะจมูก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกลับเป็นตัวแสดงหนึ่ง ที่ลงไปเล่นเกมประชานิยม จนซ้ำเติมโครงสร้างระบบการเกษตรให้เปราะบางยิ่งขึ้น

 

ต่อจากนี้คืออีก 4 ประเด็นที่สังคมไทยต้องรู้เกี่ยวกับอาหารที่เรากิน และโครงสร้างที่ค้ำจุนการบริโภคของคนไทยอยู่ในขณะนี้กำลังถมทับบนชีวิตเกษตรกรและชาวนารายย่อยหลายล้านคนอยู่หรือไม่

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯยกเกษตรพันธสัญญาพัฒนาระบบเกษตรไทย

 

 

ยอมรับกันว่าระบบเกษตรพันธสัญญาหรือ Contract Farming กำลังเป็นระบบการผลิตของภาคการเกษตรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากกระแสโลกแล้วลามเข้ามาสู่ประเทศไทย เนื่องจากถูกมองว่า เป็นระบบที่ช่วยลดความเสี่ยงทั้งแก่ตัวเกษตรกรและธุรกิจเอกชน สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ที่สำคัญคือช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับบริบทประเทศไทย ยังคงมีข้อถกเถียงเรื่องความมีประสิทธิภาพของระบบเกษตรพันธสัญญา ว่าจะต้องแลกด้วยความเป็นธรรมของเกษตรกรหรือไม่

 

               “ตัวพันธสัญญาจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรอยู่ภายใต้บงการของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร” รศ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาวิจัยระบบเกษตรพันธสัญญามาเกือบ 2 ปี กล่าว

 

รศ.ไพสิฐเริ่มด้วยการอธิบายว่า อะไรคือปัจจัยที่ผลักให้ระบบการเกษตรหันเหสู่สภาพปัจจุบัน ประการแรกคือแรงเฉื่อย จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีข้อยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า ละเลยภาคเกษตร จงใจบีบคั้นเกษตรกรให้ออกจากภาคการเกษตรมาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

 

ประการต่อมาคือมายาคติ เรื่องประสิทธิภาพของระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เขียนไว้ชัดเจนว่า จะพัฒนาระบบการเกษตรของประเทศ โดยใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นเครื่องมือ ขณะที่บทบาทของผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ก็มิได้ทำหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ดังที่สังคมคาดหวัง ทำให้ระบบเกษตรพันธสัญญากลายเป็นเครื่องมือที่สร้างผลกระทบด้านลบ ต่อภาคการเกษตรมากกว่าด้านบวก ขณะเดียวกัน บริษัทธุรกิจการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ยังใช้สื่อเป็นเครื่องมือครอบงำสังคมและจงใจบิดเบือนข้อมูล ทำให้ผู้บริโภคลืมตั้งคำถามถึงที่มาของอาหารและต้นทุนทางสังคมของอาหารที่บริโภค

 

              “วิถีการผลิตแบบหนึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในระบบแบบหนึ่ง เกษตรพันธสัญญาเป็นวิถีการผลิตแบบหนึ่งที่กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายเอาไว้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง และภายใต้ระบบแบบนี้ทำให้เกิดบทบาทของแต่ละฝ่ายที่ไม่ตรงไปตรงมา”

 

เกษตรพันธสัญญาสร้างหนี้พอกพูนให้เกษตรกร

 

ประเด็นใหญ่ต่อมา รศ.ไพสิฐกล่าวถึงสถานการณ์ด้านอธิปไตยทางอาหารที่น่าวิตก เมื่อพบว่าอำนาจการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวพันกับความมั่นคงในชีวิต และเป็นอำนาจของประชาชนที่จับต้องได้มากที่สุด กำลังถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนบทบาทของรัฐกลับค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

 

 

               “ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจบ้านเรามีความเชื่อว่า เมื่อเอาทุนใส่เข้าไปยังผู้ที่มีศักยภาพการผลิต จะก่อให้เกิดผลต่างๆ ที่กระจายไปสู่คนข้างล่างเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่จริงในบ้านเรา และเมื่อเอาระบบเกษตรพันธสัญญาเข้ามา มันกลับไปทำลายเกษตรกร ทฤษฎีนี้เรียกว่า Back Wash เปรียบเทียบเหมือนเรือขนาดใหญ่วิ่งเข้าไปในคลองขนาดเล็ก คลื่นที่เกิดขึ้นหลังเรือลำนี้ผ่านจะชะล้างสองฝั่งคลองหายไป เพราะฉะนั้นการที่อุตสาหกรรมอาหารรุกเข้าไปในพื้นที่ มันก็จะทำลายล้างเอสเอ็มอี เกษตรรายย่อย และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายไปด้วย”

 

ระบบเกษตรพันธสัญญาจึงก่อให้เกิดสภาพที่ราคาอาหารแพง แต่ผลิตผลทางการเกษตรกลับมีราคาถูก ตัวเกษตรกรจะหลุดเข้าสู่วงจรหนี้สินที่ไม่มีวันหมดและพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และในบางกรณีมักเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบางกรณีเจ้าหน้าที่ของบริษัทใช้กฎหมายและภาครัฐเป็นเครื่องมือคุกคามเกษตรกร ซึ่งมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว บริษัทยังใช้อำนาจและอิทธิพลทั้งที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อครอบงำธุรกิจการเกษตร มีทั้งรูปแบบการครอบงำแบบเป็นทางการผ่านนโยบาย และการครอบงำแบบไม่เป็นทางการ เช่น ผู้ที่รับผลผลิตไปขาย ส่วนมากจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวคะแนน ถือเป็นการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านระบบอุปถัมภ์เพื่อดึงเกษตรกรเข้าสู่ระบบ

 

เกษตรกรไร้อำนาจต่อรองบังคับตามสัญญาไม่ได้

 

ข้อสรุปประการหนึ่งที่ รศ.ไพสิฐได้จากการศึกษาพบว่า การทำสัญญาของเกษตรกรมีความไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น คือตอนทำสัญญามักทำด้วยวาจา หรือการไม่มีสัญญาคู่ฉบับให้เกษตรกร แต่เก็บไว้ที่บริษัทฝ่ายเดียว บางกรณีหนึ่งก็เป็นการทำสัญญาอื่นเพื่ออำพราง เช่น ในจ.น่าน เกษตรกรทำสัญญากู้เงิน แต่ใช้คืนเป็นข้าวโพด บางครั้งเกษตรกรก็ไม่ได้เจอกับบริษัทเองโดยตรง แต่มีการทำสัญญาช่วงเป็นชั้นๆ ทำให้เวลาจะบังคับตามสัญญาไม่รู้ว่าจะต้องเรียกร้องกับใคร เกิดการผิดสัญญาเป็นประจำ รศ.ไพสิฐยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หัวใจของสัญญาไม่ได้อยู่ที่ตอนเซ็น แต่อยู่ที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาได้หรือไม่ อำนาจต่อรองจึงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเมื่อเทียบอำนาจต่อรองระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับบริษัท ก็ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันมาก จนเกษตรกรไม่มีอำนาจบังคับให้เป็นไปตามสัญญาได้

 

ไม่เพียงอำนาจต่อรองที่น้อยนิดและการไม่สามารถบังคับตามสัญญาได้เท่านั้น เกษตรกรยังพบอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จากการสำรวจ แทบไม่มีกรณีที่เกษตรกรเป็นผู้ฟ้อง แต่กลับเป็นผู้ถูกฟ้องเสียเอง ถึงกับมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่อาจจะไม่เป็นมิตรกับเกษตรกร หากเทียบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีกฎหมายแรงงานและศาลแรงงานให้ความคุ้มครองโดยตรง แต่กรณีเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา กลับใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งมองไม่เห็นความแตกต่างของอำนาจต่อรอง จึงไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมด้านนี้เกิดขึ้น หรือเรียกว่ากฎหมายไม่ทำงาน

 

 

ปลอกเปลือกต้นทุนทางสังคมเบื้องหลังอาหารที่เรากิน

 

นอกจากนี้ เมื่อเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนเหล่านี้จะถูกผลักออกไปจากความรับผิดชอบของบรรษัทและซุกซ่อนไว้ เช่น น้ำเสียจากการเลี้ยงปลาในกระชังที่มีการเร่งให้ยาและอาหาร เกษตรกรจะกลายเป็นคนผิด โดยที่บรรษัทไม่เข้ามาดูแล มิหนำซ้ำยังได้ประโยชน์จากการขายพันธุ์ปลา อาหาร และยาด้วย

 

“กรณีหมอกควันในภาคเหนือเห็นได้ชัดเจนที่สุด ที่เกิดจากการเผาไร่ข้าวโพด คนที่สังคมเห็นชัดที่สุดคือเกษตรกรเป็นคนเผา แต่คนที่ได้ประโยชน์จากข้าวโพดคือบรรษัท กลับไม่มีคนเห็น ดังนั้น ต้นทุนทางสังคมที่ถูกผลักออกไป มันจึงทำให้ปัญหาที่ถูกซ่อน”

 

รศ.ไพสิฐ จึงชักชวนให้สังคมครุ่นคิดและตั้งคำถามต่อระบบเกษตรพันธสัญญาและเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารว่า การปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ จะเป็นการสัมปทานอำนาจอธิปไตยทางอาหารของประเทศให้บรรษัทเป็นผู้แสวงประโยชน์หรือไม่ และถ้ากลไกรัฐไม่ทำหน้าที่ ขาดกลไกทางสังคมคอยกำกับดูแล จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง เพราะการเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ของระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างไร้การกำกับดูแล เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างระหว่างกลุ่ม รศ.ไพสิฐ กล่าวว่า จะมีเกษตรกรที่ยากจนเพิ่มมากขึ้น แบบที่เรียกว่า “จนดักดาน” เนื่องจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เคยพึ่งได้ ความสัมพันธ์และความเข้มแข็งทางสังคมต่างๆ หมดไป และคำถามสุดท้าย ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่พุ่งตรงไปยังผู้บริโภค ก็คือ

 

                             “เราต้องตั้งคำถามว่า อาหารที่เรากินอยู่ไปปล้นเขามา แย่งชิงเขามาหรือเปล่า ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นเครื่องมือที่แนบเนียนมาก ที่ทำให้คนที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกขูดรีด เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องทำ แม้จะบังคับตามกฎหมายไม่ได้ แต่ก็มีความผูกพันตามหลักศีลธรรมว่า เมื่อรับปากเขาแล้วก็ต้องทำให้เป็นไปตามนั้น ผู้บริโภคจึงต้องตั้งคำถามว่า อาหารที่บริโภคอยู่มีต้นทุนทางสังคมอะไรอยู่บ้าง มีเดิมพันชีวิตของเกษตรกรอยู่ในนั้นหรือเปล่า มีความไม่เป็นธรรมหรือเปล่า”

 

ธุรกิจรายใหญ่ฮุบตลาด-รายย่อยหมดสิทธิ์แทรก

 

ในประเด็นนี้ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อภิปรายผ่านงานวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยมุ่งศึกษากรณีตลาดอาหารไก่ไข่ พบว่า เกษตรกรรายย่อยค่อยๆ ประสบภาวะล่มสลายและสูญหายไปจากตลาด เพราะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ ที่ทำธุรกิจครบวงจรได้ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอาจหมายถึงการผูกขาดของบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่

 

ดร.เดือนเด่นอธิบายเบื้องต้นว่า โครงสร้างการเกษตรมีการเปลี่ยนไปในทางที่มีการกระจุกตัวมากขึ้น ถือเป็นวิวัฒนาการทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรมีขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการรายย่อยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และที่สำคัญคือมีลักษณะการผลิตแบบครบวงจร คือทำหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งตลาดอาหารไก่ไข่กำลังเปลี่ยนไปในลักษณะนี้ คำถามที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของผู้ประกอบการรายใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไร

 

เมื่อสำรวจตลาดอาหารสัตว์พบว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ที่มีสถานะเป็น Market Leader คือเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีส่วนแบ่งการตลาด 32.23 เปอร์เซ็นต์ เครือแหลมทอง 6.27 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 คือเครือเบทาโกร 6.17 เปอร์เซ็นต์ ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ตลาดลักษณะนี้ถือว่าไม่มีผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด แต่ก็เป็นตลาดที่พฤติกรรมการแข่งขันมีลักษณะกีดกันการแข่งขัน การเข้าสู่ตลาดมีอุปสรรคหลายประการ เช่น ต้องใช้เงินและเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะการเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากหลายอย่างเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ต้องมีโควตา เมื่อใดที่มีโควตา เกษตรกรรายย่อยจะรู้ดีว่า เป็นการยากมากที่จะได้โควตา ซึ่งถือเป็นความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตร เพราะโควตาคือการจัดสรร เมื่อมีการจัดสรรครั้งใดรายใหญ่มักจะได้เสมอ

 

บังคับขายพ่วง-สร้างเงื่อนไขบีบเกษตรกรรายย่อย

 

การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ถือเป็นข้อได้เปรียบชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร เนื่องจากผู้ผลิตครบวงจรสามารถใช้อำนาจเหนือตลาด เพื่อจำกัดการแข่งขันในตลาดอาหารสัตว์ เช่น การบังคับขายพ่วง คือหากตกลงซื้อลูกไก่ไข่/ไก่สาว พร้อมอาหารไก่ จะได้รับการจัดสรรพันธุ์ไก่ทันที แต่ถ้าไม่ซื้ออาหารด้วย การตกลงซื้อขายก็จะถูกเลื่อนออกไป โดยให้เหตุผลว่า พันธุ์ไก่ไข่ไม่เพียงพอ ซึ่งถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542

 

                        “ในปี 2545 มีการร้องเรียนเรื่องขายพ่วง คือถ้าคุณไม่ซื้ออาหารไก่ของฉัน ฉันก็ไม่ขายพันธุ์ไก่ให้คุณ แต่ก่อนไม่มีปัญหานี้ แต่เริ่มมีเมื่อปี 2545 มีการจำกัดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ เหตุผลที่จำกัดตอนนั้นเพราะมีปริมาณไข่ล้นตลาด จึงอยากจำกัดจำนวนไก่ยืนกรง เมื่อจำกัดไก่ยืนกรงก็ต้องจำกัดจำนวนพ่อแม่พันธุ์นำเข้า ซึ่งดูเป็นเหตุผลที่ดี เกษตรกรจะได้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่า เมืองไทยมีการจัดสรรเมื่อไหร่ ตายเมื่อนั้น เพราะปรากฏว่า ผู้ที่นำเข้าก็เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องไปพึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งก็มีอำนาจต่อรองมากกว่าว่าจะขายหรือไม่ขายให้”

 

การประกอบธุรกิจแบบครบวงจรของผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากการคุมตลาดอาหารไก่ไข่แล้ว ยังควบคุมตลาดพันธุ์ไก่ไข่ด้วย ซึ่งมีการกระจุกตัวยิ่งกว่าตลาดอาหารไก่ไข่เสียอีก เพราะส่วนแบ่งตลาดถึง 55 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายเดียว ปัญหานี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการจัดระเบียบการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปี 2545 ทำให้ราคาพันธุ์ไก่พุ่งขึ้นทันที เพราะเมื่อจำกัดการนำเข้า ต้องมีการจัดสรรจำนวนพ่อแม่พันธุ์ ทำให้ราคาลูกไก่/ไก่สาวมีราคาเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลขณะนั้นคิดว่า เมื่อจำกัดจำนวนพันธุ์ไก่แล้วราคาไข่จะสูงขึ้น โดยไม่ได้คิดว่า ถ้าราคาไข่แพง ราคาไก่ไข่ย่อมแพงขาม แต่ถ้าราคาไก่แพงขึ้นมากกว่าไข่ เกษตรกรจะได้รับความเดือดร้อน

 

“รัฐบาลตอนนั้นไม่ได้คิดแบบครบวงจร ราคาไข่อาจจะสูงขึ้นจริง แต่ต้นทุนไก่อาจจะสูงขึ้นกว่านั้น เพราะเราไปจำกัดปริมาณนำเข้า”

 

เกษตรกรหายไปจากตลาดกว่า 4,000 ราย

 

หรือในสถานการณ์ที่ ดร.เดือนเด่น อธิบายว่า การลดส่วนต่างของกำไร หรือ Margin Squeeze เพราะผู้อยู่ตรงกลางที่ไม่มีธุรกิจแบบครบวงจรจะเสียเปรียบ โดยผู้ประกอบการครบวงจรอาจเพิ่มราคาวัตถุดิบ เช่น ลูกไก่/ไก่สาว อาหารไก่ไข่ ซึ่งจะดึงต้นทุนของเกษตรกรให้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการครบวงจรทุ่มตลาดด้วยการตัดราคาไข่ไก่ เกษตรกรจะยิ่งถูกบีบทั้งจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและกำไรที่ลดลง เท่ากับผู้ประกอบการครบวงจรสามารถทำลายคู่แข่งที่มีธุรกิจแบบไม่ครบวงจรได้ง่ายมาก

 

ข้อมูลต่อไปนี้อาจยืนยันการบีบให้เกษตรกรรายย่อยออกจากตลาดได้พอสมควร ดร.เดือนเด่น อธิบายว่า ช่วงปี 2537-2543 จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีมาตรการจัดระเบียบการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปี 2545 ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่ผลิตลูกไก่ได้รับการจัดสรรโควตานำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ทำให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ของเกษตรกรสูงขึ้น ซ้ำด้วยพฤติกรรมการบังคับซื้ออาหารสัตว์พ่วงพันธุ์ไก่ จำนวนเกษตรกรรายย่อยที่เคยมีถึง 7,459 ราย ในปี 2543 ลดเหลือ 4,458 ราย ในปี 2545 และเหลือเพียง 3,279 ในปี 2547

 

                     “เราอาจไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่า เกษตรกรที่หายไป 4 พันกว่าราย เป็นเพราะราคาไก่สาวสูงขึ้น แต่มีการสำรวจเหตุผลที่เกษตรกรเลี้ยงไก่จำนวนมาก ออกไปจากตลาดว่าเกิดขึ้นจากอะไร คำตอบแรกคือความผันผวนของราคาต้นทุนและราคาไข่ ทำให้เกิดความเสี่ยงจึงต้องทิ้งอาชีพ”

 

แนะรัฐดูแลรายย่อยก่อนถูกบรรษัทผูกขาดมากกว่านี้

 

ดร.เดือนเด่นจึงมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ต้องลดอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดพันธุ์ไก่ลง 2.แก้ปัญหาการขาดแคลนลูกไก่หรือไก่สาว 3.ป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกบีบออกจากตลาด และ 4.ป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมการขายพ่วง

 

                        “พฤติกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา รัฐต้องสืบสวนว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็ต้องบังคับให้เลิกพฤติกรรมการขายพ่วง แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินการ จากสำนักแข่งขันทางการค้าแต่อย่างใด ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นกับเกษตรกรทุกประเภท เพราะผู้ประกอบการรายย่อยรวมตัวกันไม่ติดจึงสู้ไม่ได้ ไม่มีอำนาจต่อรอง รัฐจึงต้องเข้ามา ถ้าเรารู้ว่าติดที่พันธุ์ไก่ นำเข้าพันธุ์ไก่ไม่ได้ทำให้มีปริมาณไม่พอ รัฐก็ต้องเป็นพ่อค้าคนกลาง แล้วก็ขายให้แก่เกษตรกร เพราะตอนนี้ไม่มีพ่อค้าคนกลางที่นำเข้าพันธุ์ไก่ เกษตรกรก็ต้องไปซื้อจากคู่แข่ง แล้วก็ถูกเอาเปรียบ จึงต้องมีพ่อค้าคนกลางที่เป็นธรรม แต่ทั้งหมดนี้รัฐไม่ได้ทำ คิดว่าถ้าจะให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรัฐ ต้องทำทั้ง 4 อย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ยาก”

 

แนะเพิ่มงบวิจัยข้าว-เสริมประสิทธิภาพการผลิต

 

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่กระทบต่อเกษตรกร และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คงหนีไม่พ้นนโยบายจำนำข้าว ไม่เพียงต้องใช้งบประมาณมหาศาลเท่านั้น แต่ยังทำลายกลไกการตลาด และเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า รัฐบาลออกนโยบายประชานิยมมากเกินไปจนขาดความสมดุล

 

โดยปกติภาคการเกษตรต้องเผชิญแรงกดดันจากความผันผวนต่างๆ เช่น ราคาสินค้า สภาพอากาศ ต้นทุนการผลิต แรงกดดันถูกส่งทอดสู่ระดับนโยบายเพื่อให้เกิดการตอบสนองเชิงนโยบาย ในอดีตมีการตอบสนองเชิงนโยบายที่ ดร.สมพรคิดว่าค่อนข้างไปด้วยกันได้ดี ทั้งในส่วนนโยบายที่ไม่ใช่ราคาและนโยบายด้านราคา นโยบายส่วนแรก เช่น การลงทุนด้านการวิจัยและชลประทาน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง หรือพยายามจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร และการเสริมสร้างกลไกตลาดสินค้าในชนบท ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เกษตรกรรายย่อย และส่งเสริมความสามารถด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ตามงบประมาณวิจัยข้าวของไทย ดร.สมพร ติงว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้า เฉลี่ยเพียงปีละ 185 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่การลงทุนวิจัย สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทยได้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

จำนำข้าวทำลายตลาด-โรงสีได้ประโยชน์ชาวนาอยู่ไม่ได้

 

ส่วนนโยบายด้านราคา ดร.สมพรมองว่า ส่วนใหญ่เป็นนโยบายทางการเมืองมากกว่า เพราะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ในอดีตมีมาตรการพยุงราคา ถ้าราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด รัฐจะเข้าไปแทรกแซงราคาตลาดบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หรือโครงการรับจำนำ ซึ่งเป็นโครงการที่มีมานานแล้ว อดีตจะรับจำนำเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เป็นการช่วยเกษตรกรรายย่อย เมื่อเสริมด้วยนโยบายการพัฒนาตลาดกลาง ก็ยิ่งช่วยให้ตลาดดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

                      “โครงการรับจำนำข้าวแรกๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การแทรกแซงกลไกตลาด แต่เป็นการประวิงการขาย ชาวนาที่เดือดร้อนเงินสามารถนำข้าวมาจำนำไว้ก่อน แล้วค่อยมาไถ่ถอนคืนภายหลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันกลับวิวัฒนาการไปผูกพันกับการเมืองมากขึ้น สมัยก่อนมีแผนพัฒนา มีนโยบายทางการเมือง และมีข้าราชการประจำที่คอยสร้างความสมดุลด้านนโยบาย ไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป แต่เดี๋ยวนี้โครงการรับจำนำกำลังทำให้ตลาดข้าวกลายเป็นตลาดผูกขาดในตัวมันเอง”

 

ดร.สมพรอธิบายว่า ตั้งแต่ปี 2544 รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกรับจำนำ เริ่มปรับราคารับจำนำจาก 80 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าจนเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ จากวงเงินที่จำกัดไว้ 1 แสนบาท ปัจจุบันกลายเป็นไม่จำกัดวงเงิน ทำให้กลไกตลาดกลางเสียหายหมด เพราะชาวนาขายข้าวให้แก่โรงสีโดยตรง แทนที่จะไปที่ตลาดกลาง ซึ่งถ้าตลาดเสียหาย ชาวนารายเล็กๆ จะไม่สามารถเข้าไปขายข้าวได้ ตลาดกลางที่กระทรวงพาณิชย์เคยสร้างขึ้นในอดีต บัดนี้หายไปหมดแล้ว ขณะที่โรงสีกลับขยายตัวเพราะได้ประโยชน์จากโครงการนี้

 

                      “7 ตุลาคม 2554 รัฐบาลออกนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด เพิ่มราคาเป็น 15,000 บาท ปัญหาคือการจำนำข้าวทุกเม็ด ไม่จำกัดจำนวน มันไม่ได้ช่วยเกษตรกรรายย่อย แต่มันไปช่วยเกษตรกรรายใหญ่ ถ้าดูข้อมูลของคนที่มาจำนำในนาปี 1.2 ล้านครัวเรือน ก็ไม่ใช่ชาวนารายเล็กๆ เป็นรายใหญ่ ยิ่งเป็นแบบนี้ชาวนารายเล็กก็จะถูกไล่ที่ ต้นทุนการปลูกข้าวเท่ากับ 6,000 บาทสำหรับชาวนารายใหญ่ แต่ชาวนารายเล็กก็อาจจะมีต้นทุนประมาณ 7,000-10,000 บาท เมื่อจำนำได้ 15,000 บาท ชาวนารายเล็กก็จะถูกไล่ที่ ค่าเช่าที่ดินก็จะปรับตัวให้สูงขึ้นตามราคาข้าวที่รัฐรับจำนำ สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนในต้นทุนของชาวนาและราคาอาหารที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการเพิ่มรายได้อย่างเดียว โดยไม่มีนโยบายลดต้นทุน จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมา”

 

 

จำนำข้าวสูญ 2 แสนล้าน-จวกรอชาติอื่นขายก็เน่าหมด

 

 

ดร.สมพร ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554-7 พฤษภาคม 2555 รัฐมีข้าวในสต็อกจากโครงการรับจำนำถึง 12.6 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวนาปี 6.8 ข้าวนาปรัง 5.8 ล้านตัน ยังไม่นับรวมข้าวสารจากโครงการจำนำก่อนหน้านี้อีกไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านตัน เฉพาะโครงการรับจำนำครั้งล่าสุด ใช้เงินไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ส่วนข้าวนาปรังที่ออกตามมาช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ดร.สมพรคาดว่า ต้องใช้เงินอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท

 

                      “แล้วรัฐบาลก็บอกว่า จะขายข้าวเมื่อประเทศอื่นขายข้าวหมดแล้ว แต่ข้าวผลิตได้ใน 3 เดือนนะครับ เพราะฉะนั้นท่านก็รอน้ำท่วมหลังเป็ด ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะขายหมด แล้วค่อยขาย ถึงวันนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ข้าวก็จะเน่าอยู่ในสต็อก”

 

บริหารประชานิยมพลาด เวียดนามครองผู้นำตลาดข้าว

 

ดร.สมพรกล่าวว่า รัฐบาลสามารถออกนโยบายได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การบริหารนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้หากรัฐบาลจะเทขายข้าวในสต็อกย่อมทำให้ราคาข้าวตกทันที ขณะที่เวียดนามใช้ข้าวราคาสูงของไทยและข้าวราคาต่ำของอินเดีย เป็นตัวปรับราคาข้าวเวียดนามในตลาด โดยที่รัฐบาลเวียดนามไม่ต้องขึ้นราคาข้าวให้ แต่ชาวนาเวียดนามก็ได้ราคาข้าวสูงขึ้นเองโดยอัตโนมัติ พร้อมๆ กับที่รัฐบาลเวียดนามหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลง แต่นโยบายของไทยกลับเพิ่มราคาโดยไม่ได้ดูถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น

การสร้างนโยบายประชานิยมโดยที่ไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพ และขาดสมดุลเป็นสิ่งที่ ดร.สมพรคิดว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว โดยคาดการณ์ว่า การที่รัฐบิดเบือนราคาข้าวในตลาด จะทำให้คนหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเน้นการใช้ทุนอย่างเข้มข้น ปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้นไปอีก จากการยกระดับราคาแต่ไม่ควบคุมต้นทุน ผลคือจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรในภาคเกษตรเกิดปัญหา ราคาอาหารทั้งหมดจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะการผลิตพืชอาหารอื่นๆ ลดลง

 

ดร.สมพร สรุปในท้ายที่สุดอีกครั้งว่า

 

“ผมคิดว่าตอนนี้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซง จนตลาดไร้ประสิทธิภาพ เราสูญเสียตลาดข้าวในอาเซียนให้แก่เวียดนามไปเรียบร้อยแล้ว ตลาดข้าวเปลือกกลายเป็นตลาดผูกขาดโดยรัฐ รัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ถามว่ากลไกของรัฐที่จะบริหารจัดการ เก็บรักษา มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ จะขายข้าวออกให้ขาดทุนน้อยที่สุดได้หรือไม่ ซึ่งผมยังไม่เห็นนโยบายที่จะขายข้าวออกจากสต็อกว่าจะทำอย่างไร”

 

ผู้ส่งออกข้าวผลักภาระต้นทุนขนส่งให้ชาวนา

 

รัฐบาลให้ความสำคัญแก่ระบบโลจิสติกส์ ผ่านนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างทางรถไฟรางคู่ ท่าเรือ หรือการขยายสนามบิน แต่ทั้งหมดนี้มุ่งตอบสนองการขยายตัวด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยหลงลืมไปว่าโลจิสติกส์ก็มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน

 

ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยกตัวอย่างต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตรว่า ข้าวหอมมะลิมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ คือต้นทุนการขนย้าย จัดเก็บ รวบรวม กระจาย ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาวมีต้นทุนประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ มันสำปะหลังประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ผลไม้ส่งออกระดับท็อป 5-ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ต้นทุนตกที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ดร.พงษ์ชัยกล่าวว่า ต้นทุนด้านโลจิสติกส์นับเป็น 1 ใน 5 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก

เมื่อลงลึกไปอีกว่า ใครคือผู้แบกรับภาระต้นทุน ดูจากกระบวนการค้าข้าว ระบบเริ่มต้นจากเกษตรกรขายข้าวให้แก่นายหน้าหรือโรงสี โรงสีขายต่อให้แก่หยง ซึ่งเป็นผู้จัดหาข้าวให้แก่ผู้ส่งออกอีกทอดหนึ่ง เห็นได้ว่า เกษตรกรผู้นำพืชผลของตนส่งให้แก่โรงสี ต้องจ่ายต้นทุนด้านโลจิสติกส์เอง แล้วโรงสีก็ออกค่าโลจิสติกส์ให้แก่หยงเป็นทอดๆ ต่อไป โดยที่ผู้ส่งออกไม่ต้องจ่ายต้นทุนส่วนนี้เลย แต่เมื่อเทียบกับอัตรารายได้ เกษตรกร คือผู้ที่จ่ายต้นทุนโลจิสติกส์มากที่สุด

ดร.พงษ์ชัยอธิบายว่า การขายข้าวโดยทั่วไป ชาวนาจะถูกหักค่าความชื้น หมายความโรงสีไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนโลจิสติกส์เลย หากเก็บข้าวไว้เพียงสองสามเดือน เพราะได้หักราคาจากเกษตรกรไปแล้ว เมื่อขายให้แก่หยง และหยงขายให้แก่ผู้ส่งออก ก็มีการตรวจเช็คความชื้นและหักออกไปแบบเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏคือ ทุกคนดูแลต้นทุนโลจิสติกส์ของตัวเอง แต่ทั้งหมดผลักภาระกลับมาเป็นราคาที่ซื้อข้าวจากเกษตรกร

 

                             “ที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาท ลองไปถามเกษตรกรดูว่าได้ 15,000 บาทจริงหรือไม่ เพราะเขาจะถูกหักนู่นหักนี่ ข้ออ้างคือความชื้น ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอีก หรือเกษตรกรปลูกสับปะรดแถวศรีราชา ก็ต้องไปเข้าแถวอยู่หน้าโรงงานสับปะรดกระป๋อง เหมารถไปทั้งวันเพื่อเข้าคิว เขาก็ถูกบังคับว่าพืชผลจะต้องเข้าสู่โรงงาน เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็เป็นธรรมชาติของพืชผลเกษตรที่นับวันถอยหลัง เขารอคิวตั้งแต่เช้าเพื่อจะขายสับปะรด ครึ่งวันผ่านไปของก็เริ่มเน่าเสีย ก็ถูกตัดราคาให้ถูกลงไป”

 

แผนโลจิสติกส์ชาติแค่สนองอุตฯ-เกษตรไม่ได้อานิสงส์

 

ขณะที่นโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะแผนโลจิสติกส์แห่งชาติ ปี 2549-2554 ดร.พงษ์ชัย ซึ่งเคยมีส่วนร่างแผน กล่าวว่า ในกระบวนการทำแผน ฝ่ายราชการจะสอบถามข้อมูลความคิดเห็นจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และโรงงานใหญ่ๆ ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ใช่ทุกภาคการผลิตที่เข้าไปมีส่วนร่วมการวางระบบโลจิสติกส์ ดร.พงษ์ชัยตั้งข้อสังเกตกรณีรถไฟรางคู่ว่า คำกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่า เมื่อมีรถไฟรางคู่ สินค้าต่างๆ จะช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่ง เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคามากขึ้น พ่อค้าคนกลางจะรับซื้อในราคาสูงขึ้น ทั้งหมดนี้จริงหรือไม่

 

                        “การมีรถไฟรางคู่วิ่งผ่านเรือกสวนไร่นาของเกษตรกร เกษตรกรไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเป็นถนนไร้ฝุ่น เกษตรกรจะประหยัดค่าขนส่งพืชผลทางการเกษตร เพราะฉะนั้นแผนโลจิสติกส์แห่งชาติ วิพากษ์ตรงๆ ได้เลยว่า เอื้อต่อภาคการค้าส่งออกและภาคอุตสาหกรรม แต่ยังไม่มีอานิสงส์ให้แก่ภาคเกษตร ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ถ้ามีโอกาสเสนอ ต้องหันกลับมาดูระบบโลจิสติกส์ของภาคเกษตรให้มากขึ้น”

 

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น ยังคงยืนยันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ดำเนินถึงปัจจุบันที่ว่า มโนทัศน์การพัฒนาของผู้บริหารประเทศ ดูจะสนใจเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ละเลยภาคการเกษตรมาตลอด โดยลืมคิดไปว่า ผลผลิตทางการเกษตรไม่ใช่เป็นเพียงสินค้า แต่คืออาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ การบ่อนเซาะภาคเกษตรจากอคติ ความไม่รู้ และความเมินเฉย การปล่อยให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้าครอบงำ และผูกขาด อาจหมายถึงการพรากอธิปไตยด้านอาหาร ออกจากมือของประชาชนในท้ายที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: